28 เม.ย. 2566 | 16:14 น.
- ‘ชาตรี ตรีศิริพิศาล’ หรือ ‘ชาตรี ศิษย์ยอดธง’ เป็นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเกิดในครอบครัวมีฐานะ แต่ชีวิตต้องพลิกผันครอบครัวล้มละลาย
- เขาฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ โดยมีมวยไทยกีฬาสุดรักของเขาเป็นแรงบันดาลใจ
- วันนี้ชาตรีเป็นเจ้าของ ONE Championship ซึ่งมีมูลค่านับหมื่นล้านบาท และจุดกระแสกีฬามวยไทยให้ได้รับความสนใจบนสังเวียนโลกอีกครั้ง
‘ชาตรี ตรีศิริพิศาล’ หรือที่วงการกีฬาศิลปะการต่อสู้รู้จักกันในชื่อของ ‘ชาตรี ศิษย์ยอดธง’ นั้น เป็นบุคคลที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดบุคคลหนึ่งในช่วงเวลานี้ เนื่องจากเจ้าตัวที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของ ‘วัน แชมเปียนชิพ’ (ONE Championship) ONE Championship ซึ่งสร้างปรากฏการณ์สำคัญให้กับกีฬามวยไทยด้วยการระเบิดศึกวันลุมพินี (ONE Lumpinee) ในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ของทุกวันศุกร์ และที่สำคัญศึกมวยไทยดังกล่าวสามารถทำเรตติ้งได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ สร้างปรากฏการณ์ความคึกคักให้กับวงการมวยไทยเป็นอย่างมากหลังจากห่างหายไปนานจากสังคมไทย
ชาตรี ศิษย์ยอดธง เป็นบุคคลที่มีเรื่องราวชีวิตมากมายหลากหลายด้าน เป็นผู้ที่พลิกฟื้นชะตาชีวิตของตัวเองและครอบครัวจากชีวิตติดลบแบบอดมื้อกินมื้อ สู่การก่อตั้งองค์กรจัดการแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานที่ได้รับความนิยม มีทั้งรายได้และชื่อเสียงจนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
โดยหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญที่เป็นพลังให้เจ้าตัวต่อสู้ฝ่าฟันกับอุปสรรคต่าง ๆ มาได้นั้น ก็คือกีฬามวยไทยที่เจ้าตัวรักและเคยฝึกฝนมาในช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้เขาต้องการจะกลับมาพัฒนากีฬามวยไทยและเผยแพร่กีฬาชนิดนี้สู่ระดับโลกผ่านวัน แชมเปียนชิพของตนเอง
บทความนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับตัวตนและแนวคิดในการผลักดันกีฬามวยไทยของชาตรี ศิษย์ยอดธงกัน
เรื่องราวชีวิตที่แสนลำบาก เทวดาตกสวรรค์ในโลกความเป็นจริง
ชาตรี เป็นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น ที่ในวัยเด็กมีชีวิตสุขสบาย เนื่องด้วยฐานะของทางครอบครัวจัดว่าอยู่ในระดับดี เจ้าตัวมีชีวิตอย่างลูกคุณหนู มีเงินมีทองใช้แทบไม่ขาดมือจนหลายคนต้องอิจฉา และด้วยความที่ชาตรีเป็นเด็กที่มีความกระตือรือร้นและชื่นชอบในศิลปะการต่อสู้ด้วยแม่ไม้มวยไทย ทำให้ทางครอบครัวสนับสนุนให้เขาได้ไปฝึกฝนมวยไทยกับ ‘ครูยอดธง’ หรือ ‘ยอดธง เสนานันท์’ เจ้าของค่ายมวยศิษย์ยอดธง ในจังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ชาตรีอายุได้ 13 ปี
เขาใช้เวลาฝึกฝนมวยไทยอยู่หลายปีจนซึมซับทั้งเชิงชกและปรัชญาของกีฬาชนิดนี้เป็นอย่างดี แต่ด้วยภารกิจสำคัญที่เจ้าตัวต้องเดินทางไปศึกษายังมหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้จำเป็นต้องว่างเว้นจากกีฬาชนิดนี้ไป ณ ช่วงเวลาหนึ่ง
อีกทั้งช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นห้วงเวลาที่แสนยากลำบากของชาตรี เนื่องจากครอบครัวของเขาได้รับผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้งโดยตรงจนอยู่ในสภาวะล้มละลาย อีกทั้งคุณพ่อที่เปรียบเสมือนเสาหลักของครอบครัวก็ตัดสินใจเดินแยกทางกับคุณแม่ชาวญี่ปุ่นและทิ้งลูก 2 คนไว้ นั่นคือจุดเปลี่ยนในชีวิตของชาตรี
“ช่วงนั้นผมร้องไห้บ่อยมาก...เชื่อไหมพูดไปแล้วภาพนั้นยังติดตา ร้องไห้ เพราะไม่มีอนาคต บ้านไม่มี ไม่มีทางออก น้องชายอายุ 15 จะไปโรงเรียนยังไง เหมือนเราโดนทิ้งจากพ่อ และถูกผลักให้กลายเป็นหัวหน้าครอบครัวแบบไม่ได้ตั้งตัว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ยากลำบากมาก” นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของชาตรีกับไทยรัฐออนไลน์ รวมทั้งยังเป็นเรื่องราวที่เจ้าตัวมักเล่าให้ฟังเสมอเวลาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
ภาพที่คุณแม่ของเขาต้องคอยหยิบยืมเงินทองของผู้อื่นเพื่อมาใช้ในการประทังชีวิตนั้นช่างเป็นอะไรที่คุ้นชินของเจ้าตัว การอดมื้อกินมื้อ ถือเป็นสภาวะปกติที่ครอบครัวนี้ต้องเผชิญ เรียกได้ว่าชาตรีมีความยากลำบากเป็นเพื่อนคู่กาย ความสบายที่เคยได้รับเมื่อวัยเยาว์เป็นเพียงสิ่งที่ได้แค่ฝันถึงเท่านั้น ชีวิตของเขา ณ เวลานั้นเปรียบได้ดั่งเทวดาตกสวรรค์ในโลกของความเป็นจริง
คำสอนครูมวยและการวางแผนที่ยอดเยี่ยมสู่การพลิกฟื้นชีวิต
หลังจากชาตรีต้องพบกับชะตาชีวิตที่พลิกผันจนเจ้าตัวต้องขึ้นมาเป็นเสาหลักของครอบครัว สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขายืนหยัดต่อสู้ได้นั่นก็คือแรงใจจากคุณแม่และครอบครัว รวมทั้งคำสอนของครูยอดธงที่เคยกล่าวไว้สมัยชาตรีได้ไปฝึกมวยไทยว่า “การเป็นนักมวยไทยนั้น ต้องต่อสู้ทุกเวที ทั้งเวทีมวยและเวทีชีวิต”
ชาตรีและคุณแม่ได้ทำการวางแผนอนาคตร่วมกัน เริ่มจากการที่เขาได้ไปเข้าสมัครเรียนหลักสูตรบริหารธุรกิจที่ฮาร์วาร์ด บิสซิเนส สคูล (Harvard Business School) ประเทศสหรัฐอเมริกา และทั้งครอบครัวได้ตัดสินใจเดินทางไปต่อสู้ชีวิตด้วยกันที่นั่น โดยเจ้าตัวกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อมาเป็นค่าเล่าเรียน ควบคู่ไปกับการทำงานพิเศษเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวและให้คุณแม่แอบเข้ามาอยู่ในหอพักนักศึกษากับตัวเอง ซึ่งแม้จะรู้สึกผิด แต่ก็ไม่มีทางเลือกมากนักในช่วงเวลานั้น
หลังจากที่ทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง ชาตรีได้เริ่มสร้างธุรกิจของตัวเอง ด้วยการร่วมก่อตั้งธุรกิจซอฟต์แวร์อินเทอร์เน็ต โดยมีวีซี (VC) ให้ทุนสนับสนุนร่วมลงทุน และเมื่อชาตรีขายหุ้นของตนเองก็สามารถทำเงินได้หลายสิบล้านบาท ซึ่งนั่นก็ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาและครอบครัวดีขึ้น
จากนั้นชาตรีก็เข้าไปทำงานในวอลล์สตรีท (Wall Street) และสามารถสร้างผลงานจนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) ต่อมาภายหลังเขาก็สามารถสร้างกองทุนของตนเองขึ้นมาได้
ซึ่งความสำเร็จทั้งหมดที่ชาตรีสามารถพลิกฟื้นชีวิตขึ้นมาได้นั้น ก็เพราะได้แรงบันดาลใจจากคำสอนของครูมวยที่ให้เป็นนักสู้ในทุกเวที เป็นจุดเริ่มต้น
สร้างแบรนด์วัน แชมเปียนชิพ ด้วยหลักการ ‘ใจปิดเกม’
หลังจากชาตรีประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจจนสามารถพลิกฟื้นชีวิตได้สำเร็จแล้วนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความใฝ่ฝันของเจ้าตัวมาโดยตลอดและเป็นความท้าทายที่อยากลงมือทำ นั่นก็คือการผลักดันมวยไทยให้ไประดับโลกแบบเป็นรูปธรรม เขาจึงก่อตั้งวัน แชมเปียนชิพ ที่จัดการแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (Mixed Martial Arts) หรือเอ็มเอ็มเอ (MMA) โดยชาตรีนั้นต้องการสร้างนักกีฬาให้เป็นฮีโร่หรือวีรบุรุษบนสังเวียนการต่อสู้
โดยสิ่งที่วัน แชมเปียนชิพ ต้องการสื่อให้ผู้ชมได้เห็นคือ ไม่ว่าคุณจะมีต้นทุนชีวิตที่ติดลบมาเพียงใด หากคุณมีความเป็นนักสู้ มีความมุ่งมั่น ขยันอดทน มีวินัย ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ กล้าหาญและมีน้ำใจ คุณก็สามารถประสบความสำเร็จเป็นแชมป์และพลิกชะตาชีวิตของตัวเองได้
ฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่นักสู้ได้มีโอกาสขึ้นสังเวียนของศึกวัน แชมเปียนชิพ แล้วเขาเหล่านั้นต้องใช้หลักการ ‘ใจปิดเกม’ คือ ต้องสู้อย่างเต็มที่ไม่มีถอย ไม่มีดูเชิง แต่ต้องสู้ให้ถึงที่สุดเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่บางครั้งผู้ที่แพ้บนเวทีการต่อสู้อันดุเดือดจะได้รับเงินโบนัสไปด้วย
ในทางกลับกัน หากนักกีฬาได้รับโอกาสแล้ว แต่ไม่ทำให้เต็มที่แม้จะได้รับชัยชนะก็ไม่มีความหมายอะไรทั้งสิ้น ซึ่งด้วยแนวทางนี้ทำให้การจัดการแข่งขันของศึกวัน แชมเปียนชิพได้รับความนิยมและเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยวัน แชมเปียนชิพ เริ่มจากการจัดการแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานก่อน จากนั้นก็ตามต่อมาด้วยคิกบ็อกซิ่งและมวยไทย โดยชาตรียอมรับว่า มวยไทยนั้นเป็นอีเวนต์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด
Storytelling การบอกเล่าเรื่องราว คีย์สำคัญที่ใช้ผลักดันมวยไทยสู่เวทีโลก
เมื่อวัน แชมเปียนชิพ มีการจัดการแข่งขันชิงแชมป์โลกมวยไทยขึ้น นั่นทำให้ทั้งองค์กรของตนและกีฬามวยไทยได้รับการยอมรับและกล่าวถึงมากยิ่งขึ้นไปอีกขั้น การเอาศิลปะแม่ไม้มวยไทยมาปรับให้เข้ากับแนวทางการต่อสู้แบบ ‘ใจปิดเกม’ ของวัน แชมเปียนชิพนั้นกลายเป็นสูตรที่สร้างความสำเร็จอย่างเห็นผลได้ชัดเจน แต่ปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้กีฬามวยไทยในศึกวัน แชมเปียนชิพ ได้รับความนิยมมากก็คือ ‘การบอกเล่าเรื่องราว’ หรือ Storytelling
หนึ่งในแผนงานทางธุรกิจที่ชาตรีได้วางเอาไว้ให้กับทางวัน แชมเปียนชิพ ก็คือการถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นไทยผ่านทางกีฬามวยไทย เรื่องราวการต่อสู้ทั้งบนสังเวียนมวยและสังเวียนชีวิตของนักมวยไทย จะต้องได้รับการถ่ายทอดให้เป็นแรงบันดาลใจของทุกคนที่ยังต้องดิ้นรนต่อสู้ชีวิตบนโลกใบนี้ ความมุ่งมั่นทุ่มเท ซื่อสัตย์ และขยันอดทน สิ่งเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คนเราสามารถพลิกฟื้นชีวิตของตนเองได้ แชมเปียนของศึกวัน แชมเปียนชิพ จะเป็นดั่งฮีโร่ของคนในครอบครัวและแฟนคลับตัวเอง พวกเขาจะไม่ใช่เป็นแค่เพียงนักกีฬาเท่านั้น แต่เขาเหล่านั้นจะถูกผลักดันให้เป็นต้นแบบในการต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ จนสามารถไปถึงความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ได้
จากช่วงเวลาที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการทำ Storytelling ในรูปแบบนี้ของศึกวัน แชมเปียนชิพ ตามแผนธุรกิจของเขาทำให้กีฬามวยไทยสามารถเข้าถึงผู้ชมได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น กีฬามวยไทยกลับมาได้รับความนิยมหลังจากเงียบเหงาไปช่วงเวลาหนึ่ง เรื่องราวของนักมวยไทยแต่ละคนก็ส่งเสริมให้กีฬาชนิดนี้ดูมีมิติมากกว่าเป็นการต่อสู้กันบนสังเวียนเท่านั้น
ทิศทางและอนาคตของวัน แชมเปียนชิพ
ล่าสุด ชาตรีได้เปิดเผยถึงอนาคตของวัน แชมเปียนชิพว่า อาจมีแผนการจัดการแข่งขันศิลปะการต่อสู้ในรูปแบบอื่นเพิ่มเข้ามาอย่างเช่นมวยสากล แต่ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้ ซึ่งวัน แชมเปียนชิพ เองก็เคยจัดการแข่งขันมวยสากลอาชีพมาแล้วเมื่อครั้งที่ ‘ศรีสะเกษ ศ.รุ่งวิสัย’ ป้องกันแชมป์โลกรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท ของสภามวยโลก (WBC) กับ อิรัม ดิอาซ ในศึกวันคิงดอม ออฟ ฮีโร่ส์ (ONE : Kingdom of Heros) เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2018 ดังนั้นหากจะจัดการแข่งขันอีกจึงไม่ใช่ปัญหาเพราะมีประสบการณ์มาแล้ว
ด้านมวยไทยที่มีกระแสเรียกร้องจากแฟนมวยไทยว่าอยากเห็น ‘บัวขาว บัญชาเมฆ’ ยอดฮีโร่ขวัญใจแฟนมวยขึ้นสังเวียนแข่งขันในศึกวัน แชมเปียนชิพนั้น ชาตรีเผยว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ ซึ่งวัน แชมเปียนชิพเองก็ต้องการอยากที่จะเห็นนักมวยระดับคุณภาพบนสังเวียนของตนเช่นกัน ทว่าทุกอย่างก็อยู่ที่จังหวะเวลาที่เหมาะสมของทั้งสองฝ่าย ถ้าทุกอย่างลงตัวอะไรก็เกิดขึ้นได้
ชาตรีย้ำเสมอว่า นักสู้ที่มีโอกาสแสดงฝีมือในวันแชมเปียนชิพนั้นต้องสู้อย่างเต็มที่ ต้องมีวิญญาณเพชฌฆาต ซึ่งแนวคิดนี้จะทำให้ศึกวัน แชมเปียนชิพมีความโดดเด่นในกีฬาต่อสู้ อย่างที่ผ่านมาเราจะเริ่มเห็นนักมวยต่างชาติสามารถเอาชนะนักมวยไทยได้ในศึกของวัน แชมเปียนชิพ นั่นเป็นเพราะชาตรีมีความเชื่อว่าชัยชนะจะเป็นของผู้ที่ทำได้ดีที่สุดในการต่อสู้นั้นโดยไม่เกี่ยวว่า คุณจะเป็นเจ้าของต้นตำรับการต่อสู้นั้นหรือไม่ เวทีของวัน แชมเปียนชิพเปิดกว้างสำหรับทุกคน
และนี่คือเรื่องราวของ ชาตรี ตรีศิริพิศาล หรือ ชาตรี ศิษย์ยอดธง บุคคลผู้ซึ่งพลิกชะตาชีวิตของตัวเองโดยมีปรัญญาของกีฬามวยไทยเป็นแรงผลักดัน และพยายามส่งต่อปรัชญาการต่อสู้ชีวิตนี้ให้กับทุกคนผ่านการเล่าเรื่องด้วยกีฬามวยไทยในศึกวัน แชมเปียนชิพของตน
.
ภาพ : ONE Championship
.
บทความที่เกี่ยวข้อง : ชาตรี ศิษย์ยอดธง พลิกชีวิตติดลบสู่ ONE Championship สังเวียนนักสู้หมื่นล้าน : The People (11 พฤศจิกายน 2018)