ระเฑียร ศรีมงคล กับ 'แนวคิดระบบปฏิบัติการความเป็นผู้นำ' ที่ส่งต่อถึง CEO คนใหม่ของ KTC

ระเฑียร ศรีมงคล กับ 'แนวคิดระบบปฏิบัติการความเป็นผู้นำ' ที่ส่งต่อถึง CEO คนใหม่ของ KTC

ก่อน ‘ระเฑียร ศรีมงคล’ จะได้ส่งต่อตำแหน่ง CEO บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ให้กับ ‘พิทยา วรปัญญาสกุล’ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เขาได้บอกเล่าถึงแนวคิดที่น่าสนใจ นั่นคือ ระบบปฏิบัติการความเป็นผู้นำ (Leadership Operation System)

นับเป็นบทส่งท้ายที่งดงามของ ‘ระเฑียร ศรีมงคล’ ในการส่งไม้ต่อตำแหน่ง CEO บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ให้กับ ‘พิทยา วรปัญญาสกุล’ หลังจากที่เขารั้งตำแหน่งนี้มานานถึง 12 ปี พร้อมกับผลงานเชิงประจักษ์มากมาย โดยคุณพิทยา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มงานการตลาดและสื่อสารองค์กร จะเริ่มทำหน้าที่สำคัญนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

ในงานแถลงข่าว ณ CVK Park Bosphorus Hotel ประเทศตุรกี เมื่อวันก่อน คุณระเฑียรได้กล่าวถึงแนวคิดเรื่องระบบปฏิบัติการความเป็นผู้นำ (Leadership Operation System) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่คณะกรรมการบริษัทฯ ตัดสินใจในการเลือกสรรผู้บริหารระดับสูง อย่างคุณพิทยาขึ้นเป็น CEO คนใหม่

The People เห็นว่าถ้อยแถลงของคุณระเฑียรในวันแถลงข่าวมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะในแง่มุมการเปลี่ยนผ่านขององค์กรธุรกิจร่วมสมัย ซึ่งจะมีประโยชน์สำหรับแนวคิดด้านการบริหารจัดการของผู้นำ จึงขอเรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนมาถ่ายทอดบนพื้นที่นี้ ...

การพิจารณาว่าใครเป็นคนที่มี leadership และสามารถสร้าง Leadership OS ขึ้นมาได้ ในกระบวนการต่าง ๆ เราได้ตัดสินใจและพิจารณาครบถ้วนแล้วว่า คือคุณพิทยา พวกเราอาจสงสัยว่า แล้ว Leadership OS คืออะไร ลองฟังดูกันว่า คุณพิทยา fit กับ Leadership OS ไหม

หลัก ๆ ของ Leadership OS นั้น มี 3 อย่าง คือ หนึ่ง - ต้องสร้าง trust หรือ ศรัทธา ให้เกิดขึ้นกับคนในองค์กร ลูกค้า และ stakeholders สอง - ต้องมี clarity หรือ ความชัดเจน ในการดำเนินการหรือทำอะไรก็ตาม และเมื่อสองสิ่งนี้ครบแล้ว ทำอะไรก็ตาม ต้อง drive ให้มี momentum ของการทำต่อเนื่องไปได้

การที่จะสร้าง trust ในองค์กรนั้น คุณสมบัติของผู้นำต้อง care คือ ห่วงใยผู้เกี่ยวข้อง ผู้ใต้บังคับบัญชา ห่วงใยพาร์ตเนอร์ ห่วงใยลูกค้า และในขณะเดียวกัน ก็ต้อง provide psychological system คือ ความอบอุ่นใจ ความมั่นคงทางจิตใจว่าลูกน้องต้องกล้าที่จะแสดงความเห็นที่แตกต่างได้ ไม่ใช่ลูกน้องไม่กล้าพูดอะไร เพราะนายตาเขียว

และต้องเป็นคนที่มี reliability คือเป็นคนที่มีความชัดเจน พูดแล้วไม่กลับไปกลับมา พูดอะไรไปแล้ว ต้องชัดเจน และสุดท้าย ต้องเป็นคน fair ในสังคมของ KTC เราไม่ได้ treat บุคคลเท่าเทียมกัน แต่เรา fair เราไม่ได้บอกว่าคนที่ทำกับคนที่ไม่ทำ จะได้เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ เรา fair เพราะคนที่ทำต้องได้มาก คนที่ไม่ทำก็ได้น้อย คนที่ทำดีต้องได้ดี คนที่ทำไม่ดีต้องได้ไม่ดี อันนี้คือคุณลักษณะของผู้นำที่จะสร้าง trust ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา เราเชื่อว่าคุณพิทยามีข้อนี้ครบ

ส่วนทางด้าน clarity นั้น เป็นเรื่องของ direction ต้องกำหนดว่า เราจะไปในเส้นทางไหน ทิศทางไหน แล้วเราต้องบอกว่า องค์กรเรามีวัตถุประสงค์อะไร purpose ขององค์กรเรา องค์กรเราเกิดมาเพื่ออะไร ทำไม KTC จึงจำเป็นต้องดำรงอยู่ คนเป็นผู้นำต้องรู้ว่า ทำไมต้องเป็น KTC ถ้าเราไม่อยู่แล้ว อุตสาหกรรมเอย ทุกอย่างจะดีขึ้นอย่างไร เรามีเป้าหมายอย่างไร  เช่น เราจะไม่ทำในสิ่งที่ผิด เราจะไม่ทำอะไรที่สร้างปัญหาให้สังคม อันนี้คือ purpose ของ KTC และคนของ KTC ต้องเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ คือมี accountability ไม่ใช่ว่าเรามี psychological safety แล้วซี้ซั้วพูดอะไรก็ได้ ไม่ใช่ และเรากล้าที่จะพูดในสิ่งที่ถูกต้อง กล้าที่จะเห็นต่าง แต่อย่างไรก็ตาม ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองคิดในสิ่งที่ตัวเองพูด

สุดท้าย ต้องสร้างแรงดึงดูดที่ดีให้สังคมและให้แก่องค์กร หมายความว่า เขาสร้าง culture คือ value หรือ culture ไม่ใช่สิ่งที่เขียนเป็นตัวหนังสือ แต่เป็นสิ่งที่มีคน KTC เดินมาแล้วคุยกับใครสักคน แล้วรู้เลยว่า นั่นคือคน KTC คนของ KTC จะคิดแบบนี้ เราเชื่อว่าคุณพิทยามีคุณสมบัตินี้

ข้อสุดท้ายที่อาจจะยากหน่อย คือ momentum คือการทำสิ่งที่เราทำมาแล้วต่อเนื่องต่อไป ให้ส่งต่อไปได้ในอนาคต ดังนั้น การที่จะมี momentum ก็จะต้องเป็นคนที่มี motivation คุณพิทยาเป็นคนที่สามารถ drive ลูกน้อง ไปดูลูกน้องของคุณพิทยาได้เลย ทุกคนเป็นคนที่ถูกคุณพิทยากระตุ้นบ่อยมาก

การกระตุ้นในที่นี้ เป็น internal motivation ไม่ใช่ external motivation เพราะฉะนั้น ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้คนอยากทำงาน อยากจะบรรลุเป้าหมาย อันที่สองต้องมี confident ต้องมีความมั่นใจในผู้ใต้บังคับบัญชา และต้องมีความมั่นใจในงานที่ตัวเองจะทำ อันนี้เป็น hard skills ที่ค่อย ๆ ฝึกได้ และผมเชื่อว่า คนที่รู้จักคุณพิทยาจะรู้ว่าเธอเป็นคนที่มีความมั่นใจ

 อันที่สาม จะต้องเป็นคน empower คือปกติ เราขึ้นมา วันหนึ่งก็ต้องลง มันเป็นเรื่องของวัฏจักร เราต้องแน่ใจว่า เรามีผู้ใต้บังคับบัญชา หรือมีคนที่เราให้ขึ้นมาต่อจากเราในอนาคต การที่เรา empowerment คือการที่เราให้เขาเติบโต กล้าที่จะตัดสินใจ กล้าที่จะดำเนินการ ทำงานอะไรก็ตาม องค์กร KTC เป็นองค์กรที่ empower (จะเห็นได้จากการผลัดเปลี่ยนบุคลากรขึ้นมาแทนที่)

 อีกเรื่องคือ connection การที่เราจะไปต่อได้ เราต้องมี connection ที่ดี เราพยายามดูแล stakeholders ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน หรือผู้ถือบัตรของเรา ลูกค้าของเรา พาร์ตเนอร์ของเรา แม้กระทั่งสื่อมวลชน ก็ทราบว่าเราดูแล เรา connect เรา treat ทุกอย่างต่อเนื่องกันเสมอ ด้วย 4 ข้อของ momentum เราเชื่อว่าคุณพิทยาสามารถทำสิ่งเหล่านี้ต่อไปได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุให้เราเชื่อว่า คุณพิทยามีคุณสมบัติครบ ในเรื่องของ trust, clarity และสามารถก่อให้เกิด momentum ได้ อันนี้คือจุดที่สำคัญ และคือจุดที่เราเลือกคุณพิทยาขึ้นมาเป็น CEO คนใหม่ของเรา

 “สำหรับพวกเรา อาจจะคิดว่ามันก็แค่ soft skills อย่างเดียวหรือ พวกเรารู้จักคุณพิทยาในฐานะที่เป็นมาร์เก็ตติ้งเฮด ปีที่แล้วเราก็ทราบว่า คุณพิทยาขึ้นมาเป็นมาร์เก็ตติ้งเฮด และ คอมมูนิเคชั่นเฮด เราคงเห็นคุณพิทยาในสองบทบาทนี้ แต่คุณพิทยาเป็นคนที่มีความเข้าใจและรู้เรื่อง strategy กลยุทธ์ขององค์กรค่อนข้างมาก คุณพิทยาเป็นคนสอนเรื่องกลยุทธ์ให้แก่พนักงาน KTC ด้วย

 “เพราะฉะนั้น ผมค่อนข้างสบายใจว่า เธอได้ hard skills จริง ๆ หน้าที่ของ CEO นอกจากจะต้องมี leadership ที่ดี และสร้าง Leadership OS ในองค์กรแล้ว จำเป็นต้องกำหนดกลยุทธ์ของบริษัทว่า จะเดินไปในทิศทางไหน เราเห็นธีมของงานนี้ คุณพิทยากำหนดธีมว่า The Story Continues คือ สิ่งที่เราทำมาตลอดนั้นจะทำต่อเนื่องไป และยังบอกว่า The Next Journey Begins และเธอคงจะมาบอกพวกเราว่า กลยุทธ์อะไรที่เธอจะทำต่อไป

 “ทั้งหมดที่ผมพูดมานี้สำคัญที่สุดคือ ผลที่จะเกิดขึ้น ผมจะเทียบเคียงให้เราฟังง่าย ๆ เรามาดูงานที่คัปปาโดเกีย (เมืองบอลลูน) จริง ๆ ก่อนที่เราจะขึ้นบอลลูนกัน พวกเราเห็นในอินสตาแกรม ในเฟซบุ๊ก ทุกคนรู้สึกว่า เออดีนะ มันต้องง่ายแน่เลย แต่จริง ๆ ในกระบวนการทำ เราเครียดกันมากนะครับ เฮ้ย! ลมจะมาไหม ลมจะแรงไหม ก่อนหน้านั้นก็ยกเลิก เราเครียดมาก เราวางแผนทุกอย่าง ทำสิ่งที่ดีที่สุด แล้วเป็นอย่างไร 

“ในด้านคนที่มี expectation หรือมีความคาดหวังว่ามันจะสวย มองเห็นภาพของคนอื่นก็ว่าสวยแล้ว แต่ความรู้สึกจริง ๆ ในวันที่เราประสบ ตอนไปอยู่บนบอลลูนจริง ๆ เป็นอย่างไร มัน ว้าว! มาก ใช่ไหมครับ ถึงแม้เราจะรู้สึกอย่างไร มันว้าวมากกว่าที่เราคิดเยอะ

“ผมมั่นใจถึงแม้เราจะบอกว่า คุณพิทยาจะนำเราไปสู่กำไรที่เพิ่มขึ้น yield ที่ดีขึ้น แต่เมื่อผลออกมาแล้ว ผมเชื่อว่าคนที่อยู่ในเรือลำเดียวกันนี้ อยู่บนบอลลูนเดียวกันนี้ จะมีความรู้สึก ‘ว้าว’ เฉกเช่นเดียวกันกับความรู้สึกของเราที่อยู่บนบอลลูนเดียวกันนั้น ผมขอส่งมอบไม้ต่อให้คุณพิทยาด้วยครับ”

 .

ภาพ : KTC