Niran พวงหรีดผ้าห่อศพที่ไม่ใช่แค่แสดงความไว้อาลัยแต่ส่งต่อบุญแบบ ‘รักษ์โลก’ และใช้ได้จริง

Niran พวงหรีดผ้าห่อศพที่ไม่ใช่แค่แสดงความไว้อาลัยแต่ส่งต่อบุญแบบ ‘รักษ์โลก’ และใช้ได้จริง

‘Niran (นิรันดร์) พวงหรีดรักษ์โลก’ พวงหรีดผ้าห่อศพที่เกิดจากไอเดียของ‘เอิร์น-อรนภัส บุญอนันตพัฒน์’ ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘พวงหรีดที่ไม่ได้มีดีแค่สร้างสรรค์ แต่ยังส่งต่อบุญด้วยการบริจาคได้ทันที โดยไม่สร้างขยะ’

  • ‘พวงหรีดดอกไม้’ ในอดีตนิยมใช้แสดงความอาลัยต่อผู้วายชนม์ แต่ก่อขยะให้มากกว่าแสนชิ้นต่อปี
  • ที่ผ่านมามีคนคิดพวงหรีดรักษ์โลก เพื่อแก้ปัญหาการก่อขยะ หนึ่งในนั้น คือ Niran พวงหรีดผ้าห่อศพ 

การมอบ ‘พวงหรีด’ เป็นการให้เกียรติและแสดงความอาลัยต่อผู้วายชนม์ โดยในอดีตจะนิยมใช้พวงหรีดดอกไม้ ซึ่งสามารถสร้างขยะให้มากกว่าแสนชิ้นต่อปี และแนวโน้มดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นที่มาให้หลายคนพยายามสร้างสรรค์พวงหรีดรักษ์โลกที่ช่วยลดขยะ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ให้รุนแรงมากกว่าเดิม 

หนึ่งในนั้น คือ ‘Niran (นิรันดร์) พวงหรีดรักษ์โลก’ พวงหรีดผ้าห่อศพที่เกิดจากไอเดียของ‘เอิร์น-อรนภัส บุญอนันตพัฒน์’ ทายาทวัย 28 ปี ของ ‘บุญเจริญการทอ’ บริษัทที่ทำธุรกิจทอผ้ามานานกว่า 30 ปี 

‘พวงหรีดที่ไม่ได้มีดีแค่สร้างสรรค์ แต่ยังส่งต่อบุญด้วยการบริจาคได้ทันที โดยไม่สร้างขยะ’ เป็นคำนิยามที่เอิร์น-อรนภัสให้ไว้สำหรับพวงหรีดของเธอ

เพราะนอกจากจะนำไปแสดงความอาลัยต่อผู้วายชนม์แล้ว เมื่อจบงานสามารถแก้ออกมาเป็นผ้าห่อศพผืนใหญ่นำไปบริจาคให้กับวัดหรือมูลนิธิต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์จริงได้แบบไม่สร้างขยะเพิ่ม

Niran พวงหรีดผ้าห่อศพที่ไม่ใช่แค่แสดงความไว้อาลัยแต่ส่งต่อบุญแบบ ‘รักษ์โลก’ และใช้ได้จริง เอิร์น-อรนภัส จบการศึกษาปริญญาตรีด้านการโรงแรม และปริญญาโทด้านบริหารจัดการ โดยเหตุผลที่เลือกเรียนปริญญาโทด้านนี้ก็เพื่อเตรียมวางแผนจะมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว

แต่เมื่อจบมา เธออยากทำงานด้านที่ได้เล่าเรียนมาเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานข้างนอกก่อนจะเข้าไปดูแลธุรกิจของครอบครัว และได้ทำงานแรกด้านการโรงแรมที่เครือ Marriott ในประเทศไทย ดูแลด้านการขายและการตลาด ก่อนจะย้ายไปทำด้าน Management Consulting ที่ PWC ประเทศไทย (PricewaterhouseCoopers, Thailand)

จากนั้นได้กลับไปช่วยธุรกิจของครอบครัว และ Niran พวงหรีดผ้าห่อศพสำหรับสายบุญรักษ์โลกก็ได้เริ่มต้นที่นี้

“ตอนเข้ามารับช่วงกิจการครอบครัว ตัวเองยังไม่รู้เลยว่าจะช่วยอะไร และมีพี่ชายที่จบด้าน Material Engineering ที่ดูเหมาะกับสิ่งที่ครอบครัวทำมากกว่า แต่ใจเอิร์นคิดอยากทำผลิตภัณฑ์อะไรก็ได้ที่ขายให้กับลูกค้าโดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง เพื่อให้ธุรกิจของครอบครัวพัฒนาและเติบโตได้ในระยะยาว 

“อย่างแรกที่คิดคือ ทำกระเป๋าผ้า แต่กระเป๋าผ้าก็แมสเกินไป ยังไม่รู้ทำอย่างไรให้แตกต่าง เพราะยุคนี้ถ้าเราจะเอาของที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดจำเป็นต้องมีความยูนีค ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถสร้างตลาดของตัวเองได้”

จากเพจห่มบุญสู่ Niran พวงหรีดรักษ์โลกผ้าห่อศพ

เอิร์น-อรนภัสเล่าวว่า ตอนเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัวเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาดค่อนข้างรุนแรง มีคนเสียชีวิตมาก ความต้องการผ้าห่อศพและถุงใส่ศพเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เห็นโอกาสว่า ผ้าห่อศพจริง ๆ ที่ใช้เป็นผ้าดิบที่โรงงานทอได้อยู่แล้ว จึงตัดสินใจเปิดเพจห่มบุญขายผ้าห่อศพและถุงใส่ศพ 

นอกจากขายแล้วด้วยความที่พ่อแม่ชอบทำบุญด้วย จึงมีโอกาสนำไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลและมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง เพราะหน่วยงานเหล่านี้เป็นด่านหน้าต้องเจอความเสี่ยงเยอะมาก และจากการทำเพจห่มบุญก็ทำให้รู้ว่า ผ้าห่อศพเป็นที่ต้องการมาก ๆ บางหน่วยงานไม่ได้มีงบมากพอที่จะสั่งซื้อ ทำให้ต้องไปขอรับบริจาคจากหน่วยงานที่ใหญ่กว่าแทน เธอจึงใช้เพจห่มบุญเป็นสะพานบุญในการที่ให้คนซื้อเพื่อบริจาค แล้วรับหน้าที่แพ็กส่งให้แบบไม่คิดค่าส่ง 

หลังจากทำเพจห่มบุญมาได้ 2 ปี อยู่ดี ๆ ก็เกิดไอเดียว่า ผ้าสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง สามารถดีไซน์ให้สวยงามได้ เลยนำมาประติดประต่อกับธุรกิจที่บ้าน บวกกับความต้องการผ้าห่อศพ และเห็นเทรนด์เรื่องขยะที่เกิดจากพวงหรีดดอกไม้ จนมีหลายที่และหลายงานที่เกี่ยวกับงานศพจะเขียนในการ์ดหรือติดในงานว่า ไม่รับพวงหรีดดอกไม้ จึงคิดนำผ้าดิบจากโรงงานของตัวเองมาทำเป็นพวงหรีดรักษ์โลก 

“พวงหรีดของเรานำไปไว้อาลัยผู้เสียชีวิต เสร็จงานก็แก้ออกมาเป็นผ้าผืน ๆ เลย สามารถนำไปบริจาคต่อได้ ใช้ประโยชน์ได้สองต่อช่วยลดขยะได้เยอะ ต้องบอกก่อนว่า ของเราก็มีขยะแต่น้อยมาก มีแค่ป้ายกระดาษและหวาย แต่หวายก็ย่อยสลายเองได้ หรือเอาไปทำอย่างอื่นต่อได้”

Niran พวงหรีดผ้าห่อศพที่ไม่ใช่แค่แสดงความไว้อาลัยแต่ส่งต่อบุญแบบ ‘รักษ์โลก’ และใช้ได้จริง Niran การให้ที่ไม่รู้จบ

ส่วนที่มาของชื่อ Niran ก็มาจากต้องการหาชื่อที่พูดง่าย มีความหมายดีและมีความเป็นไทยเพื่อให้จดจำได้ง่าย ซึ่งคำว่า นิรันดร์ หมายถึงตลอดไป และอยากให้มองว่า การให้พวงหรีดเป็นการระลึกและให้เกียรติผู้เสียชีวิต

สำหรับตัวเธอมองว่า การทำพวงหรีดรูปแบบนี้ได้บุญหลายต่อ เป็นการส่งต่อบุญไปเรื่อย ๆ แบบไม่รู้จบ คนซื้อได้บุญ เจ้าภาพได้บุญ คนเสียชีวิตก็ได้บุญ เป็นอะไรที่ตอบโจทย์มาก เพราะคนไทยชอบทำบุญ และสิ่งที่นำมาทำก็ขาดแคลนมาก อันนี้คือคอนเซ็ปต์ตอนแรกเลยว่า Niran มาได้อย่างไร

โดยเริ่มต้นพวงหรีดของ Niran มีด้วยกัน 5 แบบ แบ่งออกเป็นแบบผ้า 5 ผืน และ 10 ผืน ขายในราคา 1,900 บาท และ 2,900 บาท 

จุดเปลี่ยนที่เกิดจากเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป

Niran เปิดตัวมาประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ช่วงแรกเอิร์น-อรนภัสบอกว่า ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก ขายได้ 2 พวงต่อสัปดาห์ เป็นอะไรที่ไปได้ค่อนข้างช้า ด้วยตอนนั้นสื่อสารผ่านเพจทาง Facebook เป็นหลัก และยิง ad ด้วยงบค่อนข้างจำกัด เพราะยังไม่มั่นใจถึงการตอบรับของตลาดกับพวงหรีดแบบนี้

แต่จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้น เมื่อ ‘เพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป’ หยิบเรื่องราวของ Niran นำไปแชร์ ทำให้ยอดติดตามเพจพุ่งสูงขึ้นและยอดขายช่วงนั้นเพิ่มแบบ 1,000% จากขายได้อาทิตย์ละ 2 พวง เป็นเกิน 10 พวงต่อวัน  

“เราไม่ได้รู้จักอะไรกันเลยกับเพจลุงซาเล้งฯ พูดตรง ๆ เราไม่ได้คาดหวังจะก้าวกระโดดขนาดนี้ พอเป็นอย่างนี้ปั๊บออเดอร์เข้ามาแบบไม่ได้ตั้งตัว จำได้เลยว่าไปคุยกับคุณพ่อจะทำสต๊อกเผื่อไว้หน่อยดีไหม คุณพ่อบอกว่า ขายให้ได้ก่อนเถอะแล้วค่อยทำสต๊อก(หัวเราะ)

“พอถึงเวลาบูมสต๊อกเกลี้ยงเลยทำไม่ทัน เป็นอะไรที่พยายามเรียนรู้ไป รีบจัดระบบให้ได้เร็วที่สุด ช่วงนั้นเป็นช่วงที่แบบก็คือปวดหัวแบบเครียด แต่เครียดแบบมีความสุขนะคะ เป็นปัญหาที่ยินดี ยิ้มสู้เลยค่ะ (หัวเราะ)”

เตรียมพัฒนาต่อยอดในอนาคต 

สำหรับผลตอบรับของ Niran หลังจากเปิดตัวทำมาได้ 8 เดือน เอิร์น-อรนภัสค่อนข้างจะพอใจมาก และเคยถามลูกค้าหลายต่อหลายคนว่าทำไมถึงเลือกเรา อย่างที่บอกมีทางเลือกเยอะ เช่นพวงหรีดพัดลมหรือพวงหรีดกระดาษ 

คำตอบที่ได้รับ คือ ลูกค้าชอบที่สามารถไปทำบุญต่อได้ ชอบในคอนเซ็ปต์ที่ว่าผ้าไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะมาแค่เป็นพวงหรีดงานศพ แต่เป็นผ้าห่อศพที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และอยากที่บอกคือขาดแคลน ขณะที่หากเป็นพวงหรีดแบบอื่น เช่น พัดลมก็เอาไปบริจาคได้นะ ส่วนใครจะนำไปใช้หรือนำไปทำอะไรเป็นอีกเรื่องนึง

ตอนนี้อยู่ระหว่างการวางแผนพัฒนาแบรนด์ต่อไป ช่วงกลางเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มความหลากหลายของจำนวนผ้า เพื่อเป็นทางเลือกของลูกค้า ให้มีแบบผ้า 7 ผืน และ 8 ผืน จากปัจจุบันมีผ้าแบบ 5 ผืนและ 10 ผืน 

Niran พวงหรีดผ้าห่อศพที่ไม่ใช่แค่แสดงความไว้อาลัยแต่ส่งต่อบุญแบบ ‘รักษ์โลก’ และใช้ได้จริง

ส่วนคำถามว่า กังวลการลอกเลียนแบบหรือไม่? 

คำตอบคือ กังวล โดยเอิร์น-อรนภัสได้มีการจดอนุสิทธิบัตรของพวงหรีดที่เป็นแบบผ้าห่อศพและเครื่องหมายการค้าไว้ เพื่อป้องกันตัวเอง เพราะช่วงที่ผ่านมา Niran เป็นไวรัลมาก ๆ และก่อนหน้านี้เคยเจอการสั่งเคสแปลก ๆ มาแล้ว 

“มีคนโทรมาสั่งพวงหรีดเราแล้วให้ส่งที่คอนโดในกรุงเทพฯ ให้เหตุผลว่า จะไปงานที่ต่างจังหวัดแล้วจะเอาไปเอง แต่พอถามไปถามมาเรารู้สึกว่าแปลก ๆ คือ ตอนนั้นออเดอร์เยอะเราก็บอกว่าต้องรออีกหนึ่งอาทิตย์ได้ไหม เขาบอกว่ารอได้ ซึ่งแบบปกติภายใน 1 อาทิตย์งานศพน่าจะจบไปแล้ว และไม่น่าจะมีใครสั่งไว้ล่วงหน้า” 

หวังเป็นแรงกระเพื่อมเล็ก ๆ ให้ทุกคนร่วมมือกันช่วยสิ่งแวดล้อม 

จุดหลักของ Niran อยากเป็นเหมือนแรงกระเพื่อมเล็ก ๆ ในการทำให้คนเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยลง หรือลดการสร้างขยะ โดยเสนอเป็นทางเลือกที่ง่ายสำหรับลูกค้า ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตหรือพฤติกรรมแบบหักเหเพื่อจะเป็นคนที่รักษ์โลก

“เราอยากให้ลูกค้ามองว่า การรักษ์โลกไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะท้ายที่สุดเราอยู่บนโลกใบนี้ ทุกคนจะได้รับผลกระทบต่อสิ่งที่เกิดกับโลกไม่มากก็น้อย และเราจะอยู่ถึงวันที่มันมีผลกระทบหรือเปล่า เราไม่รู้ แต่วันนี้สิ่งที่ทำได้คือให้ทุกคนตระหนักเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” 

นอกจากนี้เธอยังได้ทำแคมเปญ Circle of compassion นำรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายพวงหรีดมอบให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรไปสมทบทุนการศึกษาสำหรับบุตรธิดาของผู้พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิต 

เพราะรู้สึกว่า การซื้อกับเราไม่ใช่แค่การซื้อพวงหรีด แต่เป็นการให้และส่งต่อความดีให้คนอื่นด้วย ขณะเดียวกัน ก็อยากช่วยเป็นกระบอกเสียงหรือส่วนหนึ่งที่ช่วยสะท้อนถึงปัญหา ไม่ว่าจะเป็นสังคม ธรรมชาติ หรือสัตว์ป่า 

“เราไม่ใช่แบรนด์ใหญ่แต่เรารู้สึกว่าเป็นหน้าที่ ช่วยได้เท่าที่สามารถทำได้ ในความรู้สึกของเอิร์นการรักษ์โลกไม่จำเป็นต้องทำอะไรยิ่งใหญ่ ทุกคนคิดได้แค่แบบเออเราทำเล็ก ๆ ของเราเท่านี้ ทำได้จริงแล้วมีอิมแพ็คจริง ๆ เอิร์นเชื่อแบบนั้นค่ะ

.

ภาพ : Niran พวงหรีดรักษ์โลก