AI เข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำในไทย แต่ข้อจำกัดเดียวที่มี คือ ‘จินตนาการ’ ตัวเราเอง

AI เข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำในไทย แต่ข้อจำกัดเดียวที่มี คือ ‘จินตนาการ’ ตัวเราเอง

ในยุคของ AI ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสได้เท่ากัน เพราะประชากรโลกกว่า 8 พันล้านคนเข้าถึงพร้อมกัน Microsoft เชื่อว่า AI ช่วยลดความเหลื่อมล้ำปัญหาที่เกิดในประเทศไทยมานาน และ AI มีหลายฟังก์ชั่นที่ช่วยมนุษย์ได้ขึ้นอยู่กับคนใช้จินตนาการได้ไกลแค่ไหน

KEY

POINTS

  • Microsoft Thailand เชื่อว่า เทคโนโลยี AI สามารถช่วยให้มนุษย์เข้าถึงโอกาสได้เท่ากัน
  • AI สร้างประโยชน์กว่าที่คิด และช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยได้

หลายครั้งที่คนเราพูดว่า AI หรือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ แต่คำว่า ‘ปัญญาประดิษฐ์’ เริ่มมีการใช้ตั้งแต่ปี 1956 เพียงแต่มนุษย์เริ่มจะมารู้สึกตื่นเต้นขึ้น ตื่นตัวขึ้น เพราะรับรู้ว่า AI สามารถพูดภาษาคนจริง ๆ ได้แล้ว ดูเป็นธรรมชาติแล้ว และที่สำคัญคือ ปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล กับอัลกอริธึมที่มีความก้าวหน้ามาก

‘ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ Microsoft Thailand ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “AI Impact for All Thais : ก้าวสู่ยุค AI เพื่อคนไทยทุกคน” ในงาน AI REVOLUTION 2024 : TRANSFORMING THAILAND ECONOMY ที่จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567

ธนวัฒน์ ขยายความตื่นเต้นเกี่ยวกับ AI ให้เราเข้าใจมากขึ้นอีกว่า ทำไมสำคัญนักในยุคที่มีข้อมูลเป็นจักรวาลมากมายขนาดนี้

“ลองเปรียบเทียบกันง่าย ๆ เอา iPhone 15 มาเรียงต่อกันให้สูงขึ้น ประมาณ 1.2 ล้านกิโลเมตร นั่นแหละคือปริมาณข้อมูลที่ AI สามารถอ่านโดยใช้เวลาเพียงเศษเสี้ยวนาทีเท่านั้นในปัจจุบัน มันมากขนาดนั้นเลย”

เขาได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการเทคในรอบกว่า 30 ปี ถือว่าเปลี่ยนแปลงมาก เพราะปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างอยู่ในคลาวด์ อยู่ในโลกดิจิทัล ซึ่งหมายความว่า “ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงเท่ากันหมด”

“โอกาสไม่ใช่แค่ในไทย เพราะทุกคนทั้งโลกเริ่มพร้อมกัน ประชากรกว่า 8 พันล้านคนมีโอกาสเท่ากัน”

“ที่ผ่านมาสังคมไทยจะมีเรื่องหนึ่งที่คุยกันมาตลอดก็คือ ความเหลื่อมล้ำ ผมเชื่อว่า เทคโนโลยี AI จะมาลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้ ผมเชื่อแบบนั้นจริง ๆ”

 

ข้อจำกัดเดียวของ AI

ทุกคนจะเริ่มรับรู้ว่า AI ทำอะไรได้บ้าง AI สามารถแต่งกลอนได้ แต่งเพลงได้ generate บทความได้ ซึ่ง 3 อย่างที่ AI จะช่วย และใช้มาอธิบายได้ง่ายที่สุด ก็คือ Less complexity (ช่วยให้ซับซ้อนน้อยลง), Less time (ใช้เวลาน้อยลง) และ Less cost (ต้นทุนถูกลง)

แต่ถ้าบอกว่า AI ไม่มีข้อจำกัดเลย ก็ดูจะโกหกไปหน่อย เพราะข้อจำกัดเดียวที่ ธนวัฒน์ พูดถึงก็คือ ‘imagination’ หรือ จินตนาการ เพราะการที่เราจะถาม จะให้ AI เข้ามาช่วย หรือ ทำให้กิจกรรมของมนุษย์ง่ายขึ้น เราต้องใช้จินตนาการมากกว่าที่คิด ต้องถามให้ถูกจุด ต้องตีกรอบคำตอบให้ชัด และต้องพิจารณาให้เป็นว่า คำตอบเหล่านั้นที่ AI เสนอแนะมีแหล่งที่มาจากไหน เชื่อถือได้หรือไม่

“How to ใช้ AI ให้เป็น ให้ถูกต้อง คือ เราต้องเป็นมนุษย์ ‘เอ๊ะ’ ด้วย ไม่ใช่เชื่อไปซะหมด”

เขาได้ยกตัวอย่างบนเวทีถึงวิธีการใช้ AI ที่ทำให้เราประหยัดเวลา แม้แต่พนักงาน back office อย่างตำแหน่ง HR ก็ใช้ AI ช่วยได้เช่นกัน

คือ HR สามารถใช้ AI ช่วยเขียน Job Description (JD) ให้น่าสนใจ น่าตื่นเต้นได้ ที่สำคัญ ช่วยให้ตำแหน่งที่เรากำลังจะเปิดรับสมัครตรงกับ target ขององค์กรด้วย ประโยชน์ของการใช้ AI สำหรับเรื่องนี้คือ HR ไม่จำเป็นต้องสัมภาษณ์ผู้สมัครเป็นร้อย ๆ เพราะ AI สามารถ match CV ของคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งมาแล้วเบื้องต้น

ยังมีอีกหลายฟังก์ชั่นจาก AI ที่เราไม่ได้พูดถึง แต่เท่าที่ฟัง ธนวัฒน์ ยกตัวอย่างมาก เชื่อว่า AI จะสร้างประโยชน์ให้กับทุกคนได้เท่ากัน อยู่ที่ว่าใครจะสามารถจินตนาการการช่วยเหลือจาก AI ได้ตรงเป้าหมายกว่ากัน อย่างไรก็ตาม AI กับ จริยธรรม ยังเป็นเรื่องที่สังคมยังคงถกเถียงกัน เพราะการใช้ AI ที่ดีควรต้องมีหลักการที่คอยควบคุมการใช้งานบ้าง ไม่อย่างงั้นอาจให้ผลเสียมากกว่าผลดีต่อมนุษย์

ก่อนลงเวที ธนวัฒน์ ได้ปิดการบรรยายพิเศษครั้งนี้ด้วยโควทน่าสนใจว่า “Today’s magic is tomorrow’s commodity.” (ทุกวันนี้ที่เราเห็นว่าสำเร็จ ไม่ได้หมายความว่า พรุ่งนี้มันจะสำเร็จอีกก็ได้) แต่อย่างน้อยในทุก ๆ การเติบโต เราต้องใช้ประโยชน์จากเครื่องมือที่มีอยู่ให้เป็น เพราะโอกาสที่คนอื่นกำลังคว้า ถ้าเราไม่คว้า สักวันหนึ่งเราอาจจะไม่ทันและจมหายไป

 

*หมายเหตุ : ข้อมูลจากงาน AI Impact for All Thais : ก้าวสู่ยุค AI เพื่อคนไทยทุกคน” ในงาน AI REVOLUTION 2024 : TRANSFORMING THAILAND ECONOMY ที่จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567