แปลงโฉม ‘เสื่อ’ แทนพรม PDM Brand ธุรกิจที่ดีไซน์เสื้อผ้าให้เสื่อไทย และใช้ AI เป็นเลขา

แปลงโฉม ‘เสื่อ’ แทนพรม PDM Brand ธุรกิจที่ดีไซน์เสื้อผ้าให้เสื่อไทย และใช้ AI เป็นเลขา

เส้นทางของ PDM Brand แบรนด์ที่สร้างตัวตนมาจาก 'เสื่อไทย' พัฒนาจนเคียงคู่ของตกแต่งบ้านชั้นเยี่ยม งานดีไซน์ที่เพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่น และสร้างความเข้าใจด้วยเทคโนโลยี AI

KEY

POINTS

PDM Brand คือธุรกิจเสื่อ ที่สร้างเอกลักษณ์ด้วยของท้องถิ่นไทย

พัฒนาธุรกิจด้วยโมเดลตั้งคำถาม ทำไมเสื่อ แทนที่พรมไม่ได้ ทั้งที่เป็นประเทศร้อน

การใช้ AI และ ChatGPT มาเป็นเลขา ช่วยให้ธุรกิจวิเคราะห์แม่นยำขึ้น 

“PDM อยากออกแบบเสื่อให้คนไทยใช้แทนพรม เพราะเรามองว่า พรมมันใช้ตกแต่งบ้านแล้วสวยมาก ๆ แต่ไม่เหมาะกับอากาศร้อนแบบบ้านเรา”

เพียงประโยคไม่กี่คำที่ได้ยินจาก ‘ดิว - ดุลยพล ศรีจันทร์’ ดีไซเนอร์ และผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ PDM Brand เขาพูดในงาน MarTech Expo 2024 presented by SC Asset เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ ไบเทค บางนา ถึงกับฉุดคิดพักหนึ่งเลยว่า “จริงสิ ทำไมเสื่อบ้านเราสวยนะ แต่ดูไม่ทันสมัย และก็มีแต่ลายเดิม ๆ ที่เคยเห็นตั้งแต่เด็ก”

แปลงโฉม ‘เสื่อ’ แทนพรม PDM Brand ธุรกิจที่ดีไซน์เสื้อผ้าให้เสื่อไทย และใช้ AI เป็นเลขา

ผู้เขียนจึงตั้งใจฟังมาก ๆ กับทุกประโยคที่ ดิว - ดุลยพล พูดและอธิบายเกี่ยวกับ PDM Brand และก็รีบวิ่งไปหาหลังเวที เพื่อติดต่อขอสัมภาษณ์เพิ่มเติม และนี่คือบทสัมภาษณ์ และความน่าสนใจจากบนเวที ที่ดีไซเนอร์คนนี้ได้แชร์ค่ะ

“ที่จริงผมไม่เคยอยากเป็นนักธุรกิจนะ”

ดิว – ดุลยพล พูดหลังจากใช้เวลาตรองคำถามของเราสักพักเกี่ยวกับเส้นทางการเป็นนักธุรกิจของเขา เขาบอกว่า ด้วยความที่เป็นดีไซเนอร์ อยากทำงานสร้างสรรค์ไปเรื่อย ๆ แต่ก็มีจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชีวิตหันเหมาทางนี้ ก็คือ มหาวิทยาลัยที่ ดิว – ดุลยพล ได้รับทุนเรียนนั้น อยากให้เรียนต่อปริญญาเอก แต่เขาคิดว่าพ่อแม่ก็อายุเยอะแล้ว ถ้าต้องอยู่ต่างประเทศต่อก็คงไม่อยากอยู่

แปลงโฉม ‘เสื่อ’ แทนพรม PDM Brand ธุรกิจที่ดีไซน์เสื้อผ้าให้เสื่อไทย และใช้ AI เป็นเลขา

ก็เลยกลับประเทศไทย และโฟกัสงานสตูดิโอของตัวเองดีกว่า ซึ่งตอนนั้น ไอเดียเกี่ยวกับ ‘เสื่อไทย’ เข้ามาพอดิบพอดี ซึ่งก็คือ เสื่อสามารถมาแทนที่พรมได้ แต่ต้องพัฒนาเพิ่มทั้งลายและคุณภาพให้ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องม้วนเสื่อเก็บให้พังเร็วเหมือนเดิม เขาได้แนะนำให้กับบริษัทที่มาปรึกษา แต่ไม่มีใครสนใจไอเดียนี้ เพราะอาจมองว่า พัฒนาเสื่อไทยต้องลงทุนสูง ต้องมีเครื่องจักร

จนได้มาเจอ ‘แมน-แมนรัตน์ สวนศิลป์พงศ์’ อดีตเจ้านาย และผู้ร่วมก่อตั้ง PDM Brand ที่บอกกับเขาว่า “น่าจะมีประโยชน์ แต่คงเหนื่อยแน่ ๆ เพราะยังไม่เคยมีไอเดียนี้ในตลาดเลย”

“ผมไม่ใช่นักการตลาด มันคือ ลูกวัวไม่กลัวเสืออะครับ เรารู้แค่ว่าเหนื่อยแน่กับการพัฒนาเสื่อ เพราะโรงงานก็ยังไม่มี เพียงแต่เรารู้ว่าปลายทางว่ามันต้องดีมากแน่ ๆ”

ปัจจุบัน PDM Brand เดินทางมา 10 ปีแล้ว แต่กว่าจะอยู่ ณ จุดนี้ ดิว – ดุลยพล บอกว่า สินค้าขายได้จริง ๆ ตอนปีที่ 2 แล้ว และเริ่มเป็นที่รู้จักจริง ๆ ก็ปีที่ 4-5 มาแล้ว

“ช่วงปีแรกคนยังไม่เข้าใจว่า เสื่อที่ราคาผืน 2-3 พันคืออะไร มันเคยมีราคาไม่กี่ร้อยไม่ใช่หรอ...”

“เราก็ได้แต่อธิบาย อธิบายในมุมของดีไซเนอร์ เพราะเราไม่ใช่นักการตลาด พยายาม educated คนมากมาย”

“ใช้เวลาอยู่หลายปีเหมือนกัน ที่จะทำให้การสื่อสารของเรามันมีคุณค่าเท่ากับผู้รับฟัง คือ ถ้าเราทำของที่มีอยู่แล้วในตลาดขาย ถ้าไม่คุณภาพดีกว่า ก็ราคาดีกว่า มันได้ แต่อันนี้ มันไม่เคยมีในตลาดเลย”

จนกระทั่ง PDM Brand ไปถูกตาต้องใจกลุ่ม Early Adopters หรือ Interior Designer ที่เห็นดีไซน์เสื่อแล้วรู้เลย เข้าใจทันที

แปลงโฉม ‘เสื่อ’ แทนพรม PDM Brand ธุรกิจที่ดีไซน์เสื้อผ้าให้เสื่อไทย และใช้ AI เป็นเลขา

 

 

เสื่อลายแรกโดยดีไซเนอร์ฟินแลนด์

ดิว – ดุลยพล เล่าว่า คอนเซปต์ของ PDM Brand ที่วางเป้าตั้งแต่ Day 1 ก็คือ ‘international sense’ แต่เป็นของคนไทย ดังนั้น เสื่อผืนแรกที่ภูมิใจนำเสนอก็คือ ‘Stride’ ที่ออกแบบโดย Sini Henttonen เพื่อนชาวฟินแลนด์ที่เจอกันสมัยที่ยังเรียนอยู่ที่นั่น,  ดีไซเนอร์พรมในฟินแลนด์ และเป็นผู้ออกแบบให้กับ PDM Brand คนแรก

Stride ก็คือ ลายที่ทับซ้อนกันและจัดเรียงต่อกันอย่างสวยงามในรูปทรงเรขาคณิต โดยลาย Stride เคยได้รับรางวัล Demark Design Excellence Award จากประเทศไทย และ Good Design Award จากประเทศญี่ปุ่น และก็ยังได้รับความนิยมจนถึงตอนนี้

“ตอนนั้น Sini มองเสื่อเหมือนพรม เราเลยปิ๊งไอเดียว่า ทำไมถึงไม่มีใครทำเสื่อให้เป็นพรม ซึ่งตอนแรกนะมีเงินทำแค่ลายเดียว ไซส์เดียว และสีเดียวด้วย เราไปเร่ขาย แขวนขายซ้ำ ๆ”

“ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่ามันคือ สตาร์ทอัพ รู้แค่ว่าเหนื่อยมาก งานแฟร์ก็ออก รู้เลยว่า ผู้ประกอบการเป็นอีกเลเวลหนึ่งเลยของดีไซเนอร์ แต่ก็เรียนรู้อะไรเยอะมากครับ”

 

 

Small but to be Snowball

ระหว่างการพูดคุย ดิว – ดุลยพล ย้ำว่า ธุรกิจของเขาคือ งานดีไซน์สินค้าอุตสาหกรรม ไม่ใช่หัตถกรรม เพราะอะไรที่เกี่ยวกับการทำมือจะควบคุมคุณภาพยากกว่า

แต่สำหรับขั้นตอนการคิด – การทำแต่ละแพทเทิร์น – แต่ทดลองวางห้องตัวอย่างว่าจะสวยหรือไม่ ทุกอย่างคือกระบวนการของงานคราฟต์ทั้งหมด เพียงแต่ขั้นตอนการผลิตมาจากโรงงาน เพราะมันสามารถสเกลได้มากกว่า

“สำหรับ PDM Brand เราจะมีคำนี้ติดอยู่ว่า Small แต่ต้องเป็น Snowball ได้ด้วย”

“สมมุติว่า วันหนึ่งผมไปเจอเสื่อผืนหนึ่งที่คุณป้าทอมันสวยมาก ๆ เลย แล้วถามว่าถ้าโรงแรมสั่ง 1,000 ผืน คุณป้าก็คงไม่ไหว”

แปลงโฉม ‘เสื่อ’ แทนพรม PDM Brand ธุรกิจที่ดีไซน์เสื้อผ้าให้เสื่อไทย และใช้ AI เป็นเลขา

ปัจจุบัน PDM Brand ไม่ได้มีแค่ ‘เสื่อ’ อย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะมีหลายโปรดักส์ ไม่ว่าจะเป็น ร่ม กระเป๋า โต๊ะ เก้าอี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่ PDM Brand ไม่ได้มีโรงงานเป็นของตัวเอง ดังนั้น ความคล่องตัวจึงสูง แต่ความเสี่ยงก็สูงมากเช่นกัน

แต่สิ่งที่เราเห็นก็คือ ความโดดเด่นยังเป็นเรื่องของดีไซน์ ที่เก๋ และมีเอกลักษณ์ ตามชื่อ PDM : Product Design Matter จริง ๆ

การสัมภาษณ์ทั้งหมดที่เราพูดคุยเพิ่มเติม สอดคล้องกับสิ่งที่ ดิว – ดุลยพล ได้พูดบนเวทีในงาน Martech Expo เกี่ยวกับ 3 สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ ก็คือ (1) Product Design, (2) Online Communication และ (3) Data Marketing โดยทั้ง 3 แนวคิดที่ว่านี้ สามารถให้ AI หรือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ช่วยเราได้

“ChatGPT อาจจะไม่ใช่ final idea แต่สามารถช่วยเราคิดหลาย ๆ วิธีได้ เหมือนมีดีไซเนอร์หลายคนช่วยกันคิด”

การสื่อสารจากแบรนด์ถึงลูกค้าสำคัญมาก ซึ่ง AI สามารถช่วยได้ อาจจะในแง่ของการเป็นผู้วิจัยให้แบรนด์วิเคราะห์ได้แม่นยำขึ้น หรือ สร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจ และสร้างสรรค์ผลงานที่สร้างอิทธิพลต่อผู้เห็นได้ เป็นต้น

เขายังย้ำเกี่ยวกับ Data Marketing ด้วยว่า เป็นตัวช่วยด้านการตลาดที่ดีมาก เพราะหลังจากที่เราเริ่มทำธุรกิจ เราจะได้รับข้อมูลฟีดแบ็กมากมาย ซึ่งการสกัดข้อมูลเหล่านั้นเพื่อนำไปปรับปรุงหรือพัฒนาต่อ เราต้องได้สิ่งที่เป็นความจริงหรือใกล้ความจริงมากที่สุด

หรือแม้แต่การให้ ChatGPT ช่วยเรา ก็เป็นเหมือนกับ data test ของแบรนด์ที่ดีเช่นกัน

สำหรับ ดิว – ดุลยพล เขาบอกกับ The People ทิ้งท้ายว่า “คำว่า SMEs มันกว้างมาก ดังนั้นถ้าถามผมว่า SMEs ควรจะใช้ AI ในการช่วยในธุรกิจมั้ย ผมว่ามันไม่ได้อยู่ที่ควรจะใช้รึเปล่า แต่คุณต้องการ engine แบบไหนในองค์กรมากกว่า”

“อาจจะเป็นขั้นตอนนี้มันยุ่งยากมาก เช่น การรับบิล เปิดบิล จะเอา AI มาช่วยได้ไหม หรือจะเป็นการเก็บข้อมูลบางอย่างที่คิดว่าสำคัญสำหรับคุณ อันนี้คือสิ่งที่สำคัญกว่าการจะใช้ AI หรือไม่ใช่ เพราะถ้าสุดท้ายคุณคิดว่า ขั้นตอนพวกนั้นมันก็ไม่ได้ยากอะไร ก็ไม่ต้องใช้ AI ก็ได้ แต่ถามผมถ้าคุณไม่ไหว มันหนักหนาเกินไป การใช้ AI ก็จะทำให้การวิเคราะห์ของธุรกิจคุณคมขึ้น”

“SMEs อาจจะไม่ได้มีเงินเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้มากเท่าองค์กรใหญ่ แต่ข้อดีก็คือ ไม่เสียดายเยอะ ซึ่งตอนนี้มันก็มี Free AI ให้ใช้เยอะ”

นอกจากนี้ เราได้หยิบเคล็ดลับของ PDM Brand จากบนเวทีมาแชร์ทิ้งท้ายด้วย นั่นก็คือ ‘SSSS’ ซึ่งน่าสนใจมาก จำง่าย ทำได้จริง

  • Small เล็กแต่ต้องมองเห็นโอกาสในการขยายใหญ่ด้วย
  • Speed เล็กแล้วต้องเร็วด้วยเพื่อให้ตัวเองไปไกลมากเท่าที่ต้องการ
  • Synchronize เชื่อมโยงกับผู้ผลิตรายอื่น ๆ และดูแลกันและกันให้ดีเพื่ออนาคตของธุรกิจ
  • Sustainability สร้างโมเดลที่ยั่งยืนตั้งแต่แรก คือความยั่งยืนที่สุด ทำเท่าที่ลูกค้าต้องการ โรงงานก็ซื้อวัตถุดิบเท่าที่ต้องใช้

แปลงโฉม ‘เสื่อ’ แทนพรม PDM Brand ธุรกิจที่ดีไซน์เสื้อผ้าให้เสื่อไทย และใช้ AI เป็นเลขา

สุดท้าย ดิว – ดุลยพล หวังว่า PDM Brand จะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้กับดีไซเนอร์ และคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นผู้ประกอบการ อยากให้แบรนด์สามารถจุดประกายความคิดบางอย่างได้ว่า ดีไซเนอร์สามารถอยู่กับ commercial ได้ และสำคัญคือ อยากให้คนไทยเข้าใจหรือมี mindset ที่ว่า งานดีไซน์มันคืองานเพิ่มมูลค่า

“ลองสังเกตดูครับว่า ประเทศที่มีอำนาจต่อรองในเวทีโลก จะเข้าใจเรื่องการเพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบ”

 

*หมายเหตุ: ข้อมูลบางส่วนมาจากงาน MarTech Expo 2024 presented by SC Asset ในหัวข้อเรื่อง “How Creative Entrepreneur Works with AI”

 

ภาพ: PDM Brand