06 มิ.ย. 2567 | 16:41 น.
อะไรที่ทำให้อนันต์ก้าวมาถึงจุดนี้ ?
ก่อนจะไปหาคำตอบ เราอยากพาไปทำความรู้จักชายที่ชื่อ 'อนันต์ อัศวโภคิน' กันก่อน
อนันต์เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2493 เป็นบุตรคนที่ 2 ของ ‘เพียงใจ หาญพาณิชย์’ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของไทย เจ้าของโรงแรมแมนดาริน กับ ‘บุญทรง อัศวโภคิน’ ทายาทเจ้าของห้างขายผ้าในย่านสำเพ็ง
ในวัยเด็กแน่นอนว่า สำเพ็งคือย่านทำมาค้าขายของคนไทยเชื้อสายจีน อนันต์เรียนรู้วิธีค้าขายตั้งแต่อายุเพียง 10 ขวบ โดยช่วยที่บ้านขายผ้า และตั้งแผงขายน้ำเล็กๆ หน้าร้าน มีแผงจับสลากและเกมยิงเป้า เพื่อสร้างรายได้ในวันหยุดร่วมกับพี่น้องอีก 3 คนประกอบด้วย ทรงพล, อนันต์, สุดา และอนุพงษ์ ที่ต่อมาทุกคนเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระดับต้นๆ ของประเทศ
ด้วยความที่ครอบครัวคนจีนสมัยก่อนอยู่รวมกันหลาย Generation ในบ้านหลังเดียวกันซึ่งส่วนใหญ่เป็นตึกแถว ครอบครัวของอนันต์ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งบ้านของเขามีคนอาศัยรวมกัน 32 คน นับเป็นชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากในตอนเริ่มต้นของอนันต์ ก่อนที่เขาจะตั้งตัวและกลายมาเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของเมืองไทยในเวลาต่อมา
หลังจากคุณพ่อบุญทรงมาเปิดร้านผ้าที่สะพานหันคุณแม่เพียงใจเริ่มจับธุรกิจที่ดินในปี พ.ศ. 2502 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอกเสาเข็มโรงแรมแมนดารินในปี พ.ศ. 2508 ถือเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตอนันต์ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ในปี พ.ศ. 2526 ก่อนที่จะนำบริษัทดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2532
‘5 ห้องชีวิต’ ปรัชญาความสำเร็จหมื่นล้าน
อนันต์เคยบอกว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเริ่มต้นจาก 5 ห้องในบ้านที่เขาอาศัยร่วมกับคนในครอบครัวรวมกันมากถึง 32 คนเมื่อตอนเป็นเด็ก และบ้านหลังนั้นถือเป็นสถานที่สำคัญฝึกนิสัยให้กับเขาจนทำให้มีวันนี้ ซึ่ง ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ก็เคยเขียนถึงอนันต์ในฐานะรุ่นพี่วิศวะ จุฬาฯ ที่เขายกย่องเกี่ยวกับการฝึกนิสัยผ่านแนวคิดนี้ไว้ด้วย
1. ห้องนอน: ฝึกทำใจให้ว่าง ทำสมาธิ ล้างใจสะอาด นอนได้เต็มที่ และฝึกตื่นให้เป็นเวลา เก็บที่นอน เปิดหน้าต่างให้เคยชิน
“ถ้าเราเป็นคนไม่ตื่นตามเวลา ใช้ปุ่ม Snooze เพื่อที่จะตื่นมากด Snooze อีกที เราจะกลายเป็นคนที่ทำงานเสร็จนาทีสุดท้ายเสมอ”
2. ห้องน้ำ: ฝึกการใช้น้ำอย่างประหยัด เกรงใจคนอื่น รักษาเวลา การฝึกล้างห้องน้ำให้เป็น จะช่วยฝึกให้เราไม่ดูถูกคน เป็นคนไม่เลือกงาน ไม่มีทิฐิ
“สมัยเด็ก บ้านผมไม่ได้มีฐานะ แต่มีคนถึง 32 คน น้ำก็ต้องใช้ประหยัด เข้าห้องน้ำนานไม่ได้ เพราะคนอื่นก็ต้องใช้เหมือนกัน ผมล้างห้องน้ำมาจนโต ทำให้ทุกงานของผมห้องน้ำต้องสะอาด อย่างเวลาขึ้นเครื่องบิน บางทีผมต้องเสียเวลา 15 นาทีเพื่อเช็ดห้องน้ำให้สะอาด คนว่าผมสร้างห้างฯ มาให้คนเข้าห้องน้ำ ทั้งเทอร์มินอล 21 หรือแฟชั่น ไอส์แลนด์ก็ยอมรับครับ ตอนนี้มีคนมาเข้าห้องน้ำห้างผมวันละเป็นแสน”
3. ห้องแต่งตัว: ฝึกให้รู้จักตัดใจ เสื้อผ้าไม่ใส่ต้องทิ้ง เสียสละให้คนอื่น ใช้สิ่งของต่าง ๆ อย่างพอดีตัว
“เท้ามีแค่สองข้าง จะมีรองเท้ามากมายทำไม อะไรไม่ได้ใส่เกินสองเดือนเอาไปบริจาคเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่”
4.ห้องกินข้าว: ฝึกการทานอาหาร นั่งพร้อมหน้ากัน รู้จักแบ่งปัน ตักข้าวแล้วต้องกินให้หมด ดังนั้นต้องตักให้พอดีตัว และตักให้พ่อแม่หรือคนอื่นก่อน
“ไข่พะโล้ 2 ฟอง นั่งกัน 4 คน เราต้องแบ่งกันคนละครึ่งฟอง และตักให้แม่ก่อน จนติดนิสัยให้คนอื่นก่อน เช่นเวลาเข้าออกลิฟต์”
5. ห้องทำงาน: ฝึกจัดลำดับความสำคัญ อย่าให้มีอะไรรกบนโต๊ะทำงาน กระดาษที่กองเต็มโต๊ะ บอกนิสัยไม่ตัดสินใจ หรือไม่มั่นคงทางใจ กลัวไม่มีข้อมูล
“เวลาผมเจอใครกระดาษกองเต็มโต๊ะ ผมคิดเลยว่าคนนี้ไม่กล้าตัดสินใจ หรือ Insecure กลัวขาดข้อมูล ทั้งที่มันมีในมือถือหมดแล้ว ห้องทำงานผมไม่มีกระดาษบนโต๊ะ ไม่มีโทรศัพท์เพราะใช้มือถือ ไม่มีคอมพ์เพราะใช้แท็บเล็ต ตอนนี้มีห้องไว้โชว์ว่าว่างเปล่า”
และหากเทียบปรัชญาห้องทั้ง 5 กับหัวใจมนุษย์ที่มี 4 ห้อง ซึ่งอนันต์เปรียบเทียบไว้อย่างน่าสนใจ
ห้องแรกของอนันต์คือครอบครัว และวัยเด็กที่ยากลำบาก การฝึกค้าขายตั้งแต่ 10 ขวบในย่านการค้าสำเพ็งคือรากฐานการเป็นนักธุรกิจแถวหน้าของไทย
ห้องที่ 2 คือการศึกษาที่เขาได้รับการศึกษาอย่างดี และขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังส่งเสริมและสนับสนุนผู้ใต้บังคับบัญชาให้ศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง
ส่วนหัวใจห้องที่ 3 คือพนักงานที่อนันต์ให้ความสำคัญในฐานะทรัพยามนุษย์ที่แข็งแกร่งในการขับเคลื่อนธุรกิจของเขาเสมอมา
ห้องที่ 4 คือธุรกิจที่เขารับช่วงต่อจากคุณแม่และพัฒนาสู่องค์กรแนวหน้าของไทย ไม่ว่าจะเป็นแลนด์แอนด์เฮ้าส์ สยามธานี สยามรีเทล เซนเตอร์พอยท์ คิวเฮ้าส์ โฮมโปรบุคคลัภย์ Terminal 21 Fashion Island The Promenade ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ Grande Centre Point
ห้องที่ 5 คือปรัชญาการใช้ชีวิตและแนวคิดที่อนันต์มักถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง ซึ่งจะฝึกให้เรารักษาความสะอาด มีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา สุภาพ และฝึกสมาธิให้ใจสะอาด
ฝึกคนให้ดี คือหัวใจสำคัญ
อนันต์เป็นเด็กอัสสัมชัญ เรียนตั้งแต่ประถมศึกษาจนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย จากนั้นสอบเอนทรานซ์ได้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิศวกรรมโยธา และไปเรียนต่อปริญญาโทสาขา Industrial Engineering ที่สถาบันเทคโนโลยีอิลลินอยส์ รวมถึงหลักสูตร MBA จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำไปสู่นโยบายส่งเสริมให้พนักงานในบริษัทของเขาไปเข้าเรียน MBA เพื่อความเข้าใจในกระบวนการทางธุรกิจและปรับประยุกต์ใช้กับการทำงานในองค์กร
เพราะอนันต์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นฐานขององค์กรที่แข็งแกร่ง โดยเขาให้สิทธิพิเศษแก่พนักงานที่ผ่านการคัดเลือกจากหัวหน้างานให้เรียนต่อ MBA ให้ใช้คอมพิวเตอร์ กระดาษ หรือห้องประชุมของบริษัทในการทำการบ้าน พร้อมยืดหยุ่นการขาดลามาสาย เพื่อสนับสนุนให้พนักงานจบ MBA รุ่นแล้วรุ่นเล่า เพื่อมาช่วยงานธุรกิจของบริษัท
นโยบายเหล่านี้ เกิดจากการมองโลกธุรกิจอย่างทะลุปรุโปร่งของเขาที่มองว่าบางครั้งประสบการณ์การทำงานมีประโยชน์ในแง่ทักษะการทำงาน หากแต่ในทางวิชาการควรเติมเต็มองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการทำธุรกิจด้วย เพื่อจะได้ลดเวลาในการลองผิดลองถูก ประกอบด้วยความเป็นคนที่ชอบทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ อนันต์มักจะถามว่า งานนี้มีใครทำแทนได้ไหม เพราะอนันต์ไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ ถ้าใครทำแทนได้ เขาจะปล่อยให้เขา
“ผมทำธุรกิจมาเยอะมาก เจ๊งมาก็เยอะ แต่เป็นเพราะชีวิตในวัยเด็กทำให้เราสนุกกับการค้าขาย เลยไม่ได้คิดเรื่องเงินเท่าไร
“ตอนปี 40 เกือบล้มละลายขาดทุน 3-4 หมื่นล้าน เพราะกู้เป็นเงินดอลลาร์ แต่รายได้เป็นเงินบาท ต้องไปเจรจากับเจ้าหนี้ ตอนเจรจากับเจ้าหนี้ ผมยังยิ้มได้ตลอด เพราะนึกถึงสมัยเด็กบ้านยากจน ต้องยืมของเล่นข้างบ้าน ซึ่งคนที่หน้าตาหมองเศร้าก็คือเด็กคนนั้น”
ปัจจุบันอนันต์มีธุรกิจหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน), บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน), ธุรกิจวัสดุก่อสร้างอย่าง ‘โฮมโปร’, ธุรกิจการเงิน ‘ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์’, ธุรกิจโรงแรม ‘แกรนด์ เซ็นเตอร์ พ้อยท์’ และห้างสรรพสินค้าอย่าง ‘แฟชั่นไอส์แลนด์’ และ ‘เทอร์มินอล 21’
แต่เขาชอบธุรกิจโฮมโปรมากที่สุด เหตุผลคือ โฮมโปร คล้าย Apple หรือ Uber ที่มีพนักงานไม่มาก หรือไม่มีเลย เพราะทุกอย่าง Outsource หมด อย่าง Uber ที่เป็นบริษัทแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ไม่มีแท็กซี่สักคัน
ธุรกิจ Home Pro ก็เช่นเดียวกัน คือซื้อมาขายไป สินค้าใครดีเอามาขาย Home Pro ไม่ได้ผลิตสินค้าเอง แม้ตอนหลังจะมีสินค้าติดยี่ห้อ Home Pro ก็เป็นการจ้างผลิต
เพราะการทำธุรกิจยุคนี้ ต้อง Catching-up ให้ทันตลาด และฝึกคนให้ดี ซึ่งนี่คือหัวใจที่อนันต์ อัศวโภคินให้ความสำคัญ
"คนเรียนเก่งไม่ใช่คนเก่งเสมอไป แต่คนเก่งมักมีนิสัยสร้างความเจริญก้าวหน้า เรื่องนี้อย่าสอนแต่ในห้องเรียน เริ่มจากที่บ้าน ทุกวันนี้โลกวุ่นวายไม่ใช่เพราะคนไม่มีการศึกษา แต่เพราะคนนิสัยไม่ดี และมีการศึกษาเยอะต่างหาก”