19 พ.ค. 2566 | 19:05 น.
- Carenation พวงหรีดรักษ์โลก เป็นอีกกรณีศึกษาของ SE ธุรกิจเพื่อสังคมของไทยที่ประสบความสำเร็จ
- SE แห่งนี้ ถือกำเนิดเมื่อปี 2019 โดยมี ‘บิ๊ก-ปริชญ์ รังสิมานนท์’ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง
จากเริ่มต้น ‘ให้’ ด้วย Passion ส่วนตัวที่ชอบช่วยเหลือสังคม แต่สุดท้าย ‘ปริชญ์ รังสิมานนท์’ ก็ค้นพบว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่มีความยั่งยืน จึงเกิดคำถามกับตัวเองว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้การช่วยเหลือที่เขาลงมือลงแรงไปเกิดความยั่งยืน?
และนั่นเป็นจุดกำเนิดของธุรกิจที่ทำให้การ ‘จากลา’ ได้สร้างคุณค่าให้กับสังคม ภายใต้ชื่อ Carenation (เป็นการตั้งชื่อให้พ้องกับดอกคาร์เนชั่น และสะท้อนให้เห็นถึงคำว่า Care คือ ความห่วงใย )พวงหรีดรักษ์โลกที่ทุกการซื้อจะมีการแบ่งรายได้ไปบริจาคให้กับมูลนิธิต่างๆ
โดย Carenation ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2019 เริ่มต้นด้วยการทำงานกับมูลนิธิเพียงไม่กี่แห่ง และทำยอดบริจาคในหลักแสนบาท จนมาถึงตอนนี้ขยายการทำงานกับ 29 มูลนิธิ และสร้างยอดบริจาคได้เกือบ 17 ล้านบาท
จาก Passion สู่ธุรกิจเพื่อสังคมแบบยั่งยืน
บิ๊ก-ปริชญ์ : ส่วนตัวผมทำงานเพื่อสังคมมาหลายสิบปี และเป็นหนึ่งใน Thai Young Philanthropist Network (TYPN) กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม อย่างช่วงเกิดเหตุการณ์สึนามิพากเราระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย
นอกจากนี้ตัวผมเองบริจาคให้กับหลายมูลนิธิทั้งเงินตัวเองและขอเพื่อนบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มลูกเหรียง ที่ช่วยเหลือและเยียวยาเด็กๆ จากความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ผมคิดว่า การให้แบบนี้ไม่ยั่งยืน เพราะมูลนิธิต้องใช้เงินตลอด เนื่องจากมีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเข้ามาใหม่เรื่อยๆ ทำให้คิดสร้างโมเดลที่จะทำให้ยั่งยืน ไม่ต้องไปขอใคร
มีวันนึงผมไปงานศพของผู้ใหญ่ที่เคารพแล้วเห็นพวงหรีดดอกไม้สดนับร้อยถูกส่งมาความเคารพต่อผู้ล่วงลับ ส่วนใหญ่จะเป็นพวงหรีดที่มีโฟมและพลาสติกเป็นส่วนประกอบ ซึ่งพวงหรีดเหล่านี้มีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 วัน จากนั้นจะกลายเป็นขยะที่ต้องใช้เวลาย่อยสลายนานเป็นร้อย ๆ ปี หรือถ้าเผาก็สร้างมลภาวะให้สิ่งแวดล้อม เลยได้ไอเดียทำธุรกิจนี้ขึ้นมา
ธุรกิจที่ให้คนตายได้ทำดีครั้งสุดท้าย
บิ๊ก-ปริชญ์ : สำหรับพวงหรีดของ Carenation จะทำมาจากกระดาษรีไซเคิลและกระดาษจากป่าปลูก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะให้คนในชุมชนหรือผู้ที่ต้องการหารายได้ เป็นคนมาประกอบ และเงินที่ได้จากการขายพวงหรีดแต่ละอัน จะแบ่งไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศลหรือมูลนิธิต่าง ๆ ตั้งแต่ 10-40% ตามราคาของพวงหรีดที่เลือก
พวงหรีดของเรา จะมีราคาตั้งแต่ 750– 4,000 บาท ซึ่งจะมีการใส่ข้อมูลให้เห็นชัดว่า ราคาเท่านี้ จะมีการบริจาคไปท่าไร และเทียบเท่ากับการเป็นค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กกำพร้ากี่คน เช่น พวงหรีดเวหา ราคา 4,000 บาท จะมีการบริจาคให้มูลนิธิ 40% หรือ 1,600 บาท เทียบเท่ากับค่าอาหารกลางวันเด็กกำพร้า 53 คน, พวงหรีดขาวละออ ราคา 3,000 บาท จะมีการบริจาคให้มูลนิธิ 35 % หรือ 1,050 บาท เทียบเท่ากับค่าอาหารกลางวันเด็กกำพร้า 35 คน เป็นต้น
ที่สำคัญ การบริจาคจะเน้นความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกกระบวนการ โดยผู้สั่งซื้อพวงหรีดสามารถเลือกแบบ เลือกมูลนิธิที่ต้องการบริจาค และเมื่อชำระเงินมาแล้ว จะมีใบเสร็จให้ทุกการบริจาค ที่ผู้บริจาคนำไปลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเราจะมีการอัพเดทเงินบริจาคบนหน้าเวบไซต์ของเราทุกวันว่า วันนี้มียอดบริจาคไปเท่าไร และแต่ละมูลนิธิได้รับบริจาคเท่านั้น
ตอนนี้นอกจากพวงหรีดแล้ว Carenation ยังทำ ‘ของชำร่วยสานบุญ’ การ์ดขนาดเท่าที่คั่นหนังสือเพื่อให้ใช้ทดแทนการแจกของชำร่วย สามารถสั่งได้ไม่มีขั้นต่ำ แล้วนำเงินไปบริจาคอย่างโปร่งใสให้กับองค์กรการกุศลที่เลือก และใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกับพวงหรีด
เหตุใด SE ในไทยถึงไม่บูม
บิ๊ก-ปริชญ์ : เหตุผลที่ SE ในบ้านเราไม่ประสบความสำเร็จ ทั้ง ๆ ที่มีการพูดถึงกันมานาน นั่นเพราะว่า ‘คนไทยตื่นตัว แต่ไม่ขยับ’ เช่นเดียวกับ AI และ Chat CPT ซึ่งทุกคนพูดถึงกันเยอะ แต่เมื่อเจาะลึกเอาเข้าจริงมีกี่องค์กรที่จริงจังกับเรื่องนี้แค่ไหน
ทุกคนรู้ว่า Sustainable มาแรง แต่ขาดการขับเคลื่อนต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะภาครัฐที่ถือเป็นแกนหลักในการกำหนดนโยบาย อย่างถุงพลาสติก หากรัฐไม่ประกาศแบนและบังคับให้เลิกใช้ ก็ยังคงไม่ใจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หรืออย่างตอนนี้จาก Sustainable มาพูดถึงเรื่อง BCG คือ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่มีความต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การที่ SE เองการจะอยู่รอดและเติบโตได้ ประเด็นอยู่ที่ Business Model ต้องแข็งแรง เพราะแม้จะไม่มุ่งหวังผลกำไร แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามก็ต้องมีรายได้ที่หล่อเลี้ยงบริษัทให้อยู่ได้ และมีการเติบโต ง่ายๆ คือ เราอยากช่วยสังคม ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างรายได้ให้เลี้ยงตัวเองได้เช่นกัน
‘Business Mode’l และ ‘ความโปร่งใสสำคัญ’
บิ๊ก-ปริชญ์ : สำหรับความสำเร็จของ Carenation นั่นเพราะตลาดพวงหรีดเป็นตลาดใหญ่ที่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีคนทำ แต่ปัจจุบันมีผู้เล่นเข้ามาเยอะขึ้น และตัวเราเองมีความยูนีก สามารถแก้ Pain Point ได้ เนื่องจากเรารู้ดีว่า คนไม่ต้องการสั่งพวงหรีดที่ใช้วัสดุย่อยสลายยากและทำลายสิ่งแวดล้อม เราเลยขึ้นธุรกิจมาแก้โจทย์เรื่องนี้
“ผมว่า SE บางราย ดีไซน์ธุรกิจแบบขาดความเข้าใจผู้บริโภค ทำให้เกิดปัญหาการไปต่อของธุรกิจ เราต้องแก้ Pain Point ไม่ใช่เปลี่ยนพฤติกรรม ยกตัวอย่าง หลอดพลาสติก ที่ตอนแรกหลายแห่งหันมาใช้หลอดกระดาษ แต่สุดท้ายกลับมาใช้เหมือนเดิม เพราะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเกินไป เลยไปต่อได้ยาก”
อีกประเด็น คือ ต้องสามารถตรวจสอบความโปร่งใสในการช่วยเหลือได้ เช่น Carenation จะมีการออกใบเสร็จให้กับทุกคนที่ซื้อได้เห็นว่า ใครเป็นคนซื้อ บริจาคให้มูลนิธิไหน เงินถึงมือมูลนิธิก็มีการอัพเดท เราทำทุกกระบวนการของการบริจาคเงินอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และใบเสร็จผู้บริจาคนำไปลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ที่สำคัญ ต้องมี Innovation ซึ่งเรื่องนี้ไม่แค่ตัวโปรดักท์ ยังหมายถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ใน Business Process ทั้งหมด เพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้น อย่าง Carenation สามารถสั่งซื้อได้ผ่านทางออนไลน์ ตัวเลขบริจาคก็โชว์อยู่หน้าเว็บไซต์ และทุกอย่างก็ทำด้วยระบบอัตโนมัติทั้งหมด
สุดท้าย หากต้องทำ SE ให้เกิด ‘ต้องลงมือทำ อย่ารอให้ใครมาช่วย’ เหมือนที่เขาคิดและลงมือสร้างให้ Carenation เกิดขึ้นมา