09 ธ.ค. 2567 | 17:00 น.
สหพัฒนพิบูล ก่อตั้งโดย ‘เทียม โชควัฒนา’ ในปี พ.ศ. 2485 เริ่มจากการขายของเบ็ดเตล็ดนำเข้าจากต่างประเทศ นำมาวางจำหน่ายในร้าน ‘เฮียบเซ่งเชียง’ ตั้งอยู่ในตรอกอาเนียเก็ง ถนนทรงวาด ขยายกิจการเรื่อยมา กระทั่งก้าวขึ้นสู่บริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รับผิดชอบกระจายสินค้ากว่า 90 แบรนด์ทั่วประเทศ มีสินค้าสำคัญอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ‘มาม่า’ น้ำยาล้างจาน ‘ไลปอนเอฟ’ ชุดชั้นใน ‘วาโก้’ และ ผงซักฟอก ‘เปา’ ก่อนจะจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ในปี พ.ศ. 2537
แม้ผู้ก่อตั้งสหพัฒนพิบูลจะจากไปแล้ว แต่มรดกที่เขาฝากไว้ยุคแล้วยุคเล่ายังคงยืนหยัดอย่างมั่นคง และมีแต่จะพัฒนาก้าวล้ำขึ้นไปทุกที ผ่านการบริหารของเหล่าทายาทผู้ไม่ยอมให้ใครมาทำลายอาณาจักรแห่งนี้
The People พูดคุยกับทายาทของผู้ร่วมบุกเบิกแบรนด์มาม่า ‘เพชร พะเนียงเวทย์’ กรรมการบริษัท และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ถึงที่มาของการปรับตัวในขวบปีที่ 82 ของสหพัฒนพิบูลให้เป็นองค์กรเบอร์ต้น ๆ ของประเทศ ที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันอยากร่วมงานด้วยมากที่สุด
เชื่อว่าหลังอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จบ ไม่แน่คุณอาจอยากจะลองกดยื่นใบสมัครเข้าทำงานที่องค์กรแห่งนี้ก็เป็นได้ เพราะใครจะไปคิดว่าระหว่างเริ่มบทสนทนากัน ชายตรงหน้าเราก็มีพนักงานเข้ามาตามตัวไปเคลียร์งานให้จบก่อนหมดวัน จนทำเอาเขาเผลอหัวเราะออกมา พร้อมบอกว่า
“นี่แหละคือวัฒนธรรมขององค์กรเรา ทุกคนเท่าเทียมกัน จะเข้ามาตามผมไปทำงานตอนไหนก็ได้”
ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นทายาทพะเนียงเวทย์ แต่ชีวิตการทำงานของเขาไม่ต่างจากคนทั่วไป เริ่มจากสมัครเป็นนักศึกษาฝึกงาน ฝ่ายขาย มาถึงบริษัทวันแรกไม่มีใครออกมาต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ เพชรเป็นเพียงเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่เดินเข้าไปอบรมพร้อมเพื่อนนักศึกษาฝึกงานคนอื่นตามปกติ ไม่มีใครรู้ว่าเขาคือลูกหลานใคร ไม่มีใครมอบสิทธิพิเศษในการทำงานแก่เขา
อาจเป็นความโชคดีของเพชรที่ไม่มีใครรู้ว่าเขาคือลูกเจ้านาย จึงได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มงวดจากพี่ ๆ ในบริษัท พี่ฝ่ายขายนอนในรถก่อนเริ่มงาน เขาก็นอน พี่ฝ่ายขายเลิกงานเลทเพื่อเตรียมงานให้ดีที่สุด เขาก็อยู่เรียนรู้ทุกอย่างโดยไม่มีปริปากบ่น พี่ฝ่ายขายพักเที่ยงตอนไหน เขาก็ไปพร้อมทุกคน ถึงจะรู้อยู่แก่ใจว่าตัวเองเป็นใคร แต่เขาไม่เคยได้รับอภิสิทธิ์การเป็นลูกนาย เพชรชอบที่จะอยู่ท่ามกลางความเรียบง่าย ไม่ชอบอะไรเป็นพิธีรีตอง จึงไม่แปลกที่เขาจะสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานจากการเป็นนักศึกษาฝึกงานกลับมาจนล้น
บทเรียนครั้งนั้นทำให้เขาเป็นเพชรที่แข็งแกร่งอย่างในวันนี้ และบางทีการเข้าใจวิธีการทำงานของพนักงานทำให้เขาเป็นผู้บริหารที่พร้อมรับฟังเสียงของเพื่อนร่วมงานทุกคน แม้ช่วงแรกที่เข้ามารับช่วงต่อบริษัทเขาจะรู้สึกกดดันไม่น้อย เรียกได้ว่ามหาศาลเลยทีเดียว เพราะมาม่าคือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเบอร์หนึ่งของประเทศ
‘เบอร์หนึ่ง’ และยังไม่มีใครล้มได้
“มันยากตรงที่ผมเข้ามามาม่าไม่ได้เป็นเบอร์สองหรือสาม แต่เป็นเบอร์หนึ่ง อยู่ซะสูงเชียว” เขาบอกพร้อมกับหัวเราะออกมา ทำเอาบรรยากาศภายในห้องผ่อนคลายขึ้นมาอีกมากโข
“แต่ถ้าถามว่ามีอะไรยาก ผมว่าทุกอย่างถูกวางพื้นฐานมาอย่างดี ปีนี้เป็นปีที่ 27 แล้วที่ผมอยู่ตรงนี้ เราก็ยังมีอะไรต้องค่อย ๆ ปรับกันไปอยู่ตลอดจะอยู่เฉยไม่ได้ เพราะตำแหน่งมันก็แค่ตำแหน่งนะ มันไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น ถึงจะบอกว่าก็ใช่สิ เราอยู่ตำแหน่งนี้เราก็พูดได้...
“แต่ผมอยากบอกว่ายิ่งสูงมันยิ่งหนาว”
ถึงจะไม่รู้และไม่เข้าใจถึงความกดดันของชายตรงหน้า แต่ทุกครั้งที่เพชรเล่าถึงวิธีการทำงานกับบริษัท ใบหน้าของเขามักมีรอยยิ้มประดับอยู่จาง ๆ เสมอ อาจเป็นเพราะสิ่งที่เขาให้คุณค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการทำงานคือ ความสุขในสิ่งที่ทำ หากไม่มีความสุขทุกอย่างที่สร้างมาคงไร้ความหมาย
“คืออยากให้ทำงานกันด้วยความสุขมากกว่า ขอให้สนุกกับงานที่ทำ อยู่ในบริษัทก็เป็นพี่เป็นน้องกัน เราว่าสิ่งนี้สำคัญ แต่เราก็พูดมากไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าแต่ละคนมีภาระความรับผิดชอบมากน้อยเท่าไหร่ ผมพูดไม่ได้
“แต่การที่เราอยู่ตรงนี้ สิ่งที่เราอยากจะทำมากที่สุดคือการรับฟัง ถ้ามีคนมายื่นในลาออก ผมอยากจะฟังว่าเพราะอะไรแล้วผมสามารถช่วยอะไรเขาได้มั้ย ผมอยากให้ทุกคนอยู่กับเราให้นานที่สุด แต่ถ้าผมไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้ ผมก็ต้องปล่อยเขาไป
“มันเหมือนกับต้นไม้ผลัดใบ การที่เรารับคนเข้ามาใหม่มันก็ทำให้องค์กรก้าวไปข้างหน้า เราต้องการคนรุ่นใหม่ ไอเดียใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาบริษัทและสินค้าเราให้เติบโตแล้วก็ทันสมัยอยู่เสมอ เพราะว่าเราเองก็รู้ว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องถอย”
เวลา 27 ปีที่เขามอบทุกสิ่งทุกอย่างให้บริษัท ทำให้เขามองเห็นความเป็นไปของโลกธุรกิจ เขารู้ดีว่างานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา และเพราะรู้อยู่เต็มอกจึงอยากทำทุกอย่างให้มีความหมาย แน่นอนว่าการรับฟังเสียงของเพื่อนร่วมงาน ตั้งแต่เด็กจบใหม่ มาจนถึงพี่ ๆ ในแต่ละแผนกทำให้เขาใกล้ชิดกับพนักงานมากขึ้น แต่คำว่า ‘ลูกนาย’ ก็เหมือนเป็นระยะห่าง ที่ทำให้เขาไม่สามารถใกล้ชิดพนักงานได้อย่างใจหวังเสียที
“มันมีคำว่าลูกนายอยู่” เขาเกริ่น
“เราอยากจะเข้าไปหาลูกน้อง อยากเข้าหามากเลย แต่เขาก็อาจจะเกร็ง ๆ กับเราอยู่ อันนี้เข้าใจได้ แต่สิ่งที่ผมทำคือเราจะมีการปรึกษากันตลอด บางทีเราอาจจะตัดสินใจเร็วไป พอมีคนมาช่วยคิดช่วยเบรกมันก็ดี เราช่วย ๆ กันหมด
“กว่าจะมาถึงจุดนี้ไม่มีความสำเร็จไหนได้มาจากตัวเราคนเดียว ทุกความสำเร็จมาจากทุกคนในทีม”
ก่อนที่เพชรจะบอกเพิ่มเติมว่า ส่วนใหญ่เวลาเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้นมา เขานี่แหละจะเป็นคนเปิดหน้ารับทุกความผิดเอาไว้เอง เขาไม่อยากเห็นคนในทีมได้รับความเดือดร้อน นี่คือคุณสมบัติผู้นำในสไตล์เพชร นอกจากจะพร้อมกับฟังเสียงของเพื่อนร่วมงานแล้ว การยอมรับความผิดพลาดก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เขาใช้บริหารคนในบริษัทมาโดยตลอด
“ลูกนายรับไปไม่ตายหรอก ถูกมั้ย” เขายิ้ม
“แต่ถ้าลูกน้องเขารับ เราว่า เละ”
“เราไม่สามารถบอกได้หรอกว่าสหพัฒนพิบูลจะก้าวสู่องค์กรแบบไหน เราเป็นองค์กรที่ใหญ่มาก มีหลายส่วนเยอะแยะมากมาย แต่ว่าตอนนี้สิ่งที่พยายามอยากให้เห็น คือ Happy Workplace (องค์กรแห่งความสุข) เพราะมันเป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้จริง ทุกคนมองว่านี่คือสิ่งที่สหพัฒน์ทำได้
“สหพัฒน์ใหญ่กว่ามาม่าเยอะมาก มาม่าเป็นแค่ซับเซตหนึ่งของสหพัฒน์ ถ้าถามเราว่าอยากเห็นมาม่าเป็นแบบไหน พอจะตอบได้บ้าง อย่างน้อยวันนี้เราก็เป็นคนที่พอจะกำหนดทิศทางได้ แต่เราคงไม่ใช่คนกำหนดทิศทางของสหพัฒน์ เราเป็นแค่ตัวเล็ก ๆ ในองค์กรแห่งนี้ ที่เราพร้อมทำทุกอย่างเพื่อไดร์ฟองค์กรไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน”
Happy Workplace หรือ องค์กรแห่งความสุข คือสิ่งที่เพชรอยากเห็นและทำให้เกิดขึ้นในองค์กร เหมือนอย่างที่เขาเน้นย้ำมาโดยตลอดว่า ขอให้ทำทุกอย่างด้วยความสุข หากไร้สุขก็อย่าไปทำ
ส่วนสิ่งที่สหพัฒนพิบูลหวังจะก้าวต่อไป คือ การให้ความสำคัญกับคุณค่าขององค์กรที่สามารถส่งมอบให้แก่ ‘เพื่อนร่วมงาน’ อย่างทั่วถึง เพื่อให้ทุกคนพร้อม ‘ส่งมอบคุณภาพ อย่างมีคุณธรรม’ และก้าวต่อไปกับองค์กรด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน ผ่าน 3 คุณค่าหลักขององค์กร คือ
หนึ่ง – ความร่วมมือร่วมใจ (Collaboration) ความสำเร็จเกิดจากทีมเวิร์ก ทุกเสียงมีความหมาย ทุกความคิดเห็นมีค่า การรับฟังซึ่งกันและกันคือการให้เกียรติ และเป็นพลังสำคัญที่ทำให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน
สอง – รู้จริง ทำจริง เชี่ยวชาญ (Expertise) ทุกวันคือโอกาสเรียนรู้และเติบโต การลงมือทำจนเกิดความเชี่ยวชาญไม่ได้มาจากโชคช่วย แต่มาจากความมุ่งมั่นและความตั้งใจ
สาม – ความภาคภูมิใจคู่สังคมไทย (Pride) คงไม่มีอะไรน่าภาคภูมิใจไปกว่าการทำงานในบริษัทของคนไทย ด้วยความซื่อสัตย์ เพื่อส่งมอบสินค้าคุณภาพให้แก่เพื่อนร่วมชาติ และสิ่งเหล่านี้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคมมานานนับ 80 ปี
“องค์กร 80 กว่าปีเราอยู่ในยุคที่ต้องปรับตัว มันต้องปรับกันบ้าง ไม่ได้บอกว่าคนรุ่นเก่าไม่ดี เขาเป็นปูชนียาบุคคลที่มีองค์ความรู้ สามารถสอนเด็ก ๆ ได้ แต่เราก็ยังเป็นองค์กรที่พร้อมเปิดรับคนรุ่นใหม่เข้ามาแสดงฝีมือด้วยเช่นกัน”
“น้องใหม่คนไหนอยากเข้ามาทำงานกับมาม่า เราพร้อมเปิดรับนะ มาเป็นทีมมาร์เก็ตติ้งใหม่ที่เข้ามาบ้าบอด้วยกันกับผมทุกวัน เข้ามาเลย ยินดีต้อนรับ”
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ : สหพัฒนพิบูล