05 มิ.ย. 2566 | 16:44 น.
- เส้นทางอาชีพดีไซเนอร์ของ ‘อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน’ ได้รับการผลักดันจากผู้หญิง 3 คน ได้แก่ แม่ พี่สาว และ ‘อิซาเบลลา โบลว์’
- แม็กควีนเคยถูกกล่าวหาว่า ‘เกลียดผู้หญิง’ เพราะออกแบบเสื้อผ้าให้ผู้หญิงดูน่ากลัว แตกต่างจากดีไซเนอร์คนอื่น ๆ ที่มักทำให้ผู้หญิงดูสวยงามและไร้เดียงสา
‘อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน’ ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ที่ทรงอิทธิพลและสร้างสรรค์ที่สุดตลอดกาล ด้วยสไตล์ที่ดิบเถื่อนแตกต่างจากดีไซเนอร์คนอื่น ๆ จนได้รับฉายาว่า ‘bad boy’ หรือไม่ก็ ‘นักเลง’
แต่ความจริงแล้ว เขาเพียงต้องการสร้าง ‘เกราะ’ ให้ผู้หญิงดู ‘น่าเกรงขาม’
‘ลี อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน’ เกิดที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 1969 เขาเป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาลูกหกคนของพ่อที่เป็นคนขับแท็กซี่ และแม่ที่เป็นครูสอนวิชาสังคม
แม็กควีนชอบบอกว่าตัวเองเป็น ‘แกะสีชมพู’ ของบ้าน ด้วยความที่เขาดูแปลกแยกจากพี่น้องคนอื่น เขาชอบเย็บปักถักร้อยและมักตัดเสื้อผ้าให้พี่สาวใส่อยู่เสมอ
‘จอยซ์’ แม่ของเขา สังเกตเห็นความสามารถของลูกชาย เธอสนับสนุนให้เขาได้ทำในสิ่งที่รัก นั่นจึงเป็นเหตุผลให้แม็กควีนออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 16 ปี เพื่อไปฝึกงานที่ร้านตัดสูท Anderson and Sheppard บนถนน Savile Row ก่อนจะย้ายไปทำที่ร้าน Gieves & Hawkes (ที่มีข่าวลือว่าเขาปักคำหยาบคายไว้ในซับในของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ ซึ่งในขณะนั้นคือเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์)
ทั้งสองร้านที่กล่าวมานั้นล้วนเป็นปรมาจารย์ด้านเทคนิคการตัดเย็บเสื้อผ้า ทำให้แม็กควีนได้เรียนรู้ศิลปะการตัดเย็บอันซับซ้อน
เท่านั้นยังไม่พอ เขายังได้ไปทำงานที่ห้องเสื้อ Angels and Bermans ซึ่งเป็นผู้จัดหาเครื่องแต่งกายสำหรับใช้ในการแสดง ที่ช่วยเพิ่มทักษะการทำแพทเทิร์นเสื้อผ้าของเขาให้หลากหลายขึ้น
2 ปีต่อมา แม็กควีนยังได้รับการว่าจ้างจากร้าน Koji Tatsuno ในลอนดอน ก่อนจะเดินทางไปมิลานในช่วงสั้น ๆ เพื่อทำงานให้กับ Remeo Gigli
เมื่ออายุได้ 21 ปี แม็กควีนเดินทางกลับอังกฤษพร้อมประสบการณ์มากมาย เขาลองไปสมัครเป็นอาจารย์ที่ Central Saint Martins ซึ่งเป็นแหล่งผลิตนักออกแบบชื่อดังของโลกในอังกฤษ แต่กลับถูกปฏิเสธ
การที่เขาไม่ได้เป็นอาจารย์ ไม่ได้หมายความว่าเขาไร้ศักยภาพ แต่เนื่องจากทาง Central Saint Martins มองว่าเขายังไปได้อีกไกล จึงโน้มน้าวให้เขาลงทะเบียนเรียนให้เป็นเรื่องเป็นราว
แม็กควีน ที่แม้จะมีประสบการณ์จากร้านดัง ๆ ตัดสินใจคว้าโอกาสนั้น และเรียนจนจบปริญญาโทด้านแฟชั่น
แล้วเขาก็ตัดสินใจไม่ผิดเลย เมื่อผลงานชิ้นจบการศึกษาเกิดไปเตะตากูรูแฟชั่นคนดังในยุโรปอย่าง ‘อิซาเบลลา โบลว์’ เข้าอย่างจัง
โบลว์กวาดซื้อเสื้อผ้าของแม็กควีนในราคา 6,200 ดอลลาร์ นอกจากจะได้เงินแล้ว แม็กควีนยังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและคนในแวดวงอุตสาหกรรมแฟชั่นในฐานะดีไซเนอร์น้องใหม่ที่น่าจับตาอีกด้วย
ต่อมาโบลว์ได้กลายเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในชีวิตของแม็กควีน มีรายงานว่าเธอนี่แหละ ที่บอกให้เขาใช้ชื่อ ‘อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน’ ในวงการแฟชั่น แทนที่จะใช้ชื่อ ‘ลี’
ที่บอกว่าโบลว์เป็นคนสำคัญในชีวิตของแม็กควีนนั้น ไม่ใช่เรื่องเกินจริง เธอเป็นทั้งเพื่อนและสะพานที่นำแม็กควีนไปรู้จักคนในวงการแฟชั่น
ชื่อเสียงและคอนเนกชั่นที่แม็กควีนได้รับจากโบลว์ทำให้เขาไม่อยากไปทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ แต่เลือกที่จะตั้งแฟชั่นเฮาส์ของตัวเองทันทีที่เรียนจบในปี 1992
ภายในเวลา 10 ปี เสื้อผ้าที่ผ่านการตัดเย็บอย่างประณีตและเต็มไปด้วยจินตนาการของเขา ได้กลายเป็นไฮไลต์ของทุกซีซั่น
โดยเฉพาะกางเกงขายาวทรง bumster โชว์แก้มก้น และคอลเลกชั่น Highland Rape ที่นางแบบสวมเสื้อผ้าขาดวิ่น สภาพไม่ต่างจากคนถูกล่วงละเมิดทางเพศ ที่นำไปสู่การถกเถียงเรื่องความเหมาะสมและเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่เป็นศิลปะและสิ่งที่น่ารังเกียจ
คอลเลกชั่นสุดล่อแหลมนี้ ทำให้แม็กควีนถูกกล่าวหาว่าเกลียดผู้หญิง ซึ่งเขาได้ออกมาตอบโต้ด้วยความโกรธว่า
“ผมเคยเห็นผู้หญิงคนหนึ่งถูกสามีของเธอทุบตีจนเกือบตาย ผมรู้ว่าการเกลียดผู้หญิงคืออะไร ผมเกลียดสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงเปราะบางและดูไร้เดียงสา ผมต้องการให้ผู้คนกลัวผู้หญิงที่สวมเสื้อผ้าของผม”
ไม่เฉพาะเสื้อผ้าเท่านั้นที่ทำให้ผู้หญิงดูแข็งแกร่งและดุดันขึ้น แม็กควีนยังออกแบบผ้าพันคอรูปหัวกะโหลก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องประดับแฟชั่นที่โดดเด่นที่สุดตลอดกาล
หลังเรียนจบ 4 ปี แฟชั่นเฮาส์รายใหญ่อย่าง Givenchy เข้ามาจีบแม็กควีนสำเร็จ เขาได้นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ Givenchy แทน ‘จอห์น กัลลิอาโน’
ช่วงแรกเขาได้รับการตอบรับไม่ดีนัก สื่อมวลชนบางคนถึงกับเรียกเขาว่า ‘นักเลงแห่งวงการแฟชั่นอังกฤษ’ จากความกล้าและบ้าบิ่นเกินใคร
เขาเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์คนแรก ๆ ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในแฟชั่นโชว์ และได้ชื่อว่าเป็น ‘จอมกบฏ’ ต่อความงามแบบดั้งเดิมของแฟชั่น
เขาจัดแฟชั่นโชว์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ผู้กำกับชาวอังกฤษที่โด่งดังจากภาพยนตร์แนวระทึกขวัญ หรือจัดแฟชั่นโชว์ที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ ‘Lord of the Files’ ซึ่งมีชื่อไทยว่า ‘วัยเยาว์อันสิ้นสูญ’ ทั้งยังเคยจัดแฟชั่นโชว์ตามสถานที่สุดแปลก ไม่เว้นแม้แต่โรงพยาบาลจิตเวช
แม้จะไม่เป็นที่ปลาบปลื้มของสื่อมวลชน แต่ในปี 1996 ซึ่งเป็นปีแรกที่เขาทำงานให้ Givenchy แม็กควีนก็ได้รับรางวัล British Designer of the Year และยังได้รับรางวัลนี้อีก 3 ครั้งตลอดอาชีพของเขา
ระหว่างทำงานให้ Givenchy แม็กควีนก็ยังทำแบรนด์ของตัวเองไปด้วย ต่อมาในปี 2000 Gucci Group ได้เข้ามาซื้อหุ้นแบรนด์อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน ในสัดส่วน 51% ด้วยเงิน 80 ล้านดอลลาร์ พร้อมกับตั้งเขาเป็นผู้อำนวยการสร้างสรรค์
สิ่งที่เกิดขึ้นเล่นเอา LVMH เจ้าของ Givenchy ถึงกับควันออกหู ต่อมาในปี 2001 แม็กควีนจึงจบชีวิตการทำงานที่ Givenchy
แม้จะยุติสัญญากับ Givenchy แต่ระหว่างที่ทำงานที่นั่น แม็กควีนได้ฝากผลงานที่น่าจดจำไว้มากมาย หนึ่งในนั้นคือคอลเลกชั่นโอต์กูตูร์แรกของเขา ซึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ‘ห่วยแตก’
หลังจากออกจาก Givenchy แม็กควีนเคยให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ในทำนองว่า ที่นี่จำกัดความคิดสร้างสรรค์ของเขา
“ผมทำกับ Givenchy ร้ายมาก สำหรับผมมันก็แค่เงิน ผมไม่สามารถทำอะไรได้ ทางเดียวที่จะได้ผลคือพวกเขาต้องยอมให้ผมเปลี่ยนแนวคิดทั้งหมดของแฟชั่นเฮาส์ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ใหม่ให้กับมัน แต่พวกเขาก็ไม่เคยต้องการให้ผมทำเช่นนั้น (เบอร์นาร์ด) อาร์โนลต์ ไม่เคยยอมให้ Givenchy มาบดบัง Dior สำหรับเขา Givenchy เป็นเพียงน้ำหอม”
ช่วงต้นยุค 2000s เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับแม็กควีนทั้งในเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว เขาแต่งงานกับ ‘จอร์จ ฟอร์ไซธ์’ ในฤดูร้อนปี 2000 โดยมี ‘เคท มอส’ เป็นเพื่อนเจ้าสาว ขณะเดียวกันเขายังคว้ารางวัลด้านแฟชั่นไปครองได้มากมาย
เขายังได้รับเงินสนับสนุนมหาศาลจาก Gucci Group (ปัจจุบันเป็นของ Kering หนึ่งในกลุ่มบริษัทสินค้าลักชัวรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก) ทำให้แบรนด์อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน ขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์และการตลาด ที่มุ่งไปสู่เมืองหลวงแห่งแฟชั่นด้วยบูติกใหม่ในนิวยอร์ก มิลาน ลอนดอน ลาสเวกัส และแอลเอ พร้อมกับจับมือกับแบรนด์ดังอย่าง Puma และ Mac ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์
เมื่อเป็นอิสระจากความสัมพันธ์ที่ไม่มีความสุขระหว่างเขากับ Givenchy คอลเลกชั่นของแม็กควีนก็เปลี่ยนไป ทว่ายังคงได้รับแรงบันดาลใจจากความมืดมัวและความน่ากลัวอยู่ เพียงแต่ถูกทำให้เป็นมิตรต่อการขายมากขึ้นด้วยลายพิมพ์และรูปทรงที่บางเบาสวยงาม
ยกตัวอย่างคอลเลกชั่น SS05 ที่โดดเด่นด้วยกระโปรงทรงดินสอและชุดค็อกเทลที่หรูหรา แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ใหญ่ที่แตกต่างจากการออกแบบในยุคแรก ๆ ของเขา แต่ยังคงไว้ซึ่งความลุ่มลึกและรายละเอียดที่แตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ
ในขณะที่ธุรกิจของเขากำลังเฟื่องฟู ชีวิตส่วนตัวของแม็กควีนกลับปั่นป่วนมากขึ้น เขาเลิกรากับคู่รักเพศเดียวกัน ตามมาด้วยการฆ่าตัวตายของโบลว์ในปี 2007 ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้เขาอย่างมาก
ต่อมาในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2010 แม่ที่สนิทกับเขามาก และมักนั่งแถวหน้าเพื่อชมงานแฟชั่นโชว์ของเขาเสมอ จากไปด้วยโรคมะเร็ง
หลังจากจัดการเรื่องป้ายบนหลุมศพแม่เรียบร้อย วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2010 แม็กควีนตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในวัย 40 ปี
มีรายงานว่าเขาทิ้งเงิน 19.7 ล้านดอลลาร์ ไว้ให้กับองค์กรการกุศล ครอบครัว พนักงาน และสุนัขตัวโปรด
นอกจากเงินแล้ว เขายังได้ทิ้งแนวคิดหลุดกรอบโลกแฟชั่นไว้เป็นมรดก โดยมี ‘ซาราห์ เบอร์ตัน’ มือขวาของเขา รับหน้าที่สานต่อ
หนึ่งปีหลังการเสียชีวิตของแม็กควีน เบอร์ตันได้ออกแบบชุดแต่งงานให้ ‘เคท มิดเดิลตัน’ และตอนนี้แบรนด์อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน ได้กลายเป็นแบรนด์โปรดในหมู่สมาชิกราชวงศ์อังกฤษและคนดังระดับเอลิสต์ เป็นที่เรียบร้อย
8 ปีหลังการเสียชีวิตของแม็กควีน ได้มีการสร้างภาพยนตร์เรื่อง McQueen ขึ้น และได้มีการเปิดเผยด้านที่เปราะบางของดีไซเนอร์จอมขบถผู้นี้
แม็กควีนเคยเปิดใจกับครอบครัวว่าเขาถูกพี่เขยล่วงละเมิดทางเพศเป็นเวลาหลายปี ตั้งแต่เขายังอายุไม่ถึง 10 ขวบ เขายังเคยเห็นพี่เขยคนนี้ทำร้ายร่างกาย ‘เจเน็ต’ พี่สาวที่เขารัก จนเธอแท้งลูกถึง 2 ครั้ง อันเป็นผลจากความรุนแรง
“เมื่อคุณอายุ 8 ขวบ การได้เห็นพี่สาวถูกสามีบีบคอ พระเจ้า สิ่งที่คุณอยากทำคือการทำให้ผู้หญิงดูแข็งแกร่งขึ้น” แม็กควีนพูดถึงเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความมืดมิดในชีวิต
ไหนจะชีวิตคู่ที่จบลงในเวลาเพียง 2 ปี การเข้ารับการดูดไขมันเพื่อลดหุ่น การใช้ยาและแอลกอฮอล์ในทางที่ผิด การสูญเสียคนสำคัญในชีวิต
เรื่องราวที่มืดมนและบิดเบี้ยวเหล่านี้ แม้จะกลายเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเสื้อผ้า จนทำให้ชื่อของเขาถูกยกไว้บนหิ้ง แต่ท้ายที่สุดก็ทำให้เขาแหลกสลายจนมิอาจมีชีวิตอยู่ได้
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง: