05 ก.พ. 2566 | 13:29 น.
- ท่ามกลางธุรกิจขนมที่มีให้ตัวเลือกมากมาย Jolly Bears (จอลลี่ แบร์) เป็นหนึ่งแบรนด์ไทยที่ยืนยันอยู่ในตลาดนี้มานาน
- แบรนด์นี้ เป็นของ ‘บริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด’ ซึ่งมี ‘สมพงษ์ และ สมจิตต์ เชาวน์ประดิษฐ์’ เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516
หากพูดถึงขนมที่หลายคนคุ้นเคยมานานและตอนนี้ก็ยังได้รับการนิยมอยู่ เชื่อว่า ต้องมี Jolly Bears (จอลลี่ แบร์) เยลลี่หมีแบรนด์ของคนไทยอยู่ในลิสต์ด้วยแน่นอน ซึ่งตอนนี้ได้อยู่ในตลาดขนมมานานเกือบ 50 ปีแล้ว
แต่รู้หรือไม่ว่า กว่าจะมาถึง ณ ปัจจุบันได้เจ้าเยลลี่หมีหลากหลายสีนี้เคยถูกปฏิเสธจากร้านค้าไม่รับวางจำหน่ายมาก่อน
สำหรับจุดเริ่มต้นของ Jolly Bears เกิดจากสองสามีภรรยา ‘สมพงษ์ และ สมจิตต์ เชาวน์ประดิษฐ์’ ตัดสินใจเปลี่ยนการทำธุรกิจโรงเลื่อยไม้หันมาทำลูกอมแบบแข็ง เพราะเห็นว่า คนในยุคนั้นนิยมเป็นอย่างมาก และได้จัดตั้ง ‘บริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด’ ขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2516 เพื่อดำเนินธุรกิจ
แน่นอนเมื่อหันไปทำสินค้าขายดี สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ การมีคู่แข่งมากและการแข่งขันสูง ทำให้ทายาทรุ่น 2 พยายามมองหาตลาดใหม่ๆ ที่ไม่ต้องแข่งกันดุเดือดนัก และเกิดปิ๊งไอเดียเปลี่ยนจากลูกอมแบบแข็งมาผลิต ‘เยลลี่’ ซึ่งเป็นสินค้าที่เห็นตอนไปต่างประเทศ แล้วเกิดสนใจเพราะเห็นว่า มีความแปลกใหม่ สีสันสดใส คนไทยน่าจะชอบ
และนั่นเป็นจุดกำเนิดของ Jolly Bears เยลลี่รูปหมีผสมน้ำผลไม้ 12% โดยปกติใน 1 ซอง จะมี 5 รสชาติ ได้แก่ ส้ม, แอปเปิล, องุ่น, สตรอว์เบอร์รี และสับปะรด
อย่างไรก็ตามแม้จะแปลกใหม่ มีคู่แข่งไม่มาก แต่ต้องยอมรับว่า ในยุคนั้นคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักเยลลี่ ดังนั้นยุคเริ่มต้นของ Jolly Bears จึงเป็นเรื่องยากที่ทำให้คนตัดสินใจซื้อ ทำให้ร้านค้าทั่วไปทั้งยี่ปั๊วซาปั๊วมีการคืนสินค้าและบางแห่งก็ปฏิเสธไม่รับไปวางจำหน่าย
จนทางทายาทรุ่น 2 เจ้าของ Jolly Bears ต้องทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนรู้จัก กระทั่งขายดี โดยเริ่มต้น Jolly Bears จะมีซอง 2 สี ได้แก่ ‘สีทอง’ ซองขนาดเล็กขายราคา 5 บาท ‘สีเงิน’ ขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกนิด ขายในราคา 10 บาท
จากนั้นเราก็แทบไม่ค่อยได้เห็น Jolly Bears ทำโฆษณา หรือทำกิจกรรมการตลาด และออกสินค้าใหม่เลย
แล้วทำไมเยลลี่หมีแบรนด์นี้ถึงอยู่ได้นานจนถึงปัจจุบัน?
‘จิดาภา รัศมินทราทิพย์’ และ ‘พลากร เชาวน์ประดิษฐ์’ ทายาทรุ่น 3 ของตระกูลเชาวน์ประดิษฐ์ ผู้เข้ามารับช่วงบริหารธุรกิจในปัจจุบันเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เหตุผลหลักๆ มาจากการรักษาคุณภาพและการคงราคาเดิมไว้ ซึ่งถือเป็นความ้ทาทายของการดำเนินธุรกิจยุคนี้
อย่างไรก็ตาม ช่วง 2-3 ปีนี้ เราได้เห็นความเคลื่อนไหวของ Jolly Bears มากขึ้น ทั้งการออกแพ็กเกจใหม่ตามช่วงเทศกาล เช่น ฮาโลวีน และวาเลนไทน์ ฯลฯ ไปจนถึงการออก ‘ของแถม’ อย่างกระเป๋าสำหรับให้บรรดาแฟนๆ ได้เก็บสะสม
นอกจากนี้ยังฟังเสียงและเอาใจผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยการออก Jolly Bears ซองสีชมพูราคา 20 บาท ที่ไซส์ใหญ่กว่าเดิมสำหรับคนที่ต้องการกินในปริมาณที่เพิ่มขึ้น
แต่ที่ฮือฮา และโดนใจใครหลายคนมาก ๆ ก็คือ การออกสินค้าแบบแยกสี ให้เลือกรสชาติตามที่แต่ละคนชื่นชอบ เพื่อเอาใจผู้บริโภค เพราะที่ผ่านมาเมื่อแกะซองเราต้องลุ้นว่า ซองที่เลือกจะมีสีอะไรบ้าง และจะมีรสชาติที่ตัวเองชอบมากน้อยแค่ไหน
ประกอบด้วย ซองสีเขียว-รสแอปเปิล, ซองสีแดง-รสสตรอว์เบอร์รี ซองสีม่วง-รสองุ่น และในปี 2562 ได้เปิดตัวรสชาติใหม่อย่าง Super Sour ที่จะมี Jolly Bears สีเขียว 3 รสชาติ ได้แก่ แอปเปิล, มะนาว และกีวี
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการขยับตัว โดยฟังเสียงและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
นอกจาก Jolly Bears แล้ว บริษัท พงษ์จิตต์ ยังมีสินค้าอีกหลายตัวไม่ว่าจะเป็น Jolly Cola, Jolly Dots และ Jolly Stick รวมถึงรับผลิต OEM ให้กับกลุ่มธุรกิจอาหารหลายแบรนด์ อาทิ ผงโกโก้, ชา, โจ๊ก ฯลฯ
ส่วนผลดำเนินการก็ถือว่า มีการเติบโตและมีรายได้ในระดับร้อยล้านบาทเลยทีเดียว โดยปี 2562 มีรายได้รวม 205 ล้านบาท กำไร 38 ล้านบาท, ปี 2563 มีรายได้รวม 215 ล้านบาท กำไร 38 ล้านบาท และปี 2564 มีรายได้รวม 264 ล้านบาท กำไร 49 ล้านบาท
.
อ้างอิง
.
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า