22 พ.ย. 2567 | 12:13 น.
KEY
POINTS
หลายคนอาจคิดว่า น้ำคือทรัพยากรที่มีไม่จำกัด เพราะพื้นที่บนโลกใบนี้ 3 ใน 4 ส่วนปกคลุมไปด้วยน้ำ แต่นั่นคือภาพลวงตา เพราะกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นเป็นน้ำเค็มในทะเลและมหาสมุทร ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภค ส่วน 3 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นน้ำจืด เราก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด
“วันนี้เราเห็นข่าวน้ำท่วมกันบ่อย เราจะรู้สึกว่าน้ำมันเยอะ แต่ความเป็นจริงมีการเก็บสถิติมาตลอด 30 ปี พบว่า pattern (รูปแบบ) ปริมาณน้ำฝนที่ตกในประเทศไทยน้อยลงไปเรื่อย ๆ แต่ที่เราเจอน้ำท่วมแบบนี้ ก็เพราะว่า rain bomb (ฝนตกหนักระยะเวลาสั้น ๆ ในพื้นที่จำกัด) สภาวะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป น้ำน้อยลง แต่เราก็ยังเจอน้ำท่วมกันอยู่ดี”
สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวในงาน The Standard Economic Forum 2024 หัวข้อ Water Resilience: Guiding Thailand’s Businesses Through The Climate Crisis Era คู่มือบริหารจัดการน้ำ พาธุรกิจไทยฝ่าวิกฤตโลกร้อน
“จริง ๆ ปัญหาของน้ำในโลกนี้มีแค่ 3 เรื่องเท่านั้นครับ หนึ่งก็คือน้ำไม่พอ น้ำน้อยเกินไปที่เรียกว่าน้ำแล้ง สองก็คือน้ำมากเกินไปเรียกว่าน้ำท่วม และสามที่สำคัญเหมือนกันก็คือเรื่องของคุณภาพน้ำที่ตกต่ำลงเรื่อย ๆ หลายพื้นที่ในโลกใบนี้มีน้ำ แต่มีคุณภาพที่ไม่สามารถนำมาใช้งานได้”
เขาเผยข้อมูลจากเวิลด์แบงก์ ซึ่งเตือนว่า ปัญหาเหล่านี้ถ้าไม่รีบแก้ไข ภายใน ค.ศ. 2050 จีดีพีทั่วโลกจะตกต่ำรุนแรงคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และผลสำรวจในภาคธุรกิจจากบรรดาซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกก็พบว่า ปัญหาน้ำอาจก่อความเสียหายได้มากถึง 225,000 ล้านดอลลาร์ในอนาคต
“วันนี้ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เรานั่งอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเรื่องน้ำเลย ต้นทุนของการที่เราจะไปทำในภายหลังมันจะสูงขึ้นถึง 5 เท่าตัว พูดง่าย ๆ คือ ทำอะไรได้วันนี้ทำเถอะครับ เพื่อทำให้ปัญหาเรื่องน้ำ มันจะไม่รุนแรงมากไปกว่านี้”
น้ำนอกจากจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก น้ำยังเป็นวัตถุดิบหลักในการดำเนินธุรกิจของหลายองค์กร โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ TCP ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มมากมายภายใต้แบรนด์ กระทิงแดง เรดบูล เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม และเพียวริคุ
ด้วยเหตุนี้กลุ่มธุรกิจ TCP จึงให้ความสำคัญกับดูแลน้ำอย่างยั่งยืนมาเป็นเวลายาวนาน และเป็นบริษัทที่พูดได้เต็มปากว่า ประสบความสำเร็จในการคืนน้ำให้กับสังคม มากกว่าน้ำที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตทั้งหมด จนหลายคนตั้งคำถามว่า พวกเขาทำได้อย่างไร
สราวุฒิ เปิดเผยว่า ขั้นตอนแรกที่ทุกธุรกิจควรทำเพื่อช่วยโลกสร้างความยั่งยืน คือ การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในบริบทที่องค์กรของตัวเองสามารถปฏิบัติได้จริง ซึ่งในรายของกลุ่มธุรกิจ TCP คือการประกาศว่า “จะคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในการผลิต” ภายใต้แผน Net Water Positive 2030
เมื่อมีเป้าหมายชัดเจน ขั้นตอนต่อไปคือ การวางแผนและนำไปปฏิบัติ โดยขั้นตอนนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ การใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในกระบวนการผลิต (In Process) และช่วยพัฒนาแหล่งน้ำนอกกระบวนการผลิต (After Process) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายคืนน้ำมากกว่าที่ใช้ในธุรกิจของตัวเอง
ในส่วนของ In Process สราวุฒิ บอกว่า เรามีการบริหารจัดการน้ำภายในให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยสร้างความยั่งยืนเรื่องน้ำ โดยครึ่งหนึ่งของพื้นที่มีการทำเป็นพื้นที่เก็บน้ำขนาดใหญ่ เพื่อให้เพียงพอกับการผลิตทั้งปี (กรณีที่ปีไหนมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ) มีระบบบำบัดน้ำเสียบำบัด สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ในระบบใหม่ในโรงงานได้ 100%
ขณะเดียวกันยังนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาติดตั้ง เพื่อตรวจวัดค่าต่าง ๆ ให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ช่วยลดการใช้น้ำถึง 24 เปอร์เซ็นต์ นับจากปี 2019 เป็นต้นมา และยังมีการติดตาม ‘คาร์บอน ฟุตปรินต์’ ยังมีการจัดทำ ‘วอเตอร์ ฟุตปรินต์’ เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าแต่ละตัวมีผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำมากน้อยเพียงใด
เมื่อประสบความสำเร็จในการพึ่งพาตนเองเรื่องน้ำ ก็มาถึงส่วน After Process ที่ออกไปช่วยสังคมภายนอก โดยกลุ่มธุรกิจ TCP เข้าไปร่วมมือกับภาครัฐ รวมถึงองค์กรผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ และคนในพื้นที่ จัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำมายาวนานตั้งแต่ ‘อีสานเขียว’ ‘รักน้ำ’ จนกระทั่ง ‘TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย’ โดยโครงการหลังเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดินใน 3
ลุ่มน้ำสำคัญ คือ ‘ยม’ ‘โขง’ และ ‘บางปะกง’
“ผลลัพธ์ที่เราได้ตั้งแต่ปี 2019 ที่เราทำกันมา ปัจจุบันเราคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติไปแล้ว 17 ล้านลูกบาศก์เมตร เราทำงานใน 21 จังหวัด มีทั้งหมด 513 โครงการ และเราสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชนไม่ต่ำกว่า 40,000 ครอบครัว” สราวุฒิ กล่าว
ขั้นตอนที่สาม เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำประสบความสำเร็จ สราวุฒิ บอกว่า เราต้องเตือนตัวเองเสมอว่า ‘การแก้ปัญหาน้ำใช้เวลายาวนานเหมือนการเดินทางไกล’ โดยยกตัวอย่างการทำงานของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่เริ่มจากวิสัยทัศน์ของ ‘เฉลียว อยู่วิทยา’ ผู้ก่อตั้งบริษัท ซึ่งตัดสินใจใช้พื้นที่ขนาดมหึมาในโรงงานของตัวเองสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ไว้ใช้ในการผลิตมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น
จากนั้นจึงค่อย ๆ พัฒนากระบวนการผลิต และออกไปทำโครงการช่วยเหลือชุมชนภายนอกมาตั้งแต่อดีต จนกระทั่งปัจจุบันบริษัทประสบความสำเร็จในเป้าหมายคืนน้ำกลับสู่ชุมชนมากกว่าน้ำที่ตัวเองใช้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้เป้าหมายจะบรรลุเรียบร้อยแล้ว แต่สราวุฒิ ยังย้ำว่า เรายังไม่ควรหยุดพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ และนั่นคือ key success หรือเคล็ดลับความสำเร็จข้อสุดท้ายที่ฝากไว้ให้กับผู้นำองค์กรทุกคน
เขาบอกว่า เป้าหมายต่อไปของกลุ่มธุรกิจ TCP เรื่องน้ำ คือ การยกระดับไปสู่สากล ด้วยการนำงานต่างๆ ในด้านน้ำมาทวนสอบกับองค์กรน้ำระดับโลกอย่าง Alliance for Water Stewardship เพื่อยื่นขอใบรับรองมาตรฐานว่าแนวทางบริหารจัดการน้ำที่ทำมาของกลุ่มธุรกิจ TCP เป็นไปตามหลักสากล
ขณะเดียวกันก็แลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ที่มีอยู่ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งประโยชน์ที่ได้ จะไม่ตกอยู่แค่องค์กรธุรกิจของตนเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีกับชุมชนและมนุษย์ทุกคนบนโลก เพื่อเป้าหมายสูงสุด นั่นก็คือ การทำให้น้ำซึ่งเป็นทรัพยากรที่เรามีอย่างจำกัด อยู่คู่โลกและสิ่งมีชีวิตทุกชนิดต่อไปอีกยาวนาน ร่วมกันทำวันนี้เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าด้วยกัน