31 ต.ค. 2566 | 16:04 น.
- Suzuki เป็นหนึ่งในแบรนด์ยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก
- แบรนด์นี้มี ‘มิจิโอะ ซูซูกิ’ เป็นผู้ก่อตั้ง โดยเริ่มต้นจากธุรกิจโรงงานทอผ้า
จากอุตสาหกรรมที่ดูแทบไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย ทำไม มิจิโอะ ซูซูกิ ถึงตัดสินใจก้าวเข้าสู่ธุรกิจนี้ ทั้ง ๆ ที่มีคู่แข่งรายสำคัญแถมแข็งแกร่งอย่าง Toyota และ Honda ยืนอยู่ในสังเวียนนี้อยู่แล้ว?
เส้นทางชีวิตที่ไร้ซึ่งรถยนต์
มิจิโอะ ซูซูกิ เกิดเมื่อปี 1887 ในหมู่บ้านเกษตรกรรมและการทอผ้าเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของจังหวัดชิซูโอกะ ในยุคสมัยเมจิของประเทศญี่ปุ่น ที่กำลังเร่งพัฒนาให้เจริญทัดเทียมชาติตะวันตก พ่อของเขาเป็นเกษตรกรผ้าฝ้ายพื้นเมือง และนี่เองทำให้เขาเริ่มทำงานตามรอยพ่อตั้งแต่อายุได้เพียง 7 ขวบ
แต่ตัวเขาเองมีความฝันที่ใหญ่กว่านั้น ไม่ได้อยากเป็นลูกไม้หล่นใกล้ต้น เขาอยากทำงานที่ใช้ทักษะและความคิดสร้างสรรค์มากกว่านี้ ได้โชว์ฝีมือและผลงานที่มีความเป็นศิลปะมากกว่านี้ เมื่อถึงปี 1901 มิจิโอะ ซูซูกิ ในวัย 14 ปี จึงตัดสินใจไปเป็น ‘เด็กฝึกงาน’ ประจำตัวแบบจริงจังกับช่างไม้ผู้มีประสบการณ์คนหนึ่ง
แต่แล้วเมื่อสงครามญี่ปุ่น - รัสเซีย (Russo-Japanese War) ปะทุขึ้นในปี 1904 ทำให้ความต้องการช่างฝีมือตกฮวบ ทำให้เขาได้รับผลกระทบตามไปด้วย และถูกเปลี่ยนบทบาทจากช่างไม้ให้ไปดูแล ‘เครื่องทอผ้า’ (Loom) ในโรงงานแทน
แม้เรื่องเกินความคาดหมายนี้จะไม่ได้ระบุอยู่ในรายละเอียดการทำงาน แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ มิจิโอะ ซูซูกิ ได้สัมผัสกับโลกของเครื่องทอผ้าเต็มตัวเป็นครั้งแรก และใครจะไปรู้ มันจะเปิดประสบการณ์และโอกาสใหม่ ๆ ในแบบที่ตัวเขาเองก็ไม่คาดคิดในอีกไม่ถึงหนึ่งทศวรรษจากนั้น
การฝึกงานดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุด กินเวลาไปมากถึง 7 ปี มิจิโอะ ซูซูกิ ในวัย 21 ปี จำเป็นต้องกลับไปสานต่อมรดกตกทอดจากครอบครัวที่บ้านเกิด มรดกตกทอดนั้นคือ ฟาร์มที่ใช้ผลิตผ้าไหมแบบดั้งเดิม
ด้วยทักษะและองค์ความรู้ที่สั่งสมมาเนิ่นนาน เขาไม่รอช้าที่จะทรานส์ฟอร์มมันสู่ ‘โรงงานทอผ้าขนาดย่อม’
นวัตกรรมแรกที่เขาคิดค้นอย่างภาคภูมิใจและมอบให้กับแม่ของเขา คือ เครื่องทอผ้าที่มีกลไกเหยียบช่วยทุ่นแรง (Pedal-driven loom) มันอาจยังไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์เปลี่ยนโลก แต่ก็มากพอที่จะช่วยให้แม่เขาทอผ้าได้เร็วกว่าเดิมถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับแบบเก่าที่ใช้มือล้วน ๆ
Suzuki ที่ไม่ใช่รถยนต์
และก็มากพอที่จะทำให้เขาเริ่มมี ‘ชื่อเสียง’ ที่ถูกประกาศส่งต่อออกไปแบบปากต่อปากถึงนวัตกรรมนี้
มิจิโอะ ซูซูกิ มองเห็นโอกาสใหญ่จึงกระโดดมาเป็นผู้ผลิตนวัตกรรมนี้ซะเลย ก่อกำเนิด Suzuki Loom Manufacturing Company ในปี 1909 ณ หมู่บ้านริมชายฝั่งทะเลของเมืองฮามามัตซึ (Hamamatsu) จังหวัดชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น
เขายังคงเดินหน้าโฟกัสพัฒนาเทคโนโลยีด้านการทอผ้าให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสิ่งทอที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่น เพราะประเทศกำลังเดินหน้าสู่การโมเดิร์นไนซ์ด้านวัฒนธรรมการแต่งกายขนานใหญ่
หนึ่งในเคล็ดลับการทำงานของเขาคือ ‘รับฟังเสียงของลูกค้า’ ให้มากเข้าไว้ ค้นหาความต้องการที่ซ่อนเร้นอยู่ให้เจอจนได้ เริ่มจากมองที่ลูกค้าปลายทางเป็นที่ตั้งก่อนคิดย้อนกลับมาหาวิธีการ ในมุมการตลาดปัจจุบัน ถือเป็นการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และเมื่อถึงปี 1929 เขาได้พัฒนาเครื่องจักรทอผ้ารุ่นใหม่ที่ทันสมัยขึ้นไปอีกถึงขั้นสามารถส่งออกไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ช่วง 2 - 3 ทศวรรษแรก เราจะเห็นว่า Suzuki ไม่ได้เกี่ยวกับการยานยนต์แต่อย่างใดเลย แล้วจู่ ๆ บริษัทกระโดดเข้าสู่เรื่องนี้จนทิ้งเรื่องเดิมไปหมดได้อย่างไร?
กระจายความเสี่ยง
มิจิโอะ ซูซูกิ เป็นคนมีวิสัยทัศน์ ไม่ได้มองแค่ความสำเร็จในอดีต สิ่งที่สำเร็จในอดีตจนนำพามาสู่ปัจจุบันอาจไม่สามารถนำพาไปถึงอนาคตได้ และการโฟกัสแค่ธุรกิจเดียวก็มีความเสี่ยงทางธุรกิจ เขาจึงเริ่มมองหาการแตกกระจายความเสี่ยง (Diversification)
นอกจากนี้ ยุคสมัยนั้นยังเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดรับ ‘รถยนต์’ มาจากชาติตะวันตกแล้ว อีกทั้งบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นหลายแห่งก็เริ่มตั้งไข่ขึ้นมาให้เห็นกันบ้าง เขาจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ Suzuki ต้องกระโดดเข้าร่วมด้วย
เพียงแต่ว่าเขาโฟกัสที่ ‘ยานพาหนะขนาดเล็ก’ เพราะรถยนต์นำเข้าส่วนใหญ่ในยุคสมัยนั้นโดยเฉพาะจากอเมริกามีขนาดที่ใหญ่โต กินน้ำมัน และไม่ค่อยเหมาะกับการใช้งานในบ้านเมืองญี่ปุ่นเท่าไรนัก
โปรเจกต์วิจัยพัฒนาเริ่มขึ้นในปี 1936 และแล้วรถยนต์ต้นแบบแรกของค่ายก็ถูกคลอดออกมา บริษัท Suzuki รอดพ้นจากการโจมตีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อันที่จริงบริษัทอยู่ได้เพราะถูกรัฐบาลเปลี่ยนให้เป็นโรงงานผลิตกระสุนปืนป้อนแก่กองทัพ
Suzuki ที่เป็นรถยนต์
หลายปีต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตแบบก้าวกระโดดจนเกิดคำเรียกว่ามหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจเป็นชาติแรกในเอเชีย โดยอุตสาหกรรมหลักที่ชูโรงประเทศคือ ‘อุตสาหกรรมรถยนต์’ ซึ่งยังได้รับการปกป้องด้วยกลไกต่าง ๆ จากนโยบายภาครัฐในฐานะอุตสาหกรรมทารก (Infant Industry) ด้วยเช่นกัน
Suzuki ที่ได้วางรากฐานด้านยานยนต์มาก่อนบ้างแล้ว ก็เปลี่ยนจากสิ่งทอมาสู่ยานยนต์เต็มรูปแบบนับแต่นั้นเป็นต้นมา ศักยภาพในตัวที่ถูกหลับใหลมานานก็เหมือนระเบิดออกมาพร้อมกัน
ไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ยังสอดคล้องกัน เพราะตลาดผ้าคอตตอนในประเทศญี่ปุ่นเกิดการล้มละลายขึ้นในช่วงปี 1951 มิจิโอะ ซูซูกิ ต้องปรับโฟกัสใหม่ ละทิ้งความสำเร็จเดิมที่สร้างรากฐานบริษัทให้แข็งแกร่งอย่างเครื่องทอผ้า เพื่อมุ่งหน้าสู่เครื่องยนต์ยานยนต์เต็มตัว
และแล้ว นั่นกลับเป็นการตัดสินใจที่นำพาความยิ่งใหญ่มากกว่าเดิม เพราะญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่ประชาชนต้องตั้งเนื้อตั้งตัวใหม่ ความต้องการ ‘รถยนต์เพื่อทำมาหากิน’ จึงก้าวกระโดด
Suzulight เข้ามาเปลี่ยนเกมบริษัทสู่ความสำเร็จมโหฬาร และทำให้บริษัทมีความเชี่ยวชาญและภาพจำในฐานะบริษัทที่ยึดครองตลาดรถยนต์ขนาดเล็ก เพราะครั้นจะผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ สมรรถนะสูง และผลิตในปริมาณมาก ก็คงสู้เจ้าใหญ่ในตลาดอย่าง Toyota และ Honda ไม่ไหว
เขาจึงโฟกัสที่รถยนต์ขนาดเล็กแทน ซึ่งยังพอมีช่องว่างในตลาดและศักยภาพในการเติบโต ซึ่ง Suzuki ยังคงเป็นมาจวบจนถึงทุกวันนี้ แนวทางนี้ยังเป็นไปตามที่ มิจิโอะ ซูซูกิ วาดฝันวิสัยทัศน์ไว้แต่แรก เพราะคิดมาเสมอว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการยานพาหนะที่ราคาเข้าถึงได้ ใช้งานง่าย คล่องตัว และมอบประสบการณ์ขับขี่ที่สนุก
เขายังคงรักษาจิตวิญญาณของความเป็นนักประดิษฐ์ นักสร้างสรรค์ นักฟังเสียงลูกค้า เขาคิดค้นและครอบครองกว่า 120 สิทธิบัตรตลอดช่วงอายุของเขา กระทั่งเสียชีวิตไปในปี 1982
แต่ Suzuki Motor ยังคงสืบสานปณิธานมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยพนักงานกว่า 70,000 ชีวิตทั่วโลกเข้าไปแล้ว และจากบริษัทชั้นนำในประเทศญี่ปุ่น ก็ได้ขยายกลายเป็นบริษัทระดับโลกเต็มตัวไปแล้วแบบทุกวันนี้
.
ภาพ : Suzuki
.
อ้างอิง
.