29 พ.ย. 2567 | 17:47 น.
KEY
POINTS
สิทธิมนุษยชน คือ สิทธิของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะมีสัญชาติ ถิ่นที่อยู่ เพศ เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ภาษา หรือสถานะใดก็ตาม บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรี
ที่ผ่านมา เมื่อพูดถึง ‘สิทธิมนุษยชน’ หลายคนอาจมองในเชิงภาพสังคมและการเมืองของประเทศ แต่แท้จริงแล้ว สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวัน และสำคัญต่อ ‘ภาคธุรกิจ’
แล้วทำไมธุรกิจต้องหันมาสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน?
คำตอบของ ‘ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร’ ผู้ช่วยบริหารประธานคณะผู้บริหาร รองกรรมการผู้จัดการด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) คือ ธุรกิจเป็นภาพสะท้อนการรวมประเด็นสิทธิของมนุษย์คนหนึ่งเข้าด้วยกัน
ในฐานะลูกค้า มนุษย์มีสิทธิที่จะได้อุปโภค บริโภคสินค้าที่ปลอดภัย มีคุณภาพ และมีสิทธิที่จะรู้ว่าเบื้องหลังของสินค้าที่เขาอุปโภคบริโภคมีที่มาอย่างไร ในฐานะพนักงาน มนุษย์มีสิทธิได้รับค่าจ้างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีสิทธิที่จะรู้ว่าเบื้องหลังของสินค้าที่เขาอุปโภคบริโภคมีที่มาอย่างไร
“เวลานึกถึงสิทธิมนุษยชน เรามักจะนึกถึงเรื่องศีลธรรม การทำดี ทำไม่ดี แต่มันเกี่ยวข้องกับทุกมิติของ การประกอบธุรกิจ มันเป็นการรวมสิทธิของทุกคนไว้ องค์กรต้องแน่ใจว่า พนักงานของเขาได้รับสิทธิเหล่านี้ หรือแม้แต่ลูกค้า คู่ค้าก็ต้องได้รับการเคารพ และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยไม่มีข้อยกเว้น”
เพราะไม่ว่าอย่างไร สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องของใครคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมผลักดันและขับเคลื่อนไปด้วยกัน
เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่ไม่ใช่แค่ขายของ แต่กลับต้องลงไปให้ลึกว่า นอกจากคุณภาพดี สินค้าเหล่านั้นมีกระบวนการที่ตรวจสอบได้ ไม่ละเมิดสิทธิ และไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลังจริง ๆ
ต่อจากนี้คือ บทสนทนาของ The People กับ ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร ที่จะชวนทุกคนหาคำตอบของคำว่า ‘ธุรกิจ’ กับ ‘สิทธิมนุษยชน’ ว่าจุดตัดของสองคำนี้อยู่ตรงไหน และจะส่งผลอย่างไรต่อบรรยากาศของธุรกิจไทย
"สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด"
ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร เล่าถึงจุดเปลี่ยนในความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ระหว่างประจำการที่เมืองเจนีวา ในฐานะเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ
อาจเป็นเพราะเจนีวา เป็นศูนย์กลางด้านประเด็นสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ ทำให้เขาต้องเรียนรู้และเข้าใจทุกแง่มุมของสิทธิที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้รับ
"สิทธิมนุษยชน พูดง่ายๆ คือศักดิ์ศรีของความเป็นคน ที่แบ่งแยกไม่ได้ ด้วยเพศ อายุ วัย ศาสนา เชื้อชาติ ภาษา แหล่งกำเนิด ทุกคนได้เท่ากันหมด"
ในฐานะนักการทูตที่ถูกส่งไปประจำการที่เจนีวา หนึ่งในเรื่องที่ ดร. เนติธรต้องดูแลพร้อมกับเจรจา คือ เรื่องธุรกิจกับมนุษยชน ยกตัวอย่างเช่น กรณีน้ำมันรั่วของบริษัทเอนรอนลงอ่าวเม็กซิโกจนชาวบ้านได้รับผลกระทบ หรือกรณีเหมืองทองที่กาญจนบุรี แต่เรื่องเหล่านี้กลับไม่มีเจ้าภาพดูแลอย่างจริงจัง ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ
เพราะจริง ๆ แล้ว ธุรกิจ ถือเป็นการประกอบสร้างของสิทธิมนุษยชนของพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และนักลงทุนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน ทุกคนจำเป็นต้องได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม
สิทธิที่จะได้รับค่าแรงที่ถูกต้อง สิทธิที่จะดูแลกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย และได้บริโภคสินค้าที่ดำเนินงานอย่างไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
“เวลานึกถึงสิทธิมนุษยชน เรามักจะนึกถึงเรื่องศีลธรรม การทำดี ทำไม่ดี แต่มันจะปนกับสิทธิกับหน้าที่และเกี่ยวข้องกับทุกมิติของการประกอบธุรกิจ มันเป็นการรวมสิทธิของทุกคนไว้ องค์กรต้องแน่ใจว่า พนักงานของเขาได้รับสิทธิเหล่านี้ หรือแม้แต่ลูกค้า คู่ค้า เขาควรจะได้รับสิทธิเหล่านี้ น้ำสะอาด อากาศดี ไปจนถึงชุมชนที่อยู่รอบโรงงาน ก็ควรได้รับสิทธินี้ด้วยเหมือนกัน”
เพราะไม่ว่าอย่างไร สิทธิมนุษยชน ก็คือ ทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตาย ลืมตาและหลับตานอน และคนทุกคนก็จำเป็นต้องรู้สิทธิของตัวเอง
เช่นเดียวกันกับการดำเนินธุรกิจที่องค์กรต่าง ๆ ก็ต้องรู้ว่า ทุกกระบวนการผลิต จนถึงส่งมอบสินค้าให้กับผู้บริโภคนั้น ไม่ได้ละเมิดสิทธิหรือทำร้ายใคร
“สิทธิมนุษยชน เป็นทั้งความเสี่ยงและเป็นโอกาส”
นี่คือเหตุผลที่ทำไมธุรกิจต้องสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในสายตาของดร.เนติธร
คำถามต่อมา คือ เป็นความเสี่ยงและโอกาสอย่างไร?
คำตอบของดร.เนติธร คือ เป็นความเสี่ยงในเรื่องของการระวังและควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนให้มีคุณภาพ และไม่ละเมิดสิทธิของใคร ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่จะโฆษณาให้ลูกค้าและองค์กรภายนอกรู้ว่า ธุรกิจของเราดี และมีคุณภาพ
“เดี๋ยวนี้เราต้องระวัง ต้องมั่นใจว่าสินค้าของเราสามารถตรวจสอบได้ถึงต้นทางว่า ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก ไม่ปล่อยน้ำเสียไปทำลาย คุณภาพน้ำ หรืออากาศ ถ้าเราปิดจุดเหล่านี้ได้ดี มันเป็นโอกาสในการสื่อสารว่าเราเป็นองค์กรที่ดี ผลิตสินค้าที่ดี มีคุณภาพ ไม่ได้ไปละเมิดใคร และน่าเชื่อถือ”
คำถามน่าคิดต่อมา คือ แล้วองค์กรจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งใดคือความเสี่ยง และสิ่งใดคือโอกาส
ประเด็นนี้อาจขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรว่า ดำเนินธุรกิจแบบไหน และคาดการณ์ดูว่า อนาคตอาจเกิดความเสี่ยงแบบใดอย่างรอบด้าน ทั้ง ชุมชน คู่ค้า ลูกค้า และนักลงทุน และหาวิธีรับมือกับความเสี่ยงนั้น
สำหรับเสาหลักสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยึดมั่นในการทำงาน คือ กระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence, HRDD) สอดคล้องกับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGP) ที่กำหนดให้ธุรกิจมีหน้าที่เคารพสิทธิมนุษยชน เครือฯ เรานำมาประยุกต์และพัฒนาแนวทางการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนประกอบด้วย 8 ขั้นตอนสำคัญ ดังนี้ การกำหนดนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ปลูกฝังคุณค่าเรื่องสิทธิมนุษยชน การประเมินวิเคราะห์และจัดการความความเสี่ยง การติดตามและสื่อสารผลการดำเนินงาน สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ อำนวยการร้องทุกข์อย่างมีประสิทธิภาพ
“มันไม่ใช่แค่การประกาศแค่ลมปากว่าฉันเคารพ แต่ต้องนำหลักการนั้น เข้ามาใช้อย่างจริงจัง มีการตรวจสอบ มีตัวชี้วัด และมีการรายงานผลชัดเจน” ดร.เนติธรขยายความ
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทย ที่ริเริ่มจัดทำรายงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีการเผยแพร่ ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา และในปีนี้ ให้ความสำคัญเรื่องความหลากหลาย ความเสมอภาค และการอยู่ร่วมกัน
ดร.เนติธร บอกว่า เมื่อสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การปิดช่องว่างความเสี่ยงให้ได้
“เมื่อเรารู้ว่าประเด็นไหนเป็นความเสี่ยง ธุรกิจมีหน้าที่ต้องมาสำรวจว่า เราทำในเรื่องนั้น ๆ ถึงไหน มี gap อะไร เพราะเป็นความเสี่ยงและผลกระทบต่อองค์กร มันเป็นหน้าที่ขององค์กรที่จะต้องพยายามปิด gap เหล่านั้น ซึ่งแต่ละธุรกิจหรือแต่ละกลุ่มธุรกิจ กลุ่มอุตสาหกรรม มีความเสี่ยงต่างกัน”
อ่านรายงานเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ฉบับเต็มได้ที่นี่ https://www.cpgroupglobal.com/storage/document/additional-topic-specific-reports/2023/human-rights-report-full-2023-th.pdf
อ่านรายงานเรื่องสิทธิมนุษยชนฉบับย่อได้ที่นี่ https://www.cpgroupglobal.com/storage/document/additional-topic-specific-reports/2023/human-rights-report-summary-2023-th.pdf
ส่วนพนักงานเองก็ต้องรับรู้ว่า ตัวเองมีสิทธิอะไรตามกฎระเบียบบริษัทและกฎหมายแรงงาน รู้ว่าหากมีการละเมิดสิทธิ เขาจะสามารถร้องเรียนได้ที่ไหน และข้อร้องเรียนนั้นได้รับการตอบรับจากองค์กรหรือไม่ และด้านองค์กรก็ต้องเข้าถึงข้อร้องเรียนนั้น ประเมิน และแก้ไขอย่างมีระบบ เพื่อให้พนักงานมั่นใจว่า เสียงของพวกเขามีความหมาย
“รู้ว่าเขาได้รับสิทธิ เมื่อเขาถูกละเมิดสิทธิ เขามีช่องทางในการร้องเรียน และเมื่อเขาร้องเรียน ข้อร้องเรียนของเขา ได้รับการพิจารณา ตอบรับ และเยียวยาทดแทน ถ้าเกิดความเสียหายจริง”
เพราะต่อให้จะอยู่ในตำแหน่งใด หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจในภาคส่วนไหน ทุกคนก็ควรได้รับสิทธิในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เมื่อชีวิตดี คุณภาพดี การทำงานดีแล้ว การขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าคงไม่ไกลเกินเอื้อม
ยุคนี้ ทุกคนรู้ สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญ แต่สำหรับภาคธุรกิจและองค์กร การขับเคลื่อนเรื่องนี้อาจเกิดขึ้นได้ยาก หากผู้นำไม่ได้เป็นคนเริ่มต้นก่อน
ดร.เนติธร บอกว่า สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณศุภชัย เจียรวรานนท์ มองเห็นถึงความสำคัญ และเป็นคนเปิดประตูให้ทีมงานทุกคนลงมือทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง
“มันต้องมาจาก tone from the top ผู้นำเบอร์ 1 ต้องเข้าใจความสำคัญของเรื่องนี้ก่อนว่ามันไม่ใช่เรื่องผลประกอบการทางการเงินอย่างเดียว แต่มีนัยยะเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมด้วย
คุณศุภชัยมีแนวคิดว่า การจะเรียนรู้จริง ๆ ต้องลงมือทำ คุณจะได้ซาบซึ้งถึงความสำคัญ และขับเคลื่อนเรื่องนั้นๆด้วยความเข้าใจ สำคัญ คือต้องมีตัวชี้วัด มี KPIs ชัดเจน”
อีกทั้ง วิสัยทัศน์ของผู้นำยังเป็นประตูบานแรกที่เปิดให้ธุรกิจทุกขนาด หันกลับมามองเรื่องสิทธิมนุษยชนจับมือแล้วเดินหน้าทำงานนี้ไปด้วยกัน
ธุรกิจขนาดใหญ่เป็นผู้วางนโยบาย วางกรอบการทำงาน ส่งต่อแผนงานไปให้กับห่วงโซ่อุปทานซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs และในขณะเดียวกันเป็นกระบอกเสียงแทนพวกเขาบนเวทีนานาชาติ
ดังนั้น อีกหนึ่งเงื่อนไขที่เครือเจริญโภคภัณฑ์นึกถึงเวลากำหนดมาตรฐานเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือปั้นโครงการใด ๆ ที่ต้องทำงานร่วมกับ SMEs ก็คือ ต้องคิดให้จบและมั่นใจว่ากระบวนการทำงานจะต้องไม่ไปสร้างภาระให้กับธุรกิจของคนตัวเล็ก
“เราต้องคิดให้จบ เพราะลูกค้า ผู้ถือหุ้น หรือไม่ว่าใครก็ตาม ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากันหมด”
นอกจากผู้นำจะต้องเป็นผู้เปิดประตูบานแรกแล้ว ดร.เนติธร ยังบอกอีกว่า การจะทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนกลายเป็นเรื่องที่ธุรกิจและบุคคลทั่วไปที่อยู่ในบทสนทนาของผู้คนในชีวิตประจำวันได้ รากฐานสำคัญ คือ การศึกษา
การศึกษาจำเป็นต้องบอกว่า สิทธิมนุษยชนคืออะไร แล้วจะทำให้เรื่องราวความเป็นมนุษย์นี้อยู่ในสังคมอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
“คนรุ่นใหม่ที่โตขึ้นมา เขารู้เรื่องพวกนี้แค่ไหน เขารับรู้ รับทราบ เรื่องสิทธิมนุษยชนและความยั่งยืนมากแค่ไหน แล้วเราจะปลูกฝังเรื่องนี้อย่างไรว่า โตขึ้นมาจะเอาเรื่องนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจเลือกเรียน เลือกบริษัท เลือกสังคมที่เราจะอยู่ ซึ่งต้องอาศัยหลาย ๆ คน หลาย ๆ สื่อที่จะช่วยกันย้ำเตือน”
เมื่อถามว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ต้องสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ดร.เนติธรนิ่งคิด พร้อมพูดกลับมาว่า “ต้องถามเขากลับไปว่า โตขึ้นหนูอยากมีชีวิตและอนาคตแบบไหน” เพราะในสายตาของเขา สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ต้องเคยมีประสบการณ์และรู้ด้วยตัวเอง
“สิ่งที่ต้องปลูกฝังพอ ๆ กับเรื่องสิทธิ คือเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคม เรื่องสิทธิมนุษยชน เราจะเข้าใจได้ดี เมื่อเรามีประสบการณ์ตรง”
พูดกันตรง ๆ ท่ามกลางสังคมยุคปัจจุบัน การที่ธุรกิจเข้ามาขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน อาจถูกมองเป็นเพียงงานที่แสดงให้เห็นว่า องค์กรมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility)
แต่คำว่า ‘รับผิดชอบต่อสังคม’ ในมุมมองของดร.เนติธร ไม่ใช่แค่การมอบถุงยังชีพเวลาเกิดภัยพิบัติหรือแสดงความเห็นใจกัน แต่เป็น ‘การเคารพสิทธิของคน’
“ความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นจากภายใน มันไม่ใช่แค่ช่วยคนแก่ แจกผ้าห่ม แจกน้ำ แจกถุงยังชีพ ทิ้งขยะ แต่เป็นการเคารพสิทธิของคน มันต้องเริ่มจากภายใน และสื่อสารออกไปให้กับกลุ่มธุรกิจของเราที่จะต้องเข้าใจ และเห็นดาวเหนือดวงนี้เหมือนกันหมด”
ดร. เนติธร ยกตัวอย่างออฟฟิศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มีห้องน้ำสำหรับเพศที่ 3 และบริการปรึกษาเรื่องเพศ สำหรับ LGBTQI+ มีทางลาดอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ เตรียมพร้อมสำหรับผู้นำหญิงรุ่นใหม่ มีห้องให้นมบุตร และมีแอป True Money ซึ่งเป็นเหมือนช่องทางให้คนธรรมดาเข้าถึงระบบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทยก็ตาม
แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะดร.เนติธร ย้ำจุดยืนว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์พร้อมจะเป็นผู้เล่นหลักในการขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อไปในอนาคต
“เราโตขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความหลากหลาย ขอบเขตและขนาดของธุรกิจ มีความคาดหวังจากลูกค้า จากพนักงาน จากคู่ค้าของเรา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะขับเคลื่อนให้เราเปลี่ยน เมื่อมาตรฐานต่างๆ ถูกยกระดับเราก็ต้องตามให้ทัน แน่นอน CP หยุดไม่ได้ และต้องทำมากกว่ามาตรฐานด้วย”
เมื่อวันหนึ่งที่คนทุกคน ทุกธุรกิจรู้จักคำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ สิ่งนี้จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยผลักธุรกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้
เหมือนกับที่ ดร.เนติธรบอกไว้ว่า โลกของธุรกิจคือการแข่งขัน ในเรื่องสิทธิมนุษยชน มันคือการแข่งขันเพื่อให้ดีขึ้น และเมื่อทุกอย่างดีขึ้น บรรยากาศธุรกิจไทยก็คงจะสดใสได้สักวันหนึ่ง
“ยิ่งแข่งยิ่งดี มันคือเรื่อง Race to the Top การแข่งเพื่อให้ดีขึ้น ถ้าเราสามารถที่จะยกน้ำในแม่น้ำขึ้นได้เรือทุกคนก็ขึ้นหมด ถูกไหม”