26 เม.ย. 2565 | 14:24 น.
‘ร้านเล่า’ คือร้านหนังสือเล็ก ๆ ย่านนิมมานเหมินทร์ที่ภายในแวดล้อมไปด้วยบรรยากาศอันอบอุ่นเรียบง่ายและอิสระ ในก้าวแรกที่เข้าไปเราพบกับหนังสือหลากประเภทหลายสํานักพิมพ์บวกกับความรู้สึกที่เหมือนดั่งต้องมนต์ สำหรับคนที่มีความรู้สึกที่ดีต่อการอ่านหนังสือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หลายคนน่าจะมีความสุขระหว่างเดินเข้ามา และพบกับคุณจ๋า- กรองทอง สุดประเสริฐ เจ้าของร้านผู้ต้อนรับลูกค้าด้วยรอยยิ้ม ภายในร้านไม่ได้มีแค่หนังสือต่าง ๆ แต่ยังมีของอื่นรวมอยู่ด้วย เช่น สมุดโน้ตทํามือ สติ๊กเกอร์จากหนังดัง หรือแม้กระทั่งแผ่นเพลง คลอเคล้ากับเสียงเพลงในร้าน ความเป็นมาของร้านเล่าแห่งนี้มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ติดตามจากบทสนทนานี้กันได้เลย The people : แนะนําตัวให้พวกเรารู้จักเพิ่มเติม พี่ชื่อจ๋า - กรองทอง สุดประเสริฐ มาทํางานหรือบริหารอยู่ที่ร้านเล่าได้เกือบ 20 ปีแล้ว ร้านเล่าเอง จริง ๆ แรกเริ่มเดิมทีมาจากรุ่นพี่ 4 คน ชื่อ พี่ก้อย พี่เก็ท พี่จิ๋ว พี่หนู กลุ่มเพื่อนในมหาลัยเชียงใหม่ แต่ปัจจุบัน พวกเขาได้แยกย้ายกันไปทําอาชีพอื่นแล้ว อย่างพี่หนูก็ไปเป็นอาจารย์อยู่ที่ม.เกษตร ที่สกลนคร แต่พี่จ๋า เป็นน้องพี่เก็ท ซึ่งพี่เก็ทแกยังเป็นคนเดียวที่ยังรันร้านเล่าอยู่ตั้งแต่ร้านเปิดมา ช่วงก่อตั้งแรก ๆ พี่ ๆ เขาก็มาช่วยกันนะ แต่หลัง ๆ มาร้านหนังสือต้องปรับตัวจนปัจจุบันก็เหลือแค่พี่กับพี่เก็ทอยู่กันแค่ 2 คนหลัก ๆ ที่ดูแลร้านนี้ The people : ชื่อร้านเล่ามีที่มาอย่างไร ชื่อร้านเล่า จริง ๆ พี่ก้อยเป็นคนตั้ง เพราะอยากให้ร้านมีคอนเซ็ปต์ว่า ทุกสิ่งมีเรื่องเล่าในตัวเอง แล้วคําว่าเล่ามันสั้น ๆ น่ารักดี เรียกง่าย ๆ สามารถเอามาคล้องกับร้านเล่า แต่ไม่ได้เมาเหล้านะ แค่เปลี่ยนมาเป็นเมาหนังสือแทน (หัวเราะ) The people : มองความเท่าเทียมของผู้อ่านที่จะเข้าถึงหนังสือ จากราคาที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ในปัจจุบันอย่างไรบ้าง พี่ว่าอันนั้นไม่น่าใช่เงื่อนไขหลัก พี่ว่าเราต้องยอมรับในเรื่องของค่าครองชีพกับราคาหนังสือในประเทศไทยที่มันอาจจะไม่ได้เหมือนเมืองนอก เพราะทางนั้นค่าครองชีพของเขาสูงกว่าบ้านเรา ซึ่งทั้งรายได้ที่ได้มาซื้อหนังสือมันสามารถไปด้วยกันได้ ไม่ติดขัดอะไร ถ้าเทียบกับบ้านเรา ราคาหนังสือถือว่าค่อนข้างสูงกว่าค่าครองชีพ แต่พี่คิดว่าหนังสือมันอาจไม่ได้เข้าถึงกับคนทุกระดับ แต่มันมีช่องทางในการอ่านที่มันเป็นไปได้แต่เพียงแค่ทุกวันนี้ยังไม่เอื้อต่อทุกคน แต่จริง ๆ ในเชียงใหม่เองรวมไปถึงทั่วประเทศจากหลาย ๆ พื้นที่ก็พยายามจะเคลื่อนไหวกันในเรื่องของการส่งเสริมการอ่านอยู่ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดประชาชน พี่คิดว่าบ้านเรายังค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปกับเรื่องนี้อยู่ The people : การปรับตัวของร้านหนังสืออิสระอย่าง ‘ร้านเล่า’ ที่ผู้อ่านปรับเปลี่ยนจากยุคอนาล็อกมาสู่ยุคดิจิทัล พี่จ๋ามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง พี่คิดว่าเป็นช่วงยุคเปลี่ยนผ่านของร้านค้าที่เป็นตัวกลาง เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคหรือกลุ่มผู้อ่านสามารถเข้าถึงช่องทางซื้อหนังสือได้ง่ายขึ้นอย่าง e-book ก็ไม่ใช่ปัญหาหลักที่ทางร้านเจอ แต่พี่คิดว่าจะเป็นในลักษณะของพฤติกรรมการซื้อของผู้อ่านมากกว่า จากทางเลือกที่เพิ่มมากขึ้นในการเข้าถึงที่เนี่ย ร้านหนังสือจะเข้าไปตอบโจทย์ตรงนั้นได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้สํานักพิมพ์เองสามารถสื่อสารและลดราคาโดยตรงได้แต่ว่าก็ยังมีกลุ่มลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังอยากมาเห็นหนังสืออยากมาจับ มาต้อง หรือมาอยู่ในบรรยากาศของร้านหนังสือ พี่ก็พยายามจะเน้นกลุ่มลูกค้าตรงนี้ ขายหน้าร้านแล้วก็พยายามเลือกหนังสือให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าที่ร้าน แต่ด้วยช่องทางออนไลน์ก็พยายามให้มีมากขึ้นอย่างช่องทางการสื่อสารที่ร้านก็มีทาง lazada เหมือนกันนะ เพียงแต่ว่าทางเราไม่ได้เลือกหนังสือทุกประเภทไปขายในช่องทางนั้น เราก็เลือกแนวหนังสือที่มันค่อนข้างหายากอย่างวิชาการ แล้วอย่างช่องทางอื่น ๆ อย่าง Twitter, Instagram, Facebook ก็มีนะแต่ยังเป็นแค่ลักษณะ PR ยังไม่ได้ลงขายแค่พยายามเคลื่อนไหวเพื่อไม่ให้คนลืมร้าน แต่ถ้าเป็นช่องทางการขายทางออนไลน์ ร้านเรายังทํางานได้แค่บางส่วนยังไม่ได้เต็มที่ทั้งหมด