27 ก.ค. 2566 | 16:57 น.
เพราะเมื่อเห็นข่าวการลงทุนครั้งนี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะเกิดคำถามในใจเหมือนกับเราว่า แรปเปอร์ผู้นี้มีความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจมากน้อยเพียงใด ถึงกล้าลงทุน(ใหญ่)ขนาดนี้
ช่วงสายของวันหนึ่ง The People จึงได้มีการนัดหมายพูดคุยกับขันเงินถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งนับเป็นชีวิตอีกด้านของแรปเปอร์คนดังแห่งวงไทยเทเนียม ตลอดจนมุมมองต่อธุรกิจบันเทิง และวงการ Hip Hop ในสายตาของเขา โดยในวันนั้นขันเงินแต่งตัวมาสไตล์เท่ๆ พร้อมกับสวมหมวกและแว่นดำอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเขาเอง
“แว่นตาผมถอดได้ แต่ตาผมแพ้แสง ถอดแล้วตาผมจะหยี ๆ และอันนี้เป็นแว่นสายตาด้วย” เป็นคำตอบที่ขันเงินให้กับเราเมื่อถามว่า สามารถถอดแว่นตาดำที่สวมจนเป็นภาพจำของตัวเขาเองได้หรือไม่
The People : คุณขันคุ้นเคยกับการเป็นนักธุรกิจมากน้อยแค่ไหน
ขันเงิน : ที่ผ่านมาผมก็เป็นนักธุรกิจมาตลอดนะ แต่เมื่อก่อนอาจเป็นการลงทุนเพื่อตัวเอง อย่างตอนเด็กผมรักและชอบในเสียงเพลง ทำให้ไปซื้อเครื่องเล่นแผ่นเสียง และเริ่มต้นทำงานเพื่อหาเงินมาซื้อแผ่นเสียงเพิ่ม จากนั้นด้วยความใฝ่ฝันอยากทำเพลง ทำให้ผมมาทำอาชีพดีเจ เพื่อมาซื้อไมโครโฟนและเครื่องเพื่อทำเพลง
สิ่งเหล่านั้น มองเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง เพื่อจะทำงานหาเงินมาตอบสนองในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ จนมาถึงไทยเทเนียมก็เปิดบริษัทขึ้นมาดูแล ซึ่งผมกับเดย์ (จำรัส ทัศนวะลาด) และเวย์ (ปริญญา อินทชัย) ทำเองทั้งหมด ตั้งแต่คำนวณการผลิตเทปและซีดีให้คุ้มกับการลงทุน การทำโปสเตอร์โปรโมต การนำอัลบั้มของตัวเองไปฝากขายตามร้านต่าง ๆ และการเก็บเงิน มันเป็นการปลูกฝังทำให้ผมเป็นนักธุรกิจไปแบบไม่รู้ตัว
และที่ผ่านมาผมก็ทำธุรกิจหลายธุรกิจนอกเหนือจากค่ายเพลงที่ทำอยู่ ณ ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า ธุรกิจสายการบินดูแลเรื่องประชาสัมพันธ์ ไนต์คลับ สตาร์ทอัพด้าน Crowdfunding
The People : การทำธุรกิจส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จหรือเปล่า
ขันเงิน : มีสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง เรียกว่าล้มลุกคลุกคลานพอสมควร แต่ก็ถือเป็นอีกประสบการณ์ของชีวิต บทเรียนที่ได้ชัดเจนเลย คือ ทำให้รู้ว่าเราถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไร และการที่เคยผิดพลาดไปแล้ว ฉะนั้นต้องระวังมากขึ้น โดยเฉพาะหากต้องทำงานใหญ่ เราต้องหาคนที่เก่งในแต่ละด้านมาช่วย
ตัวผมเองจะทำอะไรด้วยไอเดียซะส่วนใหญ่ ทำด้วยไอเดียแบบที่อยากทำ อย่างตอนทำ Asian Hip Hop Festival ด้วยความเป็นศิลปิน ผมอยากอัปเกรดวงการ Hip Hop ไทยให้ทั้งโลกรู้ว่าเรามีตัวตนอยู่ เลยจัดคอนเสิร์ตที่รวมมา 8 ประเทศ ซึ่งมันใหม่และใหญ่เกินตัวผมไปเยอะ หากระวังมากกว่านั้นเราอาจจะได้เงินมากกว่านี้
แต่ความระวังก็ไม่ได้แปลว่าจะดีเสมอไปนะ เพราะอาจจะทำให้เราไม่ได้มีโอกาสโตอย่างที่ควรจะเป็น นั่นเป็นบทเรียนให้หาคนเก่งมาช่วยคำนวณเรื่องตัวเลข หากเรารู้ตัวว่าไม่เก่ง ต้องหาคนที่เก่งที่สุดมาช่วยเรา
The People : มาถึงการลงทุน 650 ล้านบาทที่ M PICTURES ทำไมสนใจลงทุนที่นี่
ขันเงิน : เวลาอยู่กับกลุ่มเพื่อน กลุ่มพี่ ๆ ผมจะชอบเล่าไอเดียต่าง ๆ ในหัวให้เขาฟัง สิ่งที่เรามองอนาคตของวงการบันเทิงเมืองไทย เรามองทำไมมันไม่มีอันนี้ ไม่มีอันนั้น พวกพี่ ๆ แล้วก็ทุกคนบอกว่า ทำไมไม่คิดให้ใหญ่ขึ้น และแนะนำว่า อันนี้เป็นการลงทุนที่ดี เราควรจะทำตามวิชั่นที่เรามีและอยากให้เกิดขึ้น
โดยผมจะทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดและมีคอนเนกชั่น นั่นคือ การจัดอีเวนต์และคอนเสิร์ต บวกกับมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่งานประเภทนี้ในไทยมีการจัดเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมรู้สึกว่า เวลาคอนเสิร์ตเมืองนอกมา คนไทยเหมือนไม่ค่อยได้มีความสำคัญในส่วนร่วมตรงนั้น
ตามวิชั่นของผมนะคิดว่าทำไมไม่เอามาเล่นด้วยกัน ทำไมไม่ทำให้ประสานกัน ตรงนี้อาจจะพูดเยอะไปนิดหนึ่ง (หัวเราะ) เดี๋ยวเขาจะรู้ว่าเราจะทำอะไร ส่วนการผลิตหนังธุรกิจหลักดั้งเดิมของ M PICTURES อยู่ระหว่างการตัดสินใจ อาจจะไม่ได้สร้างหนังเองเหมือนเดิม
The People : ถือเป็นการลงทุนใหญ่มากนะ
ขันเงิน : ใช่ครับ (หัวเราะ) และเป็นการลงทุนครั้งใหญ่สุดในชีวิตผม ตอนนี้เวลาส่วนใหญ่ของผมโฟกัสกับที่นี่ หลายคนตั้งคำถามว่า ผมเป็นนอมินีใครหรือเปล่า เอาเงินมาจากไหน ผมตอบเลยว่า ผมไม่ได้เป็นนอมินีใคร ผมตั้งใจทำ และผมไม่ได้ลงเงินของตัวเองทั้งหมด ก็ไปกู้มาตามปกติ
อย่างที่บอกส่วนใหญ่ผมจะทำอะไรด้วยไอเดีย แล้วหาคนเก่งแต่ละด้านมาช่วย ผมเองเป็นศิลปินที่ทำธุรกิจ และด้วยศิลปินเองมีความเป็นตัวเองสูง ฉะนั้นบางการตัดสินใจอาจจะไม่เหมือนนักธุรกิจ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลย บางทีเราจัดคอนเสิร์ตกับนักธุรกิจ ถ้าเราเดินไปคู่กัน นักธุรกิจจะเอาเวทีแค่นี้พอแล้ว แสงแค่นี้พอแล้ว เพราะงบมีอยู่แค่นั้น แต่ไอ้ใจศิลปินก็จะแบบเฮ้ยขอแสงมากกว่านี้ได้ไหม ภาพข้างหลังกราฟิกสวยกว่านี้ได้ไหม
แต่ว่าศิลปินเก่ง ๆ อย่างเช่นผมยกตัวอย่าง Jay Z เขาเป็นไอดอลของผม เขาเป็นศิลปินที่ได้รางวัลแกรมมี่เยอะมาก การันตีอยู่แล้วว่าเป็นศิลปินที่เก่ง แต่ทำไมถึงสามารถทำธุรกิจได้เก่ง เพราะมีที่ปรึกษา มี Business Manager มีทุกคนที่คอย เฮ้ยถ้าได้เงินจากเพลงมาแล้วจะลงทุนกับอะไร เขาก็ไปทำเสื้อผ้า ผมก็ทำเสื้อผ้าตอนนั้นเพราะใกล้ตัวเราแต่งตัวอยู่แล้ว
เลยมองว่า ถ้าศิลปินที่ทำธุรกิจต้องมีคนที่ช่วยในด้านธุรกิจที่เก่ง เราต้องฟังเขาบ้าง ใช้ใจศิลปินบ้าง
The People : หลายคนบอกว่าความเป็นศิลปินจะไอเดียบรรเจิด แล้วมาหาจุดบาลานซ์กับธุรกิจได้อย่างไร
ขันเงิน : ผมเลยต้องมี CEO กับ COO CC อะไรทั้งหลายมาเบรกผม (หัวเราะ) ยิ่งถ้าเราเป็นมหาชนด้วย ต้องมองอีกแบบหนึ่ง ด้วยไอเดียที่ออกมาจากหัวเรามันมาจากความเป็นศิลปะ แต่หากทำให้มันเวิร์ก ให้ Make Sense ก็ต้องให้คนมาช่วย แล้วเราต้องรับฟังด้วยว่า ทำไมมันถึงต้องแค่นี้
The People : คุณขันดื้อไหม
ขันเงิน : ไม่ดื้อครับ ไม่ดื้อ เพราะว่าเมื่อก่อนทำบริษัทของตัวเองจะดื้อได้ แต่ตอนนี้เราทำเพื่อทุกคนเพื่อมหาชน ฉะนั้นต้องทำให้ Make Sense ผมมองว่าการทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องกำไรมหาศาลก็ได้ แต่ทำในสิ่งที่ดีที่เราเชื่อว่าดีสำหรับวงการบันเทิง ไอเดียมีความสำคัญ และยิ่งไอเดียนั้นสามารถทำเงินได้ ยิ่งดีเข้าไปใหญ่
The People : มองวงการบันเทิง ณ ปัจจุบันอย่างไร
ขันเงิน : ผมอยู่วงการบันเทิงมานาน มองว่าตอนนี้น่าตื่นเต้น เด็กรุ่นใหม่มีความสามารถมาก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการเปิดกว้างทางเทคโนโลยี บางคนทำมิวสิกวิดีโอตัดต่อทำอะไรทุกอย่างได้หมด แล้วยังอายุไม่ถึง 18 เลย ฉะนั้นเราก็เลือกที่จะทำงานกับคนรุ่นใหม่ แล้วให้โอกาสเขาด้วย ลองทำ สร้างดวงดาวใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ
ส่วนคนเบื้องหน้าตอนนี้คนมีความสามารถเยอะเช่นเดียวกัน ผมเองก็ไม่ได้ตามทันทุกคน วงการบันเทิงมันกว้างมากกว่าสมัยก่อนที่เราเริ่มเยอะ สื่อก็กว้างมาก มันทั้ง YouTuber ทั้งอะไรหลายอย่าง น่าตื่นเต้นมาก มีโอกาสเยอะที่เราจะทำอะไรกับคนเหล่านี้ที่เขาเก่งในแต่ละด้านของเขา
The People : ตอนนี้ยังทำเพลงอยู่ไหม
ขันเงิน : ยังทำอยู่ แล้วเป็นโปรดิวซ์เพลงให้น้อง ๆ อยู่เรื่อย ๆ สำหรับผมเพลงเป็นเหมือนกับการบำบัด สมมติเรายุ่งกับอะไรมาทั้งวัน แต่พอมานั่งหน้าเครื่องได้กดเมโลดี้ ได้ทำอะไรแบบนี้ เหมือนลืมทุกอย่างไป เพราะเราโฟกัสอยู่กับตรงนี้ เป็นการให้เวลากับตัวเอง
พอเราโฟกัสกับเสียงเพลงที่เรากำลังได้ยิน ซาวด์ที่เรากำลังเลือกอยู่ ทำนองหรือเนื้อร้องที่กำลังคิด จะทำให้ผมโฟกัสและปล่อยวางจากเรื่องอื่นได้ เหมือนการนั่งสมาธิที่เมื่อมีสมาธิ ปัญญาก็เกิด (หัวเราะ) หรือทำให้มองในอีกแง่หนึ่ง
จากสิ่งที่เราอาจจะรู้สึกไม่ดีกับสิ่งนี้หรือเราพยายามจะแก้ปัญหาอะไรสักอย่างกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พอมีสมาธิทำให้หาคำตอบได้ว่า เฮ้ย จริง ๆ แล้วมันไม่ได้แย่ขนาดนั้นนะ ถ้าทุกอย่างฟุ้งอยู่ในหัวเราทั้งวัน มันเหมือนจะจมปลักหาทางออกยาก ทั้งที่ความจริงทางออกอยู่ใกล้แค่เอื้อม
The People : แรปเปอร์หลายคนจะแต่งเพลงจากการต่อสู้ชีวิต แล้วสไตล์ของคุณขันเป็นอย่างไร
ขันเงิน : ส่วนหนึ่งแน่นอนเป็นการเล่าเรื่องจากล้มลุกคลุกคลานแล้วมาประสบความสำเร็จ ก็เป็น Inspiration เป็นเรื่องราวที่ผมพูดมาตลอดกับไทยเทเนียม เพราะเป็นเรื่องจริงที่เราไปล้มลุกคลุกคลานกัน 3 คน แล้วปล่อย Message นี้ออกไปเหมือนกับว่าเราทำได้ คุณก็ทำได้
อย่างเพลงสุดขอบฟ้าที่ผมเขียน ที่น้าแอ๊ด คาราบาว มาร่วมร้อง ก็เป็น Inspirational จากตัวเราข้างใน อย่างที่บอกการเขียนเพลงพวกนี้สำหรับผมเป็นการบำบัด เป็นการปลดปล่อยความรู้สึกของเราในช่วงเวลานั้น ในวันนั้น ทุกเพลงที่ผมเขียนจะจำได้ว่า โมเมนต์ที่เขียนเนื้อทำไมถึงเขียนแบบนี้ เหมือนดึงเรากลับไปในวันเก่า ๆ ที่ความรู้สึกตรงนั้น
เพราะฉะนั้นส่วนตัวผมเองจะชอบเขียนเพลงที่มีความหมายมีข้อคิด แต่เวลาอยู่กับเพื่อนอย่างไทยเทเนียมจะทำหลากหลาย มีเพลงสนุก มีเพลงทะลึ่ง มีเพลงพ่อมึงที่โดนด่าอะไรงี้ มีหลายรูปแบบ และเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีคนชอบหรือคนไม่ชอบ สิ่งที่เราทำเหมือนศิลปะครับ สำหรับผมเพลงเหมือนการวาดรูป เมื่อเราวาดเสร็จมีคนเดินมาดู เขาอาจจะบอกว่า ไม่เห็นสวยเลย บางคนอาจบอกโดนใจสุดๆ
เพลงก็เช่นเดียวกัน คนที่ไม่ชอบก็ผ่าน แต่บางคนบอกว่า เพลงนี้ผมแม่งจำจนวันตายเลย เพราะช่วยผมในวันนั้น คำพวกนี้สำคัญสำหรับผมมากกว่าที่แบบ เออเพลงพี่ดังนะ เพลงแบบทะลึ่งดังแบบร้องให้ฟังหน่อยสิ ผมคลุกคลีกับแฟนเพลงเยอะ เวลาเจอกันก็พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพราะแฟนเพลง Hip Hop ของเรามันเป็นชีวิตเราจริง ๆ ไม่ใช่ว่า ฉันรักเธอ เธอรักฉัน โน่นนั่นนี่ เราเล่าชีวิตของเราให้เขาฟัง เขาเลยรู้สึกว่ารู้จักเราในมุมนั้น ๆ
The People : มีคนบอกว่าวงการ Hip Hop คู่กับความขัดแย้ง คุณขันมองประเด็นนี้อย่างไร
ขันเงิน : Hip Hop เป็นดนตรีที่ Competitive มาก ถ้าดู Culture เนี่ยทำไมถึงต้องมาแรป Battle กัน เพราะ Hip Hop เป็น Culture ที่ต้องมี Number One คนอยากรู้ว่า ใครคือ Number One แรปเปอร์ใครคือ Number One ยกตัวอย่างถ้า Rock แฟนเพลงอาจจะเป็นคนเลือกวงนี้ดังที่สุดในประเทศ แต่วงเขาไม่แบบสู้กันเองว่า จะเป็นวง Number One ของประเทศ
เพราะฉะนั้นการขัดแย้งใน Hip Hop กับการ Battle เป็นเรื่องธรรมดาของ Culture ครับ เพราะแข่งขันสูงมากอยากจะเป็น Number One ก็เลยมีการดิส มีการขัดแย้งเหมือนมวยอะครับ เราจะเชียร์ว่าคนนี้เจ๋งกว่า ส่วนการขัดแย้งระหว่างแฟนเพลงมันไม่มี เพราะอยู่ที่การติชม เราต้องยอมรับคำติชมของเขา เหมือนกับการวาดรูป ถ้าไม่สวย เขาจะดูแค่ครั้งเดียวแล้วเดินผ่านไป
เพลงก็เป็นอย่างนั้น มันไม่ใช่เพลงเดียวจะจบชีวิตพวกเรา เพราะมันคืองานศิลปะที่เราสร้างขึ้นมาเรื่อย ๆ ถ้าเพลงนี้เขาไม่ชอบ ก็ข้ามไปทำสร้างผลงานใหม่ เพราะศิลปินจะอยู่ได้กับผลงานล่าสุด ไม่ดีก็จะโดนติชมอยู่แล้ว ความดีที่สร้างมาไม่ได้แปลว่าจะยั่งยืน เป็นธรรมดาของโลก (หัวเราะ)
ส่วนตัวผมไม่ค่อยอยากเป็น Number One เพราะยิ่งเด่นดังอยู่จนยอด มันล้มลงมาได้ทุกเมื่อ ความตั้งใจของผมจากการที่เกิดมาจาก DJ เกิดจากการเลือกเพลงเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศในวันนั้น เปิดให้คุณฟังจากการพิจารณาของเรา และเอานำเสนอให้คุณ เป็นภาพกว้างที่ผมมองไว้ เป็นคนเลือกของโน้นของนี้ที่ดีมาจัดสรรให้ท่านผู้ชมแล้ว
.
ภาพ : จุลดิศ อ่อนละมุน