27 มี.ค. 2566 | 17:42 น.
- จินตนา เป็นหนึ่งแบรนด์ชุดชั้นในเก่าแก่ของไทย ก่อตั้งโดย ‘อดุลย์-จินตนา ธนาลงกรณ์’
- ล่าสุดในโอกาสครบรอบ 65 ปี ได้มีการพลิกโฉมครั้งใหญ่เพื่อเป็นแบรนด์ในใจคนรุ่นใหม่
- การพลิกโฉมครั้งนี้ จินตนาเปลี่ยนทั้งโลโก้ วิธีการสื่อสาร และออกสินค้าใหม่ แต่ไม่เปลี่ยนชื่อ
แต่ประเด็นที่หลายคนตั้งคำถาม ก็คือ การพลิกโฉมครั้งนี้ เหตุใดถึงเลือกไม่เปลี่ยนชื่อแบรนด์ให้ดูโมเดิร์นเหมาะกับยุค เพราะหลายคนมองว่า จินตนา ดูเป็นชื่อแบรนด์ที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้เอาซะเลย!!!
“มีคนบอกเยอะชื่อแบรนด์เราแก่ แต่การอยู่มาถึง 65 ปี หมายความว่า คนไม่ได้มองเรื่องนี้ ที่สำคัญมีแบรนด์ชื่อไทยหลายแบรนด์ไปดังในตลาดโลกทั้งศรีจันทร์ เซียงเพียวอิ๊ว กระทั่งตะขาบ 5 ตัว แล้วทำไมจินตนาจะทำไม่ได้ และชื่อนี้ก็ชื่อแม่ผม”
วิชัย ธนาลงกรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท จินตนาอินเตอร์เทรด จำกัด ทายาทรุ่น 2 ของชุดชั้นใน ‘จินตนา’ ที่ไม่ค่อยเปิดตัวต่อหน้าสาธารณชนเท่าใดนักตอบคำถามนี้กับ The People พร้อมเล่าให้ฟังว่า
จินตนา ถือเป็นแบรนด์ชุดชั้นในเก่าแก่ของไทย ซึ่งมี ‘อดุลย์-จินตนา ธนาลงกรณ์’ คุณพ่อคุณแม่ของเขาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมา ด้วยการเริ่มจากห้องเย็บผ้าเล็ก ๆ ในตลาดพลูที่รับจ้างผลิตชุดชั้นใน ก่อนจะหันมาทำแบรนด์ของตัวเองในปี พ.ศ.2502 ภายใต้ ‘ห้างยกทรงจินตนา’ โดยคุณพ่อของเขา รับหน้าที่ทำการตลาดและนำสินค้าไปวางขาย ขณะที่คุณแม่ จะเป็นผู้ดูแลด้านการออกแบบและผลิต
“คุณแม่มีหัวในการออกแบบที่เข้าใจสรีระของผู้หญิงไทยจริง ๆ เลือกใช้วัสดุคุณภาพ และตั้งราคาสมเหตุสมผล บวกกับทักษะในการทำธุรกิจของคุณพ่อ ทำให้แบรนด์จินตนาได้รับการตอบรับดีเติบโตมาเรื่อย ๆ โดยสินค้าที่ขายดีนับตั้งแต่วันแรกจนถึงตอนนี้ คือ Jintana classic รุ่น JL136 บราตัวยาวที่มีซิป และ Jintana Basic bra รุ่น JB2844 ขายได้ 10 ล้านชิ้นต่อปี'
รับ OEM สร้างจุดเปลี่ยนการเติบโต
สำหรับจุดเปลี่ยนแรกของแบรนด์ เกิดขึ้นเมื่อวิชัยได้เข้ามารับช่วงธุรกิจต่อ โดยเขามีความคิดต้องการเพิ่มยอดขาย และเร่งการเติบโตให้มากกว่าเดิม ซึ่งหากจะให้บรรลุเป้าหมายต้องขยายตลาดไปต่างประเทศ และเป็นจุดเริ่มต้นให้จินตนาเริ่มบุกตลาดรับจ้างผลิต หรือ OEM ให้กับแบรนด์ต่างประเทศ
“เมื่อก่อนตลาดชุดชั้นในบ้านเรายังเล็กอยู่ ถ้าเราอยากโตเร็วต้องไปต่างประเทศ ซึ่งผมมั่นใจ เพราะฝีมือคนไทยเป็นที่ยอมรับ อะไรที่ made in Thailand คนแย่งกันซื้อ”
การบุกตลาดต่างประเทศตอนนั้น วิชัยโฟกัสไปประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ประกอบกับเขาเรียนจบจากที่นี้ จึงสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างเข้าใจ จากนั้นค่อย ๆ ขยายไปยังตลาดอื่น ๆ ที่มีโอกาสทางธุรกิจ
ถึงตอนนี้จินตนารับ OEM ให้แบรนด์ในต่างประเทศประมาณ 15-16 ประเทศ ทั้งจากสหรัฐอเมริกา,ยุโรป ,เอเชีย ฯลฯ (หลายแบรนด์เป็นแบรนด์ดังระดับโลก) และรายได้จากส่วนนี้คิดเป็น 80% ของรายได้ทั้งหมด
‘ห้ามเจ๊ง’ โจทย์ที่ถูกส่งต่อสู่ทายาทรุ่น 3
ปัจจุบันห้างยกทรงจินตนาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘บริษัท จินตนาอินเตอร์เทรด จำกัด’ และชุดชั้นในจินตนาก็มีอายุครบ 65 ปี ซึ่งการอยู่มานานได้ขนาดนี้ วิชัยบอกว่า หลัก ๆ มาจาก ‘คุณภาพ’ และ ‘ความซื่อสัตย์’
ส่วนเส้นทางต่อจากนี้ วิชัยต้องการให้จินตนาเป็นแบรนด์ที่เติบโตและอยู่ในตลาดไปนาน ๆ อย่างน้อยต้องมีอายุครบร้อยปี โดยมอบโจทย์นี้ให้กับ ‘สาวิตรี ธนาลงกรณ์’ ทายาทรุ่น 3 ผู้เป็นลูกสาวของเขาที่เข้ามาทำหน้าที่ซีอีโอไปเรียบร้อยแล้ว
“ส่วนใหญ่แล้วธุรกิจที่ถูกส่งต่อกันมา เมื่อถึงรุ่น 3 แล้วจะไปไม่รอด เจ๊ง ผมไม่อยากให้จินตนาเป็นแบบนั้น เพราะนี่เป็นชื่อแม่ผม ซึ่งเขา (สาวิตรี) มองว่า ต้องขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มใหม่ จึงเป็นที่มาของการพลิกโฉมให้เข้ากับยุค เข้ากับกลุ่มเป้าหมายทั้งเปลี่ยนโลโก้ ออกสินค้าใหม่ และลุกมาทำการตลาดจากที่ผ่านมาเราไม่ค่อยทำเลย เพราะเราวางราคาขายกลางไปจนถึงล่าง ทำให้ต้องคุมคอร์สให้ต่ำเพื่อให้ตั้งราคาแบบนั้นได้”
ไม่ได้หวังเป็นเบอร์ 1 ขอแค่เป็นหนึ่งตัวเลือก
ทางสาวิตรี บอกว่า ไม่ฝันถึงขนาดนั้น เพียงต้องการเสนอให้จินตนาเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้หญิงที่ต้องการชุดชั้นในที่เข้าใจสรีระผู้หญิงไทยจริง ๆ และสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้ตามต้องการ