14 ก.พ. 2562 | 18:12 น.
เมื่อ 3-4 ปี ข่าวของแผนการจะตัดต้นไม้ที่อุโมงค์ต้นไม้ที่จังหวัดน่าน ไปจนถึงภาพถ่ายทางอากาศที่มองเห็นว่าภูเขาจังหวัดน่านกลายเป็นภูเขาหัวโล้นเพราะการปรับพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพด จนในที่สุดเกิดกระแสรักษ์ป่าน่านขึ้นมา แต่ความซับซ้อนของปัญหาป่าน่าน ไม่ใช่เข้าใจได้ง่ายๆ ในสายตาของคนนอกเพียงว่า หากจะลงมือปลูกต้นไม้เลย แล้วดูแลให้ป่ากลับขึ้นมาเป็นอันแก้ไขปัญหานี้สำเร็จ เพราะประเด็นที่ต้องสนใจก็คือในพื้นที่น่าน ไม่ได้มีแต่เพียง "ป่า" แต่มี "คน" อยู่ในพื้นที่นั้นด้วย คนอยู่ร่วมกับป่าหากินในป่ามาช้านาน จนวันหนึ่งวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป หันมาทำเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์มากขึ้นด้วยการปลูกข้าวโพด จนทำให้พื้นที่ป่าลดลงเรื่อยๆ แนวความคิด "น่านแซนด์บ๊อกซ์ (Nan Sandbox)" จึงเกิดขึ้นมาและได้รับการพัฒนามาจนเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ซึ่งผู้นำของโปรเจ็กต์นี้คือ บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักสำหรับโครงการนี้ "น่านแซนด์บ๊อกซ์" คืออะไร? คำตอบคือ โครงการที่รัฐบาลอนุมัติเพื่อให้ภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมมือกันแก้ปัญหาทรัพยากรป่าไม้จังหวัดน่าน และสร้างอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืนให้ราษฎร โดยรัฐบาลมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 48/2561 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่อง การบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน : พื้นที่จังหวัดน่าน แน่นอนว่า จุดประสงค์หลักของโครงการนี้คือการฟื้นฟูพื้นที่ป่า แต่คนในพื้นที่ก็ได้ประโยชน์ วิน-วิน ไปกับ "น่านแซนด์บ๊อกซ์" ซึ่งชาวน่านจะได้ประโยชน์จาก 1. ได้อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์พื้นที่ทำกินในเขตป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยชอบธรรม 2. ชุมชนได้โอกาสร่วมพัฒนาชุมชนของตน โดยจัดระบบ ระเบียบ และจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พัฒนาแหล่งน้ำ ตามความต้องการของชุมชน 3. ความรู้ใหม่เรื่องพืช ดิน น้ำ เทคโนโลยีการเกษตร การตลาด ตลอดจนวิธีสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างยั่งยืน และการอยู่คู่การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ 4. ในช่วงเปลี่ยนผ่านวิถีการเกษตรรูปแบบเดิมสู่การเกษตรรูปแบบใหม่ (การทำกินใต้ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ 18% และปลูกพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ 10%) จะได้รับการทดแทนรายได้ รายละเอียดของโครงการนี้ ผู้นำตำบล ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ประธานสภาองค์กรชุมชน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล สามารถร่วมกันพิจารณากำหนดพื้นที่ฟื้นฟูป่า 18% และพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเต็มที่ 10% เป็นภาพรวมรายตำบลได้โดยใช้คู่มือผู้นำชุมชนซึ่งมีข้อมูลเชิงพื้นที่ อาทิ แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่ป่าตามกฎหมาย ลุ่มน้ำชั้น 1, 2, 3, 4 และ 5 พื้นที่ไม่ใช่ป่า พื้นที่ทำกินในเขตป่าตามกฎหมาย ข้อมูลพิกัดรายแปลง รายชื่อลูกบ้าน จำนวนพื้นที่ทำกิน รายได้-หนี้สินของเกษตรกรประกอบการบริหารจัดการพื้นที่ 18% และ 10% ในพื้นที่แต่ละตำบล บัณฑูร ล่ำซำ ขยายความให้ฟังว่า การเริ่มต้นเดินหน้าโครงการนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก "ชาวบ้านร่วมในความตั้งใจ แต่ทุกคนยังทำเหมือนเดิม ยังปลูกข้าวโพดเหมือนเดิม เพราะไม่มีอะไรทำให้เขาเปลี่ยนได้ ทางพื้นที่ต้องเจรจาให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน เพราะว่านี่คือประเด็นใหญ่ของประชาชนเลย ว่าฉันผิดกฎหมายมาทั้งชีวิต ทำไมรัฐทิ้งให้เป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าแก้ตรงนี้ จะได้กำลังใจมาเยอะเลย การมีพื้นที่ถูกกฎหมาย ไม่ได้แปลว่าทำมาหากินรอด อันนั้นเป็นอีกโจทย์หนึ่ง ซึ่งยากพอกัน จะต้องไปแก้ให้เขาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ทุกคนไม่มีใครที่จะรออะไรจากใคร ทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อสร้างชีวิตใหม่ นี่คือความยั่งยืน" แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เกษตรกรที่ทำกินอยู่ในเขตป่าสงวนในพื้นที่ 18% ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำหนดให้ฟื้นฟูกลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ และพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเต็มที่ 10% จะได้รับการทดแทนรายได้ "การมานั่งรอรัฐแจกเงิน จะได้กี่น้ำ เดี๋ยวรัฐก็หมดแล้ว แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มันต้องมีเงินมาช่วยชาวบ้าน ไม่งั้นเปลี่ยนไม่ได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ให้เขาหยุดปลูกพืชที่ทำให้เขามีรายได้ประจำเดือน ไปบอกให้เขาหยุด แล้วเขาจะมีอะไรกินล่ะ ฉะนั้น ช่วงเปลี่ยนผ่าน ต้องช่วยประคองชีวิตเขาให้ไปต่อได้ตามสมควร แล้วไปเรียนวิธีทำมาหากินแบบใหม่ แล้วทำได้ดีกว่าเดิม ก่อนที่เงินนั้นมันจะหมด" การที่เรียนเชิญชุมชนทั้ง 99 ตำบลมาพูดคุย ทำความเข้าใจหลักการตรงนี้ร่วมกัน ก่อนที่จะส่งเรื่องไปยังรัฐบาล ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาป่าและสร้างอาชีพให้ผู้คนในพื้นที่อย่างยั่งยืน