มาร์ก มาเตชิตซ์ ทายาท RedBull ผู้ชอบทำตัวโลว์ โปรไฟล์ มหาเศรษฐี ‘อายุน้อย’ ที่รวยที่สุดในโลก

มาร์ก มาเตชิตซ์ ทายาท RedBull ผู้ชอบทำตัวโลว์ โปรไฟล์ มหาเศรษฐี ‘อายุน้อย’ ที่รวยที่สุดในโลก

‘มาร์ก มาเตชิตซ์’ (Mark Mateschitz) ทายาทเพียงคนเดียวของ ‘ดีดี้’ หรือ ‘ดีทริช มาเตชิตซ์’ (Dietrich Mateschitz) ชาวออสเตรีย ผู้พาแบรนด์ ‘กระทิงแดง’ ของไทย หรือ ‘เรดบูล’ (RedBull) ในชื่อสากลให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก สามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีอายุน้อยที่รวยที่สุดในโลกคนปัจจุบัน

  • มาร์ก มาเตชิตซ์ เป็นทายาทเพียงคนเดียวของดีทริช มาเตชิตซ์ ผู้พา RedBull หรือกระทิงแดงให้โด่งดังไปทั่วโลก
  • ปี 2024 Forbes จัดอันดับให้เขาเป็น Billionaire) ที่รวยที่สุดในโลกในกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 33 ปี ด้วยทรัพย์สินสุทธิ 39,600 ล้านเหรียญสหรัฐ 

นิตยสารฟอร์บส (Forbes) รายงานว่า ในปี 2023 เรดบูล มีรายได้ 11,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และขายเครื่องดื่มชูกำลังไปรวมกัน 12,100 ล้านกระป๋อง หรือเทียบง่าย ๆ กับประชากรโลกทั้งหมดประมาณ 8,000 ล้านคน ทุกคนต้องดื่ม ‘เรดบูล’ ตกคนละ 1.5 กระป๋องในปีที่ผ่านมา

นั่นจึงทำให้ มาร์ก ในวัย 31 ปี ถูก ‘ฟอร์บส’ จัดอันดับให้เป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ‘บิลเลียนแนร์’ (Billionaire) ที่รวยที่สุดในโลกในกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 33 ปี ประจำปี 2024

โดยเขามีทรัพย์สินสุทธิ 39,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.45 ล้านล้านบาท) มากกว่า 3 เท่าของมหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งของไทยอย่าง ‘เจ้าสัว CP’ ธนินท์ เจียรวนนท์ และเป็นเหตุผลให้ทายาท RedBull กลายเป็นที่จับตาของคนทั่วโลกในฐานะเศรษฐีหนุ่มโสดเนื้อหอมคนปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่แค่รวย แต่ยังมีความสามารถอีกด้วย

มาร์ก มาเตชิตซ์ เกิดเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1992 เป็นลูกของดีดี้ กับ ‘อนิตา เกอร์ฮาร์ดเตอร์' (Anita Gerhardter) ครูสอนสกีชาวออสเตรีย

หลังออกมาลืมตาดูโลกไม่นาน พ่อกับแม่ก็แยกทางกัน ทำให้ชีวิตส่วนใหญ่ในวัยเด็กเติบโตมากับแม่เพียงลำพัง และต้องใช้นามสกุล ‘เกอร์ฮาร์ดเตอร์’ ของแม่ กว่าจะเปลี่ยนมาใช้นามสกุล ‘มาเตชิตซ์’ ของพ่อ ก็ต้องรอจนเติบใหญ่และได้รับการคาดหมายว่าจะมาเป็นทายาททางธุรกิจในอนาคต

เหตุผลที่ดีดี้ มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดในออสเตรีย เลือกมาร์กเป็นทายาทสืบทอดกิจการ เพราะเขาเป็นผู้สืบสายเลือดเพียงคนเดียว โดยตลอดชีวิตของดีดี้ แม้จะคบหาผู้หญิงหลายคน แต่เขาไม่เคยจดทะเบียนสมรสกับใคร และมีมาร์กเป็นลูกชายเพียงคนเดียว

มาร์กเริ่มเข้าทำงานกับเรดบูล เพื่อเรียนรู้ธุรกิจของบิดาตั้งแต่อายุ 18 ปี เขาเรียนจบสาขาบริหารธุรกิจจาก ‘มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์’ (University of Applied Sciences) ในเมืองซัลซ์บวร์ก ประเทศออสเตรีย ใกล้กับที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของเรดบูล ก่อนขึ้นเป็นหัวหน้าแผนกเครื่องดื่มออร์แกนิกอยู่นานหลายปีจนกระทั่งดีดี้เสียชีวิต

“ผมไม่เชื่อว่าเราควรเป็นทั้งพนักงานและผู้ถือหุ้นของบริษัทในเวลาเดียวกัน ผมจะเน้นไปที่บทบาทผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว”

มาร์กประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารเรดบูล เพื่อมาดูภาพรวมกิจการ หลังพ่อของเขาเสียชีวิตในปี 2022 และทิ้งหุ้น 49% ของบริษัทไว้เป็นมรดก

ส่งไม้ต่อรุ่นพ่อสู่ลูก

หลังดีดี้เสียชีวิต เรดบูลเข้าสู่ช่วงผลัดใบจากรุ่นพ่อผู้บุกเบิกสู่ทายาทรุ่นลูกรุ่นแรกแบบเต็มตัว เนื่องจาก ‘เฉลียว อยู่วิทยา’ ผู้ให้กำเนิดแบรนด์กระทิงแดง ก่อนพัฒนาเป็นเรดบูลก็เสียชีวิตไปแล้วก่อนหน้าดีดี้ 10 ปี และทิ้งหุ้น 51% ไว้ให้ ‘เฉลิม’ ลูกชายคนโตของตระกูล ‘อยู่วิทยา’ ช่วยดูแลเช่นกัน

นับถึงปี 2024 RedBull GmbH ยังคงเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเพียง 2 ตระกูล คือ อยู่วิทยา และมาเตชิตซ์ เหมือนตั้งแต่ยุคเริ่มต้นก่อตั้ง (GmbH ย่อมาจากคำว่า ‘บริษัทจำกัด’ ในภาษาเยอรมัน)

หากย้อนประวัติความร่วมมือกันของทั้งสองครอบครัว จุดเริ่มต้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1982 เมื่อดีดี้ ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดของ ‘เบลนแด็กซ์’ (Blendax) แบรนด์ยาสีฟัน - แชมพูสัญชาติเยอรมัน เดินทางมาตระเวนพบลูกค้าในเอเชีย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเฉลียว เจ้าของเครื่องดื่ม กระทิงแดง ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้เบลนแด็กซ์ (ก่อนถูก P&G เทกโอเวอร์) ในประเทศไทย

ระหว่างการเดินทาง ดีดี้พบว่ากระทิงแดงซึ่งมีส่วนผสมของคาเฟอีนและเป็นที่นิยมในหมู่คนขับรถบรรทุกและผู้ใช้แรงงานในเอเชีย สามารถช่วยแก้อาการ ‘เจ็ตแล็ก’ จากการเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลาโลกได้ เมื่อพบกับเฉลียว เขาจึงเสนอให้บุกตลาดยุโรปและอเมริกา ก่อนลาออกจากเบลนแด็กซ์ในปี 1984 เพื่อมาปั้นธุรกิจนี้ด้วยตัวเอง

ภายใต้แผนธุรกิจดังกล่าว ดีดี้กับเฉลียวตกลงออกเงินทุนคนละ 500,000 เหรียญสหรัฐ ก่อตั้งบริษัท RedBull GmbH โดยดีดี้ถือหุ้น 49% ส่วนที่เหลืออีก 51% ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของตระกูล ‘อยู่วิทยา’

ดีดี้ใช้เวลา 3 ปีแรกหลังก่อตั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ชาวตะวันตก ด้วยการปรับสูตรกระทิงแดงให้หวานน้อยลง และเพิ่มความซ่าด้วยการอัดแก๊สเข้าไป ขณะเดียวกันก็เปลี่ยนชื่อเป็นภาษาอังกฤษแบบตรงตัวว่า RedBull

นอกจากนี้เขายังเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากขวดแก้วเป็นกระป๋องขนาดพอเหมาะมือ พร้อมออกแบบลวยลายให้โดดเด่นและทันสมัย โดยใช้สีน้ำเงินตัดกับสีเงินเป็นสัญลักษณ์ แต่ยังคงโลโก้กระทิงแดง 2 ตัว พุ่งทะยานเข้าหากันเบื้องหน้าวงกลมสีเหลืองคล้ายดวงอาทิตย์อันทรงพลังไว้ตามเดิม

กระทิงแดงโฉมใหม่ภายใต้ชื่อ ‘เรดบูล’ เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1987 โดยเริ่มทำตลาดที่ออสเตรีย บ้านเกิดของดีดี้เป็นที่แรก เน้นเจาะกลุ่มวัยรุ่นและนักศึกษาผู้รักความท้าทาย ก่อนกลายเป็นเครื่องดื่มชูกำลังที่ขายดีที่สุดในโลกในเวลาต่อมา

เครื่องดื่มคนรุ่นใหม่หัวใจเอ็กซ์ตรีม

“ตอนเริ่มธุรกิจใหม่ ๆ พวกเราพูดว่าตลาดไม่มีพื้นที่เหลือให้เรดบูลแล้ว แต่เราจะสร้างมันขึ้นมาเอง และนี่คือผลลัพธ์ที่กลายเป็นจริง” ดีดี้บอกกับฟอร์บส เมื่อปี 2005

เขาเริ่มสร้างตลาดด้วยการเป็นสปอนเซอร์การแข่งขันเครื่องร่อนประดิษฐ์ ซึ่งมีชื่อภาษาเยอรมันว่า Flugtag พร้อมตั้งสโลแกน ‘RedBull gives you wings’ (เรดบูลติดปีกให้คุณ) ก่อนกระจายไปสู่กีฬาอื่น ๆ โดยเน้นแนวผาดโผนเร้าใจแบบเอ็กซ์ตรีม ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่

“ที่สุดแล้ว มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับรู้และพึงพอใจในแบรนด์สินค้า รวมถึงบริษัทในเครือเสมอ” ดีดี้กล่าวถึงปรัชญาการทำธุรกิจของเขา ซึ่งเน้นหนักไปที่การลงทุนด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์

นิวยอร์กไทมส์เขียนถึงกลยุทธ์การตลาดของดีดี้เมื่อปี 2006 ว่า สำหรับเรดบูล “กีฬาคือการตลาด และการตลาดคือกีฬา บริษัทแห่งนี้จะไม่ยอมหยุดจนกว่าทั้งสองสิ่งจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน”

นอกจากโลโก้เรดบูลจะได้รับการจดจำในฐานะแบรนด์ของแฟนกีฬาเอ็กซ์ตรีม ไม่ว่าจะเป็นกระโดดผา กระดานโต้คลื่น ไปจนถึงเครื่องบินผาดโผน กีฬากระแสหลักอย่างฟุตบอลและรถแข่งก็ได้รับการสนับสนุนจากเครื่องดื่มยี่ห้อนี้เช่นกัน โดยเรดบูลเข้าไปเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลชื่อดังในหลายประเทศ รวมถึงทีม ‘เรดบูล เรซซิ่ง’ ในศึกฟอร์มูล่าวัน

อีกอีเวนต์ที่สะท้อนภาพลักษณ์เรดบูลเป็นอย่างดี คือ การสนับสนุน ‘ฟีลิกซ์ บอมการ์ตเนอร์’ (Felix Baumgartner) นักดิ่งพสุธาชาวออสเตรียทำสิ่งที่น่าเหลือเชื่อ นั่นคือการขึ้นบอลลูนออกไปนอกโลกยังชั้น ‘สตราโตสเฟียร์’ และกระโดดลงมาจากความสูง 39 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก เมื่อปี 2012

งานนั้นนอกจากฟีลิกซ์จะสร้างสถิติโลกใหม่ในการดิ่งพสุธาและเป็นมนุษย์คนแรกที่สามารถทำความเร็วเหนือเสียงได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ขับเคลื่อน มันยังตอกย้ำภาพลักษณ์ของเรดบูลในฐานะผู้สนับสนุนให้มนุษย์ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง และเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาผู้ชมหลายล้านคนทั่วโลกที่ติดตามนาทีประวัติศาสตร์ครั้งนั้น

ปรับโครงสร้างเพิ่มความมั่งคั่งต่อเนื่อง

“ตามข้อเสนอและความต้องการของพ่อและผม รวมถึงการสนับสนุนจากหุ้นส่วนชาวไทย บอร์ดบริหารของเราจะรับหน้าที่ดำเนินการธุรกิจต่าง ๆ ของเรดบูล” มาร์กประกาศในแถลงการณ์ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่หลังจากพ่อของเขาเสียชีวิต

ภายใต้โครงสร้างใหม่หลังผลัดใบสู่รุ่นลูก มาร์กปล่อยให้หน้าที่บริหารจัดการบริษัทตกเป็นของเหล่าผู้บริหารมืออาชีพ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น โดยเขาจะไม่เข้าไปนั่งเก้าอี้ซีอีโอบริหารเองเหมือนรุ่นพ่อ

การทำเช่นนี้ช่วยให้มาร์กสามารถปลีกตัวออกมาดูภาพรวมของบริษัท และมีเวลาไปพัฒนาธุรกิจอื่น ๆ โดยนอกเหนือจากหุ้น 49% ในเรดบูล ซึ่งจ่ายเงินปันผลให้เขาในปี 2023 รวม 615 ล้านเหรียญสหรัฐ

มาร์กยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเครื่องดื่มยี่ห้อ ‘ธัลไฮเมอร์ ไฮล์วอสเซอร์’ (Thalheimer Heilwasser) ซึ่งผลิตจากแหล่งน้ำแร่ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในออสเตรีย และเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ราคาแพงมากมายที่พ่อทิ้งไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็นเกาะส่วนตัวในฟิจิ ปราสาทโบราณหลายแห่งในประเทศบ้านเกิด ไปจนถึงอสังหาฯ ใน ‘ไนต์สบริดจ์’ (Knightsbridge) ย่านชอปปิงหรูหรากลางกรุงลอนดอน ของอังกฤษ

ดูเหมือนการปรับโครงสร้างเรดบูลภายใต้เจ้าของรุ่นสองจะไปได้สวย โดยฟอร์บสรายงานว่า นอกจากมาร์กจะคว้าแชมป์บิลเลียนแนร์อายุน้อยที่รวยที่สุดในโลกแล้ว มูลค่าทรัพย์สินของเขาในปี 2024 ยังเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าเศรษฐีทุกคนในกลุ่มเดียวกัน

นั่นเท่ากับว่า มาร์กไม่ใช่แค่ลูกเศรษฐีธรรมดา แต่เขายังสามารถบริหารความมั่งคั่งให้งอกเงยต่อยอดจากรุ่นพ่อ และเป็นเหตุผลที่หลายคนยกให้เป็นหนุ่มโสดที่ร้อนแรงที่สุดคนหนึ่งของยุโรป

อย่างไรก็ตาม ทายาทเรดบูลผู้นี้มีนิสัยเหมือนพ่อตรงที่หวงความเป็นส่วนตัว ทำให้ไม่ค่อยมีใครรับรู้ข้อมูลส่วนตัวของเขามากนัก แต่มีข่าวซุบซิบว่า มาร์กกำลังคบหาดูใจกับ ‘วิกตอเรีย สวารอฟสกี้’ (Victoria Swarovski) ทายาทบริษัท ‘สวารอฟสกี้’ ผู้ผลิตเครื่องประดับคริสตัลชื่อดังสัญชาติเดียวกัน ซึ่งเพิ่งหย่าร้างแยกทางกับสามีนักธุรกิจในวงการอสังหาฯ

ไม่ว่าข่าวนี้จะจริงเท็จประการใด ที่แน่ ๆ ‘มาร์ก มาเตชิตซ์’ คือมหาเศรษฐีอายุน้อยคนใหม่ซึ่งทั่วโลกจับตา และเขายังเป็นทายาท ‘กระทิงแดง’ รุ่นใหม่ ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังจากประเทศไทย เติบโตต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง

.

ภาพ : Gatty Images

.

อ้างอิง

.

The World’s Youngest Billionaires 2024

Dietrich Mateschitz, Creator of the Red Bull Empire, Dies at 78

Trio to lead energy-drinks giant Red Bull after co-founder's death

Red Bull Heir Gets $615 Million Payout After Inheriting Firm

Meet Mark Mateschitz, the richest millennial in Europe

Red Bull heir Mark Mateschitz, 30, who inherited his father Didi's energy drink empire last year is the officially the 37th richest person in the world