ไอคอนสยาม ปรากฏการณ์ระดับโลกที่อวดโฉมอย่างเป็นทางการสู่ทุกสายตาเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนปี 2018 อยู่ภายใต้การขับเคลื่อนของ ชฎาทิพ จูตระกูล ผู้ไม่เคยมีคำว่า “ธรรมดา” อยู่ในพจนานุกรมของเธอ ไอคอนสยามเกิดจากแพสชั่นของชฎาทิพที่ต้องการสร้างโครงการใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ระดับ "ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์" พูดถึงกันแค่ประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็เงียบหาย แต่ต้องเป็นโครงการที่ดึงให้สปอตไลท์จากทั่วโลกสาดแสงทาบทับ ทั้งต้องเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่คนไทยชื่นชอบ และต้องขึ้นชั้นเป็นหนึ่งในสถานที่ชั้นนำของเมืองไทย ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต้องแวะมาเช็คอินสักครั้งให้ได้ ความเชี่ยวชาญในธุรกิจค้าปลีกหลายสิบปี บวกกับสายสัมพันธ์อันดี ทำให้ชฎาทิพซึ่งนั่งเก้าอี้ซีอีโอของ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด สามารถผนึกความแข็งแกร่งของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ ซี.พี. มาร่วมทุนในนาม บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด ที่จดทะเบียนในเดือนพฤษภาคม ปี 2554 โดยมีทุนจดทะเบียนปัจจุบันที่ 7.9 พันล้านบาท จะเรียกไอคอนสยามว่า “อาณาจักร” ก็คงไม่ผิดเท่าไหร่ เพราะตั้งอยู่บนที่ดินผืนงามกว่า 50 ไร่ ย่านเจริญนคร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในมีทั้งศูนย์การค้าไอคอนสยาม ห้างสรรพสินค้าสยาม ทาคาชิมายะ และคอนโดมิเนียมระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ 2 แห่ง รวมมูลค่าการลงทุนทั้งหมดกว่า 5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นโครงการ “ขั้นสุด” ของชฎาทิพ ที่เธอถึงกับเอ่ยปากว่าคงทำอะไรที่มากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว! ถ้าย้อนดูประวัติของชฎาทิพแล้วอาจไม่แปลกใจ เพราะบุคคลต้นแบบที่ทำให้ชฎาทิพกล้าคิดใหญ่ทำใหญ่ก็คือ“พ่อ” นั่นเอง
ถึงจะเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 3 คน และเป็นลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนเพียงคนเดียวของ พล.ท.เฉลิมชัย-พญ.ลัดดา จารุวัสตร์ แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้เลี้ยงชฎาทิพ หรือ “แป๋ม” แบบไข่ในหิน ตรงกันข้าม กลับเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนให้ชฎาทิพดูแลพึ่งพาตัวเองได้ ชฎาทิพจบปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่ความชอบด้านประกันภัยจะพาเธอไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Chartered Insurance Institute (Oil and Gas Insurance) ประเทศอังกฤษ ทำงานในสายงานประกันภัยที่ Mercantile & General Reinsurance อยู่ราว 4 ปี แล้วกลับเมืองไทยมาทำงานในตำแหน่งรักษาการผู้จัดการฝ่ายประกันภัยน้ำมันและก๊าซ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด แต่ต่อมาก็เกิดเจ็บป่วยอย่างไม่คาดคิด ชฎาทิพจึงขอลาออกเพื่อพักรักษาตัว เมื่อหายดีแล้ว ชฎาทิพในวัย 25 ปี เข้าทำงานในธุรกิจที่ผู้เป็นพ่อก่อตั้ง คือ สยามเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าแห่งแรกของไทย ภายใต้ บริษัท บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส จำกัด (เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ในปี 2546) ซึ่งมีธุรกิจหลักอีกอย่างคือ โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ที่ปัจจุบันคือที่ตั้งของสยามพารากอน จากเงินเดือน 20,000 บาทที่บริษัทประกันภัย ชฎาทิพต้องมารับเงินเดือน 4,500 บาทในตำแหน่งพนักงานบัญชีที่สยามเซ็นเตอร์ พร้อมพิสูจน์ตัวเองว่ามีความรู้ความสามารถไม่แพ้ใคร และหลังสั่งสมประสบการณ์ในสายงานบัญชี ชฎาทิพก็ขยับไปสายงานเซลส์โปรโมชั่น ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ซึ่งทำให้เธอได้พบปะผู้เช่าพื้นที่และลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาสยามเซ็นเตอร์ ถือเป็นการเก็บข้อมูลชั้นดีที่นำมาปรับปรุงศูนย์การค้าไปในตัว “สยามพิวรรธน์ เป็น retail developer รายแรกในประเทศไทย เราเป็นผู้สร้างสยามเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นศูนย์การค้ามาตรฐานระดับสากลแห่งแรกในไทย เราเริ่มต้นจากมีที่ดินส่วนหนึ่งใจกลางเมือง สมัยที่สยามยังไม่มีอะไร ถนนอังรีดูนังต์ยังเป็นคลอง และสวนฝรั่ง ตอนนั้นคุณพ่อมองว่า ตรงนี้จะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ... “กลยุทธ์ตั้งแต่แรกของเรา ได้แก่ strategic location ประเภทธุรกิจ การออกแบบ การสร้างธุรกิจที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนให้เกิดขึ้นในประเทศ ตามปณิธานของเราที่ต้องการสร้างโครงการระดับชาติ และการนำสิ่งที่ดีที่สุดของประเทศไทยออกมาสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ นี่คือจิตวิญญาณและตัวตนของสยามพิวรรธน์ตั้งแต่ 50 ปีก่อน” ชฎาทิพกล่าวถึงวิสัยทัศน์ของ พล.ท.เฉลิมชัย ไว้ในนิตยสาร Forbes Thailand เมื่อปี 2558 ซึ่งแนวคิดของพ่อเป็นแรงบันดาลใจให้ชฎาทิพทำธุรกิจมาตลอด 30 กว่าปี พลังความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องการมีศูนย์การค้าด้านไลฟ์สไตล์สำหรับคนเมือง ผลักให้ชฎาทิพสร้าง ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ติดกับสยามเซ็นเตอร์ เปิดตัวในปี 2540 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เมืองไทยเผชิญพิษเศรษฐกิจ แต่ผู้บริหารหญิงก็ไม่หวั่น ด้วยเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในศักยภาพและแนวคิดของสยามดิสคัฟเวอรี่ กระทั่งปี 2558 ชฎาทิพได้ลงงบก้อนใหญ่เพื่อปรับปรุง พร้อมปรับแนวคิดให้เป็น “The Exploratorium” ยึดประสบการณ์ของลูกค้าเป็นศูนย์กลางแทนการยึดแบรนด์เป็นหลัก ส่วนสยามเซ็นเตอร์ที่เปิดให้บริการมาหลายสิบปี ชฎาทิพก็ยกเครื่องใหม่หมดในปี 2556 ด้วยงบลงทุนร่วมพันล้านบาท ด้วยแนวคิด “The Ideaopolis” นำเสนอไอเดียที่ไม่จำกัดอยู่ในขนบศูนย์การค้าแบบเดิมๆ นำศิลปะ เทคโนโลยี ไลฟ์สไตล์ ฯลฯ มาผสมผสานเพื่อสร้างประสบการณ์ช็อปปิ้งแปลกใหม่ ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือความร่วมมือที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่ววงการค้าปลีก เมื่อชฎาทิพจับมือกับ ศุภลักษณ์ อัมพุช หญิงแกร่งแห่ง เดอะมอลล์ กรุ๊ป ผู้บริหารศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า “เดอะมอลล์” ทุ่มงบกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท สร้าง ศูนย์การค้าสยามพารากอน เปิดตัวในปี 2548 ให้เป็นจุดหมายปลายทางการช็อปปิ้งระดับโลก ซึ่งดูเหมือนว่าสยามพารากอนตอบโจทย์จุดนี้ได้อย่างไม่ผิดหวัง แม้จะปั้นศูนย์การค้าให้ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายแห่งแต่ซีอีโอแห่งสยามพิวรรธน์ก็ไม่ประมาท ทุกวันนี้ สิ่งที่ชฎาทิพและทีมงานทำคือการติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงศูนย์การค้าต่างประเทศ เพื่อดูว่ากระแสเคลื่อนไปอยู่ที่ไหน พฤติกรรมผู้บริโภคทุกวันนี้เปลี่ยนไปอย่างไร พร้อมสร้างพันธมิตรทั่วโลก เพื่อปักหลักความแข็งแกร่งให้กับทุกธุรกิจที่อยู่ภายใต้การบริหาร รวมทั้งเพื่อตอบความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด และ “ไอคอนสยาม” ก็คือประวัติศาสตร์บทใหม่ของชฎาทิพนั่นเอง ที่มา นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับมีนาคม พ.ศ.2558 http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=2764 http://www.siampiwat.com/th/business/real-estate-development/siam-discovery https://www.prachachat.net/marketing/news-142160 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/609505 ภาพ : บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกด