คินทาโร่ ฮัตโตริ ชายผู้มุ่งมั่นปฏิวัติวงการนาฬิกาโลก ผู้ก่อตั้ง Seiko

คินทาโร่ ฮัตโตริ ชายผู้มุ่งมั่นปฏิวัติวงการนาฬิกาโลก ผู้ก่อตั้ง Seiko

Seiko เป็นนาฬิกาสัญชาติญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียง และเคยสร้าง The Quartz Crisis จนส่งผลกระทบครั้งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมนาฬิกาทั่วโลก โดยผู้ก่อตั้งและผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์นี้ ก็คือ คินทาโร่ ฮัตโตริ

  • Seiko เป็นนาฬิกาสัญชาติญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปี 1881
  • แบรนด์นี้ มี ‘คินทาโร่ ฮัตโตริ’ เป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งเชื่อว่า ‘นักธุรกิจต้องนำหน้าคนอื่นหนึ่งก้าวเสมอ’ 

เมื่อพูดถึงนาฬิกาชั้นนำ คนส่วนใหญ่อาจจะนึกถึงแบรนด์จากประเทศซีกโลกตะวันตกอย่างสวิสเซอร์แลนด์ ไม่ว่าจะเป็น Patek Philippe, Rolex, TAG Heuer, Omega ฯลฯ แต่รู้หรือไม่ว่า ฝั่งตะวันออกเองก็มีแบรนด์ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน นั่นก็คือ Seiko นาฬิกาสัญชาติญี่ปุ่นที่เคยสร้าง The Quartz Crisis จนส่งผลกระทบครั้งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมนาฬิกาทั่วโลกมาแล้ว

ย้อนกลับไปในปี 1881 ‘คินทาโร่ ฮัตโตริ’ (Kintaro Hattori) ได้ให้กำเนิด Seiko ขึ้นมาจากความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กที่อยากเป็นช่างทำนาฬิกา เพื่อสักวันหนึ่งจะสร้างสรรค์นาฬิกาของตัวเองขึ้นมา 

นอกจากประวัติอันน่าสนใจแล้ว เขายังมีแนวคิดหลายอย่างที่คนญี่ปุ่นรุ่นหลังสรรเสริญอยู่ไม่น้อย 

เรื่องราวเป็นอย่างไร ติดตามได้ต่อจากนี้…

เรียนจากคนที่เก่งที่สุดเสมอ

คินทาโร่ ฮัตโตริ เกิดเมื่อปี 1860 ในครอบครัวพ่อค้าที่มีอันจะกิน แค่ย่านที่อยู่อาศัยของเขาอย่าง เคียวบาชิ (Kyobashi) ก็สะท้อนความมีระดับแล้ว เพราะอยู่ใจกลางเมืองและเป็นย่านชนชั้นสูงและผู้ดีเก่า 

แม้จะได้รับการศึกษาเลี้ยงดูที่ดีเยี่ยม แต่ตัวเขาเองก็มีนิสัยชอบขวนขวายหาความรู้ใหม่ ๆ และกระตือรือร้นอยากทดลองทำอะไรโน่นนี่ด้วยตัวเอง

เมื่อถึงปี 1873 ญี่ปุ่นได้ยกเลิกระบบนับเวลาแบบยุคโบราณดั้งเดิม เพื่อเปลี่ยนไปใช้ตามมาตรฐานสากลโลก ในมุมหนึ่ง เหตุการณ์นี้ก่อกำเนิดเป็นโอกาสในการรังสรรค์โลกเวลาขึ้นมาใหม่ และเป็นช่วงเวลาที่คินทาโร่น้อยเริ่มโบยบิน

ขณะที่วัยรุ่นสังคมเดียวกันคนอื่นยังคงวิ่งเล่นสนุกสนานตามประสาวัย เมื่ออายุ 13 ปี คินทาโร่ ฮัตโตริ ตัดสินใจไปเป็น ‘เด็กฝึกงาน’ ที่ร้านนาฬิกา Kameda Clock Shop

หนึ่งในสาเหตุคือเขาต้องการ ‘เรียนจากคนที่เก่งที่สุด’ (Learn from the best) ในวงการนาฬิกา ซึ่งยุคสมัยนั้นคือ ‘โคบายาชิ เดนจิโร่’ (Kobayashi Denjiro) ที่เป็นเจ้าของร้านและเป็นพ่อค้านาฬิกาชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงและความเชี่ยวชาญอันดับต้น ๆ ของวงการ

แม้มาจากตระกูลมีอันจะกิน แต่คินทาโร่ ฮัตโตริไม่เคยนำความสุขสบายมาปรนเปรอตัวเองจนเสียคน เขาเลือกที่จะเรียนรู้จากหน้างาน ไปสัมผัสประสบการณ์ตรง เพราะเขาเชื่อว่า ช่างฝีมือต้องเน้นการลงมือทำ และจะพัฒนาได้ ต้องเกิดจากการสะสมชั่วโมงบินอย่างต่อเนื่อง 

ปรับให้เข้ากับคนญี่ปุ่น

ช่วงนั้นญี่ปุ่นอยู่ในยุคฟื้นฟูเมจิที่ประเทศกำลังเร่งพัฒนาและกระหายองค์ความรู้จากประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะชาติตะวันตก

สปิริตของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในยุคบุกเบิก ที่มักเริ่มต้นเล็ก ๆ จากการนำเข้าหรือแม้แต่ถอดแบบสินค้าจากฝรั่งชาวตะวันตก แกะสูตรข้างใน สกัดองค์ความรู้ออกมา ไม่อาศัยทางลัด ปฏิเสธความผิวเผิน แต่เลือกเดินทางปกติที่ยั่งยืนกว่า ตัวเองและองค์กรได้ผลประโยชน์มากกว่าถ้าดูกันไปยาว ๆ ก่อนจะนำมา ‘ปรับให้เข้ากับญี่ปุ่น’ ก่อกำเนิดเป็นแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นด้วยตัวเอง

เมื่อเก็บประสบการณ์รอบด้านมากพอแล้ว เขาตัดสินใจเปิดร้านซ่อมนาฬิกาของตัวเองขึ้นมาในย่านกินซ่า ชื่อว่า Hattori Clock Repair Shop

ตอนนั้นเขามีความฝันที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างแบรนด์ผลิตนาฬิกาของญี่ป่นด้วยตัวเองในอนาคต แต่เขาเลือกที่จะเริ่มต้นจากเล็ก ๆ ก่อนผ่านการซ่อมนาฬิกา เพื่อศึกษากลไกนาฬิกาหลากหลายรูปแบบ และเรียนรู้ทักษะการบริหารจัดการร้านค้าธุรกิจขนาดเล็ก 

นำหน้าก้าวนึงเสมอ

“พ่อค้าที่ดีต้องนำหน้าไปก้าวนึงเสมอ” คินทาโร่ ฮัตโตริเชื่อเช่นนั้น เขาเป็นผู้บุกเบิกวงการนาฬิกามาสู่ญี่ปุ่น ตัดสินใจก่อตั้งบริษัท K. Hattori & Co. ขณะที่มีอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น (นี่คือจุดเริ่มต้นที่ต่อมากลายเป็นแบรนด์ ‘Seiko’) 

การนำหน้าไปก้าวนึงหมายถึงอะไร? คินทาโร่ ฮัตโตริ ตอบว่า

"ผมเริ่มซื้อสินค้าต่างประเทศ จากบริษัทต่างชาติที่ค้าขายในญี่ปุ่น ขณะที่บริษัทญี่ปุ่นทั่วไปยังซื้อขายกันเองอยู่เลย…ผมเริ่มนำเข้าสินค้าโดยตรง ขณะที่บริษัทญี่ปุ่นทั่วไปพึ่งเริ่มซื้อขายกับบริษัทต่างชาติ…ผมเริ่มผลิตนาฬิกาด้วยตัวเอง ขณะที่คนอื่นพึ่งเริ่มนำเข้าสินค้า…และผมเริ่มมองหาสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีขึ้นไปอีก ขณะที่คนอื่นพึ่งเริ่มผลิตสินค้าเอง"

เขาเริ่มจากไปจับมือกับบริษัทเทรดดิ้งจากสวิตเซอร์แลนด์ ดินแดนแม่ของโลกนาฬิกาคุณภาพเลิศ เพื่อนำเข้านาฬิกาสวิสมาขายยังร้านตัวเอง

นาฬิกาสวิสเป็นนาฬิกาที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก และมีประวัติศาสตร์ยาวนานเป็นร้อยปีแล้ว จากการทำธุรกิจซื้อมาขายไป แม้จะประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ คินทาโร่ ฮัตโตริ พบว่า การจะทำตามฝันในการสร้างนาฬิกาขึ้นมาเองอาจต้องใช้เวลาเก็บเกี่ยวองค์ความรู้อีกมากกว่าจะ ‘ตามทัน’ 

เวลาล่วงเลยไปนับทศวรรษ เมื่อองค์ความรู้สุกงอม มีเงินลงทุน และระบบพร้อม คุณฮัตโตริก็ตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตนาฬิกาขึ้นมาในโตเกียว ชื่อว่า ‘Seikosha’ โดย ‘Seiko’ มีความหมายไพเราะรอบด้านว่า เวลา-ความสำเร็จ-ความงดงาม

ความหมายของชื่อนี้ คินทาโร่ ฮัตโตริ ไม่ได้ตั้งเพื่อให้ฟังดูไพเราะเฉย ๆ เท่านั้น แต่เขาเชื่อมั่นอย่างนั้นจริง ๆ

ต่อให้สร้างภาพลักษณ์แบรนด์ดีแค่ไหน ราคาถูกแค่ไหน แต่พื้นฐานคุณภาพไม่ดี ระยะยาวลูกค้าก็หันไปเลือกแบรนด์อื่นอยู่ดี นอกจากนี้ การสร้างมาตรฐานสินค้าคุณภาพที่ดียังเป็นการ 'ให้เกียรติ' ลูกค้าด้วยเช่นกัน

ไม่เร่งรีบ แต่ก็ไม่หยุด

คินทาโร่ ฮัตโตริ มีแนวคิดทำธุรกิจในระยะยาว เขาไม่ได้หวังเงินกำไรระยะสั้น ไม่ได้หวังรวยเร็ว การทำธุรกิจของเขาจึงเป็นแบบพัฒนาค่อยเป็นค่อยไป แม้อาจไม่ได้หวือหวาชนิดก้าวกระโดด แต่ไม่เคยหยุดนิ่งเลย

“อย่าเร่งรีบทำอะไรเกินตัวจนเกินไป แต่ขณะเดียวกัน ก็อย่าหยุดนิ่งเป็นอันขาด”

เขาออกเดินทางโดยมีจุดหมายปลายทางคือ ยุโรป ภารกิจคือสำรวจและค้นหา อุปกรณ์เครื่องจักรทำนาฬิกาที่ดีที่สุด เทคโนโลยีใหม่ ๆ และเทคนิคจากช่างนาฬิกามากฝีมือ เขากลับมาญี่ปุ่นด้วยองค์ความรู้เหนือชั้นและประยุกต์ใช้กับโรงงานนาฬิกาของตัวเอง ปรับให้เข้ากับความเป็นญี่ปุ่น

จนเปิดตัว นาฬิกาพก (Pocket watch) รุ่นแรกของแบรนด์และที่ทำโดยคนญี่ปุ่น มีชื่อว่า ‘Timekeeper’ ได้สำเร็จในปี 1895 จุดชนวนยอดขายที่โตระเบิด เขาส่งขายนาฬิกาไปทั่วญี่ป่น รวมถึงเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง และขึ้นแท่นบริษัทนาฬิกาที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น 

พัฒนาไม่หยุดนิ่ง

เหนือสิ่งอื่นใด Timekeeper ปูทางไปสู่นวัตกรรมที่จะพลิกโฉมแบรนด์และยกระดับอุตสาหกรรมนาฬิกาญี่ปุ่นในเวลาต่อมา 

“ส่วนตัวผมคิดว่าถ้าพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป…ดีกว่าการเร่งรีบแล้วสุดท้ายหกล้มบาดเจ็บจนนำมาส่ความล้มครืน “เราควรพัฒนาต่ออดโดยไม่ยึดติดกับข้อจำกัด ค่อย ๆ นำไปทีละเรื่องทีละก้าว ไม่เร็ว แต่ก็ไม่หยุดนิ่ง ”

ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เมืองญี่ปุ่นเริ่มขยาย สังคมญี่ปุ่นเริ่มไลฟ์สไตล์ให้โมเดิร์น ผู้คนเริ่มแต่งตัวตามแบบตะวันตก เริ่มเปิดรับวัฒนธรรมการกินร้านอาหารข้างนอก ‘นาฬิกาข้อมือ’ (Wrist watch) เริ่มกลายเป็นแฟชั่นที่คนโหยหา แต่ในยุคนั้นยังมีแค่นาฬิกาข้อมือนำเข้าจากต่างประเทศ ยังไม่มีสัญชาติญี่ปุ่นที่ทำโดยคนญี่ปุ่น 

และนั่นคือสิ่งที่คินทาโร่ ฮัตโตริใฝ่ฝันมานานว่าอยากทำให้ได้ เขาไม่ได้อยากทำให้ได้เพียงเพื่อให้รวย เพราะรวยอยู่แล้ว ชีวิตดำเนินมาถึงวัยนี้ อีกด้านหนึ่งเขาพบว่าตัวเองไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการเท่านั้น แต่มี ‘หัวใจนวัตกร’ ชอบรังสรรค์สร้างนวัตกรรมที่ดีขึ้น 

ความฝันของเขามาสำเร็จเอาในปี 1913 ด้วยการผลิตนาฬิกาข้อมือแรกของญี่ปุ่นได้สำเร็จ โดยมีขื่อว่า Laurel เมื่อเราดูเวลาโมงยามได้เพียงแค่พลิกข้อมือ และนั่นเอง มุมมองด้านเวลาของคนญี่ปุ่นก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

รักษาสัญญาเสมอ

คนภายนอกอาจคิดว่า คินทาโร่ ฮัตโตริ ‘โชคดี’ ที่จับอะไรก็สำเร็จไปหมด โดยเขามักจะได้รับข่าวสารข้อมูลล่าสุดหรือตัวเลือกวัตถุดิบสำคัญ ๆ ที่ทันสมัยที่สุดในวงการนาฬิกา ซึ่งเป็นหัวเชื้อสู่การต่อยอดความสำเร็จ

แต่เขามองว่าที่ทุกอย่างโชคดี และมีคนรอบตัวช่วยเหลือไว้วางใจ นั่นเพราะเขารักษาสัญญาคำพูดเสมอกับคู่ค้าทุกคนไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ 

อย่างไรก็ตาม ปี 1923 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่แถบคันโตที่สร้างความเสียหายมหาศาลแก่บ้านเมืองญี่ปุ่น นั่นรวมถึงโรงงาน Seikosha ด้วย แต่เขาไม่ยอมแพ้ สิ่งของเสื่อมสลาย ตึกอาคารพังพินาศไปบ้าง แต่องค์ความรู้ยังมีอยู่ 

เขาสะท้อนสปิริตหนึ่งที่คนญี่ปุ่นผู้เผชิญภัยพิบัติมาตลอด นั่นคือการ ‘สร้างใหม่ให้ดีกว่า’ เขารื้อฟื้นสิ่งที่ยังหลงเหลือ และพลิกแบรนด์กลับมาใหม่ในชื่อว่า Seiko แบรนด์นี้จะยังคงอยู่กับเรามาจนถึงปัจจุบัน

อีกเอกลักษณ์ที่อยู่มาถึงทุกวันนี้คือ คินทาโร่ ฮัตโตริ ตัดสินใจก่อสร้างตึกอาคารใหม่ตรงแยกกินซ่า และติดตั้งนาฬิกาบอกเวลาขนาดใหญ่ไว้ด้านบน เขาไม่ได้มองในเชิงสร้างภาพลักษณ์แบรนด์เท่านั้น 

แต่โฟกัสที่ว่า การก่อสร้างนาฬิกาขนาดใหญ่บนยอดตึกนี้ เป็นไปเพื่อ ‘สาธารณชน’ เบื้องล่างในการได้มองดูเวลา (ยุคสมัยนั้นคนส่วนใหญ่ยังไม่มีนาฬิกา) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางย่าน ทำให้ผู้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์และของเมือง ไม่ต่างจากหอระฆังโบราณในยุคกลางตามเมืองเก่าแก่ของยุโรปที่เขาไปตระเวนพบเห็นมา และเป็นกำลังใจเสมือนเป็นการกลับมาสร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม

The Quartz Crisis

ไม่เพียงเป็นนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้ เขายังคงสวมบทบาทการเป็นนวัตกร โดย Seiko ยังคงพัฒนานวัตกรรมนาฬิกาออกมาอย่างต่อเนื่อง 

โดยเฉพาะในปี 1969 กับการสร้าง Quartz watch นาฬิการะบบอิเล็กทรอนิคที่ใช้แบตเตอรี่ได้เป็นเจ้าแรกของโลก ด้วยการเปิดตัวนาฬิการุ่น Astron 35SQ ซึ่งเป็นการปฏิวัติวงการนาฬิกาให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

นาฬิการุ่นดังกล่าว เป็นนาฬิกาที่มีคุณภาพและมีความแม่นยำสูง แถมราคาไม่แพง ทำให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย ส่งผลให้ Astron 35SQ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และสร้างปรากฏการณ์ The Quartz Crisis ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมนาฬิกาทั่วโลก 

โดยเฉพาะนาฬิกาจากสวิสเซอร์แลนด์ ที่ตั้งแต่ปี 1977-1983 มูลค่าส่งออกลดลงไปกว่าครึ่ง ทำให้บริษัทนาฬิกาของสวิตเซอร์แลนด์ยักษ์ใหญ่ 2 ราย ได้แก่ ASUAG เจ้าของแบรนด์ดัง เช่น Mido, Rado ฯลฯ และ SSIH เจ้าของนาฬิกาแบรนด์ดังอย่าง Omega, Tissot ประสบปัญหาอย่างหนัก จนเกือบต้องขายกิจการ (ต่อมาทั้งสองบริษัทแก้เกมด้วยการควบรวมกิจการ และเปลี่ยนชื่อเป็น Swatch Group )

ขณะที่ Seiko ก็เดินหน้าพัฒนาไม่หยุด เปิดตัวแบรนด์ Grand Seiko เพื่อยกระดับนาฬิกาญี่ปุ่น มาพร้อมดีไซน์เรียบหรู วัสดุที่ดีที่สุด พิถีพิถันจนเทียบชั้นนาฬิกาสวิสได้เลยทีเดียว รวมไปถึงการเปิดตัวนาฬิการุ่นแรกของโลกที่ออกแบบให้มีเครื่องรับสัญญาณและช่องเสียบหูฟังเพื่อการชมโทรทัศน์, Voice Note นาฬิกาอัดเสียงได้รุ่นแรกของโลก ฯลฯ

มาถึงตอนนี้ Seiko ดำเนินธุรกิจมานานแล้วกว่า 160 ปี และวางจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย 

แต่ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปนานเพียงใดสิ่งที่ Seiko ยังคงยึดมั่นมาโดยตลอด ก็คือ ‘หัวใจนวัตกร’ จากคินทาโร่ ฮัตโตริ และแนวคิดการนำหน้าคนอื่นก้าวนึงเสมอ ที่ยังคงถูกถ่ายทอดเป็นดีเอ็นเอในตัวแบรนด์ Seiko จวบจนถึงทุกวันนี้

.

ภาพ : seiko

.

อ้างอิง

.

seiko history

The People behind seiko

founder seiko

seiko legand

kintaro hattori