14 พ.ย. 2566 | 16:00 น.
- เจริญ สิริวัฒนภักดี อีกหนึ่งนักธุรกิจที่ถูกเรียกเป็นเจ้าสัวอันดับต้นของไทย เริ่มต้นเส้นทางธุรกิจจากย่านทรงวาด ก่อนขยายอาณาจักรทั้งผลิตภัณฑ์ และที่ดิน กลายเป็นตระกูลที่มั่งคั่งอันดับต้นของไทย
- ชีวิตของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ในช่วงนี้ จัดว่าเป็นช่วงถ่ายทอดและส่งมอบธุรกิจที่เคยดูแลมาสู่รุ่นทายาท จากรุ่นสู่รุ่น หลังผ่านช่วงไต่เต้า สร้างอาณาจักร และขยายอาณาจักรตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ ปรากฎตัวในงานเลี้ยงเปิดตัวโรงแรม ‘อินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง’ เมื่อเดือนกันยายน 2566 เป็นการปรากฎตัวครั้งแรกหลังจากคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี เสียชีวิตเมื่อเดือนมีนาคม 2566
ในวัย 79 ปี ชายสูงวัยสวมสูทสีกรมท่า ใบหน้าและสุขภาพผิวดูสดใสเหมือนคนสุขภาพดี เขาเดินเคียงคู่มากับ ‘วัลลภา ไตรโสรัส’ ลูกสาวคนที่สอง ผู้บริหาร บริษัท แอสเสท เวิร์ด คอร์ป จำกัด(มหาชน) หรือ AWC หนึ่งในธุรกิจของ ‘ทีซีซี กรุ๊ป’
งานเลี้ยงคืนนั้น เขากล่าวถึงความทรงจำในอดีตที่เกี่ยวโยงกับอนาคตและปัจจุบัน อนาคตของอาณาจักร ‘สิริวัฒนภักดี’ ฉายชัดอยู่ในอดีตที่เขาและภรรยาร่วมฟันฝ่า ก่อนจะส่งมอบอดีตและอนาคตไว้กับชีวิตปัจจุบันของลูก ๆ ทั้ง 5 คน
ชีวิตช่วงที่ 4
“ผมกับคุณหญิงวรรณามีลูกด้วยกัน 5 คน เอ๋เป็นลูกคนที่ 2 ทำ AWC ส่วนลูกคนแรก (อาทินันท์ พีชานนท์) ดูแลธุรกิจประกัน ลูกคนที่ 3 (ฐาปน สิริวัฒนภักดี) ดูไทยเบฟ ลูกคนที่ 4 (ฐาปนี เตชะเจริญวิกุล) ดู BJC และลูกคนที่ 5 (ปณต สิริวัฒนภักดี) ดูเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ทำที่สิงคโปร์”
อาณาจักร ‘ทีซีซี กรุ๊ป’ มี 5 เสาหลัก ประกอบด้วย
เมื่อ 10 ปีก่อน เจริญ ประกาศส่งมอบ 5 ธุรกิจหลักให้ทายาท รุ่นที่ 2 ตระกูลสิริวัฒนภักดี
สรกล อดุลยานนท์ เคยเขียนถึงชีวิตของเจริญ ไว้ในหนังสือ ‘จอมยุทธ์น้ำเมา เจริญ สิริวัฒนาภักดี ผู้หาญกระตุกหนวดสิงห์’ ฉบับตีพิมพ์เมื่อปี 2537 ว่า ชีวิตของ ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ (ในตอนนั้น) ได้เดินทางเข้าสู่ช่วงที่ 3 ของชีวิต นั่นคือการขยายอาณาจักรธุรกิจ
ชีวิตช่วงที่ 1 คือการไต่เต้าสู่ความสำเร็จด้วยการเรียนรู้ธุรกิจสุราในการเป็นขุนพลคู่ใจ ‘เถลิง เหล่าจินดา’ ชีวิตช่วงที่ 2 คือช่วงเวลาสร้างอาณาจักรธุรกิจ ซึ่งต้องอาศัยผู้สนับสนุนและพันธมิตรทางธุรกิจ ช่วงที่ 3 การขยายอาณาจักร ช่วงนี้ธุรกิจของเขาขยายจากอุตสาหกรรมสุราไปยังธุรกิจการเงินการธนาคาร และธุรกิจอื่น ๆ
ถึงวันนี้ ชีวิตของเจริญน่าจะเข้าสู่ช่วงที่ 4 นั่นคือการถ่ายงานให้คนรุ่นลูก
“ผมได้ใช้วัฒนธรรมและคติพจน์ของบรรพบุรุษซึ่งไม่ได้เป็นคนมีเงินอะไร” เจริญ กล่าวบนเวทีในคืนนั้นว่า บรรพบุรุษสอนให้ ‘ทำให้คนอื่นดี เราถึงจะดีได้’ และ ‘ยิ่งให้ ยิ่งมี’
“พอถูกคนขอร้อง เราก็เลยซื้อ” เขาหมายถึงที่ดินผืนที่ใช้สร้างโรงแรมแห่งนี้ “พอซื้อเสร็จก็ต้องมาคิดว่าในวันหลังที่ลูกมาสานต่อธุรกิจ” เจริญกล่าวในงานเปิดตัวโรงแรมแห่งล่าสุด
ก่อร่างสร้างอาณาจักร
เจริญ สิริวัฒนภักดี ถือกำเนิดในครอบครัวที่บิดาขายหอยทอดในย่านทรงวาด เขาจบชั้น ป.4 ที่โรงเรียนเผยอิง เรื่องราวของเขาถูกเล่าขานด้วยไวยากรณ์ของเรื่องเล่าเชิงชีวประวัติมหาเศรษฐีบนโลกนี้ที่ชีวิตเริ่มต้นจากศูนย์ เป็นคนนิสัยดี อ่อนน้อมถ่อมตน และมีหัวการค้าตั้งแต่ยังเด็ก
ในตอนที่เจริญจีบคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี เขาซื้อของขวัญเป็นรองเท้าให้เธอ แต่แทนที่จะซื้อคู่เดียว กลับซื้อ 1 โหล เพราะซื้อเป็นโหล ราคาต่อชิ้นจะถูกกว่าซื้อคู่เดียว
ในวัย 17 ปี เจริญทำงานเป็นลูกจ้างให้ 2 บริษัท ได้แก่ ‘บริษัทย่งฮะเส็ง’ และ ‘ห้างหุ้นส่วนจำกัดแพนอินเตอร์’ เป็นบริษัทจัดส่งสินค้าให้โรงงานสุราบางยี่ขัน ในช่วงเวลานั้นเขาได้พบกับบุคคลสำคัญ 2 คนที่จะมีอิทธิพลต่อชีวิตของเขาอย่างใหญ่หลวง
คนแรกเป็นผู้ปรุงสุราแม่โขง คนหลังเป็นนักธุรกิจสุรา
“ผมได้เริ่มรู้จักท่านผู้อำนวยการ (จุล กาญจนลักษณ์) เมื่อปี 2505 จากการเข้าไปขายของให้โรงงานสุราบางยี่ขัน” สายสัมพันธ์แรกระหว่างเจริญ กับมือปรุงรสสุราแห่งแบรนด์แม่โขงท่านนี้ถูกถ่ายทอดในหนังสืองานศพของจุล กาญจนลักษณ์
ในเวลาต่อมา เพื่อนของบิดาได้ฝากเจริญ เข้าทำงานในบริษัทสุรามหาคุณ และที่นี่เขาได้รู้จักกับ ‘เถลิง เหล่าจินดา’ ในเวลาต่อมาเขาได้กลายเป็นคนสนิทของ ‘เจ้าสัวเถลิง’ หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่บริษัทสุรามหาคุณ
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2500 บริษัทสุรามหาคุณมีผู้ถือหุ้นประกอบด้วยตระกูลเตชะไพบูลย์, ตระกูลมหาคุณ, ตระกูลล่ำซ่ำ และเถลิง เหล่าจินดา พวกเขาเสนอตัวขอเข้าบริหารโรงงานสุราบางยี่ขันจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2502 ธุรกิจสุราที่มีผลประโยชน์มหาศาลนี้เกิดจากการสนทนาแบบสั้นกระชับระหว่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ สหัท มหาคุณ
“เอ็งอยากได้อะไร” จอมพลสฤษดิ์ถาม
“ผมขอแม่โขง” สหัทตอบ
ในขวดสุราตราแม่โขงมีผลประโยชน์มหาศาล ธุรกิจผูกขาดอย่างการผลิตสุราไม่อนุญาตให้ผู้เล่นลงทุนได้อย่างเสรี ทำให้พื้นที่ของผู้เล่นมีจำกัดและต่างมีผู้ต้องการเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ แต่ติดที่คอขวดสุรา อำนาจที่ทุกคนอยากได้มาครอบครองก็คืออำนาจในการจัดซื้อฝาจุก ขวด ฉลาก กล่องกระดาษ ซึ่งบริษัทเหล่านั้นมักมีสายโยงใยทางธุรกิจกับผู้จัดซื้อและมีผลประโยชน์ตอบแทน
ในเวลานั้นผู้กุมอำนาจในการจัดซื้อคือ ‘สุเมธ เตชะไพบูลย์’ หุ้นใหญ่ในบริษัทสุรามหาคุณก็อยู่ในตระกูลเตชะไพบูลย์ สหัสและเถลิงคือฟากฝั่งที่ต้องการปฏิวัติโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัท พวกเขาดึง ‘บริษัทบวรวงศ์’ ซึ่งมี จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ สหัสและเถลิงใช้สายสัมพันธ์กับทหารที่กำลังมีอำนาจนำทางการเมืองในช่วงต้นทศวรรษที่ 2510 เข้ามาถือหุ้นในบริษัทสุรามหาคุณ เพื่อลดทอนอำนาจของ ‘เตชะไพบูลย์’
การเข้ามาในขวดแม่โขงของ ‘บวรวงศ์’ ส่งผลต่อสัดส่วนหุ้นและตำแหน่งบริหาร ‘เจ้าสัวเถลิง’ ได้ครองตำแหน่งผู้อำนวยการจัดซื้อและโรงงานแทน ‘สุเมธ เตชะไพบูลย์’ ขณะที่เด็กหนุ่มชาวจีนจากย่านทรงวาดที่ ‘เถลิง’ ให้ความเอ็นดูก็ก้าวกระโดดทั้งฐานะความเป็นอยู่และวิชาธุรกิจสุรา
ในปี 2513 เจริญ มีอายุเพียง 26 ปี ปีนั้นเป็นปีที่เถลิง ได้คุมอำนาจการจัดซื้อ ในเวลาเพียง 7 ปีต่อมา เขาเป็นผู้ซื้อบ้านโบราณริมถนนสุริวงศ์ของ ‘ธานินทร์ กรัยวิเชียร’ นายกรัฐมนตรีในปี 2519 เจริญ ในวัย 32 ซื้อบ้านหลังนี้ในราคาหลายสิบล้าน
ในปี 2518 เถลิง-จุล-เจริญ ได้ร่วมกันตั้งกิจการ TCC ตัวอักษรภาษาอังกฤษถูกดึงออกมาจากชื่อของทั้ง 3 คน ในปีเดียวกันนั้น เถลิงและเจริญ ซื้อ ‘บริษัทธารน้ำทิพย์’ ผู้ผลิต ‘ธาราวิสกี้’ ที่กำลังจะปิดกิจการ จากคำแนะนำของมือปรุงสุรามือหนึ่งของประเทศไทย กลุ่มเจ้าสัวเถลิงและเจริญจึงเข้าซื้อกิจการ
“เมื่อปี 2518 ท่าน (จุล กาญจนลักษณ์) ได้กรุณาแนะนำผมว่า โรงงานสุราของ บริษัท ธารน้ำทิพย์ จำกัด ดำเนินธุรกิจขาดทุนหากปล่อยให้ล้มไปก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย ควรช่วยกันรักษาไว้จะได้เป็นการพัฒนาสุราพิเศษไปอีกทางหนึ่ง จากจุดเริ่มต้นนี้ สุราแสงโสมก็เกิดขึ้น และต่อมาก็เกิดหงส์ทอง และสุราทิพย์ตามมา”
เจริญ สิริวัฒนภักดี กล่าวไว้ในหนังสืองานศพ จุล กาญจนลักษณ์ แต่ วิรัตน์ แสงทองคำ นักเขียนเรื่องธุรกิจไทยได้อ่านนัยระหว่างบรรทัดที่เกิดในปี 2518 ว่าเป็นปีที่ ‘กลุ่มเถลิง-เจริญ’ เริ่มต้นเป็นอิสระจากกลุ่มสุรามหาคุณอย่างแท้จริง ด้วยการเข้าซื้อโรงงานธารน้ำทิพย์
ประวัติศาสตร์ในขวดสุรา
ในช่วงเวลาที่ เจริญ สิริวัฒนาภักดี กำลังเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในขวดสุรา เขามีอายุเพียง 39 ปี ถือว่ายังเยาว์วัยในการสร้างอาณาจักร ‘สิริวัฒนภักดี’ ที่ในอีกหลายปีต่อมาจะแผ่สยายครอบคลุมไปทั่วภูมิภาคและสะสมความมั่งคั่งจนชื่อของเขาถูกจัดอยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีระดับโลก
แต่ในตอนนั้น คนหนุ่มอย่างเขายังอยู่บนเส้นทางของการสะสมบาดแผลที่จะแปรเปลี่ยนเป็นต้นทุนและสายสัมพันธ์ที่สลักสำคัญในอนาคต ธุรกิจสุรามีผลประโยชน์มหาศาลเกี่ยวพันกับอำนาจ ทุน และการเมือง
บทความ กรณีธนาคารมหานคร ของ วิรัตน์ แสงทองคำ ระบุว่า “ปี 2526 กลุ่มเถลิง-เจริญ โดดเด่นขึ้นอีกขั้น เมื่อพวกเขาเข้ายึดกิจการผลิตสุรา 12 โรงในต่างจังหวัดไว้ในมืออย่างมั่นคงด้วยความร่วมมือจากหลายแบงก์ นอกจากแบงก์กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ แล้วที่น่าสังเกตคือแบงก์มหานคร”
กึ้งจู แซ่จิว พ่อตาผู้เป็นกำลังหนุนสำคัญอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเจริญ มาตลอด กึ้งจูสร้างอาณาจักรของตนเองอย่างเงียบ ๆ ด้วยสายสัมพันธ์กับคำรณ เตชะไพบูลย์ จนต่อมาได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งของแบงก์มหานครในช่วงนั้น
ในหนังสือ จอมยุทธ์น้ำเมา เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้หาญกระตุกหนวดสิงห์ สรกล อดุลยานนท์ ได้ย้อนกลับไปยังการประมูลโรงสุรา 12 แห่งภายใต้กรมสรรพามิตรเมื่อปี 2526 ซึ่งเป็นปีสำคัญของกลุ่มทีซีซี ในการประมูลครั้งนั้น ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้แบบโปรเจกต์โลน (Project Loan) พิจารณาจากความเป็นไปได้ของโครงการ ผู้กู้ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
“ปรากฎการณ์เช่นนี้แสดงถึงสายสัมพันธ์และการเจรจาต่อรองอันเยี่ยมยุทธ์ของเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งเป็นผู้ออกหน้าในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี” สรกล ระบุ
กระทรวงการคลังคาดหวังว่า เมื่อโรงเหล้าทั้ง 12 แห่งเดินเครื่องการผลิต รายได้ที่รัฐจะได้รับจากผลประโยชน์และภาษีจากกลุ่มสุราทิพย์และสุรามหาราษฎร์จะไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท
แต่ความหวังของกระทรวงการคลังไม่เป็นไปตามนั้น เพราะยอดขายสุราของกลุ่มสุราทิพย์ต่ำกว่าโควตาที่รัฐบาลกำหนดถึง 40 เปอร์เซ็นต์ นอกจากจะต้องจ่ายค่าผลประโยชน์ให้รัฐ 5,088 ล้านบาท กล่มสุราทิพย์ยังต้องจ่ายค่าปรับที่ขายไม่ได้ตามโควตา
“แต่การล้มละลายของสุราทิพย์ กับการล้มละลายของเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นคนละเรื่องกัน” สรกล เขียนไว้ในหนังสือของเขา
เพราะหากสุราทิพย์ล้มละลาย สิ่งที่ธนาคารพาณิชย์จะได้รับก็คือโรงงานสุรา 12 โรง พร้อมสัญญาดำเนินการโรงเหล้าทั้งหมดที่สุราทิพย์ทำไว้กับรัฐบาล
“ส่วนเจริญ สิริวัฒนภักดี นั้นก็สามารถนำเงินที่เก็บสะสมไว้มาทำธุรกิจอื่นใดก็ได้ตามปกติ” หนังสือระบุ
แต่รายได้ของรัฐพึ่งพาธุรกิจสุราที่มีมูลค่าสูงถึง 6-7 เปอร์เซ็นต์ของรายได้สัญญาสัมปทานที่สุราทิพย์เสนอผลประโยชน์ที่ให้รัฐไว้สูงได้สร้างเงื่อนปมหลายประการ การขอแก้สัญญาสัมปทานจึงเกิดขึ้น
หนึ่งในเงื่อนไขการแก้สัญญาในครั้งนั้นคือการรวมตัวของกลุ่มสุรามหาราษฎรกับสุราทิพย์เพื่อระดมทุนเพิ่ม คู่ปรับตลอดกาลในขวดสุราไทย ที่สุดก็มีการเสนอแผนรวมกันระหว่างแม่โขงกับหงส์ทอง
วิรัตน์ แสงทองคำ มองปรากฎการณ์ในการรวมตัวของธุรกิจคู่แข่งกันในครั้งนั้นว่า “กว่าจะรวมกันได้ ก็ทำเอาทั้งสองฝ่ายสะบักสะบอมกันพักใหญ่ สถานการณ์ช่วงนี้ตึงเครียดมาก และแล้วแม่โขง-หงส์ทองก็รวมกันสำเร็จ”
และผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดในกิจการนี้ชื่อ เจริญ สิริวัฒนภักดี
อาณาจักรที่เพิ่งสร้าง
หนังสือ ‘การต่อสู้ของทุนไทย การปรับตัวและพลวัต’ โดย นวลน้อย ตรีรัตน์ กล่าวถึงการสร้างอาณาจักรของเจริญว่า เขาสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับส่วนต่าง ๆ ไว้มาก โดยเฉพาะในวงราชการ ทหาร และนักการเมือง วิธีการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ฝังรากลึกและยาวนานกับข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของเขาได้ จึงปรากฏว่าข้าราชการระดับสูงที่เกษียณราชการออกมาแล้วทั้งจากกรมสรรพสามิตและกระทรวงอุตสาหกรรมมักจะได้รับเชิญให้ไปนั่งในตำแหน่งต่าง ๆ ของบริษัทในเครือ
หลังรัฐประหาร 2534 องค์กรของเจริญ เป็นหนึ่งในที่ถูกกล่าวหาว่าจ่าย ‘เช็คของขวัญ’ ให้นักการเมืองในยุคพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
ในหนังสือ จอมยุทธ์น้ำเมา เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้หาญกระตุกหนวดสิงห์ ของสรกล ได้เล่าถึงช่วงเวลานี้ได้อย่างน่าสนใจว่า
“หลังจากที่แก้ไขสัญญาสัมปทาน ธุรกิจสุราของเจริญ สิริวัฒนภักดี จึงดำเนินไปด้วยความราบรื่น จะมีอุปสรรคประการเดียวก็คือสัญญาของโรงงานสุราบางยี่ขันที่ผลิตแม่โขงจะหมดอายุลงในปี 2537 ในขณะที่โรงงานผลิตหงส์ทองจะหมดสัญญาในปี 2542 การสิ้นสุดสัญญาที่เหลื่อมกันเช่นนี้ อาจก่อให้เกิดสงครามสุราระลอกใหม่ เพราะจะต้องประมูลแม่โขงใหม่ในปี 2536 ซึ่ง สุเมธ เตชะไพบูลย์ รอเวลานั้นอยู่ด้วยความมาดมั่น”
เพื่อยุติปัญหานี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้สัญญานี้ขยายเวลาออกไปเพื่อไม่ต้องมีการประมูล
“ความพยายามของ เจริญ สิริวัฒนภักดี เช่นนี้เอง ที่ทำให้ ‘เช็คของขวัญ’ ปลิวสะพัดไปยังบัญชีนักการเมืองและผู้เกี่ยวข้องเป็นเงินนับพันล้าน” หนังสือระบุ
ในช่วงปี 2532-2533 ซึ่งเป็นช่วงต่ออายุสัมปทานโรงเหล้า ปรากฏว่ามีเช็คของขวัญของบริษัทเหล้าและบริษัทในเครือแจกจ่ายไปยังรัฐมนตรีข้าราชการระดับสูงทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ประมาณ 2,000 ล้านบาท
ผลประโยชน์ที่ให้กันในรูป ‘เช็คของขวัญ’ กลายมาเป็นหลักฐานที่ทำให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ที่มี พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธาน ใช้เป็นข้ออ้างในการประกาศยึดทรัพย์นักการเมืองใหญ่ 10 คนจาก 25 คน ที่ รสช. ประกาศอายัดทรัพย์ไว้ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ
ผู้ที่ได้รับเช็คของขวัญอันดับต้น ๆ หนีไม่พ้น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน หัวหน้าพรรคชาติไทยและนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เขาได้รับเช็คของขวัญจากหลายบริษัท รวมเป็นเงินกว่า 284 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเช็คของขวัญที่ คตส. อ้างว่าเป็นของกลุ่มบริษัท สุราทิพย์ 62 ล้านบาท ซึ่งเกี่ยวพันกับการต่ออายุสัญญาโรงงานสุราบางยี่ขันเมื่อปี 2532
แต่พล.อ.ชาติชายปฏิเสธ เขาอ้างว่า ผู้เช่าโรงเหล้าคือบริษัท สุรามหาราษฎร ไม่ใช่สุราทิพย์ และเช็คเหล่านั้นซื้อโดยเงินส่วนตัวของบุคคลผู้ให้ ไม่ใช่เงินของบริษัทสุราทิพย์
ทันทีที่ รสช.เข้าสู่อำนาจ เจริญ สิริวัฒนภักดี ก็ดึงเอา พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารมหานคร หนึ่งในธุรกิจของเขา
The man who sold the world
สรกล เขียนไว้ในหนังสือ จอมยุทธ์น้ำเมา เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้หาญกระตุกหนวดสิงห์ ว่า “ความสำเร็จของ เจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ประเทศไทยยังมีกลิ่นไอของหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับ ‘สายสัมพันธ์’ และ ‘ระบบอุปถัมภ์’”
เจริญ เริ่มต้นธุรกิจสินค้าโชว์ห่วย, เครื่องสุขภัณฑ์, เหล็ก, แก้ว ก่อนที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมสุรา จากนั้นเริ่มเข้าสู่สถาบันการเงิน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการดำเนินธุรกิจ ก่อนที่จะแตกแขนงไปสู่การพัฒนาที่ดิน อันเป็นพื้นฐานของธุรกิจบริการและเกษตรกรรม
วิรัตน์ แสงทองคำ ระบุว่า ปี 2530 คือปีที่เจริญ สิริวัฒนภักดี์ เริ่มซื้อทรัพย์สินไว้อย่างมากมาย นอกจากแบงก์มหานครแล้ว มีที่ดินจำนวนมาก อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่พรมแดนทางธุรกิจใหม่ที่เขาไม่มีประสบการณ์
“เขาเริ่มด้วยที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยจากสาธร สู่ชานเมือง จากซอยเสนานิคม บางเขน จนถึงถนนช้างคลานที่เชียงใหม่”
วิรัตน์ อธิบายว่า ที่ดินเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าแบบดั่งเดิม อยู่ในเป้าหมายผู้ประกอบการไทยตลอดมานั้น ย่อมเป็นเหตุผลที่ดีของเจริญด้วย
“ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ที่ดินกับอำนาจในธนาคารมหานครของเขาจะสร้างกระบวนการที่สมเหตุสมผลของการได้มาซึ่งเงินสดอย่างมากจากธนาคาร อาจจะมากกว่ายอดขายของสุราเสียอีก จากนั้นมา เจริญ สิริวัฒนภักดี จึงกลายเป็นคนที่มีเงินสดในมือมากที่สุด จากธุรกิจค้าสุราผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว ขณะเดียวกันเขาก็สามารถมีเงินก้อนใหญ่ได้เสมอจากหลักทรัพย์ที่ธนาคารเชื่อมั่น ด้วยการผ่านกลไกธนาคารที่เขามีอำนาจเต็มที่”
“ในปี 2535-2537 ถือเป็นช่วงที่เจริญ ยิ่งใหญ่ที่สุด และเป็นการเริ่มยุคใหม่ของธุรกิจที่ทันสมัยมากขึ้น น่าเกรงขามมากขึ้น
“เริ่มด้วยการการร่วมทุนกับคาร์ลสเบอร์ก ก่อตั้งโรงงานเบียร์ขนาดใหญ่ที่อยุธยา เผชิญกับบุญรอดบริวเวอร์รี่โดยตรง ซึ่งไม่มีเพียงมีความหมายในการสร้างความมั่นคง จากฐานการค้าสุราซึ่งมีอายุสัมปทานจำกัด ไปสู่ธุรกิจใหม่ที่ถาวรมากขึ้นเท่านั้น ยังเป็นการประกาศความยิ่งใหญ่ต่อสู้อย่างไม่หวั่นเกรงกับเบียร์สิงห์ ผู้ครองแชมป์ตลอดกาลของวงการเบียร์ไทยซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูง
“โรงงานเบียร์เริ่มสร้างในปี 2534 และเปิดตลาดในปี 2536
“การซื้อโรงแรมในเครืออิมพีเรียลจากอาการฮุนตระกูล มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ในกลางปี 2537 เป็นพัฒนาการจากนักค้าที่ดินมาเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมขนาดใหญ่หลายแห่ง ย่อมมีความหมายเพิ่มขึ้นอีกว่าเขากำลังเข้าสู่ธุรกิจบริการใหม่ที่ต้องมีการจัดการที่ดี โดยเฉพาะแข่งขันกับเชนต่างประเทศที่บริหารโรงแรมใหญ่และมีชื่อเสียงอยู่ในเมืองไทยขณะนั้น
“ในเวลาเดียวก็เริ่มพัฒนาธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ มรดกสำคัญของพ่อตา โดยการทุ่มซื้อตัวมืออาชีพในราคาแพงอย่างขนานใหญ่เพื่อเข้าสู่ธุรกิจที่กำลังหาเงินได้ง่ายที่สุด ถึงแม้จะเป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างช้าไปก็ตาม
“เจริญในช่วงนั้นรอบข้างของเขามีมืออาชีพมากมาย ตั้งแต่ทีมงานการตลาด จากอดีตผู้บริหารบริษัทเชลล์ฯมาจนทีมงาน MBA กลุ่มใหญ่
“ด้านหนึ่งกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาอาณาจักรธุรกิจอย่างมีอนาคตให้สอดคล้องกับสังคมเศรษฐกิจที่พัฒนาไป แต่อีกด้าน เขากำลังเผชิญของ ‘ความเป็นจริง’ ของธุรกิจที่มากกว่า ‘การวิ่งเต้น’ เพื่อให้สัมปทานสุรา หรือใช้เงินทุ่มซื้อหุ้นหรือที่ดินเหมือนที่เขาทำสำเร็จมาแล้ว”
เป็นบทวิเคราะห์ของวิรัตน์ แสงทองคำ ถึงพัฒนาการในช่วงเปลี่ยนผ่านทั้งองค์กรธุรกิจของเจริญและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย
4 คำของพ่อ 4 คำของแม่ กับความหมายระหว่างบรรทัด
ธุรกิจของทีซีซี กรุ๊ปนั้น ประกอบด้วย 5 กลุ่มหลัก ธุรกิจการค้าทั้ง 5 กลุ่ม มี ‘ทายาท-เขย’ ร่วมขับเคลื่อนอาณาจักรกันอย่างลงตัว และการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งของทีซีซี กรุ๊ปก็ทำให้สังคมจับตามอง
ความสำเร็จของทีซีซี กรุ๊ปอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนไทยมาโดยตลอด อะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จ คัมภีร์เล่มไหนที่ทำให้ตระกูลสิริวัฒนภักดีประสบความสำเร็จเช่นนี้?
“คุณพ่อมี 4 คำ คือ อดทน เสียสละ เงียบ ร่าเริง” ฐาปน สิริวัฒนภักดี เคยให้สัมภาษณ์สื่อไว้เมื่อคราวที่ได้รับไม้ต่อดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
อดทนก็คือทำให้สำเร็จ เสียสละทำให้พ้นภัย เงียบทำให้มีสติ สติทำให้เกิดปัญญา ร่าเริงทำให้สุขภาพดี มองโลกในทางบวก
“คุณแม่มี 4 ประโยค คุณแม่บอกว่า สุขภาพเป็นของเราเอง เงินทองเป็นของคนอื่น อำนาจเป็นเรื่องชั่วคราว ชื่อเสียงเป็นเรื่องชั่วนิรันดร์” ฐาปนกล่าวคำ 4 ประโยคของคุณหญิงวรรณา
“ผมโชคดีมาก ๆ ที่ได้แต่งงานกับคุณหญิงวรรณา” เจริญ กล่าวในคืนเปิดตัวโรงแรม ‘อินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง’ เมื่อเดือนกันยายน 2566
“คุณหญิงวรรณาเป็นบุคคลที่เป็นทั้งกำลังใจ และช่วยกลั่นกรองอย่างละเอียดทุกครั้ง เป็นคู่ชีวิตที่เราลืมไม่ได้”
‘การจดจำ’ เป็นสิ่งที่ ‘เจ้าสัวเจริญ’ เน้นย้ำหลายครั้ง “อย่าลืมคนที่มีความกตัญญู เราต้องจดจำไว้เรื่อย ๆ ลืมไม่ได้”
คติพจน์พื้นฐานที่สืบต่อในตระกูลสิริวัฒนภักดี ย่อมเป็นรากฐานสำคัญในการประสบความสำเร็จ แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการสะสมทุนของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง รวมถึงสภาพสังคมและการเมืองไทยในห้วงเวลาหนึ่ง
เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
ภาพ: เจริญ สิริวัฒนภักดี ประกอบกับฉากหลังเป็นภาพบรรยากาศย่าน เวิ้งนาครเขษม แฟ้มภาพจาก NATION PHOTO
อ้างอิง:
สรกล อดุลยานนท์. (2537). จอมยุทธ์น้ำเมา เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้หาญกระตุกหนวดสิงห์. กรุงเทพฯ: มติชน.
วิรัตน์ แสงทองคำ. (2553). กรณี ธนาคารมหานคร. เว็บไซต์.
ทีมข่าวคอร์ปอเรท-การตลาด กรุงเทพธุรกิจ. (2566). เปิดคำสอน - ต้นแบบชีวิต “คุณหญิงวรรณา” ผู้ร่วมก่อตั้งอาณาจักร “ไทยเบฟ”. เว็บไซต์.
ประชาชาติธุรกิจ. (2566). “จุล กาญจนลักษณ์” เจ้าของสูตรลับ “แม่โขง” สู่ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ทีซีซี กับเจ้าสัวเจริญ. เว็บไซต์.
เสนาะ สุขเจริญ. (2556). ผู้อยู่เบื้องหลัง ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐรับของขวัญเกิน 3,000 บาท. เว็บไซต์. สำนักข่าวอิศรา.