KCG เจ้าของตำนานคุกกี้กล่องแดง ‘อิมพีเรียล’ บนเส้นทาง ‘มหาชน’ เพื่อบุกตลาดโลก

KCG เจ้าของตำนานคุกกี้กล่องแดง ‘อิมพีเรียล’ บนเส้นทาง ‘มหาชน’ เพื่อบุกตลาดโลก

หลังจากสร้างตำนานคุกกี้กล่องแดง ‘อิมพีเรียล’ มานานกว่า 64 ปี ถึงเวลา ‘เคซีจี คอร์ปอเรชั่น’ หรือ KCG ทิ้งภาพธุรกิจครอบครัว มุ่งสู่การติดนามสกุล ‘มหาชน’ เพื่อเร่งสปีดบุกตลาดโลก

Stories of the Month เป็นซีรีส์ใหม่ของ The People ซึ่งจะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจในแต่ละเดือน และเป็นประเด็นพิเศษให้ติดตามกันแบบไม่ซ้ำกัน โดยเดือนกันยายน 2023 เป็นเรื่องราวของ ‘องค์กรที่ก้าวสู่ IPO’

ในยุคที่มีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อย ๆ เคล็ดลับ กลยุทธ์ หรือวิธีการใดก็ตามล้วนมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ซึ่ง ‘IPO’ หรือที่มาจากคำว่า ‘Initial Public Offering’ คือการที่บริษัททำการระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เจ้าของกิจการมักเลือกเพื่อขยับขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้นไปอีกระดับ

เริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัว

เมื่อเราพูดถึง ‘เคซีจี คอร์ปอเรชั่น’ หรือ KCG หลายคนอาจบอกว่าไม่รู้จัก แต่เมื่อพูดถึงคุกกี้กล่องแดง ‘อิมพีเรียล’ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะร้องอ๋อ 

เพราะต้องการสร้างธุรกิจของครอบครัว ‘ตง ธีระนุสรณ์กิจ’ ในวัย 17 ปี จึงตัดสินใจร่วมลงทุนกับพี่ชาย ‘วิจัย วิภาวัฒนกุล’ ที่มีความชำนาญในเรื่องนม เนย และอาหารตะวันตก ตั้ง ‘ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊ว พาณิชย์’ (กิมจั๊วมาจากชื่อจีนของวิจัย พี่ชายตง) ขึ้นมาในปี 2501

โดยห้างหุ้นส่วนดังกล่าว ดำเนินธุรกิจนำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าพร้อมบริโภค ทั้งในส่วนของวัตถุดิบประเภทเนยและชีส รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้าสู่ตลาดประเทศไทย

หนึ่งในสินค้าที่ได้นำเข้ามาก็คือ คุกกี้ยี่ห้อดังจากเดนมาร์ก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ต่อมาตงตัดสินใจผลิตคุกกี้กล่องแดงแบรนด์ของตัวเอง นั่นคือ ‘อิมพีเรียล’ จนกลายเป็นตำนานของฝาก ของขวัญในช่วงเทศกาลมาจนถึงปัจจุบัน

จากผู้นำเข้าสู่เจ้าของแบรนด์

หลังจากดำเนินธุรกิจนำเข้าไปได้ระยะหนึ่ง ทั้งตงและพี่ชายเห็นว่าธุรกิจนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในบทบาท ‘ผู้ผลิต’ ดังนั้นปี 2515 จึงได้ตั้งโรงงานแห่งแรกขึ้นในซอยอุดมสุข ภายใต้ชื่อ ‘บริษัท ยูไนเต็ด แดรี่ ฟู้ดส์ จำกัด’ ผลิตเนย ‘อลาวรี่’ จากประเทศออสเตรเลีย ตลอดจนผลิตภัณฑ์อาหารนม คุกกี้ แยมผลไม้ และเยลลี่สำเร็จรูป ฯลฯ     

ในปี 2528 ได้ตั้งโรงงานแห่งที่ 2 ขนาด 42 ไร่ ณ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในชื่อ ‘บริษัท อิมพีเรียล เยนเนอรัลฟูดส์ อินดัสทรี จำกัด’ รองรับธุรกิจที่เติบโต ทั้งการผลิตบิสกิต คุกกี้ แครกเกอร์ ขนมอบ เวเฟอร์ และน้ำตาลก้อน​ ซึ่งคุกกี้อิมพีเรียลได้ถือกำเนิดขึ้นที่นี่

ตงเล่าว่า ที่มาของไอเดียผลิตคุกกี้เอง มาจากรัฐบาลไทยยุคนั้นได้ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และประกาศห้ามนำเข้าอาหารประเภทขนมปังกรอบ (รวมถึงคุกกี้ด้วย) เพราะต้องการให้เกิดการผลิตภายในประเทศเพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำ ประกอบกับคุกกี้สมัยก่อนมีราคาค่อนข้างสูง วางจำหน่ายเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตและร้าน Grocery ขนาดใหญ่เท่านั้น จึงมีภาพลักษณ์เป็นสินค้าไฮเอนด์มีคุณค่า 

เมื่อเห็นโอกาส บวกกับมีความพร้อม แล้วทำไมกิมจั๊ว พาณิชย์ถึงจะไม่ผลิตเอง โดยวางคอนเซ็ปต์เป็นบัตเตอร์ คุกกี้ สไตล์เดนมาร์ก ใช้ชื่อว่า ‘อิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ก’ (Imperial Danish Style Butter Cookies)

สำหรับที่มาของชื่อแบรนด์ ‘อิมพีเรียล’ มาจากตงไปต่างประเทศแล้วเห็นแบรนด์นี้ รู้สึกชอบ จึงนำมาจดทะเบียนการค้า 

ส่วนเหตุผลที่ต้องเป็นสไตล์เดนมาร์ก ก็เนื่องจากประเทศดังกล่าวมีชื่อเสียงในเรื่องคุกกี้และคนไทยรู้จักคุ้นชินรสชาติอยู่แล้ว ขณะที่ทำไมต้องมาในแพ็กเกจสีแดง คำตอบ คือ เป็นสีมงคลสำหรับคนไทยและคนจีน 

พัฒนาอย่าหยุดนิ่ง 

นอกจากจะเป็นแบรนด์คุกกี้แล้ว ‘อิมพีเรียล’ ยังเป็นชื่อของผลิตภัณฑ์ตัวอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เนย บิสกิต เวเฟอร์ เป็นต้น และในปี 2555 ทางกิมจั๊วยังขยายงานต่อเนื่อง ด้วยการตั้งโรงงานแห่งที่ 3 ในชื่อ บริษัท ยูไนเต็ด แดรี่ ฟู้ดส์ จำกัด (เทพารักษ์) ขยายกำลังการผลิตเนย มาร์การีน และชีส

“การทำอะไรก็ตาม ต้องเริ่มต้นด้วยคุณภาพและต้องพัฒนาอย่าหยุดนิ่ง” นี่เป็นคติหรือหลักคิดในการทำงานที่ตงยึดถือมาโดยตลอด และได้ลงมือทำในหลาย ๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตัวองค์กร บุคลากร และผลิตภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่ปี 2554 ได้มีการรีแบรนด์จากห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊ว พาณิชย์ มาเป็น ‘บริษัท กิมจั๊ว กรุ๊ป’ และปี 2557 กลุ่มบริษัทในเครือมีการปรับโครงสร้างบริษัทและจดทะเบียนในชื่อ ‘บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด’ หรือ KCG 

มาถึงปี 2561 โอกาสครบรอบ 60 ปี KCG ก็ได้ปรับโครงสร้างบริหารดึงมืออาชีพ ‘คนนอกครอบครัว’ มาเสริมทัพรองรับการขยายตัวของธุรกิจให้ครอบคลุมทุกหน่วยของอาหาร พร้อมกับตั้งศูนย์นวัตกรรมในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในแต่ละช่วงอายุ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคผูกพันและจดจำ 

ติดนามสกุลมหาชน

ปัจจุบัน KCG เดินอยู่บนเส้นทางสายธุรกิจมานานกว่า 64 ปี มีพนักงาน 1,900 คน นำเข้าสินค้ากว่า 40 แบรนด์ และผลิตสินค้าของตัวเองกว่า 2,000 ชนิด ครอบคลุมกลุ่มบิสกิต, สินค้าประเภทนม เนย และชีส, อาหารแช่แข็ง, เครื่องดื่ม, วัตถุดิบในการทำเบเกอรี่, อาหารสำเร็จรูป, เนื้อและอาหารทะเล ไปจนถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์ 

ส่วนรายได้รวมในปี 2562 อยู่ที่ 5,654 ล้านบาท กำไร 250 ล้านบาท ปี 2563 มีรายได้รวม 4,908 ล้านบาท กำไร 244 ล้านบาท และปี 2564 มีรายได้รวม 5,256 ล้านบาท กำไร 303 ล้านบาท

โดยทิศทางต่อจากนี้ ตงต้องการให้ KCG เติบโตอย่างยั่งยืน และไม่ได้จำกัดการทำธุรกิจเฉพาะในบ้านเกิดหรือตลาดระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่มองไปไกลถึงทั่วโลก โดยเป้าหมายต้องการก้าวสู่ผู้นำการผลิตและนำเข้าผลิตภัณฑ์เนย ชีส และผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคชั้นนำติดอันดับโลก  

KCG จึงได้เข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการซื้อ-ขายวันแรกเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ซึ่งการระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทาง KCG  ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม 

รวมไปถึงขยายกำลังการผลิต และลงทุนสร้าง KCG Logistics Park คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าแบบแช่แข็ง (Frozen) และแบบอุณหภูมิห้อง (Ambient) ที่มีความทันสมัยและแบบครบวงจรสำหรับรองรับการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

จากธุรกิจเล็ก ๆ ของครอบครัวในการนำเข้านม เนย และชีส ตอนนี้ KCG ไติบโตและกลายเป็นบริษัทมหาชน ส่วนจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป 

.

บทความนี้อัปเดตจากบทความ : ‘ตง ธีระนุสรณ์กิจ’ ผู้สร้างตำนานคุกกี้ ‘อิมพีเรียล’ ที่ไม่ได้มีดีแค่คุกกี้กล่องแดง เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม 2565