‘เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์’ ธุรกิจร้านอาหารไม่ใช่ขายแค่รสชาติ แต่ต้องบ่งบอกถึงตัวตน

‘เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์’ ธุรกิจร้านอาหารไม่ใช่ขายแค่รสชาติ แต่ต้องบ่งบอกถึงตัวตน

‘ตู๋ - เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์’ ผู้บริหาร บริษัท สะไปซ์ ออฟ เอเชีย จำกัด กับเส้นทางธุรกิจอาหาร ที่เริ่มต้นจากความชอบ และไม่ใช่ขายแค่รสชาติ แต่ยังต้องบ่งบอกถึงตัวตนของ Own Brand ให้ได้ด้วย

หลายคนอาจจะบอกว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จการทำร้านอาหารหลัก ๆ จะอยู่ที่ ‘รสชาติ’, ‘คุณภาพ’ และ ‘การบริการ’ แต่สำหรับ ‘ตู๋ - เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์’ ผู้บริหาร บริษัท สะไปซ์ ออฟ เอเชีย จำกัด เจ้าของร้านคาเฟ่ ชิลลี่ และอีกหลายแบรนด์ กลับมองมากไปกว่านั้นคือ ร้านอาหารที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องบ่งบอกถึงตัวตนของแต่ละร้านและสะท้อนภาพ Own Brand ให้ได้ด้วย 

ด้วยความเป็นคนชอบกินและชอบทำอาหารตั้งแต่สมัยเรียน โดยสามารถกินได้ตั้งแต่ร้านอาหารข้างทาง ไปจนถึง fine dining ระดับโลก ทำให้ที่ผ่านมา ตู๋ - เลิศรินิญฒ์ตระเวนชิมอาหารไปทั่วทั้งในและต่างประเทศเพื่อเก็บสั่งสมประสบการณ์ หวังไว้วันหนึ่งจะเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเอง  

และวันนั้นก็มาถึงเมื่อเพื่อนสนิทชวนร่วมลงทุนเปิดร้านอาหารไทยด้วยกันใช้ชื่อว่า ‘รักเอย’ ซึ่งทำให้เธอค้นพบว่า นี่คือความสุขของตัวเองและเข้าสู่วงการนี้นับแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งเมื่อประมาณ 18 ปีก่อนเธอตัดสินใจทำร้านอาหารอีสานในสไตล์ของตัวเอง นั่นคือ ‘คาเฟ่ ชิลลี่’ เปิดสาขาแรก ณ สยามพารากอน ซึ่ง ณ เวลานั้นถือเป็นการบุกเบิกการนำร้านอาหารอีสานขึ้นห้างหรู 

‘เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์’ ธุรกิจร้านอาหารไม่ใช่ขายแค่รสชาติ แต่ต้องบ่งบอกถึงตัวตน ตามด้วย ร้าน ‘ชิลลี่ ไทย เรสเตอรองท์’ ร้านอาหารไทยรสชาติดั้งเดิม, ‘อีท พอท’ เกาเหลาหม้อไฟ และ ‘เสือใต้’ ร้านอาหารใต้ตำรับไทยแท้ โดยแต่ละร้านจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันและบ่งบอกความเป็นตัวตนของเธออยู่  

 ยกตัวอย่างร้านคาเฟ่ ชิลลี่ ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ การตกแต่ง ไปจนถึงเมนูอาหาร ทุกอย่างจะเริ่มคิดจากพื้นฐานความชอบ ความรัก และความสนุกที่จะสร้างสรรค์ ซึ่งจะมาจากตัวตนของตู๋ - เลิศรินิญฒ์

 ร้านนี้เกิดขึ้นจากการที่ตัวเธอชอบอาหารอีสานเป็นชีวิตจิตใจ จึงเริ่มต้นทำร้านแรกจากจุดนี้ โดยอยากทำร้านอาหารอีสานที่ทันสมัย แต่รสชาติต้องถึง และคงความแซ่บนัวตามแบบฉบับเดิมไว้ รวมถึงการออกแบบเมนู ไปจนถึงขั้นตอนเลือกวัตถุดิบที่เธอจะลงมือทำเอง

‘เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์’ ธุรกิจร้านอาหารไม่ใช่ขายแค่รสชาติ แต่ต้องบ่งบอกถึงตัวตน

“ถ้าสังเกตตู๋จะสร้างทุกร้านขึ้นมาเอง ไม่ได้ซื้อแบรนด์มาแล้วสานต่อ และทุกร้านจะมีคาแรกเตอร์ของตู๋เอง เพราะถ้าดูและตามเทรนด์มาก ๆ จะสูญเสียความเป็นตัวเราไป คนจะจดจำร้านของเราไม่ได้ และการนำเสนอสิ่งที่ตัวเองคิดตั้งแต่ต้นแล้วลูกค้าชอบ มันเป็นความสุขใจและชื่นใจอย่างบอกไม่ถูก

“การเลือกใช้วัตถุดิบก็เช่นกัน ตั้งแต่สมัยตัวเองไปเรียน อยากกินลาบ เราก็ต้องใช้ลาบปลาแซลมอนทำ เพราะเมืองนอกมีเยอะ พอทำแล้วอร่อยก็นำมาเป็นเมนูขายในร้าน มีความเป็นพรีเมียม เหมือนเป็น next level ของอาหารอีสาน แต่รสชาติทุกอย่างต้องคงเดิม เพียงเปลี่ยนวิธีนำเสนอ ให้สวยดูดีขึ้น”

แต่การนำความชื่นชอบและตัวตนของตัวเองมานำเสนอ ก็ใช่ว่าคนอื่นจะชอบด้วย ซึ่งเธอก็เห็นด้วย แต่สำหรับตัวเธอเองแค่รู้สึกว่า เป็นวิธีการทำงานของเธอ โดยไม่ได้คิดว่า จะต้องประสบความสำเร็จในทุก ๆ ร้าน เพียงแต่อาจจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์หรือ break through อะไรบางอย่าง เพื่อต่อยอดไปสู่เส้นชัยในอนาคต

“การที่คนคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จ ไม่มีใครหรอกที่จะไม่มีประสบการณ์ที่จะเอามาเล่า ตู๋เองฟังจากคนที่ success ทุกคนบนโลกนี้ ทุกคนผ่านความผิดหวังมาหมด แต่ความผิดหวังนั้น ก่อให้เกิดความรู้ ก่อให้เกิดกำลังใจ และก่อให้เกิด learning”

นอกจากจะมีความสุขกับการได้ทำในสิ่งที่ชอบแล้ว เธอยังได้แนวทางการใช้ชีวิตจากการทำอาหารด้วย นั่นคือการสอนเรื่องของสมาธิ และให้โฟกัสอยู่กับปัจจุบัน 

“การทำอาหาร จะมีการทำในแต่ละสเต็ป หากทำถูกต้อง ใส่ใจ จะได้รสชาติตามต้องการ ในทางกลับกัน หากไม่โฟกัสหรือใส่ใจในสิ่งที่ทำ แม้จะเพียงนิดหนึ่ง ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะผิดเพี้ยน เช่นเดียวกับการใช้ชีวิต หากยึดติดกับอดีตหรือคิดในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเป็นทุกข์

 “เช่นเวลามีปัญหา สมมติมีคนต่อว่าแรง ๆ เรื่องรสชาติของอาหาร ตู๋จะดูว่า เขาว่าเพราะอะไร หาต้นเหตุ แล้วแก้ไข และวันต่อมาจะไม่เก็บมาคิดเป็นอารมณ์ เพราะอดีตผ่านไปแล้วเราแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ปัจจุบันสำคัญสุด เพียงแค่เราจะพยายามไม่กลับไปเป็นเหมือนเมื่อวานอีก อันนี้คือหลักการคิด”

สำหรับเป้าหมายของการทำธุรกิจร้านอาหาร เธอต้องการทำร้านอาหารไทยให้ครบทั้ง 4 ภาค ซึ่งตอนนี้มีอาหารอีสาน (คาเฟ่ ชิลลี่) อาหารภาคกลาง (ชิลลี่ ไทย เรสเตอรองท์), อาหารใต้ (เสือใต้) ยังขาดแค่อาหารเหนือซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการตกผลึกการสร้างแบรนด์และความคิดอยู่ 

‘เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์’ ธุรกิจร้านอาหารไม่ใช่ขายแค่รสชาติ แต่ต้องบ่งบอกถึงตัวตน

ที่สำคัญในปี 2568 มีเป้าหมายอยากจะพาร้านอาหารไทยไปบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งถือเป็น challenge สำหรับตัวเองในการที่จะส่งต่อวัฒนธรรมการกินของไทยให้คนต่างชาติได้รับรู้ 

การจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ อันดับแรกจะใช้จุดแข็งของอาหารไทยในเรื่องความชัดเจน ความมีเสน่ห์และเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบันมาเป็นจุดขายเพื่อนำเสนอ ที่เหลือ จะเป็นการ ‘สู้ด้วยใจ’ เพราะไม่ว่าจะวางแผนดีแค่ไหน แต่ระหว่างทางไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เนื่องจากการไปเปิดสาขาในต่างประเทศทุกอย่างเหมือนเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด 

“ดูมาแล้วทุกที่เลยค่ะ ไม่ว่าจะออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ อเมริกา นิวยอร์ก แต่ถ้าจะให้ลงมือทำจริง ๆ ตอนนี้จะเลือกโซนเอเชีย เพราะเดินทางไปดูแลได้ง่าย และทำให้ experience ในร้านของเรา ถือเป็นอีกก้าวที่ท้าทายของเรา” 

สำหรับการแข่งขันเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ แต่มองว่า บนโลกใบนี้ยังมีพื้นที่ว่างในการเข้าไป เพราะยุคนี้เป็นยุคที่ทุกคนให้โอกาสในการลองสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และนั่นถือเป็นโอกาสทางธุรกิจของร้านอาหารเช่นเดียวกัน

.

ภาพ : สะไปซ์ ออฟ เอเชีย