12 มิ.ย. 2566 | 14:20 น.
- 8 ปีของ ‘นิยมยีนส์’ ที่เติบโตขึ้นมาจาก 3 ผู้ก่อตั้งที่หลงใหลในยีนส์ และเรื่องของแฟชั่นและงานศิลปะ
- ‘แบงค์ - ธนาคาร วรวิสุทธิสารกุล’ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ผันตัวเองมาเป็นนักธุรกิจเพราะอยากพิสูจน์ตัวเอง และทุ่มเทกับสิ่งที่รัก
- การเติบโตของนิยมยีนส์ ดูจากการขยายสาขาถึง 200 แห่งในเวลาเพียง 8 ปี เป็นน้องเล็กในตลาดที่ขยับตัวไวมาก
“ครั้งแรกตอนนั้นเราผลิตขึ้นมาประมาณ 100 - 200 ตัวได้ แล้วไปขายในออนไลน์ รอลูกค้าจนถึงตี 2 สรุปวันนั้นขายไม่ได้สักชิ้น”
‘แบงค์ - ธนาคาร วรวิสุทธิสารกุล’ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ ‘นิยมยีนส์’ เปิดใจกับ The People ถึงช่วงเริ่มแรกจนถึงวันที่ธุรกิจสามารถขยายร้านได้ถึง 200 สาขาภายใน 8 ปี
ในตลาดไทยแบรนด์น้องใหม่ของคนไทยจริง ๆ แล้วเกิดขึ้นทุกวัน ‘นิยมยีนส์’ ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในนั้นมาก่อน ที่จุดเริ่มต้นเกิดจากเพื่อน ๆ 3 คนที่ช่วยกันคิด เห็นตรงกันอยากมีธุรกิจด้วยกัน จากวันนั้นถึงวันนี้ พวกเขาใช้เวลาเกือบ 10 ปีในการปั้นแบรนด์จนเป็นที่รู้จัก ล้มมาก็เยอะ เจ็บมาก็ไม่น้อย
เรื่องราวและมุมคิดของเจ้าของแบรนด์นิยมยีนส์ถือว่าน่าสนใจทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องราวระหว่างทางก่อนมายืนตรงจุดนี้
หนุ่มนักกฎหมายแต่อยากมีธุรกิจ
แบงค์เล่าว่า จริง ๆ เขาจบการศึกษาทางด้านกฎหมาย และที่บ้านเองก็มีธุรกิจส่วนตัวของพ่อแม่ ซึ่งเขาเองมีโอกาสได้เข้าไปช่วยงานที่บ้านหลังจากที่เรียนจบใหม่ ๆ
“ผมรู้สึกเหมือนไปทำงานธุรกิจกงสีของคนจีน พอไปบริหารงานที่บ้าน มันมีสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าเราไม่ชอบเลยก็คือ เหมือนโตภายใต้ร่มเงาพ่อแม่ เราอยากพิสูจน์ตัวเอง อยากโตด้วยตัวของเราเอง”
นอกเหนือจากความฝันที่อยากทำธุรกิจ ย้อนไปในวัยเด็กของแบงค์ เขาเคยอยากเป็นอาจารย์ และเหตุผลที่เลือกเรียนกฎหมายก็เพราะว่าเขาชอบคุยชอบสื่อสารกับผู้คน และชอบที่จะพูดที่จะสอนคนรอบตัวเวลาที่คนอื่นขอให้สอน แล้วธุรกิจนิยมยีนส์เกิดขึ้นได้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบ
ความรู้สึกที่อยากพิสูจน์ตัวเอง อยากโตด้วยตัวเองของแบงค์ มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เขาและเพื่อน ๆ ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คน (เดียร์และแหม่ม) เกิดไอเดียอยากทำธุรกิจ อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองสักตัวหนึ่ง ช่วงแรก ๆ ก่อนจะเคาะไอเดียกันได้ก็ช่วยกันเสนอธุรกิจที่น่าสนใจ จนสุดท้ายมาจบที่ ‘ยีนส์’ เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คนรักเหมือนกัน
โดยที่มาของชื่อเกือบจะไม่ใช่ชื่อภาษาไทย เพราะช่วงเริ่มต้นพวกเขาเสนอไอเดียซึ่งมีแต่ชื่อภาษาต่างประเทศเกือบ 100% ทั้งภาษาอังกฤษ, สเปน, ฝรั่งเศส, อิตาลี, เกาหลี, ญี่ปุ่น แต่สุดท้ายก็วนกลับมาที่กลุ่มเป้าหมายเพราะเป้าแรกคือคนไทย จึงสรุปชื่อแบรนด์จบที่คำว่า ‘นิยมยีนส์’
“ยีนส์ ผมมองว่ามันคือสิ่งที่เรารัก แล้วผมมองว่าถ้าเราทำอะไรในสิ่งที่เรารัก มันมักจะทำได้ดีเสมอ ครั้งแรกตอนนั้นเราผลิตขึ้นมาก็ประมาณสัก 100 - 200 ตัวได้มั้ง แล้วไปขายในออนไลน์ ตอนนั้นพวกเราเป็นเพจที่ขายยีนส์หลาย ๆ แบรนด์นะครับ ประมาณสัก 6 โมงเย็นของวันแรกก็ยังขายไม่ได้ ทุ่มหนึ่งก็ขายไม่ได้ 2 ทุ่มก็ยังขายไม่ได้ ตี 1 ตี 2 ก็ยังขายไม่ได้ สรุปวันนั้นคือขายไม่ได้สักชิ้น
“แต่สุดท้ายเราทั้ง 3 คนมีความเห็นเดียวกันก็คือ โอเค เราเดินมาถึงจุดนี้แล้วเราถอยไม่ได้แล้ว เราก็เลยไปต่อนะครับ กลับมาคิดทบทวนว่าเราผิดพลาดอะไรไป ทำไมถึงขายไม่ได้เลย ทั้งที่เราก็ผลิตของออกมาได้ดี แบบดีไซน์มันก็สวย รูปทรงมันได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราพลาดไปคือ คนไม่เคยเห็น และไม่เคยลองจับ
“ตอนนั้นสิ่งที่คิดต่อมาก็คือ มันจะมีพวกตลาดนัดเปิดท้ายอะไรอย่างนี้ เราปรึกษากันว่าจะไปตั้งบูธ จัดรูปแบบบูธให้มันสวยงาม ให้มันโดดเด่นไม่เหมือนใครนะครับ แล้วก็ไปลงขาย ตอนแรกที่ไปขายเปิดร้านใหม่ ๆ คนก็ไม่รู้จักว่านิยมยีนส์คืออะไร แต่พอขายได้สักระยะหนึ่ง ผมมองว่าประมาณ 90% ลูกค้าซื้อของเราคือ คนที่เดินเข้ามาในร้านเรา 10 คน จะมี 9 คนที่ซื้อนะครับ สรุปว่าวันนั้นวันแรกที่เราขายได้ยอดขายเป็นหมื่นเลย”
นิยมยีนส์คืองานศิลปะ
เมื่อถามเรื่อง ‘จุดเด่น’ ของนิยมยีนส์ว่าคืออะไร? แบงค์ได้นิยามธุรกิจของตัวเองว่า “เอกลักษณ์ของแบรนด์อยู่ที่แบบกับทรงครับ มันเป็นเหมือนอาหาร บางทีเป็นแกงเขียวหวานเหมือนกัน เป็นข้าวผัดเหมือนกัน แต่รสชาติมันมีจุดนิดหนึ่งที่ไม่เหมือน ในส่วนของเรื่องสินค้ายีนส์ก็เหมือนกัน
“พวกเขาช่วยกันดีไซน์ครับ เพราะเราทั้ง 3 มีความรักในยีนส์อยู่แล้ว เรามีความรักในแฟชั่น เรามีความรู้ในเรื่องแฟชั่น ผมมองว่างานแฟชั่นเหมือนงานศิลปะมากกว่านะครับ”
ณ ปัจจุบัน ‘นิยมยีนส์’ ก่อตั้งมาแล้ว 8 ปี และสามารถขยายสาขาได้ถึง 200 แห่งทั่วประเทศ โดยแบงค์เล่าว่า พวกเขาใช้เวลาประมาณ 2 ปีช่วงก่อตั้งจนถึงวันที่นิยมยีนส์เข้าสู่ศูนย์การค้าอย่างทุกวันนี้ ขณะที่ภาพลักษณ์ของแบรนด์ต้องยอมรับว่า หลายคนยังติดภาพความเป็น Street Brand อยู่บ้าง
ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะช่วงที่นิยมยีนส์พยายามทำตลาดและขายที่ตลาดนัดช่วงแรก ๆ โดยแบงค์พูดกับเราว่า “เราไม่จำเป็นต้องล้างภาพอะไรเรื่องนี้เลย ผมว่าคำว่า Street Brand หรือ Street Fashion มันเท่ด้วยซ้ำไปครับ
“มันเป็นตัวตนของเรา นิยมยีนส์ ค่อนข้างซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ซื่อสัตย์ต่อตัวเราเอง ทุกวันนี้คนชอบนิยมยีนส์ เพราะผ้า ดีไซน์ ความประณีต และราคา ดังนั้นผมจึงมองว่ามันไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไร”
นิยมยีนส์ ถือว่าเป็นธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตค่อนข้างเร็ว แบงค์บอกว่า “ผมมีสูตรในการทำธุรกิจของผมนะ แล้วผมมองว่ามันใช้ประโยชน์ได้กับธุรกิจอื่นเหมือนกัน องค์ประกอบหลัก ๆ มีอยู่ 3 อย่างคือ 1) ความรัก 2) ความสู้ และ 3) ความซื่อสัตย์ ขณะที่คนรุ่นใหม่มีความฝันกันหมด ทุกคนมีความฝัน เช่น อยากมีธุรกิจ แต่จะมีสักกี่คนที่ฝันและจะทำ”
“นิยมยีนส์นะครับตอนที่ทำผมคิด ตื่นเช้าขึ้นมาผมลุยเลย ผมมองแค่ว่ามันก็ไม่เสียหาย แต่ถ้าเราไม่เริ่ม เราไม่นับ 1 มันก็ไม่มี 2 ไม่มี 3 ไม่มี 4 ไม่มี 5”
เราเห็นการเติบโตของธุรกิจนิยมยีนส์ อีกทั้งยังมีแพลนจะขยายไปต่างประเทศในอาเซียนเร็ว ๆ นี้ ซึ่งแบงค์ได้พูดว่า สำหรับคนไทยน่าจะ 50 - 60% ที่ใส่ยีนส์ของนิยมยีนส์ แต่ก็ยังไม่ถึงเป้าหมาย เพราะสิ่งที่เขาคาดหวังในตลาดไทยก็คือ อยากให้นิยมยีนส์เป็นแบรนด์แรกที่คนนึกถึงยีนส์ เหมือนคนนึกถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต้องนึกถึงมาม่า หรือนึกถึงผงซักฟอกก็ต้องนึกถึงแฟ้บ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่ทำให้ยังไม่ถึงเป้าหมายสำหรับแบงค์มองว่า ‘ความเชื่อมั่น’ เป็นสิ่งสำคัญมาก ถึงแม้จะมีการรณรงค์ให้ใช้ของไทย ซื้อของไทย แต่ค่านิยมในหลาย ๆ กลุ่มยังมองว่าสินค้าไทยยังสู้ต่างประเทศไม่ได้ อันนี้คือสิ่งที่ยากของการปั้นแบรนด์ไทยสู่ระดับเป้าหมายของเขา
เขายังพูดถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากมีธุรกิจด้วยว่า “หากเราเดินทางเดิม ๆ ที่มีคนเดินอยู่แล้ว ยังไงเราก็ไม่ทันเขา ซึ่งวิธีการที่จะทำให้เดินทันเขาก็คือ เราต้องเดินทางลัด หรือมีวิธี หรือมีทางเดินที่พิเศษกว่าคนอื่นเขา ดังนั้น นอกจากที่เคยพูดเรื่องคิดแล้วให้ลงมือทำเลย ก็คงต้องฝากไปถึงการมองหาทางลัดเพื่อเสียเปรียบคนอื่นน้อยที่สุด”