ชายที่มาทำให้ ‘เปลญวน’ ของชนเผ่ามลาบรี กลายเป็นสินค้าที่มีราคาหลักหมื่น (จากหลักร้อย)

ชายที่มาทำให้ ‘เปลญวน’ ของชนเผ่ามลาบรี กลายเป็นสินค้าที่มีราคาหลักหมื่น (จากหลักร้อย)

‘โจ เดมิน’ (Joe Demin) ผู้ร่วมก่อตั้ง Yellow Leaf ชายที่มาทำให้ ‘เปลญวน’ ของภาคเหนือเพิ่มมูลค่าจากหลักร้อยมาเป็นหลักหลายพัน จนถึงหลักหมื่น นำเสนอเปลญวนซึ่งเป็นทักษะของชาวมลาบรี ในชุนชนตองเหลือง จ.แพร่ สู่สายตาชาวโลก

  • ‘โจ เดมิน’ (Joe Demin) ผู้ร่วมก่อตั้ง Yellow Leaf สตาร์ทอัพอเมริกัน ที่ขายเปลญวนจากชาวมลาบรี ชุมชนตองเหลืองในจ.แพร่
  • ที่มาและประวัติศาสตร์ของ ‘เปลญวณ’ (Hammock) เป็ฯของชาวญวน หรือ เวียดนามจริงหรือ?
  • ธุรกิจเพื่อชุมชนที่ร่วมมือกับชาวมลาบรี เพื่อให้คุณภาพชีวิตชนเผ่าดีขึ้นด้วยสินค้าแฮนเมด 100%

ไม่ว่าจะเป็นเปล หรือ ‘เปลญวณ’ (Hammock) ราคาขายในตลาดไทยส่วนใหญ่จะอยู่ที่หลักร้อย แตะ ๆ ไปถึงร้อยปลาย ๆ เกือบ 1,000 บาท จนกระทั่งชายคนหนึ่งที่เข้ามาทำให้ราคาขายของเปลญวนเปลี่ยนไป ราคาของเปลญวนจากพื้นที่ห่างไกลในจ.แพร่ ราคาดีดไปถึง ‘หลักหมื่นบาท’

แต่เราจะพาย้อนประวัติของ ‘เปลญวน’ ก่อนว่าประวัติศาสตร์ของเจ้าสิ่งที่เรียกว่า เปลญวน มีวัฒนาการมาได้อย่างไร?

เปลที่มาจากอินเดียนแดง

ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ให้ข้อมูลว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์อาจจะไม่ได้บันทึกไว้ชัดเจนนักเกี่ยวกับที่มาของเปล แต่มีบันทึกของ ‘คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส’ (Christopher Columbus) ผู้ที่ค้นพบโลกใหม่ซึ่งก็คือ สหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน

ในบันทึกระบุว่า “เปลญวนถูกนำไปใช้ในยุโรปในปี 1492 หลังจากที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในสเปน แต่ใช้ชื่อเรียกว่า Bahamas โดยคิดว่าเปลญวนน่าจะมาจากกลุ่มอินเดียนแดงที่นำพวกผ้า และเปลมาแลกกับสิ่งของจำเป็นในระหว่างเดินทาง ซึ่งที่นอนที่เป็นตาข่ายคือหนึ่งในหลักฐานในสมัยนั้นว่ามาจากชาวอินเดียนแดง และผู้คนในยุคนั้นที่ติดทะเลใช้มันในการนอน แทนการปูนอนกับพื้นเพราะคลื่นทะเลที่ซัดสูงขึ้นในช่วงเวลากลางคืน”

 

โดยชาวอินเดียนแดงที่ปรากฎในทางประวัติศาสตร์ และเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของกลุ่มที่ใช้ เป็นกลุ่มที่ย้ายถิ่นอาศัย และใช้เปลญวนเพื่อนอนมากว่า 1,000 ปีแล้ว ซึ่งเปลในรุ่นแรก ๆ จะทำจากเปลือกไม้ของต้น Hamak ซึ่งจะมีความอ่อนนุ่ม สบายตัว แต่เมื่อ 50-60 ปีก่อนเริ่มมีการเปลี่ยนเปลนอนมาเป็นผ้าฝ้ายถักแล้ว เพราะต้น Hamak หายากขึ้น

ส่วนคนที่สงสัยว่า ทำไมต้องเรียกว่า ‘เปลญวน’ มาจากชาวญวน (ชาวเวียดนาม) หรือ?

ข้อมูลจาก นิตยสารบ้านและสวน อธิบายสั้น ๆ ไว้ว่า คำว่าเปลญวนจุดเริ่มต้นว่ากันว่ามาจาก จ.สุพรรณบุรี เพราะว่าในสมัยก่อนมีชุมชนเวียดนามไปตั้งรกรากอยู่ที่ อ.สองพี่น้อง และได้นำเส้นด้ายมาถักทอเป็นผืนแล้วใช้ผูกกับใต้โถงบ้านและนอนพัก จากนั้นได้มีการทำขายเป็นจำนวนมาก จนทำให้คนสมัยนั้นเรียกว่าเปลญวนก็คือ เปลที่มาจากคนญวนนั่นเอง

แล้วเปลญวนที่ราคาเริ่มมาตั้งแต่หลักสิบ จนถึงหลักร้อย มูลค่าพุ่งมาขนาดหลักหลาย ๆ พันจนแตะหมื่นได้อย่างไร? เรื่องราวของบริษัทสตาร์ทอัพ Yellow Leaf จากอเมริกา อาจสร้างแรงบันดาลใจและความน่าทึ่งเกี่ยวกับพวกเขาได้

 

เที่ยวไทยแต่ติดใจเปลญวน

ค่อย ๆ ไปทำความรู้จักกับชายที่ชื่อว่า ‘โจ เดมิน’ (Joe Demin) เขาคือ คนที่เคยลี้ภัยจากโซเวียตเป็นผู้อพยพรุ่นแรก ๆ ในยุคที่สหภาพโซเวียตกำลังจะล่มสลาย เขาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สหรัฐฯ ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ โดยเริ่มต้นธุรกิจเล็ก ๆ ด้วยการรับจ้างขนขยะที่เป็นกระป๋องของเพื่อนบ้านเพื่อหารายได้ตามประสาเด็ก ๆ

ความที่เขามีหลักคิดแบบนักธุรกิจตั้งแต่เด็กทำให้วันหนึ่งช่วงที่เขาและแฟนไปเที่ยวพักผ่อนในภาคเหนือของเมืองไทย โจ เดมิน เกิดค้นพบเปลญวนที่นั่งและนอนจนติดใจอยากจะซื้อกลับบ้าน เขาบอกกับกรรมการในรายการ Shark Tank เมื่อปี 2020 ว่า “แรงบันดาลใจผมเกิดในวันหยุด”

เขาเล่าว่า ตอนที่เดินทางไปจังหวัดในภาคเหนือในประเทศไทย เขาได้ค้นพบเปลญวนที่น่าทึ่งมากเพราะมันนั่งสบาย และสามารถนอนเล่นได้ทั้งวัน โจ เดมิน รู้สึกว่ามันต่างจากเปลญวนที่เคยนั่งมาทั้งหมด เขาจึงอยากจะซื้อกลับบ้านที่อเมริกา

“ผมอยากให้ทุกคนรู้สึกว่าสิ่ง ๆ นี้ทำให้เรารู้สึกถึงวันหยุดได้ ด้วยเปลญวนนี้ ให้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันเราได้”

จากนั้น โจ เดมิน ได้ติดต่อชุมชนที่ทำเปลญวนจากพนักงานของที่พัก ซึ่งเขาบอกว่าตอนนั้นยอมที่จะนั่งแท็กซี่ระยะทาง 600 ไมล์ เพื่อไปแหล่งชุมชนแห่งหนึ่งที่อยู่อาศัยแบบป่าโอบล้อม เขาได้พบกับกลุ่มผู้หญิงล้วนที่กำลังถักทอเปลญวนอย่างสนุกสนาน ซึ่งเขารู้สึกว่าทักษะนี้แหละที่เขาอยากจะทำให้คนทั้งโลกเห็น

 

เปลญวนจากชาวมลาบรี

โจ เดมิน ศึกษากรรมวิธีการถักเปลญวนของ ‘ชาวมลาบรี’ ที่อาศัยอยู่บนดอยในชุมชนเผ่าตองเหลือง พื้นที่สูงสุดของจ.แพร่ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนไม่ถึง 300 คนที่อาศัยอยู่ที่แห่งนี้ โดยคนภายนอกจะเรียกชุมชนนี้ว่า ‘ตองเหลือง’ ซึ่งพวกเขาจะมีวิถีชีวิตการหาของป่า และย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ ไม่มีอาชีพแน่นอน แต่การถักเปลญวนเป็นหนึ่งในอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับพวกเขา และเป็นทักษะที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น

การพูดคุยของ โจ เดมิน กับชุมชนมลาบรีในวันนั้นทำให้เขาตัดสินใจชัดเจนว่า อยากจะทำให้เปลญวนให้เป็นที่รู้จัก และสร้างรายได้ที่มั่งคงขึ้นให้กับชุมชนแห่งนี้ หลังจากนั้นเขาได้ตัดสินใจก่อตั้งบริษัทขึ้นโดยใช้ชื่อว่า ‘Yellow Leaf’ (Yellow Leaf Hammocks LLC

โดยเริ่มจากการลองโพสต์ขายสินค้าในราคาประมาณหลักพันบาท เมื่อกระแสตอบรับค่อนข้างดี ในปี 2020 จึงไปรายการ Shark Tank เพื่อขอระดมทุน ในที่สุดเขาก็ได้รับเงินลงทุน 1 ล้านดอลลาร์ จาก Daniel Lubetzky นักธุรกิจมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน

ซึ่งหลังจาก โจ เดมิน และแฟนสาวออกรายการ Shark Tank เปลญวนของพวกเขามูลค่าเพิ่มจากหลักพันเป็นพันหมื่นบาท สำหรับตัวที่นำมาโชว์ในรายการ ทั้งยังเป็นสินค้าขายดีที่คนต้องการซื้อเยอะมาก

นอกจากไอเดียของโจ เดมิน ต้องยกกิมมิคความน่ารักของแบรนด์ Yellow Leaf อีกหนึ่งอย่างก็คือ สินค้าทุกชิ้นที่ถักโดยชาวมลาบรี จะมี ‘ป้ายลายเซ็น’ ของผู้ที่ถักเพื่อแสดงให้รู้ว่าดีไซน์นั้น ๆ เป็นของใคร

ชอบไอเดียของ Yellow Leaf เพราะพวกเขามองว่า การทำธุรกิจไม่ใช่เพราะอยากขายเปลญวนเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาอยากจะช่วยเหลือชุมชนที่ถูกละเลยและมีชีวิตที่ไม่มั่นคงให้ดีขึ้น ดังนั้น การที่พวกเขาช่วยให้เปลญวนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ถือว่าเป็นการทำขึ้นเพื่อสังคมโดยส่งเสริมให้ช่างฝีมือท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดียั่งยืน

 

ภาพ: Getty Images/ Yellow Leaf

อ้างอิง:

Yellow Leaf Hammocks

Joe Demin and Rachel Connors of Yellow Leaf Hammocks: 5 Important Business Lessons We Learned While Being On Shark Tank

Yellow Leaf Hammocks Shark Tank Net Worth

YELLOW LEAF HAMMOCKS

ประวัติและความเป็นมาของเปลญวน

อิฐมอญ หญ้ามาเลเซีย เปลญวน มาจากประเทศเพื่อนบ้านจริงเหรอ?