06 ต.ค. 2566 | 15:04 น.
Stories of the Month เป็นซีรีส์ใหม่ของ The People ซึ่งจะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจในแต่ละเดือน และเป็นประเด็นพิเศษให้ติดตามกันแบบไม่ซ้ำกัน
ในเดือนตุลาคม 2023 เป็นเรื่องราวของ Local Entrepreneur ผู้ประกอบการไทยมากฝีมือที่สามารถสร้างชื่อและยืนหยัดอยู่บนสังเวียนธุรกิจได้แม้จะต้องเจอการแข่งขันที่ดุเดือดจากแบรนด์ใหญ่ ที่สำคัญยังมีแนวคิดที่สามารถสร้างไอเดียและแรงบันดาลใจให้กับผู้คน
‘ไผ่ทองไอสครีม’ ตำนานไอศกรีมที่อยากส่งต่อวิถีไทยให้คนทั่วโลก
“อาแปะ ทำไมรสชาติไอศกรีมที่ขายในแต่ละวันถึงไม่เหมือนกัน” เป็นคำถามของเด็กชายคนหนึ่งที่ถาม ‘กิมเซ้ง แซ่ซี’ ผู้มีอาชีพขายไอศกรีมและเขาได้นำคำถามนี้ไปบอกกับเถ้าแก่เจ้านายของตัวเอง ซึ่งเถ้าแก่บอกว่า ถ้าคิดว่าทำได้ดีกว่า ให้ไปทำเอง
นั่นเป็นจุดกำเนิดของตำนาน ‘ไผ่ทองไอสครีม’ ซึ่งจากวันนั้นจนวันนี้ได้ส่งต่อความสุขให้กับผู้คนผ่านไอศกรีมจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลา 72 ปี ภายใต้หลักการยืนยันที่จะรักษาคุณภาพและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
น่าสนใจมากไปอีก เมื่อตอนนี้ไผ่ทองไอสครีมกำลังปรับตัวเดินหน้าเข้าสู่ ‘โลกใหม่’ เพื่อให้ทันกับกระแสและเทรนด์ผู้บริโภค ภายใต้รูปแบบและวิธีคิดที่ต่างไปจากเดิม รวมถึงมีเป้าหมายใหญ่การส่งต่อการกินไอศกรีมวิถีไทยสู่คนทั่วโลก
สำหรับเส้นทางของไผ่ทองไอสครีม ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 72 ปีที่ผ่านมา โดย 'กิมเซ้ง แซ่ซี' ได้พัฒนาสูตรไอศกรีมของตัวเองแบบ Homemade เน้นมาตรฐานความคงที่ของรสชาติ และใช้วัตถุดิบคุณภาพ ส่วนเหตุผลต้องเป็นไอศกรีมกะทิ เพราะยุคนั้นนมเป็นสินค้าหายาก ขณะที่กะทิหาง่าย และเป็นของคุ้นเคยสำหรับคนไทย
ช่วงแรกไอศกรีมที่กิมเซ้งพัฒนาขึ้นมาไม่มีแบรนด์และนำไปขายให้กับชาวบ้านทั่วไป หลังจากนั้นเริ่มสร้างแบรนด์ใช้ชื่อว่า ‘หมีบินไอสครีม’ เพราะยุคนั้นตราสินค้าที่คนมักจะนำมาตั้งจะเป็นสารพัดสัตว์บิน ไม่ว่าจะเป็น กระต่ายบิน ช้างบิน เป็นต้น
จนประมาณ 20 ปีต่อมาได้รีแบรนด์มาเป็น ‘ไผ่ทองไอสครีม’ ซึ่งมาจากคำว่า ‘กิมเต็ก’ ในภาษาจีน แปลเป็นไทยว่า ไอศกรีมคุณธรรมดั่งทอง แต่ยาวเกินไป จึงใช้ไผ่ทองแทน
ต้องฟังเสียงลูกค้าเพื่อปรับให้ทัน
นอกจากรักษามาตรฐานและคุณภาพของรสชาติให้เหมือนกันทุกวัน อีกเคล็ดลับความสำเร็จของไผ่ทองไอสครีมก็คือ ‘การปรับตัวและฟังเสียงลูกค้าให้มากขึ้น’ โดยต้องเข้าใจและเข้าใกล้ผู้บริโภคให้ได้มากที่สุดตามสภาพแวดล้อมและเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ยกตัวอย่าง ยุคเริ่มแรกไผ่ทองไอสครีมจะตั้งเป็นตู้ขายตามร้าน ต่อมาปรับมาเน้นขายด้วยรถเข็นหรือรถพ่วง และชัดเจนมากขึ้นเมื่อ 4 - 5 ปีที่ผ่านมาในช่วงที่ไผ่ทองไอสครีมส่งไม้ต่อธุรกิจจาก Gen 2 ไป Gen 3 ด้วยการปรับทุกอย่างให้เป็นระบบ มีการเช็กสถิติและฟังเสียงลูกค้ามากขึ้น เพื่อจะรักษาฐานลูกค้าเก่าที่โตมาด้วยกัน และเพิ่มฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่
ไม่ว่าจะเป็นการเปิด ‘ไผ่ทองสเตชั่น’ ร้านขายไผ่ทองไอสครีมที่มีโมเดลหลากหลาย ทั้งบูธ, Truck food และเดลิเวอรี ที่นอกจากจะมีรสชาติพื้นฐานแล้ว ยังมีไอศกรีมพรีเมียมที่ไผ่ทองไม่เคยทำ เช่น รสทุเรียน, บราวนี่ ฯลฯ รวมไปถึงเปิด Vending machine ซึ่งสร้างกระแส Talk of the Town ให้ชื่อของไผ่ทองไอสครีมได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
ส่งออกไอศกรีมวิถีไทยให้คนทั่วโลก
‘รตา ชัยผาติกุล’ ทายาทรุ่น 2 ไผ่ทองไอสครีม กล่าวกับ The People ว่า ไผ่ทองไอสครีมยังต้องเดินทางไปอีกไกล และจะพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่หยุด เพื่อส่งต่อความสุขถึงผู้คนแบบรุ่นต่อรุ่นผ่านไอศกรีม และไม่เพียงส่งความสุขให้กับคนไทยเท่านั้น
เพราะเธอยังต้องการส่งออกวัฒนธรรมการกินไอศกรีมวิถีไทยไปสู่คนทั่วโลก โดยตอนนี้ไผ่ทองไอสครีมได้ไปปักธงธุรกิจในต่างประเทศแล้วด้วยรูปแบบของการให้สิทธิ์แฟรนไชส์ ประเดิมประเทศแรก ได้แก่ กัมพูชาที่ตอนนี้มีประมาณ 33 สาขา และในอนาคตกำลังจะเปิดตัวในมาเลเซีย ลาว ไปจนถึงประเทศอื่น ๆ
ที่สำคัญไม่ว่าจะไปในประเทศใดก็ตาม เธอยืนยันคำเดิมว่า จะยังคงรักษาเรื่องของคุณธรรมในการทำการค้า และคุณธรรมของการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภคเช่นเดียวกับที่ทำมาตลอด 72 ปี โดยหวังให้ไผ่ทองไอสครีม เป็นแบรนด์แห่งความทรงจำที่จะเติบโตไปด้วยกันไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหนก็ตาม
.
บทความนี้ปรับปรุงจากบทความ : ‘ไผ่ทองไอสครีม’ ตักความสุขจากความทรงจำส่งต่อผู้คนจากรุ่นสู่รุ่น เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2565