เส้นทาง 55 ปี ‘นมหนองโพ’ จากโครงการช่วยเหลือเกษตรกร กลายเป็น ‘นมโรงเรียน’ วัยเด็ก

เส้นทาง 55 ปี ‘นมหนองโพ’ จากโครงการช่วยเหลือเกษตรกร กลายเป็น ‘นมโรงเรียน’ วัยเด็ก

เปิดเส้นทางก่อตั้ง 55 ปี ‘นมหนองโพ’ จากโครงการช่วยเหลือเกษตรกร สู่การยกให้เป็นไอคอนิกยุค ‘นมโรงเรียน’ ในความทรงจำวัยเด็กของหลายคน

  • ‘นมหนองโพ’ ก่อตั้งมาแล้ว 55 ปี เริ่มต้นเพราะช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ตอนนั้นขาดแคลนสถานที่จำหน่ายน้ำนมดิบ
  • ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างโรงงาน และใช้ชื่อว่า สหกรณ์โคนมราชบุรี จำกัด โดยให้ดำเนินการเป็นธุรกิจเอกชน
  • หนองโพ เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่อยู่ในยุค ‘นมโรงเรียน’ ความทรงจำในวัยเด็กของหลายคน

มีหลายคนที่โตมากับ ‘หนองโพ’ ในเวอร์ชันที่เป็นนมโรงเรียน ภาพความทรงจำเก่า ๆ  ย้อนกลับมาทันทีที่เห็นไวรัลจากศิลปินคนไทยอย่าง ‘ลิซ่า BLACKPINK’ ที่กำลังถือถุงนมหนองโพรสช็อกโกแลต ทำให้นึกถึงวัยเด็กช่วงที่รอคอยนมโรงเรียนหลากหลายรสชาติจากคุณครูที่หิ้วมาแจกเด็ก ๆ ยามบ่าย หรือช่วงก่อนกลับบ้าน

ชวนสงสัยขึ้นมาว่า ‘นมหนองโพ’ จริง ๆ แล้วก่อตั้งขึ้นมาจากใคร และเกิดขึ้นได้อย่างไร มีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นหรือไม่ The People จึงอยากมาสรุปผ่านบทความนี้

 

เส้นทาง 55 ปีของนมหนองโพ

นมหนองโพ ที่มีวงเล็บว่า ‘ในพระบรมราชูปถัมภ์’ แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นต้องย้อนไปเมื่อปี 2511 จินตนาการว่ามีกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกลุ่มหนึ่งในจังหวัดราชบุรี กำลังเป็นทุกข์กับปัญหาใหญ่เกี่ยวกับ ‘สถานที่จำหน่ายน้ำนมดิบ’ เกษตรกรจึงเผชิญปัญหาขาดทุนจากการประกอบอาชีพ

ในปีนั้นเอง ‘ผู้ใหญ่ใช้ จันทร์ภิวัฒน์’ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และถวายฎีกาปัญหาเกี่ยวกับความเดือดร้อนที่ไม่มีตลาดจำหน่ายน้ำนมดิบต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 หลังจากนั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานเพื่อแปรรูปน้ำนมดิบที่บริเวณภายในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เหมือนเป็นการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนก่อน ซึ่งต่อมาจึงมีพระราชดำริให้มีการสร้างโรงงานเพื่อแปรรูปน้ำนมดิบขนาดใหญ่ขึ้นที่ตำบลหนองโพ

ในปี 2513 ‘ทวิช กลิ่นประทุม’ (พ่อของนักแสดงสาว เอมี่ กลิ่นประทุม) ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้น ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินจำนวน 1.4 ล้านบาทเพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงงานนมหนองโพ และจัดซื้อที่ดินบริเวณตำบลหนองโพ พื้นที่ 50 ไร่ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งคณะกรรมการสร้างโรงงานขึ้น โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพิ่มจากเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ จำนวน 1.02 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2514 มีการใช้ชื่อว่า ‘สหกรณ์โคนมราชบุรี จำกัด’ เป็นสหกรณ์ประเภทบริการ หลังมีการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์โคนมเสร็จสมบูรณ์

หลังจากนั้นในวันที่ 9 มีนาคม 2515 ถือว่าเป็นวันที่เปิดโรงงานนมหนองโพอย่างเป็นทางการ และมีการใช้ชื่อบริหารโรงงานว่า “บริษัท ผลิตภัณฑ์นมหนองโพ จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์)” โดยมี ม.ล.เดช สนิทวงศ์ เป็นประธานกรรมการดำเนินการ และในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงถือหุ้นใหญ่

ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานเงื่อนไขโดยสรุปใจความได้ว่า เงินกำไรจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด จะไม่มีการแบ่งกำไรให้กับผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด แต่ต้องการให้บริษัทนำกำไรส่วนหนึ่งเข้ากองทุนสะสมเพื่อใช้ประโยชน์ด้านการศึกษาของลูก ๆ หลาน ๆ ของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม รวมถึงสมาชิกสหกรณ์ซึ่งเป็นผู้ส่งนมสดให้แก่โรงงานเป็นประจำ

นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า “เมื่องานของสหกรณ์โคนมฯ เจริญก้าวหน้าตามวัตถุประสงค์ สมาชิกสหกรณ์ต่างมีความเข้าใจในหลักสหกรณ์และมีหลักฐานมั่นคง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โอนทรัพย์สินทั้งหมดให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์ และดำเนินกิจการในรูปแบบของสหกรณ์ต่อไปตามพระราชประสงค์”

ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2520 นมหนองโพ มีมูฟเมนต์ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ขยายตลาดสู่นมพาสเจอไรซ์ และซื้อเครื่องจักรผลิตระบบยู.เอช.ที (Ultra High Treatment Milk) เมื่อผลิตได้มากขึ้น เป้าหมายต่อไปก็คือการกระจายนมคุณภาพสูงให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ

 

37 ปีเวอร์ชันนมโรงเรียน

พูดว่าจุดเริ่มต้นจริง ๆ ของ ‘นมโรงเรียน’ ก็คือปี 2529 เพราะสหกรณ์โคนมหนองโพฯ ได้ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีจัดให้มีการสัมมนาครูและอาจารย์จากโรงเรียนต่าง ๆ จากเขตภาคกลาง, ตะวันตก (นครปฐม, และราชบุรี) รวม 7 จังหวัด เพื่อทำความเข้าใจและมุ่งมั่นที่จะชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายด้านการบริโภคนมและโครงการนมโรงเรียน ซึ่งจะทำให้เด็กไทยเข้าถึงนมคุณภาพสูงได้อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ

เราอาจจะเห็นนมที่ตีตราแบรนด์ว่า ‘นมโรงเรียน’ ซึ่งในสมัยนั้นผลิตโดยสหกรณ์โคนมหนองโพฯ (จนเกิดปมดราม่าในปี 2558 นมโรงเรียนในประเทศกัมพูชา) อย่างไรก็ตาม ในหลาย ๆ โรงเรียนไม่ใช่แค่ ‘นมโรงเรียน’ ที่แจกให้กับเด็ก แต่ก็มี ‘นมหนองโพ’ แบบถุงที่กำลังถูกพูดถึงในตอนนี้ด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน สหกรณ์โคนมหนองโพฯ มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมที่หลากหลายมากขึ้น เช่น นม UHT, นมพาสเจอไรซ์, โยเกิร์ต, ไอศกรีม, นมโรงเรียน, ร้านหนองโพคาเฟ่, ร้านแดรี่ฮัทหนองโพ, สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง, โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งสหกรณ์โคนมหนองโพฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้น

ความเชื่อของสหกรณ์โคนมหนองโพฯ ในยุคของ ‘กล้าหาญ แก้วจีน’ ประธานกรรมการ สหกรณ์โคนมหนองโพฯ คนปัจจุบัน เขายังมุ่งมั่นที่จะนำพาสมาชิกของสหกรณ์ทุกคนให้กินดีอยู่ดี มีรายได้ที่มั่นคง และยังคงผลิตนมที่มีคุณภาพสูงเพื่อผู้บริโภคได้เช่นเดิม ก็ไม่แปลกถ้าจะมีคนโหยหากลิ่นและรสชาติเดิม ๆ ของนมโรงเรียน ไม่เว้นแม้กระทั่งลิซ่าแห่งวง BLACKPINK

 

ภาพ : หนองโพ

อ้างอิง :

Nongpho

Km.rdpb

Rb-old