22 มี.ค. 2567 | 17:00 น.
แน่นอนว่าการศึกษายังเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับมนุษย์ แต่การเรียนรู้ในยุคดิจิทัลที่มีช่องทางออนไลน์มากมายให้ค้นคว้าด้วยตัวเอง แล้วสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ตอบโจทย์อย่างไรกับโลกในศตวรรษที่ 21 ในเมื่อเราสามารถเรียนรู้ผ่านหน้าจอได้ทุกสถานที่ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดของโลก
มหาวิทยาลัยในไทยจะปักหมุดไว้ที่ใดบนแผนที่โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและอาจทิ้งเราไว้ข้างหลังถ้าหยุดการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีประวัติการก่อตั้งมายาวนานกว่า 60 ปี ผ่านช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและเศรษฐกิจครั้งสำคัญของประเทศ โดยยังยืนหยัดและวางรากฐานการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความคิดสร้างสรรค์ของไทยที่ต้องการก้าวไปทัดเทียมกับการเรียนรู้แห่งโลกอนาคต ที่นอกจากจะต้องปรับแนวคิดและเปลี่ยนหลักสูตรเพื่อสร้างบัณฑิตให้พร้อมก่อนออกไปเผชิญโลกการทำงาน ยังเป็นการผลัดใบครั้งสำคัญหลังจากความสำเร็จที่ เพชร โอสถานุเคราะห์ ได้สร้างไว้สู่ยุคสมัยของ ภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีคนปัจจุบันผู้เป็นลูกชายที่หล่นใต้ต้นนั่นเอง
ความฝันของเด็กชาย ‘ภูรัตน์’ ในบ้านโอสถานุเคราะห์
“Philosophy ของคุณพ่อผมเขาปล่อยให้พวกเราเป็นตัวของตัวเอง ลองทดสอบหาสิ่งที่ตัวเองชอบ พยายามปลูกฝังให้ลูกค้นหาแพสชันให้ได้ ตอนเด็กผมชอบเรียนภาษาอังกฤษและวรรณกรรม เล่นดนตรี ชอบการละครและประวัติศาสตร์ ไม่ชอบเลขมากนัก แต่ทุกวันนี้ต้องอยู่กับตัวเลขบ่อย”
ภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ก้าวสู่ตำแหน่งอธิการบดีคนปัจจุบันของ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (ลำดับที่ 6) ต่อจาก เพชร โอสถานุเคราะห์ คุณพ่อของเขาที่จากไปในวัย 68 ปี ภาพลักษณ์ศิลปินของเพชร นอกจากเป็นแนวทางที่เขาใช้ในการก่อร่างสร้างให้มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในยุคสมัยของเขามีภาพจำให้เป็นมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ แต่ยังสร้างบรรยากาศบ้านโอสถานุเคราะห์ให้เป็นเช่นเดียวกัน
ด้วยความที่ ภูรัตน์ โตมากับเครื่องดนตรี วง The Beatles และเพลงยุค 60s 70s 80s ซึ่งเป็นเพลงที่เขายังฟังอยู่ในชีวิตประจําวัน นักดนตรีจึงกลายเป็นความฝันแรกของเขาโดยปริยาย จนเมื่อเกิดเมจิกโมเมนต์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนทำให้ชีวิตของเขาเดินมาจนถึงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจที่ได้รับโอกาสครั้งนี้พร้อมกับการแบกความคาดหวังของคนทั้งองค์กรไว้บนบ่า
“ผมได้ค้นพบว่าหนึ่งในแพสชันของผมคือการลงทุนและการได้สร้างธุรกิจ การได้เป็นนักธุรกิจ นักลงทุน นักสร้างมิวเซียม ที่มีพื้นฐานของ Art and Music Lover”
ก่อนที่ ภูรัตน์ จะได้รับความไว้วางใจให้รับตำแหน่งอธิการบดี เขาได้ออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากหลาย ๆ อุตสาหกรรม ซึ่งหลังจากนั้นได้กลายเป็นพันธมิตรที่ช่วยเติมเต็มธุรกิจด้านการศึกษาของเขาในวันนี้ที่รับหน้าที่ผู้นำองค์กรการศึกษาต่อยอดมูลค่าให้การเรียนรู้ที่สามารถเชื่อมโยงกับโลกแห่งความจริง
“การศึกษาคือต้นน้ำของการสร้างสิ่งที่ดีต่อสังคมและโลกของเรา เป็นพื้นฐานของชีวิตคนหนึ่งคนซึ่งจะเป็นต้นตอของ Value Creation ต่อไป”
ความกดดัน vs ความหลงใหล
อธิการบดีอายุน้อยที่สุดในเวลานี้ด้วยวัย 30 ปี ดูจะเป็นทั้งเรื่องที่คนทั่วไปเซอร์ไพรส์อยู่ไม่น้อย แต่อายุอาจเป็นตัวเลขเมื่อยุคสมัยที่การเรียนรู้และประสบการณ์มีตัวแปรสำคัญเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเร่งให้เร็วขึ้น จนความสำเร็จในอดีตอาจไม่ได้เป็นตัวชี้วัดอนาคตอีกต่อไป ถึงอย่างนั้น ภูรัตน์ ก็กล่าวกับเราด้วยน้ำเสียงที่เชื่อมั่นในความพร้อมของตัวเองที่รับมอบหน้าที่สำคัญของ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
“ผมรู้สึกสนุกมากกว่าครับ คุณพ่อผมก็ไม่เคยผลักดัน เขาค่อนข้างเปิดกว้าง สำหรับผมมองเห็นคุณค่าในเรื่องการศึกษาจึงเป็นแรงส่งให้เข้ามารับบทบาทนี้ มี Quote หนึ่งที่ผมนึกถึงคือ Love what you do and you’ll never work a day in your life. หมายถึง ถ้ารักในสิ่งที่เราทําก็ถือว่าไม่ได้ทำงาน ไม่มีแรงกดดัน กลายเป็นสิ่งสนุกที่ตื่นมาด้วยพลังงานและความหลงใหลให้กับทุกวันครับ”
คุณสมบัติของคนที่ศตวรรษที่ 21 ต้องการ
จุดบอดหนึ่งของระบบการศึกษาทั่วโลกคือการสอนสาขาความรู้ที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับโลกจริงในตอนนี้ ทำให้แม้ว่าจะในระดับมัธยมหรือมหาวิทยาลัยไปจนถึงคนที่อายุ 40 - 50 ปีในวันนี้ต้องกลับมารีสกิลกันอีกรอบ เพื่อประยุกต์ให้เข้ากับสิ่งที่ตลาดแรงงานต้องการ โดยหน้าที่ของอธิการบดีที่ชื่อ ภูรัตน์ กล่าวย้ำว่าการสร้างช่วงเวลาการตกหลุมรักในศาสตร์ที่เขาสนใจจนเกิดความสุขที่ได้เรียนรู้เป็นสิ่งที่เขาต้องการทำให้เกิดขึ้นในระหว่างที่รับตำแหน่งนี้
โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและถูกขับเคลื่อนด้วยธุรกิจประเภทแพลตฟอร์มทั้งหลายเหล่านี้จนได้กลายเป็นมหาอํานาจของโลก สิ่งหนึ่งที่เขาเรียนรู้คือหลักการทำธุรกิจที่ทำให้จากธุรกิจ Start up กลายเป็นยักษ์เปลี่ยนโฉมหน้าโลกทั้งใบได้ด้วยการทำมาร์เก็ตติ้งแบบ Customer Centric
“การศึกษาก็ต้องเป็น Learner Experience เพื่อสร้างให้เด็กคนหนึ่งตกหลุมรักในศิลปะหรือการมีต้นแบบนักธุรกิจคนแรกให้กับเขา ช่วงเวลาพิเศษเหล่านี้แหละที่ผมในฐานะของผู้นำของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตั้งใจสร้างขึ้นมาให้เสมือนน้ำมันจรวดที่จะเป็นเชื้อเพลิงให้ความฝันของพวกเขา เมื่อได้ค้นพบความหลงใหลแล้วต่อไป Skill set แบบใดบ้างที่เราจะพานักศึกษาของเราให้ไปถึงจุดนั้นได้”
“เร็ว ๆ นี้ ผมจะเชิญพาร์ตเนอร์ที่ได้รู้จักผ่านโลกลงทุนก็คือ Berkeley SkyDeck at University of California Berkeley โดยชวนเมนเทอร์จากซิลิคอนแวลลีย์เข้ามาร่วมกันทำโครงการ BU X Berkeley SkyDeck Fund Hackathon ร่วมกับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รวมถึงพันธมิตรจากวงการลงทุนในประเทศไทย บิ๊ก - ฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ SkillLane เข้ามาช่วยวางแผนและเป็นที่ปรึกษาเพื่อลดช่องว่างของอุตสาหกรรมและการศึกษาให้กับนักศึกษา”
โดยตอนนี้โมเดลหลักสูตรของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แบ่งออกเป็น Cluster 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. Creative Cluster 2. Business Cluster และ 3. Innovative Cluster ซึ่งแต่ละ Cluster ที่จัดกลุ่มไว้นั้นต้องการใช้ Skill set แตกต่างกัน
“ยกตัวอย่างกระบวนการเรียนรู้ เช่น ในสายครีเอทีฟพวกเขาจะได้สัมผัสงานหลากหลายแบบเริ่มสร้างให้เกิดความชื่นชอบก่อนจะเติมด้วย Hard Skills หรือ technical ต่อไป ซึ่ง framework เหล่านี้ก็จะไปประยุกต์ใช้กับ Cluster อื่น ๆ เช่นกัน แต่สมมติถ้าเกิดการ Disruption ขึ้นมา Soft Skills นี่แหละที่จะทําให้คนรุ่นใหม่ไม่ยอมแพ้ สามารถดิ้นต่อได้ หรือคำที่เรียกว่า Resilience”
ในยุคนี้ไม่ว่าใครก็ต้องอัปสกิล เพราะฉะนั้นชีวิตคือการเรียนรู้แบบไม่มีวันจบ Lifelong Learning จึงสำคัญเสมอ รวมถึงผู้นำองค์กรเช่น ภูรัตน์ ก็เช่นกัน เขายังเชื่อว่าการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อมาพัฒนาฐานรากเดิมที่คุณพ่อของเขาได้ปูทางไว้ให้นั้นจะช่วยสานต่อธุรกิจนี้ต่อไป
ยึดมั่น DNA ที่แข็งแกร่งสู่ก้าวต่อไปกับบทบาทผู้นำ
“DNA มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือ creativity และ enterpernership ที่มีเทคโนโลยีเป็นรากฐานสำคัญในการปลูกฝังแนวคิดและ skill set สําหรับโลกใหม่ยุคของ Disruption ที่กําลังจะมาถึงเมื่อฐานแข็งแรงแล้วก็ต้องสานต่อ”
แม้ชื่อของ ภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เพิ่งได้รับการพูดถึงหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งหัวหอกของมหาวิทยาลัย แต่เขาก้าวเข้ามาในวงการการศึกษาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่ดูแลในด้านการคลังและกลยุทธ์ที่เขาถนัดจากการทำธุรกิจอื่น ๆ มาก่อนหน้านี้จนเชี่ยวชาญ
“ผมเอาคนด้านเทคโนโลยีและไฟแนนซ์จากทีมลงทุนผมเข้ามาจัดการเพื่อปรับปรุงระบบบัญชี แปลงโฉมให้ modern consolidated นําระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) เข้ามาสร้างฐานเดต้าให้เป็น Management Report System เต็มรูปแบบ หลังจากนั้นก็ลงทุนอะไรใหม่ ๆ เพิ่มเติมในมหาวิทยาลัย ทั้งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่กําลังจะเกิดขึ้น รวมถึงเรื่องของ Sustainability และ Smart Classroom ซึ่งเราสามารถติดตามประเมินผลได้ ช่วยทำให้เกิด Learner Experience โดยภายในปีนี้ทั้งมหาวิทยาลัยของเราจะใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 70% ครับ”
คู่แข่งของสถาบันการศึกษาในโลกอนาคต
ถึงแม้จะมีตัวเลขอัตราการเกิดต่ำของเด็กทั่วโลกซึ่งกระทบทั้งในระดับปัจเจกบุคคล รวมถึงภาคธุรกิจอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นหนีไม่พ้นสถาบันการศึกษาที่มีปัจจัยเรื่องจำนวนเด็กนักศึกษาให้ขบคิดหาทางรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น นั่นก็เป็นหนึ่งหัวข้อหลักที่ผู้นำองค์กรการศึกษาอย่างอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเข้ามาดูแลด้วยเช่นกัน ประเทศของเรามีความพิเศษอย่างหนึ่งก็คือการเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อไม่ใช่แค่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว อาหารและวัฒนธรรมของคนไทย เหล่านี้เป็นสิ่งที่พิเศษที่ทำให้คนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยอย่างสะดวกสบายและมีความสุข
“ผมเชื่อว่า International Education ของเมืองไทยเป็นอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งมาก เพราะฉะนั้นผมตั้งใจลงทุนกับตรงนี้ เพราะไม่ได้เป็นแค่เรื่อง Risk Management ขององค์กรเราเอง แต่จะเพิ่มทัศนคติแบบสากล (Global Mindset) ทำให้เด็กไทยได้เจอเด็กเวียดนาม, ออสเตรเลีย, จีน หรือฟิลิปปินส์ ซึ่งพวกเขาก็จะมองภาพอย่างเป็นสากลขึ้น ถ้าไม่มีทักษะในการใช้ชุดความคิดแบบนี้ เราคงผลิตการบริการและสินค้า รวมถึงการทําธุรกิจหรือทําคอนเทนต์ออกไปที่ไปสู่สากลไม่ได้เช่นกัน”
อีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจที่สำคัญที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เราได้ยินกิตติศัพท์บ่อยขึ้นทุกทีก็คือปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ที่จะหนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น สิ่งที่สถาบันการศึกษาทำได้คือการวิ่งไปพร้อมกับเทคโนโลยีนี้ให้ทัน ด้วยการนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนนั่นเอง
“ทุกวันนี้เรามีการดึง AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน เพราะถ้าไม่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ เด็กรุ่นใหม่นี่แหละที่เสี่ยงเป็นเครื่องมือของ AI เราจำเป็นต้องสร้างชุดทักษะให้นักศึกษาใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้เกิดการสร้างมูลค่ากับชีวิตการทำงานของพวกเขา”
หว่านพืชต้องรอดอกผล
โดยปกติแล้วบริษัททั่วไปจะมีการประเมินที่เรียกว่า KPI (Key Performance Indicator) เพื่อวัดประสิทธิภาพในการทำงานและผลสำเร็จในงานที่ตั้งเป้าหมายไว้ การเป็นอธิการบดีก็ไม่ต่างกัน เพราะถึงแม้จะอยู่ในตำแหน่งผู้นำสูงสุดขององค์กร แต่ก็ย่อมแสดงศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ใต้บังคับบัญชารวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจนี้ ซึ่งภูรัตน์ก็ชี้ให้เราเห็นว่าเขาเองก็ต้องพิสูจน์ตัวเองกับหน้าที่ที่ได้รับเช่นกัน
“วงจรชีวิตธุรกิจของมหาวิทยาลัยถือว่าช้ากว่าวงการอื่น ๆ ยกตัวอย่างสินค้าอุปโภคบริโภคหรือ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) เพราะฉะนั้นถ้าผมเปลี่ยนหลักสูตรใหม่นี้ก็เหมือนการปลูกเมล็ด กว่าจะออกดอกก็ใช้เวลาอีก 4 ปี เมื่อบัณฑิตจบออกไปก็ต้องมีช่วงเวลา Trial Period ในบริษัทนั้นอีก ช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านมันไม่ง่าย ต้องใช้เวลา วงการการศึกษามันเป็นสิ่งที่ต้องวางแผนระยะยาว ซึ่งก็ต้องใช้ระยะเวลาวัดผล KPI แบบระยะยาวเช่นกัน ในสิ่งที่ผมพูดวันนี้ตัวชี้วัดอาจจะเป็นจํานวนนักศึกษานานาชาติที่เข้ามาเรียน รวมถึงความสำเร็จของบัณฑิตที่สามารถสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้โดยนำ AI เข้าไปใช้ในวงการเกิดธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นครับ”
ซึ่งความสำเร็จของ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ผ่านมานอกจากคนทำงานสายครีเอทีฟที่จบจากคณะนิเทศศาสตร์ที่เป็นภาพจำของคนส่วนมากนั้น ยังมีบัณฑิตที่ขึ้นสู่ตำแหน่ง CEO ในธุรกิจชั้นแนวหน้าของประเทศ อาทิ จูน - จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการ ประธานคณะกรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ, เจี๊ยบ - สมฤดี ชัยมงคล อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และต๊อบ - อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ก็เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนธุรกิจให้กับประเทศเช่นกัน
ยุคสมัยของอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์
การสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องยากแล้ว แต่การที่จะรักษาสิ่งที่ได้รับมานี้ไว้ต่อไปก็เป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถ โดยเฉพาะในยุคที่มีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้เข้ามาให้แก้ไขตลอดเวลาเช่นนี้ บทบาทของอธิการบดีที่ชื่อ ภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ซึ่งรับไม้ต่อจากคุณพ่อจึงเป็นจุดที่คนให้ความสนใจและรอชมทิศทางการรันอีกหนึ่งธุรกิจของครอบครัวในครั้งนี้จำนวนไม่น้อย
“ผมอยากให้บัณฑิตย้อนกลับมาคิดถึงในช่วงที่เขาได้เข้ามาเรียน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พวกเขาได้ค้นพบตัวเอง ได้สร้างสิ่งที่ตัวเองหลงใหล โดยได้รับโอกาสทางธุรกิจ สำหรับคนที่มีแรงผลักดันก็จะยิ่งได้รับแรงจูงใจ มีการฝึกงานกับองค์กรระดับโลก ได้มีระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ช่วยให้เปิดหูเปิดตากับพวกเขา ผมหวังว่าเขาจะจดจําผมว่าเป็นผู้ที่ช่วยให้ทําตรงนี้ให้เกิดขึ้นแล้วกันครับ”