คริสโตบัล บาเลนเซียก้า : อัจฉริยะแฟชั่นที่เริ่มจากตัด ‘ชุดน้องหมา’ สู่ ‘ราชาโอตกูตูร์’

คริสโตบัล บาเลนเซียก้า : อัจฉริยะแฟชั่นที่เริ่มจากตัด ‘ชุดน้องหมา’ สู่ ‘ราชาโอตกูตูร์’

‘คริสโตบัล บาเลนเซียก้า’ อัจฉริยะแฟชั่นที่เริ่มจากตัด ‘ชุดน้องหมา’ สู่ ‘ราชาโอตกูตูร์’ ผู้ให้กำเนิดแบรนด์ Balenciaga พร้อมปรัชญา ‘เปลี่ยนสิ่งรอบตัวให้มีค่า’ ด้วยศิลปะและความคิดสร้างสรรค์

  • Balenciaga คือแบรนด์แฟชั่นหรู ที่ ‘คริสโตบัล บาเลนเซียก้า’ เป็นผู้ก่อตั้ง 
  • เขาไม่ได้เรียนจบโรงเรียนแฟชั่น แต่สามารถขึ้นมายืนในตำแหน่ง ‘ราชา’ แห่งวงการแฟชั่นชั้นสูง หรือ ‘โอตกูตูร์’ 

ถุงกระสอบสีรุ้งที่ขายตามสำเพ็ง หรือถุงสีฟ้าราคาถูกของ ‘อิเกีย’ ไปจนถึงถุงขยะสีดำ และซองมันฝรั่งทอดกรอบธรรมดา ๆ ใครจะคิดว่าสามารถเพิ่มมูลค่าได้หลายเท่าด้วยการนำไปออกแบบเป็นกระเป๋าแบรนด์เนมราคาใบละหลายหมื่นบาท

นั่นคือสิ่งที่ ‘บาเลนเซียก้า’ (Balenciaga) แบรนด์แฟชั่นหรู ซึ่งมีจุดกำเนิดจากสเปน ทำให้เห็นและเป็นที่ฮือฮามาแล้ว

Balenciaga สามารถเปลี่ยนสิ่งของรอบกายที่ดูไม่ค่อยมีค่าให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลายร้อยหลายพันเท่า ด้วยแนวทางการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์มายาวนานกว่าร้อยปี

จุดเริ่มต้นของแบรนด์นี้เกิดจากเด็กชายกำพร้าพ่อที่ชื่นชอบการเย็บปักถักร้อยนามว่า ‘คริสโตบัล บาเลนเซียก้า’ (Cristóbal Balenciaga)

คริสโตบัลไม่ได้เรียนจบจากโรงเรียนแฟชั่นที่ไหน เขาอาศัยทักษะที่ถ่ายทอดมาจากแม่และประสบการณ์ทำงานจริง มาผสานความคิดสร้างสรรค์ สร้างผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ จนถูกยกย่องให้เป็น ‘ราชา’ แห่งวงการแฟชั่นชั้นสูง หรือ ‘โอตกูตูร์’ ผู้ส่งต่อปรัชญาความเป็น Balenciaga มาจนถึงปัจจุบัน

ตัดชุดให้ ‘น้องหมา’ ก่อนพัฒนาสู่เสื้อผ้ามนุษย์

คริสโตบัล บาเลนเซียก้า อิซากีร์เร่ (Cristóbal Balenciaga Eizaguirre) คือชื่อเต็มของผู้ก่อตั้งแบรนด์ Balenciaga เขาเกิดวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1895 ในหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ของเมืองเกตาเรีย (Guetaria) ในแคว้นบาสก์ ประเทศสเปน มีบิดาทำอาชีพประมง ส่วนมารดาเป็นช่างเย็บผ้า

หลังบิดาเสียชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์และกลายเป็นเด็กกำพร้าพ่อ คริสโตบัลต้องเติบโตมากับแม่เพียงลำพัง แต่แทนที่เขาจะกลายเป็นเด็กมีปัญหา กลับนำจุดนี้มาแปรเป็นพลังเขาใช้ความใกล้ชิดกับแม่เรียนรู้ทักษะงานเย็บปักถักร้อยที่ต่อมาทำให้มีชื่อเสียงและกลายเป็น ‘ตำนาน’

คริสโตบัลเริ่มฉายแววอัจฉริยะตั้งแต่อายุเพียง 6 ขวบด้วยการนำเศษผ้าและทักษะจากแม่ มาดีไซน์ชุดสุนัขให้น้องหมาที่เขาเลี้ยงไว้สวมใส่เป็นครั้งแรก

จากนั้นพออายุ 12 ปี ก็เริ่มช่วยออกแบบตัดเย็บผ้า จนลูกค้าประจำซึ่งเป็นสตรีสูงศักดิ์คนหนึ่งชื่อว่า ‘มาร์เกซ่า เดกาซ่า ตอร์เรส’ (Marquesa de Casa Torres) เห็นแววอัจฉริยะ เธอจึงรับเป็นผู้อุปถัมภ์ และฝากเข้าทำงานในห้องเสื้อท้องถิ่น

พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นกูตูริเยร์

คริสโตบัลเริ่มเป็นเด็กฝึกหัดในห้องเสื้อเล็ก ๆ ที่ ‘ซาน เซบาสเตียน’ เมืองตากอากาศชื่อดังของสเปน จนอายุ 16 ปีเขาจึงย้ายไปทำงานในแผนกเสื้อผ้าสตรีของห้างสรรพสินค้าในเมืองเดียวกัน

ที่นั่นเปรียบเหมือน ‘โรงเรียนแฟชั่น’ ที่สอนให้เขารู้จักธุรกิจเครื่องแต่งกายแทบทุกด้าน รวมถึงแฟชั่นชั้นสูงอย่าง‘โอตกูตูร์’ (Haute Couture)

โอตกูตูร์ มาจากภาษาฝรั่งเศส 2 คำ คือคำว่า ‘Haute’ ที่แปลว่า ‘สูง’ กับ ‘Couture’ ที่แปลว่า ‘การตัดเย็บ’ เมื่อนำมารวมกันจึงหมายถึง ‘ศิลปะชั้นสูงในวงการแฟชั่น’ เป็นการตัดเย็บเสื้อผ้าที่มาจากการวัดขนาดให้เข้ากับสรีระของผู้สวมใส่อย่างประณีตแบบรายบุคคล ไม่ใช่เสื้อผ้าสำเร็จรูปทั่วไป

ส่วนผู้ประกอบอาชีพออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าแนวโอตกูตูร์มีชื่อเรียกในวงการว่า ‘กูตูริเยร์’ (couturier)

คริสโตบัลเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ด้วยตนเองจนกระทั่งอายุ 22 ปี เขาจึงตัดสินใจลาออกมาเปิดห้องเสื้อโอตกูตูร์ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง และเป็น ‘กูตูริเยร์’ เต็มตัวตั้งแต่ปี 1917

หนีสงครามไปโด่งดังที่ปารีส

ห้องเสื้อร้านแรกของกูตูริเยร์บาเลนเซียก้าใช้ชื่อว่า ‘เออีซ่า’ (Eisa) ตามชื่อมารดา ตั้งอยู่ในเมืองซาน เซบาสเตียน ซึ่งขณะนั้นคลาคล่ำไปด้วยเศรษฐีและชนชั้นสูงที่อพยพหนีภัยสงครามโลกครั้งที่ 1 มาพำนักอาศัยในเมืองตากอากาศแห่งนี้

ธุรกิจของคริสโตบัลเติบโตรวดเร็ว และมีลูกค้าประจำมากมาย หลายคนเป็นถึงสมาชิกราชวงศ์ จนต่อมาต้องขยายสาขาไปเมืองที่ใหญ่กว่าอย่างกรุงมาดริด และบาร์เซโลนา ทว่าเมื่อเข้าสู่กลางทศวรรษ 1930s สเปนเกิดสงครามกลางเมืองรุนแรงจนกระทบธุรกิจแฟชั่น คริสโตบัลตัดสินใจปิดห้องเสื้อทุกร้านในแดนกระทิงดุ และหอบข้าวของอพยพไปเมืองหลวงแห่งวงการแฟชั่นในฝรั่งเศส

เขาเปิดห้องเสื้อ Balenciaga ร้านแรกในกรุงปารีส เมื่อปี 1937 ณ อาคารบ้านเลขที่ 10 ถนนอเวนิว ฌาร์ฌ แซงก์ (Avenue George V) ซึ่งต่อมากลายเป็น ‘สำนักตักศิลา’ ที่เผยแพร่ปรัชญาการออกแบบเสื้อผ้าในสไตล์ ‘บาเลนเซียก้า’ จนถึงปัจจุบัน

แรงบันดาลใจจากความชื่นชอบรอบตัว

คริสโตบัลพาแบรนด์ Balenciaga สร้างชื่อเสียงในกรุงปารีสอย่างรวดเร็ว ด้วยสไตล์การออกแบบที่ไม่เหมือนใครไม่ว่าจะเป็นการเลือกเนื้อผ้าและวัสดุที่ใช้ก่อนร่างแบบขึ้นมา แตกต่างจากกูตูริเยร์คนอื่นที่มักร่างแบบก่อนแล้วค่อยเลือกชนิดของผ้า

อีกจุดเด่นคือการดีไซน์โครงสร้างและรูปทรงเสื้อผ้าที่มีเอกลักษณ์ เมื่อผสานกับฝีมือการตัดเย็บชั้นครูที่เรียนรู้มาจากมารดา ทำให้คริสโตบัลกลายเป็นกูตูริเยร์ที่ครบเครื่องที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น

ผลงานการออกแบบส่วนใหญ่ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งของที่เจอรอบตัว โดยเฉพาะภาพวาดคลาสสิกของศิลปินเอกชื่อดังชาวสเปน ไม่ว่าจะเป็นของ ‘เอล เกรโก’ (El Greco) ‘ซูร์บาราน’ (Zurbaran) และ ‘โกย่า’ (Goya) ล้วนเป็นงานที่เขาชื่นชอบ

คริสโตบัลคุ้นเคยกับภาพเหล่านี้ เพราะเคยตามแม่ไปเย็บผ้าในคฤหาสน์ชนชั้นสูงที่ประดับประดาด้วยผลงานของศิลปินเอก เขาจึงจดจำภาพเหล่านั้นได้ดี และนำรูปนางฟ้าเทพธิดาบนผืนผ้าใบมาดัดแปลงเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ให้คนทั่วไปได้สวมใส่อย่างงดงาม

ราชาโอตกูตูร์ที่ทุกคนยอมรับ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงต้นทศวรรษ 1950s คือยุคทองของ Balenciaga โดยขณะนั้นมีเพียง ‘คริสเตียน ดิออร์’ (Christian Dior) ที่เป็นห้องเสื้อโอตกูตูร์ชั้นนำ ซึ่งเป็นคู่แข่งขันเพียงแบรนด์เดียว

การแข่งขันระหว่าง Balenciaga กับ Dior ปรากฏให้เห็นเด่นชัดเมื่อทั้งคู่พยายามนำเสนอเสื้อผ้าแนวใหม่เพื่อร่วมฉลองยุคสิ้นสุดสงคราม โดย Dior เปิดตัวชุดทรงนาฬิกาทรายที่เน้นอวดสรีระและทรวดทรงองค์เองของผู้สวมใส่

ทว่า Balenciaga กลับทำตรงข้าม คริสโตบัลเปิดตัวเสื้อผ้าที่ออกแบบมาให้หลวม ๆ สวมใส่สบายและมอบอิสระในการเคลื่อนไหวแก่สตรี โดยมีทั้งเสื้อทรงยาวคลุมสะโพกแบบ ‘ทูนิก’ ไปจนถึงทรงบอลลูน ชุดกระโปรงไร้เอวทรงกระสอบ (แซก) และกระโปรงทรงตุ๊กตา นับเป็นการปฏิวัติวงการโอตกูตูร์ และเป็นต้นแบบเสื้อผ้าสตรียุคใหม่ที่มีอิทธิพลมายาวไกลถึงปัจจุบัน

ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เหล่านี้ถึงขั้นทำให้หลายคนยกย่องคริสโตบัลเป็น ‘ราชา’ แห่งวงการแฟชั่นชั้นสูง 

ขณะที่ ‘คริสเตียน ดิออร์’ ถึงกับยอมรับว่า “โอตกูตูร์ก็เหมือนวงออร์เคสตรา ซึ่งมีบาเลนเซียก้าเป็นวาทยกร ส่วนพวกเราที่เหลือเป็นแค่นักดนตรี ที่ทำตามคำสั่งของเขาเท่านั้น”

วาระสุดท้ายของผู้ให้กำเนิด

เบื้องหลังความคิดสร้างสรรค์และไม่เหมือนใครของ ‘ราชาโอตกูตูร์’ ผู้นี้ ส่วนหนึ่งยังมาจากบุคลิกชอบเก็บตัวไม่สุงสิงกับใคร โดยตลอดอาชีพนักออกแบบเสื้อผ้านาน 30 ปี คริสโตบัลแทบไม่เคยให้สัมภาษณ์สื่อรายใด

เขาเป็นดีไซเนอร์ที่ไม่ชอบพบเจอลูกค้า แม้กระทั่งผู้ที่เดินทางมาวัดตัวตัดผ้าถึงห้องเสื้อของเขาก็แทบไม่เคยเจอ

ความเป็น ‘อินโทรเวิร์ต’ ของคริสโตบัล ทำให้ Balenciaga ยุคนั้นมีธรรมเนียมแปลก ๆ อย่างการไม่มีดีไซเนอร์ไปปรากฏตัวหลังจบรันเวย์โชว์ และเสื้อผ้าคอลเลกชันใหม่จะไม่เปิดเผยให้สาธารณชนยลโฉมจนกว่างานเปิดตัวเป็นทางการในปารีส จะผ่านพ้นไปแล้วนาน 1 เดือน

อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกเข้าสู่ทศวรรษ 1960s และอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปเริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลาย คริสโตบัลซึ่งเริ่มสังขารโรยรา ตัดสินใจปิดกิจการ Balenciaga ในปี 1968

เขาอพยพกลับบ้านเกิดในสเปน และหลังจากนั้น 4 ปี ก็มีอาการหัวใจวายและจากโลกนี้ไปในวัย 77 ปี ปิดตำนานกูตูริเยร์ที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลกไปพร้อมกับแบรนด์ Balenciaga ของตนเอง

เกิดใหม่ภายใต้ปรัชญาเดิม

แม้คริสโตบัลจะเสียชีวิตแล้ว แต่ชื่อเสียงของ Balenciaga ยังไม่หายสาบสูญไปไหน เนื่องจากเขาไม่แต่งงานและไม่มีทายาทสืบสกุล ลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้า Balenciaga จึงตกเป็นของหลานชาย ซึ่งไม่มีความรู้เรื่องแฟชั่น

ด้วยเหตุนี้ แบรนด์ Balenciaga จึงถูกขายต่อและเปลี่ยนมือเจ้าของไปเรื่อย จนกระทั่งปี 1986 หลังห้องเสื้อปิดตัวไปนานเกือบ 20 ปี จึงมีการเปิดแฟชั่นเฮาส์แห่งนี้ขึ้นมาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การทำให้แบรนด์ที่ตายแล้วกลับมาได้รับความนิยมกว้างขวางไม่ใช่เรื่องง่าย เจ้าของแบรนด์ต้องเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ (creative director) ไปหลายคน กว่าผลงานจะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ Balenciaga เริ่มกลับมาเฉิดฉาย คือการได้ ‘นิโกลาส์ เฌสกีแยร์’ (Nicolas Ghesquière) มานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ในปี 1997 

เขาพยายามสร้างสรรค์ผลงานใหม่ภายใต้ปรัชญาเดิมของผู้ก่อตั้ง จนออกมาเป็นกระเป๋าหนังสีดำรุ่น City หรือบางคนเรียกว่า ‘Motorcycle bag’ ซึ่งกลายเป็นไอคอนโด่งดังของ Balenciaga ยุคใหม่

โอตกูตูร์ที่ผสานความเป็นสตรีทแฟชั่น

อีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ Balenciaga โตวันโตคืน คือการเข้ามาซื้อกิจการในปี 2001 ของ ‘แคริ่ง’ (Karing) บริษัทเจ้าของแบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์มากมาย อาทิ ‘กุชชี่’ (Gucci) ‘อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน’ (Alexander McQueen) และ ‘อีฟ แซงต์ โลรองต์’ (Yves Saint Laurent) 

แคริ่งนำประสบการณ์การบริหารแบรนด์ดังมากมายมาถ่ายทอดให้ Balenciaga แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์เดิมไว้จนกระทั่งปี 2015 มีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์เป็น ‘เดมน่า กวาซาเลีย’ (Demna Gvasalia) ดีไซเนอร์ชาวจอร์เจีย จากนั้น Balenciaga ก็กลับมายืนแถวหน้าของวงการแฟชั่นไฮเอนด์ได้อย่างเต็มตัว

เดมน่าพา Balenciaga กลายเป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่ ด้วยการนำประสบการณ์จากการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าแนวสตรีทยี่ห้อ ‘เวตมองต์’ (Vetements) ของเขามาปรับใช้ ทำให้สินค้า Balenciaga ยุคใหม่ไม่ใช่มีแค่เสื้อผ้าสตรี แต่ยังมีรองเท้าสนีกเกอร์ที่ใส่ได้ทุกเพศทุกวัยเป็นตัวชูโรง

นอกจากนี้ เดมน่ายังรื้อฟื้นธุรกิจเสื้อผ้าเทเลอร์แบบโอตกูตูร์ขึ้นมา และนำปรัชญาการดึงสิ่งของรอบตัวมาพัฒนาเป็นสินค้าชั้นสูงแบบที่ผู้ก่อตั้งแบรนด์เคยทำ มาปรับใช้กับแฟชั่นยุคใหม่ของ Balenciaga

และนั่นคือที่มาของกระเป๋าแบรนด์หรูราคาแพงที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายถุงกระสอบสำเพ็ง และถุงอิเกีย รวมถึงถุงขยะและซองมันฝรั่ง ซึ่งเป็นที่ฮือฮา และทำให้ทั่วโลกพูดถึงแบรนด์ Balenciaga ในปัจจุบัน

.

ภาพ : Getty Images, Balenciaga

อ้างอิง 

.

Balenciga

.metmuseum

What inspired the ‘master’ of fashion?

Balenciaga’s World of Mystery: Books of Style - The New York Times

https://www.youtube.com/watch?v=9kNFJo1-wUc

https://www.youtube.com/watch?v=Pjk2oGCH-9o

The History (and evolution) of Balenciaga - GLAM OBSERVER