26 ธ.ค. 2561 | 17:47 น.
อยากรู้มั้ยว่า เวลานิตยสาร Forbes จัดอันดับความรวยของมหาเศรษฐีทั่วโลก เขาใช้เกณฑ์อะไร? เราจะยังไม่เฉลยกันตอนนี้ เพราะอยากให้มาทำความรู้จักกับ เบอร์ตี ชาร์ลส ฟอร์บส (Bertie Charles Forbes) หรือเรียกย่อๆ ว่า บี.ซี. ฟอร์บส ต้นกำเนิดนิตยสาร Forbes ที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยอยากรู้ว่ามหาเศรษฐีบนโลกนี้รวยแค่ไหน กันก่อน นักข่าวเข้าเส้น ฟอร์บส เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ปี 1880 ที่เมืองอาเบอร์ดีนเชอร์ ประเทศสกอตแลนด์ เป็นลูกของโรเบิร์ตและแอกเนส ฟอร์บส ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของร้านขายเบียร์และช่างตัดเสื้อ ทักษะการใช้ภาษาที่โดดเด่นมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ครูเห็นว่าฟอร์บสน่าจะเอาดีด้านการใช้ภาษา ดังนั้นหลังจากเรียนที่ University College, Dundee แล้ว ฟอร์บสในวัย 17 ปี ก็ทำงานเป็นนักข่าวและนักเขียนประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ปี 1901 ความท้าทายกวักมือเรียกฟอร์บสให้เดินทางไกล เขาข้ามน้ำข้ามทะเลไปอยู่โจฮันเนสเบิร์กในแอฟริกาใต้ ทำงานเป็นนักข่าวอาวุโสที่ Johannesburg Standard และ Diggers’ News อยู่ 2 ปี ก็กลับสกอตแลนด์ พร้อมกับความสนใจเรื่องราวเชิงธุรกิจที่ก่อตัวมากขึ้น เส้นทางนักข่าวพาเขาออกผจญภัยอีกครั้ง เมื่อฟอร์บสซึ่งคิดเสมอว่านิวยอร์กซิตี้เป็นเมืองหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้เขาต้องการจะไปลงหลักปักฐานอาชีพที่นั่น ในที่สุดเดือนสิงหาคม ปี 1904 ฟอร์บสก็หันหลังให้บ้านเกิดและเลือกจะไปแสวงหาความสำเร็จที่สหรัฐอเมริกา ที่นิวยอร์กซิตี้ ฟอร์บสโน้มน้าวให้ Journal of Commerce และ Commercial Bulletin จ้างเขาเป็นนักข่าวสายอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเขาก็ไม่ทำให้นายจ้างผิดหวัง เพราะไม่เพียงจะแสดงความสามารถในการรายงานข่าว แต่ฟอร์บสยังบรรยายบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างน่าสนใจ ชื่อเสียงของฟอร์บสเริ่มขจรขจาย ควบคู่กับการมีผู้อ่านติดตามมากขึ้น กระทั่งขึ้นเป็นบรรณาธิการการเงินของ Journal of Commerce งานข่าวของฟอร์บสไปเตะตา วิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์สท์ (William Randolph Hearst) เจ้าพ่อสื่อตอนนั้นที่มองหานักข่าวมารับผิดชอบเนื้อหาในหน้าการเงินให้ดีขึ้น ฟอร์บสกลายเป็นตัวเลือกแรกๆ และได้เข้ามาร่วมทีมสร้างชื่อให้ New York American แม้เฮิร์สท์จะจ่ายค่าตอบแทนแสนงามแค่ไหน แต่ความใฝ่ฝันของเขาที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจก็ยังคงอยู่ในใจ ท้ายสุดฟอร์บสขอลาออก และเอารายได้จากการเป็นนักข่าวและเงินกู้จากนักธุรกิจที่เขาพบสมัยเป็นนักข่าวมาก่อตั้ง นิตยสาร Forbes ในปี 1917 แข่งขันดุเดือด นิตยสาร Forbes ตีพิมพ์ทุก 2 สัปดาห์ จำหน่ายในราคา 15 เซนต์ โดยมีฟอร์บสเป็นคนเขียนเสียส่วนใหญ่ นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ทั้งเบื้องหลังชีวิตและการก่อร่างสร้างธุรกิจ ซึ่งก็ถือว่าไปได้ดีในช่วงทศวรรษที่ 1920 แต่แล้วเค้าลางความยากลำบากก็มาเยือน เมื่อสหรัฐฯ เผชิญสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เรียกกันว่า “The Great Depression” ในปลายปี 1929 ซึ่งนิตยสาร Forbes ก็ได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่อาศัยที่ฟอร์บสยังมีรายได้จากการเขียนบทความให้หนังสือพิมพ์ในเครือของเฮิร์สท์อยู่ ก็เลยช่วยต่อลมหายใจให้นิตยสารของเขาได้บ้าง ทว่าวิกฤตไม่หมดแค่นั้น เพราะต่อมาฟอร์บสต้องเจอการแข่งขันในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ เมื่อ Business Week และ Fortune ผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่ง แต่ละเล่มก็มีคาแรคเตอร์แตกต่างกันไปในการนำเสนอข่าวสารธุรกิจ Business Week เล่นประเด็นธุรกิจด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องเชิงข่าว ส่วน Fortune สร้างชื่อด้วยการวิเคราะห์เจาะลึกองค์กรธุรกิจ ขณะที่ Forbes เน้นไปที่ตัวบุคคลที่เป็นนักธุรกิจและเล่าบริบทแวดล้อม การมีคู่แข่งมาแชร์ส่วนแบ่งในตลาดสื่อสิ่งพิมพ์เชิงธุรกิจ ส่งผลให้จำนวนหน้าโฆษณาของ Forbes ลดฮวบ จากปี 1929 ที่มีโฆษณา 1,216 หน้า ลดเหลือเพียง 269 หน้าในปี 1939 ส่วนยอดพิมพ์ก็อยู่อันดับ 3 เป็นรอง Fortune ที่มียอดพิมพ์ 248,000 เล่ม และ Business Week ที่พิมพ์ 192,000 เล่ม เพื่อทำให้นิตยสารที่เขาก่อตั้งขึ้นด้วยความรักยังคงไปรอด ฟอร์บสจึงออกหนังสือแนวธุรกิจหลายเล่ม จ้างคนเข้าและไล่คนออกในตำแหน่งระดับบริหาร รวมทั้งปรับเปลี่ยนจากการเน้นสายการเงินและตลาดทุนไปสู่เรื่องธุรกิจที่กว้างขึ้น เป็นการเปิดพื้นที่ให้แหล่งข่าวใหม่ๆ และขยายฐานคนอ่าน ฟอร์บสดำรงตำแหน่ง Editor-in-Chief นิตยสาร Forbes กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ปี 1954 โดยมีลูกชาย 2 คนคือ บรูซ ชาร์ลส ฟอร์บส (Bruce Charles Forbes) และ มัลคอล์ม สตีเวนสัน ฟอร์บส (Malcolm Stevenson Forbes) คอยสนับสนุนเขาในการทำงานช่วงท้ายๆ ของชีวิต และเมื่อฟอร์บสจากไป ทั้งคู่ก็ช่วยกันบริหารกิจการนิตยสาร Forbes ปัจจุบัน มัลคอล์ม สตีเวนสัน ฟอร์บส จูเนียร์ (Malcolm Stevenson Forbes Jr.) ลูกชายของมัลคอล์ม สตีเวนสัน ฟอร์บส คือ Editor-in-Chief ของนิตยสาร Forbes (เขาอยู่ในตำแหน่งนี้ตั้งแต่ปี 1990) แต่ Forbes ก็ไม่ได้เป็นธุรกิจครอบครัวเหมือนรุ่นปู่และพ่อของเขาอีกต่อไป เพราะในปี 2014 Integrated Whale Media กลุ่มนักลงทุนฮ่องกงเข้าซื้อกิจการ Forbes Media ไปเรียบร้อย ถึงอย่างนั้น จิตวิญญาณของฟอร์บสซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งก็ยังคงอยู่ นั่นคือการนำเสนอเรื่องราวรอบด้านของนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ ซึ่งทุกวันนี้มีนิตยสาร Forbes ในภาษาต่างๆ กว่า 40 เอดิชั่น อย่างในไทยก็มีนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับภาษาไทย ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2013 เขาคิดความรวยกันยังไง? นี่คือคำถามที่หลายคนคงสงสัย เมื่อเห็นนิตยสาร Forbes จัดอันดับมหาเศรษฐีในหลายประเทศทั่วโลก คำตอบคือแต่ละ “ลิสต์” จะมีเกณฑ์การจัดอันดับที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่จะมีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างออกไป ยกตัวอย่าง “Thailand's 50 Richest List” (50 อันดับมหาเศรษฐีไทย) จะมีระเบียบวิธีการคำนวณโดยรวบรวมข้อมูลการถือหุ้นและการถือครองทรัพย์สินจากครอบครัวหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงจากตลาดหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ และหน่วยงานด้านกำกับดูแลหลายแห่ง วิธีคำนวณในบัญชีรายชื่อนี้ต่างจากการคำนวณเศรษฐีพันล้านเหรียญของโลก โดยรวบรวมทรัพย์สินของสมาชิกในครอบครัวที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน เช่น เตียง จิราธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มเซ็นทรัล มีภรรยา 3 คน และลูก 25 คน นิตยสาร Forbes จะคำนวณทรัพย์สินของสมาชิกของครอบครัวเข้าด้วยกัน ทรัพย์สินที่เป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จะใช้ราคาปิดและอัตราแลกเปลี่ยน (แปลงหน่วยเงินจากเหรียญสหรัฐเป็นบาท เพื่อให้ผู้อ่านที่เป็นคนไทยเห็นภาพชัดขึ้น) ณ วันที่ใกล้เคียงกับการปิดต้นฉบับภาษาไทย ส่วนทรัพย์สินที่อยู่ในรูปแบบบริษัทจำกัด จะใช้การเทียบเคียงมูลค่ากับบริษัทมหาชน ส่วน “Forbes 400” (400 อันดับมหาเศรษฐีสหรัฐอเมริกา) ซึ่งจัดปีนี้เป็นปีที่ 37 ทีมนักข่าวของ Forbes จะไล่รายชื่อมหาเศรษฐีในสหรัฐฯ กว่า 700 คน ซึ่งคาดว่าจะเป็นตัวเลือกที่จะติดโผ 400 อันดับ หากเป็นไปได้ ทีมงานก็จะไปพบผู้ที่มีรายชื่อเหล่านั้นเป็นการส่วนตัวหรือพูดคุยทางโทรศัพท์ รวมทั้งสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริหารและพนักงานขององค์กรนั้นๆ คู่แข่ง นักกฎหมาย ฯลฯ ทีมงานยังหาข้อมูลจากเอกสารในตลาดหลักทรัพย์ รายงานของศาล บทความและข่าวต่างๆ ดูสินทรัพย์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หุ้นในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ อัญมณี ผลงานศิลปะ รถยนต์ เรือยอชต์ เครื่องบิน ไร่องุ่น เป็นต้น ทั้งนี้ ทีมงานจะไม่รวมทรัพย์สินของสมาชิกในครอบครัวแบบกระจัดกระจาย แต่จะโฟกัสทรัพย์สินของสมาชิกในครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเท่านั้น ซึ่งถ้ากรณีนี้ นิตยสาร Forbes จะระบุคำว่า “และครอบครัว” อย่างชัดเจน นอกจากนี้ Forbes ยังรวมคู่สมรสที่สร้างธุรกิจและความมั่งคั่งมาด้วยกัน หากรวมทรัพย์สินนั้นเข้าด้วยกันแล้วมีมูลค่าเกิน 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2018 ยังเป็นปีแรกที่ Forbes เอาระเบียบวิธีการคำนวณความใจบุญ (philanthropy) มาประกอบในโผ Forbes 400 โดยดูว่ามหาเศรษฐีเหล่านั้นมี “การให้” ในรูปแบบไหนบ้าง Forbes จะไปดูเอกสารของตลาดหลักทรัพย์ ดูเอกสารด้านภาษีขององค์กรหรือมูลนิธิที่มหาเศรษฐีผู้นั้นก่อตั้งหรือมีบทบาทสำคัญ จากนั้นดูสัดส่วนว่าในความมั่งคั่งนั้นบริจาคไปคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ เป็นต้น และก่อนหน้านี้ในปี 2014 Forbes ก็เอาหลักเกณฑ์ “การสร้างตัว” (self-made) มาประกอบด้วย เพราะมหาเศรษฐีบางคนเกิดมาบนกองเงินกองทองอยู่แล้ว แต่บางคนเกิดมาชีวิตต้องสู้กว่าจะมั่งคั่งอย่างที่เห็นทุกวันนี้ ดูแล้วมีใครจริงจังกับการจัดอันดับมหาเศรษฐีทั่วโลกอย่างที่ Forbes ทำอีกไหม! ที่มา https://www.profitmagazin.com/editions/number_037.355.html https://www.forbes.com/…/forbes-400-2018-a-new-number-one…/… https://www.forbes.com/…/the-new-forbes-400-philanthropy-…/… https://www.forbes.com/…/forbes-400-2018-a-new-number-one…/… https://www.forbes.com/…/the-new-forbes-400-philanthropy-…/… นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับมิถุนายน 2016 เครดิตภาพ : Published by B. C. Forbes Publishing Company, New York, 1917 [Public domain], via Wikimedia Commons