25 ก.ค. 2566 | 18:32 น.
เริ่มจากตัวเองง่วงนอน
เพชรเล่าว่าตอนนั้นกำลังเรียนปริญญาตรี ในสาขานิเทศศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วเกิดง่วงนอนอย่างหนัก แต่จะหากาแฟมาดื่มเพื่อแก้ง่วงตอนเรียนก็ไม่สามารถทำได้ เลยเกิดไอเดียหากมีอะไรในกาแฟมาช่วยให้เกิดความสดชื่นได้โดยไม่ต้องดื่มน่าจะดี จึงไปพูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาจะทำเรื่องนี้เป็นโปรเจกต์จบการศึกษา
แต่อาจารย์แนะนำว่า โปรเจคต์นี้น่าจะใช้เวลานาน และการที่เรียนนิเทศศาสตร์ ควรจะทำโปรเจกต์จบเกี่ยวกับด้านที่เรียนมาจะดีกว่า เขาจึงพับไอเดียเก็บไว้
กระทั่งเรียนจบระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดพอดี ทำให้เขาหางานประจำทำยาก เลยนำไอเดียนี้กลับมาปัดฝุ่น
“ผมพยายามหางานประจำทำเหมือนเด็กจบใหม่ทั่วไป แต่ด้วยโควิด-19 ทำให้หางานยากมาก จึงคิดเอาไอเดียนั้นมาปัดฝุ่นทำให้เป็นจริง เริ่มต้นหาข้อมูลงานวิจัยว่ามีอะไรในกาแฟที่จะช่วยให้สดชื่นและตื่นโดยไม่ต้องดื่มเอาคาเฟอีนเข้าร่างกาย ปรากฏไปเจองานวิจัยต่างประเทศพบว่า กลิ่นกาแฟช่วยกระตุ้นการทำงานในสมองเหมือนกับการดื่มกาแฟได้ เลยเดินหน้าสานต่อ”
เมื่อตัดสินใจลุยต่อ เพชรในฐานะสตาร์ทอัพจึงนำไอเดียของตัวเองมาปั้นเป็นโปรเจกต์นำไป Pitching เพื่อหาเงินทุนมาทำความฝันให้เป็นจริง เริ่มจากโครงการส่งเสริมนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปรากฏโปรเจกต์ของเขาชนะเลิศคว้าเงินรางวัล 100,000 บาทไปได้
เงินรางวัลที่ได้มาส่วนใหญ่เพชรนำไปใช้ในการหาวิธีสกัดน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดกาแฟ ซึ่งกว่าจะหาเจอต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกไปกับขั้นตอนนี้ถึงประมาณ 2 ปี ก่อนจะออกมาเป็นดมตะเมื่อปี 2565
“สกัดน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดกาแฟสกัดยากมาก ไม่ว่าจะใช้วิธีสกัดเย็น การกลั่น ใช้วิธีตัวทำละลาย ฯลฯ เพราะได้กลิ่นที่ไม่เหมือนเดิม จนพบกับอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแนะนำการสกัดด้วยวิธี Super Critical CO2 จากนั้นไปคุยกับอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีโรงงานต้นแบบของเทคนิคนี้อยู่ และดมตะจึงได้เกิดขึ้นรวมแล้วใช้เวลา 3 ปีในการพัฒนา”
‘ดมตะ’ คือ การเชิญชวนให้ดม
สำหรับชื่อของ ‘ดมตะ’ มาจากภาษาใต้มีความหมายว่า ‘ดมสิ หรือลองดมสิ’ วางตัวเองเป็น ‘บาริสต้าผู้เสิร์ฟกลิ่น’ พร้อมออกแบบ CI (Corparate Identity) ให้เป็นแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพยายามลด Wastes ให้มากที่สุด
เพราะเพชรมองว่าอุตสาหกรรมกาแฟสร้าง Wastes ค่อนข้างเยอะ จึงต้องการเป็นหนึ่งแบรนด์ที่ช่วยลดปัญหานี้ ตั้งแต่การดีไซน์สินค้า กระบอกยาดมทำมาจากไม้ไผ่ แพ็กเกจจิ้งทำมาจากกระดาษรีไซเคิล ส่วนกากกาแฟที่นำไปสกัดน้ำมันระเหยแล้วก็ไม่ทิ้ง แต่นำมาแปรรูปเป็นถุงหอมไล่ความง่วง เป็นต้น
“หลักการดมตะ คือ ต้องการเก็บช่วงเวลาที่ดีที่สุดของกาแฟมาให้ผู้บริโภคได้สัมผัส ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว คือ 15 นาทีหลังกาแฟบดเสร็จ จากนั้นกลิ่นจะเริ่มจางไป สินค้าของเราถ้าไม่เปิดใช้งานจะอยู่ได้ 3 เดือน แต่เมื่อเปิดใช้งานแล้วจะอยู่ได้ 1 เดือน”
ส่วนช่องทางจัดจำหน่าย จะขายทางออนไลน์เป็นหลัก โดยปัจจุบันมีสินค้าหลายตัว ประกอบด้วย ‘ดมตะ ยาดมกาแฟ’ มี 4 กลิ่น ได้แก่ Nutty Caramel มีกลิ่นหอมหวาน, Dark Roast กลิ่นกาแฟคั่วเข้ม, Red Wine กลิ่นกาแฟคั่วหมัก และ Special Rank3 จากไร่โซหยิ จังหวัดเชียงราย, ‘ดมตะ ยาดมกลิ่นชา’ และมีถุงหอมไล่ความง่วง ฯลฯ
ทุน - อายุ - ประสบการณ์ ไม่ใช่อุปสรรค
หลังเปิดตัวมา 1 ปี เพชรบอกว่า ดมตะได้รับการตอบรับที่ดี และรู้จักในฐานะบาริสต้าผู้เสิร์ฟกลิ่น ซึ่งคนที่รู้จักและตัดสินใจซื้อ ตอนแรกอาจเลือกเพราะอยากลอง จากความชอบในเรื่องของไอเดีย และไม่มีขายในท้องตลาดมาก่อน
ทว่านั่นไม่ใช่วิธีการสร้างให้ธุรกิจยั่งยืนได้ ดังนั้น เพชรจึงเน้นคุณภาพของตัวสินค้าที่เมื่อใช้แล้วได้ผลจริง ที่สำคัญยังวางแผนจะทำ CRM ดูแลและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีหลังการขายกับลูกค้าด้วย
“เราจะคุยกับลูกค้าตลอดว่า ใช้แล้วเป็นอย่างไร พึงพอใจหรือไม่ อยากให้พัฒนาอะไรเพิ่มเติม เป็นต้น เป็นการ remind ให้ไม่ลืมแบรนด์ของเรา และต่อไปดมตะจะไม่ใช่แค่ผู้เสิร์ฟกลิ่น แต่จะเสิร์ฟความรู้สึกด้วย”
คำถามที่เชื่อว่ามีหลายคนมักจะถามเพชรในฐานะสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ก็คือ ด้วยอายุยังน้อยเพิ่งจบปริญญาตรีมา ประสบการณ์ทางธุรกิจก็ไม่มี ทุนก็ไม่มี แล้วเขาเอา ‘ความกล้า’ ในการตัดสินใจเริ่มต้นทำธุรกิจมาจากไหน?
ในคำถามนี้เพชรตอบไว้น่าสนใจว่า 'เรื่องพวกนี้ไม่ใช่ปัญหาหรืออุปสรรค เพราะทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ แค่อย่าปิดกั้นตัวเอง เหมือนตัวเขาเองทางครอบครัวก็ไม่ได้สนับสนุน แต่พยายามพิสูจน์ให้เห็นจากการลงมือทำ ออกมาเป็นโปรดักต์และขายได้จริง ๆ ส่วนเรื่องทุนปัจจุบันมีโครงการและแหล่งระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่มากมาย'
ประเด็นเราต้องมีความกล้า และ ‘ก้าวในใจของเรา’ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สุด โดยต้องเชื่อว่าทำได้ ซึ่งจากความเชื่อนี้จะทำให้ก้าวต่อไปตามมา คือ ต้องลงมือทำ
“สำหรับผมก้าวแรกยากที่สุด ต้องออกมาจาก Safe Zone จากการหางานประจำ เพราะการทำธุรกิจใคร ๆ ก็ทำได้ ก้าวแรกต้องชนะใจตัวเอง เชื่อว่า ทำได้ ก้าว 2 ก้าว 3 และก้าวต่อ ๆ ไปจะตามมา โดยดมตะเองตอนนี้เพิ่งเริ่มต้น ยังมีหนทางอีกยาวไกลที่จะสามารถพัฒนาได้มากกว่านี้”
.
ภาพ : ดมตะ