09 ม.ค. 2562 | 16:57 น.
บ้านเราอาจชินกับเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ไปทางไหนก็เจอ แต่ถ้าไปพม่าที่ไม่มีเซเว่น อีเลฟเว่น ล่ะ เราจะเข้าร้านไหน? ถ้าไม่นับโชห่วยซึ่งเป็นร้านค้าดั้งเดิม คำตอบก็จะมีให้เลือกไล่ตั้งแต่ Ocean Supercenter ไฮเปอร์มาร์เก็ตที่รวมสินค้าไว้ครบครัน City Mart ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นสินค้าประเภทอาหารและของชำ และ City Express ร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมง ซึ่งทั้งสามอย่างที่ว่ามาอยู่ภายใต้ City Mart Holding Co.,Ltd. ที่มี วิน วิน ตินท์ (Win Win Tint) เป็นซีอีโอ และเป็นหญิงแกร่งที่ใคร ๆ ก็ยกให้เธอเป็นเจ้าแม่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งประเทศพม่า! วิน วิน เป็นชาวพม่าเชื้อสายจีน เกิดเมื่อ ค.ศ.1975 บรรพบุรุษของเธออพยพจากมณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน มาตั้งรกรากที่พม่า นำความขยันและอดทนที่พกติดตัวมาเป็นแรงขับในการค้าขายภายใต้กฎเกณฑ์เข้มงวดของรัฐบาลพม่าหลังปฏิวัติในปี 1962 ครอบครัวของวิน วิน เคยทำธุรกิจขายเสื้อผ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าจากต่างประเทศ แต่เป็นสินค้าที่ค่อนข้างขายยาก (ในยุคนั้น) จึงเปลี่ยนมาขายสินค้าประเภทอาหาร และเมื่อพม่าค่อย ๆ เปิดตัวเองสู่โลกภายนอก ส่งผลให้การใช้ชีวิตของผู้คนเริ่มเปลี่ยน ธุรกิจใหม่ ๆ ก็ผุดขึ้นมาด้วย กลายเป็นตัวจุดประกายให้ครอบครัวเริ่มธุรกิจค้าปลีกอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเปิด City Mart สาขาแรกในย่างกุ้งเมื่อปี 1996 จุดพลิกผันในชีวิตของวิน วิน มาถึงในปีเดียวกันนั้นเอง เพราะหลังจากเปิดร้านได้ไม่กี่เดือน ผู้จัดการร้านก็ลาออก วิน วิน ซึ่งเพิ่งเรียนจบหลักสูตรด้านบัญชีและบริหารธุรกิจ จาก Thames Business School ประเทศสิงคโปร์ และกำลังจะไปเรียนต่อด้านบัญชีที่ออสเตรเลีย ก็ถูกครอบครัวขอร้องให้เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจชั่วคราว (แต่เธอก็อยู่นานมาถึงทุกวันนี้) การเปิดประเทศส่งผลให้ภาคธุรกิจคึกคัก ส่วนหนึ่งสะท้อนจากการที่ Procter & Gamble (P&G) บริษัทข้ามชาติซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจากสหรัฐอเมริกา เลือกใช้บริษัทท้องถิ่นในการจัดจำหน่ายสินค้าในเครือ วิน วิน ซึ่งมองเห็นโอกาสในธุรกิจโลจิสติกส์ (ขนส่ง) จึงก่อตั้ง Pahtama Group ในปี 1997 ดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้า และเติบโตต่อเนื่องจนปัจจุบันกลายเป็นบริษัทขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่สุดในพม่าไปแล้ว ควบคู่กับการขยายสาขา City Mart วิน วิน ก็ขยายไปเล่นในระดับไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีขนาดใหญ่และครอบคลุมสินค้าหลากหลายประเภทมากกว่า เธอเปิด Ocean Supercenter ซึ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกของพม่าขึ้นในปี 2006 จากนั้นในปี 2011 ก็เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อด้วย marketplace by City Mart เพิ่มสัดส่วนสินค้านำเข้าระดับพรีเมียมมากขึ้น และในปีเดียวกันก็ขยับไปเล่นในธุรกิจร้านสะดวกซื้อในชื่อ City Express ชูจุดเด่นที่การเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง City Mart Holding ซึ่งเป็นบริษัทแม่ มีรายได้รวมในปี 2015 ราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7,200 ล้านบาท (อิงจากอัตราแลกเปลี่ยนในเดือนมีนาคมปีนั้น ซึ่งเป็นเดือนสิ้นสุดปีงบประมาณ) ส่วนปัจจุบัน City Mart และ marketplace by City Mart มีสาขารวมกันราว 30 แห่งในย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ Ocean Supercenter มีกว่าสิบแห่งอย่างในย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เนปิดอว์ มะละแหม่ง ตองยี ฯลฯ ส่วน City Express มีเกือบ 60 แห่ง มีพนักงานทั้งหมดรวมแล้วกว่า 8,000 คน แม้ วิน วิน จะเป็นหญิงชาวพม่าคนแรกที่ติดโผ 1 ใน 50 อันดับนักธุรกิจหญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเอเชีย ปี 2015 จากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes Asia และเป็นนักธุรกิจหญิงเบอร์ต้น ๆ ของพม่า แต่กว่าจะมาถึงวันนี้เส้นทางของเธอไม่ง่ายเลย City Mart สาขาแรกที่เปิดในปี 1996 ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เนื่องจากวิน วิน ทำความเข้าใจตลาดน้อยเกินไป สินค้าส่วนมากที่นำเข้าจากสิงคโปร์ไม่โดนใจคนพม่า ส่วนหนึ่งเพราะไม่ตอบโจทย์การใช้งาน และอีกส่วนเพราะมีราคาแพงเกิน เธอพยายามแก้มือใน City Mart สาขาที่ 2 ซึ่งเปิดในปี 1998 บนพื้นที่ 6,000 ตารางฟุต แต่สินค้าส่วนใหญ่ก็ยังมีราคาแพงเกินกว่าที่คนพม่าจะจับจ่ายใช้ในชีวิตประจำวันได้อยู่ดี กลายเป็นบทเรียนราคาแพงให้วิน วิน อีกครั้ง กว่าจะพลิกให้ City Mart ประสบความสำเร็จได้ก็ในปี 2000 จากการเปิดสาขาที่ 3 ในห้างสรรพสินค้า บนพื้นที่ 8,000 ตารางฟุต แน่นอนว่าการเป็นนักธุรกิจหญิงในโลกที่ชายเป็นใหญ่ก็ไม่ง่ายเช่นกัน แต่วิน วิน ก็ใช้ความมุ่งมั่น อดทน และพิสูจน์ตัวเอง กระทั่งได้รับการยอมรับในที่สุด “ในสายธุรกิจ มีผู้หญิงไม่กี่คนเท่านั้นที่อยู่ในระดับผู้นำ ดังนั้นฉันจึงต้องมีความมั่นใจเวลาสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน ฉันพิสูจน์การทำงานด้วยผลลัพธ์ค่ะ” ที่มา https://www.forbes.com/sites/forbesasia/2015/09/23/aisle-queen/#181a6f865e9d http://www.myanmarinsider.com/know-your-market-customers-and-stakeholders-city-marts-daw-win-win-tint-recounts-her-success/