12 ก.ค. 2566 | 14:52 น.
- ‘ริมปิง ซูเปอร์มาร์เก็ต’ ก่อนเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตพรีเมียม เกิดจากการขยายธุรกิจเป็นห้างตันตราภัณฑ์มาก่อน
- ตระกูลตันตรานนท์ เชื่อว่าต้นตระกูลก็คือ เถ้าแก่ง่วนชุน แซ่ตั้ง เจ้าของร้านขายของชำ ‘ตันฮั่วง้วน’
ทุกคนส่วนใหญ่รู้จัก ‘ริมปิง ซูเปอร์มาร์เก็ต’ แต่เรื่องราวของผู้ก่อตั้ง หรือ ก่อนมาเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตไฮควอลิตีจากเชียงใหม่นั้นเรียกได้ว่ามีข้อมูลน้อยมาก ๆ อีกทั้งโฉมหน้าของผู้ก่อตั้งที่แท้จริงก็ยังไม่มีการระบุที่แน่ชัด บอกแต่เพียงว่าก่อสร้างโดย ‘ตระกูลตันตรานนท์’ ซึ่งถือเป็นตระกูลเก่าแก่ที่ค้าขายในเชียงใหม่มานาน
เริ่มจากร้านโชห่วย
ในปี 1932 ตระกูลตันตรานนท์ได้เปิดตัว ‘ร้านของชำขนาดเล็ก’ ย่านตลาดวโรรส ซึ่งเป็นย่านที่มีการค้าขายกันมานานจนถึงปัจจุบัน ตอนนั้นใช้ชื่อร้านว่า ‘ตันฮั่วง้วน’ เป็นของ เถ้าแก่ง่วนชุน แซ่ตั้ง (มีข้อมูลจากเพจศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่ว่า เถ้าแก่เป็นต้นตระกูลตันตรานนท์) ซึ่ง ง่วนชุน แซ่ตั้ง ตามประวัติเขาเกิดและเติบโตที่กวางตุ้ง ประเทศจีน แต่ได้อพยพมาอยู่ในเมืองไทยช่วงวัยรุ่น ซึ่งก็น่าจะเป็นกลุ่มคนจีนรุ่นที่ 2 ที่ย้ายมาในจังหวัดเชียงใหม่
ว่ากันว่าร้านตันฮั่วง้วนในสมัยนั้นขายสินค้าเกือบทุกชนิดเท่าที่หามาได้ ไม่ว่าจะเป็น เกลือ กะปิ น้ำปลา อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง แม้แต่บุหรี่ของอังกฤษก็มีขายเหมือนกัน โดยเขาได้เปลี่ยนนามสกุลจากแซ่ตันไปเป็น ‘ตันตรานนท์’ เพราะต้องการขอใบอนุญาตเป็นตัวแทนจำหน่ายบุหรี่กระป๋องที่นำเข้าจากต่างประเทศ
ตอนนั้นร้านตันฮั่วง้วน ถือเป็นร้านขายของชำที่ได้รับความนิยมมากร้านหนึ่งในยุคนั้น และขึ้นชื่อว่าเป็นร้านที่มีของขายเยอะมาก ทำให้ร้านขยายตัวใหญ่ขึ้นและได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทุกคนเข้าสู่ยุคขาดแคลนสินค้าและข้าวของราคาแพง จึงเปิดโอกาสให้ร้านตันฮั่วง้วนขยับขยายจนวันหนึ่งที่ตัดสินใจเข้าสู่อุตสาหกรรมค้าปลีก
จุดกำเนิดห้างตันตราภัณฑ์
จากยุคที่เป็นร้านขายของชำร้านใหญ่ในย่านตลาดวโรรส ขณะเดียวกันเถ้าแก่ง่วนชุน ได้เสียชีวิตลงไม่นานหลังจากที่ตัดสินใจสร้างห้างสรรพสินค้า ชื่อว่า ‘ห้างตันตราภัณฑ์’ ซึ่งเป็นห้างแห่งแรกบนถนนท่าแพ ทำให้ ‘ธวัช ตันตรานนท์’ ลูกชายคนที่ 6 เป็นผู้สืบทอดกิจการต่อ โดยเขาได้ซื้อที่ดินจากห้างอนุสารของตระกูลนิมมานเหมินท์ สร้างเป็นตึก 3 ชั้น 5 คูหาสำหรับห้างตันตราภัณฑ์
ห้างตันตราภัณฑ์น่าจะเป็นรายแรก ๆ ที่นำเทคโนโลยีแปลกใหม่มาใช้อยู่เสมอ อย่างเช่น บันไดเลื่อน ซึ่งในความทรงจำของใครหลายคนมักจะติดภาพห้างนี้เพราะมีบันไดเลื่อน ทั้งยังเคยเป็นจุดนัดพบของกลุ่มเพื่อน ๆ ชาวเชียงใหม่มาแล้วในยุคหนึ่ง
ทั้งนี้ ความนิยมของห้างตันตราภัณฑ์มีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดกระแสเรียกร้องให้เปิดสาขาเพิ่ม ซึ่งสาขาที่ 2 ก็คือ ‘สาขาช้างเผือก’ โดยผู้ที่เข้ามาดูแลก็คือ ‘วรกร ตันตรานนท์’ ลูกชายคนโต โดยเขาได้คิดนำเอาร้าน ‘Mr.Donut’ เข้ามาเปิดขายอยู่ด้านหน้าของห้าง ซึ่งตอนนั้นเรียกได้ว่ามิสเตอร์โดนัทคือร้านอาหารสัญชาติอเมริกันรายแรก ๆ ในเชียงใหม่เลยก็ว่าได้
จากนั้นซูเปอร์มาร์เก็ตคือโมเดลธุรกิจต่อมาที่ลูก ๆ ของเถ้าแก่ง่วนชุนพยายามโฟกัส แต่โชคร้ายที่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งถาโถมเข้ามาทำให้ห้างประสบปัญหาขาดทุน จนต้องตัดสินใจว่าจะเลือกพยุงธุรกิจไหนอย่างใดอย่างหนึ่ง
เพราะนอกจากห้างตันตราภัณฑ์ อีกหนึ่งธุรกิจที่พวกเขาพยายามทำมาก่อนก็คือ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เพราะคิดว่าจังหวะนั้นสามารถขยายตัวธุรกิจได้ จึงเกิดเป็นศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่า แต่ด้วยการคำนวณที่ผิดพลาดและคิดว่าระบบโครงสร้างเหมือนกับห้างสรรพสินค้า จึงทำให้ประสบปัญหาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ห้างตันตราภัณฑ์สาขาท่าแพและสาขาช้างเผือก จำเป็นต้องปิดตัวลง ขณะเดียวกันศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่าก็ขายให้กับเซ็นทรัลพัฒนา และเลือกที่จะเก็บเพียง ‘ซูเปอร์มาร์เก็ต’ อย่างเดียว ซึ่งเหตุผลที่เลือกซูเปอร์มาร์เก็ตเพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่พวกเขาถนัดเพราะเติบโตมากับการขายของระบบโชห่วย
นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ ‘ริมปิง ซูเปอร์มาร์เก็ต’ ที่เลือกเปิดให้บริการสาขาแรกที่ย่านสะพานนวรัฐที่ติดริมแม่น้ำปิง ในปี 1988
ทั้งนี้ ในปี 2005 ริมปิง ซูเปอร์มาร์เก็ต ตัดสินใจเปิดสาขาใหม่ที่ ‘มีโชค’ เพื่อรองรับกับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ ซึ่งตอนนั้นริมปิง ถือว่าเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตระดับสูง ที่เลือกกลุ่มลูกค้าที่รวมไปถึงคนต่างชาติที่อาศัยในเชียงใหม่ และคนไทยที่มีกำลังซื้อ นับเป็นการฉีกวงการซูเปอร์มาร์เก็ตในเชียงใหม่ก็ว่าได้
ขณะที่ในปี 2015 ริมปิง ซูเปอร์มาร์เก็ต ตัดสินใจขยายสาขาไปต่างประเทศครั้งแรก ซึ่ง สปป.ลาว คือประเทศแรกที่ริมปิงฯ สนใจที่จะรุกตลาด
ปัจจุบันริมปิง ซูเปอร์มาร์เก็ต ถือว่าเป็นอีกหนึ่งร้านระดับบนที่มีสินค้าคุณภาพสูงมากมาย ทั้งของไทยและสินค้านำเข้า และเมื่อมาดูที่ผลประกอบการในปี 2021 ธุรกิจมีกำไร 48 ล้านบาทจากรายได้ 1,449 ล้านบาท ถือว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโต(เหมือนจะ)ช้า แต่ความจริงค่อนข้างมั่นคงทีเดียว ถือเป็นเคสธุรกิจที่น่าสนใจอีกธุรกิจหนึ่ง เพราะไม่ว่าคนเราจะขยายธุรกิจใหญ่โตมากแค่ไหน แต่จุดเริ่มต้นหรือการกลับมารีบูตตัวเองนั้น ก็มักจะเลือกจากสิ่งที่รักและถนัดอยู่ดี
ภาพ : Rimping/ศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่
อ้างอิง :