ซามูเอล ออสกู๊ด ประธานคนแรก ‘ซิตี้แบงก์’ ธนาคารเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ที่โบกมือลาประเทศไทย

ซามูเอล ออสกู๊ด ประธานคนแรก ‘ซิตี้แบงก์’ ธนาคารเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ที่โบกมือลาประเทศไทย

‘ซามูเอล ออสกู๊ด’ วีรบุรุษปลดแอกอเมริกา และประธานคนแรกของ ‘ซิตี้แบงก์’ ธนาคารเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ที่กำลังโบกมือลาประเทศไทย

หากพูดถึง ‘ซิตี้แบงก์’ (Citibank) หลายคนอาจนึกถึงธนาคารต่างชาติแบรนด์สีน้ำเงิน ซึ่งไม่ค่อยมีสาขาในบ้านเรามากนัก แต่มีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมานานเกือบ 60 ปี นับตั้งแต่สมัยรัฐบาล 'จอมพลถนอม กิตติขจร'

ซิตี้แบงก์เริ่มเข้ามาในไทยตั้งแต่ปี ค.ศ.1967 ภายใต้ชื่อ ‘เดอะ คอมเมอร์เชียล เครดิต คอร์ปอเรชั่น’ (The Commercial Credit Corparation) ก่อนพัฒนาเป็นธนาคารต่างชาติซึ่งมีผลิตภัณฑ์การเงินหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

หนึ่งในธุรกิจชูโรง คือ บัตรเดบิตและบัตรเครดิต โดยซิตี้แบงก์เคยเป็นเจ้าของ ‘ไดเนอร์ส คลับ’ (Diners Club) บัตรเครดิตเจ้าแรกของไทย เคยถือหุ้น ‘ธนาคารหวั่งหลี’ ธนาคารเก่าแก่ที่สุดอันดับสองของไทย และซื้อกิจการ ‘เมอร์แคนไทล์แบงก์’ (Mercantile Bank) ธนาคารเก่าแก่ของอังกฤษมาดูแล ก่อนจะขายธุรกิจเกี่ยวกับลูกค้ารายย่อยทั้งหมดของตัวเองให้กับ 'ธนาคารยูโอบี' (UOB) ในที่สุด

ซิตี้แบงก์ประกาศให้วันนี้ (19 เมษายน 2024) เป็นวันดีเดย์ปิดตำนานแบงก์ต่างชาติที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ด้วยการปิดเพจเฟซบุ๊ก Citi Thailand ซึ่งมีผู้ติดตามกว่าล้านคน รวมถึงช่องทางออนไลน์ทุกช่องทางก่อนเสร็จสิ้นการโอนย้ายบัญชีลูกค้ารายย่อยทั้งหมดให้ยูโอบีในวันที่ 21 เมษายนนี้

อย่างไรก็ดี การปิดเพจ - ขายกิจการครั้งนี้ยังไม่ใช่การยอมแพ้ แต่เป็นแค่การปรับตัวตามยุคสมัย เหมือนที่ซิตี้แบงก์สำนักงานใหญ่เคยทำมาตลอดระยะเวลากว่า 200 ปีนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการและมีประธานคนแรกที่ชื่อ ‘ซามูเอล ออสกู๊ด’ (Samuel Osgood)

ธนาคารเก่าแก่ไม่แพ้กรุงรัตนโกสินทร์

หากกรุงรัตนโกสินทร์ของไทย ซึ่งสถาปนาในปี ค.ศ. 1782 มีอายุไล่เลี่ยกับประเทศสหรัฐอเมริกาที่ประกาศเอกราชในปี 1776 ‘ซิตี้แบงก์’ ก็เรียกว่ามีอายุพอ ๆ กับกรุงรัตนโกสินทร์เช่นกัน เนื่องจากก่อตั้งในปี 1812 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 หรือหลังกำเนิดกรุงรัตนโกสินทร์เพียง 30 ปี

ซิตี้แบงก์เกิดขึ้นภายใต้ภาวะสุญญากาศทางการเงินการธนาคาร หลังกลุ่ม ‘บิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา’ (Founding Fathers) มีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับอำนาจของ ‘ธนาคารกลาง’ หรือ ‘แบงก์ชาติ’ ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า ‘แบงก์ ออฟ เดอะ ยูไนเต็ด สเตทส์’ (Bank of the United States)

คู่ขัดแย้งในประเด็นนี้นำโดย ‘อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน’ (Alexander Hamilton) รัฐมนตรีคลังคนแรกของอเมริกาซึ่งมีใบหน้าอยู่บนธนบัตร 10 ดอลลาร์ของสหรัฐฯ กับ ‘โธมัส เจฟเฟอร์สัน’ (Thomas Jefferson) ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของอเมริกา ผู้มีใบหน้าอยู่บนธนบัตร 2 ดอลลาร์

‘แฮมิลตัน’ คือฝ่ายสนับสนุนให้มีแบงก์ชาติ เพื่อระดมทุนมาชดใช้หนี้สาธารณะจากการทำสงครามประกาศเอกราชรวมถึงออกสกุลเงินตราของตัวเอง และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการซื้อขายแลกเปลี่ยนทำการค้าในชีวิตประจำวัน

ส่วน ‘เจฟเฟอร์สัน’ คัดค้านด้วยเหตุผลที่ว่า กฎบัตรของแบงก์ชาติขัดต่อรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายรวมศูนย์อำนาจ และมีอำนาจกำกับดูแลธนาคารเอกชนมากจนเกินไป นอกจากนี้ยังละเมิดสิทธิของรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละมลรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ออกใบอนุญาตธนาคารภายในรัฐของตัวเองอยู่แล้ว

ความขัดแย้งส่งผลให้การต่อใบอนุญาต ‘แบงก์ ออฟ เดอะ ยูไนเต็ด สเตทส์’ ซึ่งหมดอายุลงในปี 1811 ต้องหยุดชะงัก ขณะที่กลุ่มพ่อค้าในนิวยอร์ก นำโดยแฮมิลตัน พยายามอุดช่องโหว่ด้วยการขอใบอนุญาตรัฐบาลท้องถิ่นในมลรัฐนิวยอร์ก จัดตั้งธนาคารใหม่ขึ้นมาขัดตาทัพโดยใช้ชื่อว่า ‘ซิตี้ แบงก์ ออฟ นิวยอร์ก’ (City Bank of New York) พร้อมแต่งตั้งซามูเอล ออสกู๊ด นักการเมืองคนสนิท ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังจากการร่วมรบในสงครามปลดแอกอเมริกา นั่งเก้าอี้ประธานธนาคารเป็นคนแรก

รัฐบุรุษอาวุโส - ฮีโร่สงครามประกาศอิสรภาพ

ซามูเอล ออสกู๊ด เกิดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1747 ในเมืองแอนโดเวอร์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ตั้งแต่สมัยที่อเมริกายังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

เขาเรียนจบสาขาศาสนศาสตร์ จาก ‘ฮาร์วาร์ด’ (Harvard) ก่อนสร้างชื่อด้วยการจับปืนเข้าร่วมกองกำลังท้องถิ่นเพื่อสู้รบต่อต้านเจ้าอาณานิคม และไต่เต้าจนกลายเป็น ‘นายพัน’ ผู้บังคับบัญชากองทัพประจำรัฐแมสซาชูเซตส์ในสงครามประกาศเอกราชของอเมริกา หรือ Revolutionary War

หลังสิ้นสุดสงคราม ซามูเอลได้รับเลือกเข้าสู่สภานิติบัญญัติของรัฐบ้านเกิด ก่อนได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ‘จอร์จ วอชิงตัน’ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการไปรษณีย์คนแรกหลังประกาศเอกราช โดยตำแหน่งนี้มีความสำคัญกับรัฐบาลในยุคนั้นที่การสื่อสารยังไม่พัฒนา และเป็นตำแหน่งที่ ‘เบนจามิน แฟรงคลิน’ (Benjamin Franklin) บิดาผู้ก่อตั้งอเมริกาคนสำคัญเคยทำหน้าที่มาก่อนสมัยยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

นอกจากวีรบุรุษสงครามและรัฐมนตรีกระทรวงการไปรษณีย์คนแรกหลังได้รับเอกราช ซามูเอลยังเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐนิวยอร์ก และบริจาคบ้านพักของตัวเองในนิวยอร์กให้เป็นทำเนียบประธานาธิบดีหลังแรก ก่อนจะมีการสร้าง ‘ทำเนียบขาว’ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ความทุ่มเทและอุทิศตนเพื่อประเทศชาติ ทำให้ซามูเอลกลายเป็นนักการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากประธานาธิบดีทุกยุคสมัย และได้รับการยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส ผู้ถูกเลือกให้นั่งเก้าอี้ประธานธนาคารซิตี้แบงก์คนแรกในปี 1812 ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปีถัดมา ขณะมีอายุ 66 ปี

จากแบงก์ขัดตาทัพสู่ธนาคารใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ

การเสียชีวิตของซามูเอล ออสกู๊ด แม้จะทำให้ซิตี้แบงก์ต้องสูญเสียบุคคลสำคัญขององค์กรไปแบบไม่ทันตั้งตัว แต่ด้วยการวางรากฐานที่ดีทำให้ธนาคารน้องใหม่นี้ กลายเป็นที่คาดหวังของคนในพื้นที่ ซึ่งต้องการให้นิวยอร์กมีธนาคารที่สามารถช่วยพวกเขาแข่งขันทางการค้ากับเมืองใหญ่ในละแวกใกล้เคียงอย่างบอสตัน ฟิลาเดลเฟีย และบัลติมอร์ ได้ง่ายขึ้น

ซิตี้แบงก์ยุคหลังซามูเอล ออสกู๊ด มีการเติบโตต่อเนื่องและยังคงแนวทางการทำธุรกิจเหมือนในช่วงเริ่มต้น โดยเริ่มจากการช่วยเหลือรัฐบาลสหรัฐฯ ยุคตั้งไข่ให้สามารถปลดหนี้สงคราม พร้อมได้รับความไว้วางใจให้เป็นสถานที่รับฝากเงินของรัฐบาลเป็นการตอบแทน

จากนั้นเมื่อไฟสงครามสิ้นสุดและประเทศเข้าสู่โหมดเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจแบบเต็มตัว ซิตี้แบงก์ก็ปรับตัวเพื่อเป็นสถาบันการเงินที่ช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนให้กับนักธุรกิจและประชาชนทั่วไป

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 1865 เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถจัดตั้งระบบธนาคารกลางได้สำเร็จ ซิตี้แบงก์กระโจนเข้าร่วมระบบนี้และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เนชั่นแนล ซิตี้แบงก์ ออฟ นิวยอร์ก’ (National City Bank of New York) เพื่อบ่งบอกสถานะว่าไม่ใช่แค่ธนาคารระดับมลรัฐอีกต่อไป แต่ยังได้รับการยอมรับตามมาตรฐานระดับชาติก่อนกลายเป็นหนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกา และเป็นธนาคารแรกที่ออกไปเปิดสาขาในต่างประเทศ

ผู้นำนวัตกรรมทางการเงิน

จุดเด่นของซิตี้แบงก์ที่หลายคนมักพูดถึง คือ การเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมทางการเงินมาตลอด โดยในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ระหว่างที่บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มขยายกิจการไปต่างแดน ซิตี้แบงก์เป็นธนาคารอันดับต้น ๆ ของอเมริกาที่เปิดแผนกแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ พร้อมให้บริการซื้อ - ขายตั๋วแลกเงิน โอนเงินระหว่างประเทศและออกตราสารเครดิต หรือ travelers’ letter of credit เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนข้ามชาติ

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1970s ซิตี้แบงก์มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ พร้อมปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัย ด้วยการเปลี่ยนชื่อจาก ‘เนชั่นแนล ซิตี้ แบงก์ ออฟนิวยอร์ก’ เหลือเพียง ‘ซิตี้แบงก์’ และเปลี่ยนตัวอักษรภาษาอังกฤษคำว่า ‘City’ เป็น ‘Citi’ เพื่อให้มีเอกลักษณ์มากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการตั้งบริษัทแม่มาควบคุมดูแลกิจการในเครือภายใต้ชื่อ ‘ซิตี้กรุ๊ป’ (Citigroup) และหันมาโฟกัสกับลูกค้ารายย่อยมากขึ้นด้วยการเป็นธนาคารแรกที่ลงทุนติดตั้งเครื่องกดเงินสดอัตโนมัติ หรือ ATM จำนวนมากพร้อมกัน จนต่อมาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และเป็นที่มาของสโลแกนว่า ‘Citi never sleeps.’ หรือ ‘ซิตี้ (แบงก์) ไม่เคยหลับใหล’

จากนั้นในทศวรรษ 1990s เมื่อเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเริ่มแพร่หลาย ซิตี้แบงก์ก็เป็นหนึ่งในธนาคารแห่งแรกของโลกที่เปิดเว็บไซต์ของตัวเองขึ้นมา และเริ่มให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบัญชีออนไลน์ของตนเองได้ตั้งแต่ปี 1995

บุกเข้าไทยเน้นสินเชื่อและบัตรเครดิต

ซิตี้แบงก์เริ่มเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยในทศวรรษ 1960s เริ่มจากการปล่อยสินเชื่อรถยนต์และสินค้าอุปโภคบริโภค โดยใช้ชื่อบริษัท ‘เดอะ คอมเมอร์เชียล เครดิต คอร์ปอเรชั่น’ ก่อนจับมือกับธนาคารกรุงเทพ จัดตั้งบริษัทเพื่อการลงทุนร่วมกันใช้ชื่อว่า ‘แบงค็อก เฟอร์ซ อินเวสเมนต์ ทรัสต์’ (Bangkok First Investment Trust)

ปี 1982 ซิตี้กรุ๊ปเข้าซื้อกิจการ ‘ไดเนอร์ส คลับ’ บัตรเครดิตเจ้าแรกที่เข้ามาให้บริการในประเทศไทย โดยช่วงแรกเรียกกันว่า ‘ชาร์จ คาร์ด’ (charge card) หรือบัตรที่รูดแล้วต้องชำระเต็มทุกสิ้นเดือน ไม่สามารถจ่ายขั้นต่ำและยกยอดคงค้างไปจ่ายทีหลังได้

การซื้อไดเนอร์ส คลับครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ซิตี้แบงก์ ในฐานะธนาคารที่เน้นส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ซิตี้แบงก์ยังขยายการลงทุนในไทยด้วยการเข้าซื้อหุ้นธนาคารเก่าแก่อย่าง ‘แบงก์หวั่งหลี’ ของคนไทยเชื้อสายจีนตระกูลดัง ก่อนเทกโอเวอร์ ‘เมอร์แคนไทล์แบงก์’ ธนาคารอังกฤษอายุกว่า 130 ปีในประเทศไทย และเปิดธนาคารสาขาแรกของตัวเองเพื่อให้บริการลูกค้าทั่วไปในไทยแบบเต็มตัวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 1985 จนกระทั่งมีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจครั้งใหญ่ล่าสุด

ไม่ยอมแพ้แค่ปรับตัว

ตลอดระยะเวลากว่า 200 ปีที่โตมาเคียงคู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซิตี้แบงก์สามารถฟันฝ่าช่วงเวลายากลำบากมาได้ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ สงครามโลกทั้งสองครั้ง หรือแม้แต่วิกฤตเศรษฐกิจอีกนับครั้งไม่ถ้วน 

โดยวิกฤตซับไพรม์หรือ ‘แฮมเบอร์เกอร์ ไครสิส’ เมื่อปี 2008 แม้ซิตี้แบงก์จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก และเป็นหนึ่งในธนาคารที่ต้องขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่สุดท้ายก็สามารถเอาตัวรอดมาได้ และเดินหน้าปรับตัวให้ทันสมัยอยู่เสมอ

การประกาศปิดสาขาในประเทศไทย พร้อมขายธุรกิจบริการลูกค้ารายย่อยทั้งหมดให้ยูโอบี ก็เป็นอีกการปรับตัวของซิตี้แบงก์ ภายใต้นโยบายของ ‘เจน เฟรเซอร์’ (Jane Fraser) ประธานธนาคารคนใหม่ที่มาเข้ารับตำแหน่งในปี 2021 โดยนอกจากไทย ยังมีการขายกิจการลักษณะเดียวกันในอีก 12 ประเทศทั้งเอเชียและยุโรป

เป้าหมายการปรับตัวครั้งนี้ คือ การลดการกระจายตัวของธุรกิจ และหันมาโฟกัสกับธุรกิจบริการลูกค้ารายใหญ่ รวมถึงกลุ่มสถาบันการเงิน และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญดั้งเดิมของซิตี้แบงก์

ดังนั้น การปิดเพจและขายกิจการให้ยูโอบี จึงอาจใช้คำว่า‘ปิดตำนาน’ ได้ไม่ค่อยเต็มปากนัก เนื่องจากซิตี้แบงก์ยังไม่ได้ยกธงขาวยอมแพ้ และถอนธุรกิจทั้งหมดออกจากประเทศไทย

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ซึ่งซิตี้แบงก์แสดงให้เห็นมาตลอดนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการ และมีวีรบุรุษสงครามนามว่า ‘ซามูเอล ออสกู๊ด’ เป็นผู้วางรากฐาน จนอยู่มาได้ยาวนานอายุกว่า 200 ปี

.

ภาพ : Getty Images 

.

อ้างอิง

.

citigroup

citibank thailand

culturenow

citibank history

nytimes

successstory