06 ธ.ค. 2567 | 17:00 น.
KEY
POINTS
“บาร์แรนส์! บาร์แรนส์!”
ชายต่างชาติพยายามพูดอะไรบางอย่างกับข้าพเจ้า ดูจากรูปร่างภายนอกช่างเป็นคนหนุ่มที่ดูแปลกพิกล ข้าพเจ้าไม่เข้าใจนักว่าเขาต้องการบอกอะไร หลังจากพยายามสื่อสารกันอยู่พักใหญ่ ก็จับใจความได้ว่าเขากำลังจะเดินทางไปยังโรงงานทอผ้าในเมืองยอร์กเชียร์ ซึ่งกำลังเปิดรับสมัครคนงานชาวยิวจำนวนมาก
ข้าพเจ้าทราบภายหลังว่าชายตรงหน้ามีนามว่า ‘ไมเคิล มาร์คส์’ (Michael Marks) อายุเพียง 23 ปี เพิ่งหนีตายจากเหตุการณ์สังหารหมู่ในจักรวรรดิรุสเซีย มายังอังกฤษได้ราวสองสามสัปดาห์ก่อน (ค.ศ.1882) เหตุผลที่เขาต้องไปยังโรงงานทอผ้า เพราะได้รับพรสรรค์จากผู้เป็นพ่อ และเหตุผลอีกประการหนึ่งคือการจะมีชีวิตรอดในประเทศนี้ได้นั้น ชายหนุ่มคนนี้จะต้องมีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่ง
นี่คือบันทึกส่วนหนึ่งของ ‘ไอแซค ดิวเฮิสต์’ (Isaac Dewhirst) เจ้าของโกดังขายส่งผ้าม่านในลีดส์ เพื่อนคนแรกของมาร์คส์ ชายผู้สอนภาษาอังกฤษและมอบเงินจำนวน 5 ปอนด์ เพื่อให้ชายแปลกหน้าอย่างมาร์คส์ สามารถตั้งตัวได้ในเมืองที่เขาไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้แม้แต่ประโยคเดียว
งานแรกของผู้ลี้ภัยหนุ่มเชื้อสายยิว คือ คนงานในโรงงานทอผ้า เมื่อเริ่มคล่องตัวเขาคิดอยากจะขยับขยายมาทำธุรกิจของตัวเอง ประจวบกับรู้จักมักคุ้นกับดิวเฮิตส์เป็นอย่างดี ในปี 1884 เขาจึงได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนคนนี้ให้นำเงิน 5 ปอนด์ไปลงทุนให้ผลิดอกออกผลมากที่สุด เพื่อไม่ให้เงินที่ได้รับมาเสียเปล่า มาร์คส์นำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้อรถเข็นขายของ หลังจากสำรวจตลาดมาได้พักหนึ่ง เขาจึงเลือกทำเลที่ตั้งอยู่ในตลาดนัดเล็ก ๆ ของเมืองลีดส์ เส้นทางการเป็นพ่อค้าหาบเร่ของเขาประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี เขาขายทุกอย่างตั้งแต่เครื่องครัวไปจนถึงตะปู ด้วยเทคนิคการขายที่แปลกไม่เหมือนใคร เขาแทบไม่พูดภาษาอังกฤษ มีเพียงป้ายขนาดใหญ่ติดอยู่ที่รถเข็น ระบุข้อความสั้น ๆ ว่า ‘อย่าถามราคา ทุกอย่างแค่ 1 เพนนี’
มาร์คส์เป็นคนหนุ่มขยันขันแข็งจึงไม่แปลกที่ธุรกิจของเขาจะไปได้สวย ครั้งหนึ่งเขาถามผู้มีพระคุณอย่างดิวเฮิตส์ว่าอยากร่วมทำธุรกิจด้วยกันไหม แม้คำตอบที่ได้รับจะทำให้เขาช้ำใจ แต่นั่นก็เป็นอีกแรงผลักดันหนึ่งทำให้เขาเติบโตและสร้างอาณาจักรค้าปลีก จนกลายเป็นมรดกตกทอดมายังคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ปัจจุบันมีอายุ 140 ปีเข้าไปแล้ว!
สิบปีต่อมามาร์คส์ได้รับการแนะนำจากดิวเฮิตส์ให้รู้จักกับ ‘โทมัส สเปนเซอร์’ (Thomas Spencer) นักบัญชีหนุ่มจากเมืองยอร์กเชียร์ ชายผู้มีความสามารถยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งแห่งยุค หลังจากทำความรู้จักกันได้ไม่นาน ทั้งคู่ตัดสินใจทำธุรกิจร่วมกัน ต่างคนต่างมีความฝัน ต่างคนต่างมีความสามารถที่เข้ามาเติมเต็มซึ่งกันและกัน กระทั่งสามารถจดทะเบียนบริษัทได้ในที่สุด
นอกจากสโลแกน ‘อย่าถามราคา ทุกอย่างแค่ 1 เพนนี’ ซึ่งสร้างความคึกคักให้กับตลาดแล้ว ทั้งสองยังบุกเบิกการช้อปปิ้งรูปแบบใหม่ นั่นคือให้ทุกคนเข้ามาเลือกชมสินค้าได้ตามสบาย ไม่ต้องซื้อก็ได้ ขอแค่เข้ามาเยี่ยมชมร้านก็พอ เรียกได้ว่าสร้างความตกอกตกใจให้คนในยุคนั้นอย่างมาก เพราะ ‘ไม่มี’ ร้านค้าร้านไหนมีนโยบายเช่นนี้ นี่คือปรากฎการณ์แปลกประหลาดแห่งยุคก็ว่าได้ แม้ว่าในปัจจุบันจะกลายเป็นธรรมเนียมปกติที่ทุกคนสามารถเดินเข้าเดินออกร้านค้าได้ตามใจชอบก็ตาม
หากจะบอกว่า Marks & Spencer ได้วางมาตรฐานใหม่สำหรับการบริการลูกค้าคงไม่ใช่เรื่องเกินจริงนัก และเพราะความใจป๋านี่เองทำให้บริษัทของเขากลายเป็นแบรนด์บุกทะลวงมานั่งอยู่กลางใจคนไม่ต่ำกว่า 57 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเองก็มีหน้าร้านเช่นกัน หลังจากเปิดตัวครั้งแรกในปี 1995 โดยจับมือกับกลุ่มเซ็นทรัลเพื่อเปิดตัวธุรกิจในไทยก็ได้ขยายสาขาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ในปี 1897 Marks & Spencer ได้เปิดร้านขายของราคาถูก 36 ร้านทั่วสหราชอาณาจักร มีหน้าร้าตั้งแต่ลอนดอน เบอร์มิงแฮม เชฟฟิลด์ แบรดฟอร์ด ฮัลล์ ไปจนถึงคาร์ดิฟฟ์ ก่อนจะขยายกิจการให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีกขั้นในปี 1903 บริษัทได้สร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ในแมนเชสเตอร์ สเปนเซอร์เกษียณอายุในปีนั้นและเสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม 1905 ส่วนมาร์คส์ยังคงบริหารธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นต่อไป และเป็นผู้ทำให้ชื่อเสียงของบริษัทเป็นที่เลื่องลือทั่วโลก กระทั่งสิ้นลมหายใจไปเมื่อเดือนธันวาคม 1907
ถึงตัวจะจากไป แต่โมเดลธุรกิจที่เข้มแข็งยังคงทำงานด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง นี่คือช่วงเปลี่ยนผ่านแต่ Marks & Spencer ยังคงเข้มแข็งไปเปลี่ยนแปลง แถมยังมีร้านค้า 145 แห่งภายในปี 1915 พวกเขาปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่น่าหวั่นเกรง สินค้าในร้านจะเปลี่ยนไปตามสภาพเศรษฐกิจ หากผู้คนต้องการอะไร ร้านค้าแห่งนี้จะมีให้หมดทุกอย่าง ตั้งแต่ บิสกิต เข็ม-ด้ายสำหรับซ่อมเสื้อผ้า หวี ถุงเท้า และโน้ตเพลง ทั้งหมดยังคงมีราคาเพียง 1 เพนนี
แต่หลังจากอังกฤษเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ของทุกอย่างจึงต้องปรับราคาขึ้นอีกเท่าตัว และนี่คือความท้าทายระลอกใหญ่ของพวกเขา
ช่วงปี 1920-1940 อังกฤษเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เกิดการขาดแคลนสินค้า มีผู้ว่างงานเกือบ 3 ล้านคน บริษัทหลายแห่งปิดตัวลง แต่ไม่ใช่กับ Marks & Spencer เพราะนี่คือช่วงเวลาพิสูจน์ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพนักงานในบริษัท และวิสัยทัศน์ของผู้นำในการพาทุกคนรอดพ้นจากวิกฤติไปพร้อมกัน
เริ่มจากการปรับราคาสินค้าสูงสุดไม่เกิน 5 ซิลลิง ลดจำนานสินค้าที่จำหน่ายลง เน้นความสำคัญกับแผนกอาหารและแผนกเสื้อผ้ามากขึ้น หลังจากรอดพ้นจากภาวะตึงเครียดในสงครามโลกครั้งที่ 1 มาได้ พวกเขาพบว่าความต้องการสินค้าในครัวเรือนเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงมุ่งเน้นมายังสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น แบตเตอรี่ เตารีด และหลอดไฟ ถูกจำหน่ายควบคู่ไปกับชุดน้ำชาและของตกแต่งบ้าน
สงครามที่ 1 ผ่านพ้นไป สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ย่างเข้ามา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่บริษัทกำลังขยายสาขาเป็น 234 สาขา แต่น่าเสียดายที่เมื่อสงครามสิ้นสุดลงในปี 1945 มีร้านค้ามากกว่า 100 แห่งเสียหายจากแรงระเบิด และ 16 แห่งถูกทำลายจนไม่เหลือชิ้นดี
Marks & Spencer เปิดตัวการช้อปปิ้งออนไลน์ในปี 1999 นับเป็นการปรับตัวเข้ากับยุคสมัยอีกครั้ง ที่ทำให้เห้นว่าพวกเขาพร้อมโอบกอดทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา แถมยังขยายสาขาไปยังต่างประเทศ เช่น ดูไบ เอเธนส์ และเนเธอร์แลนด์
แม้ว่าเทรนด์ช้อปปิ้งจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แต่ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกรายนี้ยังคงรักษาความสำเร็จเอาไว้ได้ โดยเอาชีวิตรอดจากสงครามโลก ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และความท้าทายทางเศรษฐกิจได้ด้วยการปรับตัวตามยุคสมัย และไม่หลงลืมฐานลูกค้าและความตั้งใจแรกเริ่มของผู้ก่อตั้งบริษัท
ในช่วงศตวรรษที่ 20 Marks & Spencer เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของมีคุณภาพสูงและยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องแม้ว่าผู้ก่อตั้งทั้งสองจากโลกใบนี้ไปแล้วก็ตาม
เมื่อย้อนดูเส้นทางการเติบโตของ Marks & Spencer พบว่าพวกเขาพัฒนาจากแผงลอยขายของเบ็ดเตล็ดไปเป็นห้างค้าปลีก แต่ยังคงคอนเซ็ปต์เดิมคือ ขายทุกอย่างตั้งแต่เสื้อผ้า อาหาร และของใช้ในชีวิตประจำวัน แถมยังเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการรับประทานอาหารในชั่วโมงเร่งรีบ นั่นคือการออกผลิตภัณฑ์แซนด์วิชพร้อมทานขึ้นในช่วงปี 1980 และได้รับเสียงตอบรับอย่างถล่มทลาย กลายเป็นเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกของอังกฤษภายใต้การนำของทายาทรุ่นสองอย่าง ‘ไซมอน มาร์คส์’ (Simon Marks) คนหนุ่มที่ไม่หยุดพัฒนากิจการของครอบครัวให้เฟื่องฟูตามรอยพ่อผู้กรุยทางทุกอย่างมาจนเป็นที่รู้จักอย่างในทุกวันนี้
ปัจจุบัน Marks & Spencer ไม่เพียงแต่ยังคงรักษาความเป็นแบรนด์ที่เชื่อถือได้ในด้านคุณภาพ แต่ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยริเริ่มโครงการ Plan A ในปี 2007 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน
แผนดังกล่าวจะเป็นการแสดงออกถึงความทันสมัยในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ตั้งแต่การส่งเสริมการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไปจนถึงการสร้างความร่วมมือที่เป็นธรรมและการใช้วัตถุดิบอย่างยั่งยืน ตั้งแต่การจัดการขยะและการรีไซเคิลไปจนถึงการมีส่วนสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ
“เราต้องการเป็นแบรนด์ที่ไม่เพียงแต่ทำสิ่งที่ดีให้กับลูกค้า แต่ยังทำสิ่งที่ดีให้กับโลกใบนี้ด้วย” สตีฟ โรว์ (Steve Rowe) อดีต CEO ของ Marks & Spencer กล่าว ซึ่งหลังจากเขาก้าวลงจากตำแหน่ง ‘สจวต เมชิน’ (Stuart Machin) ก็เข้ามารับช่วงต่อจนถึงปัจจุบัน
และนี่คือเรื่องราวของแบรนด์อายุ 140 ปี คุณปู่อายุยืนที่ไม่มีวันยอมลาโลก ตราบเท่าที่คนรุ่นใหม่ยังขึ้นมาสานต่ออุดมการณ์ของแบรนด์อย่างไม่หยุดยั้ง
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ : Marks & Spencer
อ้างอิง