‘พลัฏฐ์ พลอยบุญเลิศ’ เจ้าของธุรกิจ KEAPAZ นักสู้ที่พลิกชีวิตด้วย ‘ต้นหญ้า

‘พลัฏฐ์ พลอยบุญเลิศ’ เจ้าของธุรกิจ KEAPAZ นักสู้ที่พลิกชีวิตด้วย ‘ต้นหญ้า

‘พลัฏฐ์ พลอยบุญเลิศ’ นักสู้ชีวิต เคยติดหนี้ 10 ล้านเพราะช่วยคนอื่น คิดสั้นจากโลกไปเพื่อยุติปัญหา แต่สุดท้ายเกิดเป็นธุรกิจฟื้นตัวเอง ชื่อว่า KEAPAZ แบรนด์หนังที่ทำมาจากพืช ได้ไอเดียจาก 'ต้นหญ้า' สิ่งเล็ก ๆ ที่ไม่มีใครคิดว่าสร้างมูลค่าได้

KEY

POINTS

  • KEAPAZ ธุรกิจที่เคยขึ้นมาเพราะ 'ต้นหญ้า'
  • พลัฏฐ์ พลอยบุญเลิศ เจ้าของธุรกิจเคยติดหนี้ 10 ล้าน และคิดฆ่าตัวตายเพราะจบปัญหา
  • แบรนด์ดังที่เคยร่วมงานกับ KEAPAZ เช่น MUJI โดยสนใจหนังจากพืช เพื่อนำไปต่อยอดเป็นสินค้าอื่นที่สร้างมูลค่ามากขึ้น

หลายคนที่เคยล้มเหลว หลายคนที่เคยติดหนี้ และอาจมีอีกหลายคนที่เคยคิดสั้น รู้สึกว่าอยากยุติชีวิตที่ทุกข์ทรมานให้จบ ๆ ไปซะ แต่เรื่องราวของชายที่ชื่อว่า ‘ดิน - พลัฏฐ์ พลอยบุญเลิศ’ เจ้าของธุรกิจ KEAPAZ อาจทำให้คุณเปลี่ยนใจ เพราะเรื่องราวของเขา inspired ผู้เขียนมาก ๆ และอยากให้เรียกเขาว่าเป็น นักสู้ชีวิตคนหนึ่งเลยก็ว่าได้

‘พลัฏฐ์ พลอยบุญเลิศ’ เจ้าของธุรกิจ KEAPAZ นักสู้ที่พลิกชีวิตด้วย ‘ต้นหญ้า

เปลี่ยนงานเพราะไม่ชอบทำราชการ

ก่อนจะเป็น ‘ดิน - พลัฏฐ์’ ในฐานะเจ้าของธุรกิจ KEAPAZ (เคียพาส) กระเป๋าและหนังที่ทำมาจากพืช ชีวิตของเขาต้องใช้คำว่า ‘ผกผัน’ อยู่หลายครั้งมาก ๆ ตลอดชีวิตนี้เขาเปลี่ยนงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ที่ และงานแรกที่ทำก็เริ่มมาจาก ‘บ๋อยโรงแรม’ เพื่อหารายได้พิเศษสมัยที่ยังเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง

“จริง ๆ ผมเป็นคนกรุงเทพครับ ครอบครับก็ชนชั้นกลาง บ้านอยู่แถววงเวียนใหญ่ และผมเรียนจบจากม.รามคำแหง สายเศรษฐศาสตร์ครับ”

ดิน – พลัฏฐ์ เล่าย้อนไปช่วงความฝันที่เขาอยากจะเป็นสมัยที่ยังอยู่ช่วงมัธยมต้น เขาอยากทำงานเกี่ยวกับกรมป่าไม่ การเกษตร จนกระทั่งได้แรงบันดาลใจใหม่อยากเป็นคุณครูบนดอย สอนเด็กด้อยโอกาส แต่มีวิกฤตชีวิตลูกแรกหลังจากที่คุณพ่อของ ดิน – พลัฏฐ์ เสียชีวิต ความฝันของเขาก็เริ่มเปลี่ยนไป ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเลือกเรียนสาย ‘เศรษฐศาสตร์’

สำหรับชีวิตของ ดิน – พลัฏฐ์ ต้องใช้คำว่า contrast หลายอย่าง ถ้าเล่าไว ๆ เกี่ยวกับงานที่เขาทำแบบรวบรัด เขาเริ่มทำตั้งแต่งานโรงแรมเป็นเด็กยกกระเป๋า และอาชีพแรกจริง ๆ หลังจากที่เรียนจบก็คือ ‘สรรพากร’ ซึ่งสุดท้ายก็ทำได้ไม่นานเพราะรู้สึกว่า ไม่ชอบในระบบราชการ รู้สึกไม่ชอบเลย

“เราก็รู้สึกว่าทนระบบราชการไม่ได้จริง ๆ ก็เลยไปสอบที่ธนาคารแห่งหนึ่ง และก็ได้ทำงานที่นั่นทที่สาขาสุรวงศ์”

“ตอนนั้นเราเป็นพนักงานใหม่ที่เข้าไป แต่เรารู้สึกว่าพอเวลาเขาออกไปตรวจสอบอะไรอย่างนี้ ก็จะไม่เคยพาเราไปเลย ก็รู้สึกว่า อ๋อ เราคงเป็นส่วนเกินตรงนั้น ก็ลาออกเพราะมันไม่เหมาะกับเรา หลายคนบอกว่า อุตส่าห์สอบได้แล้วทำไมลาออก ซึ่งการทำงานธนาคารมันเป็นอาชีพที่คนคนสมัยก่อนเขามองว่าดี มั่นคง”

และจุดเริ่มต้นของอาชีพที่ ดิน – พลัฏฐ์ รู้สึกว่าชอบและท้าทายก็เริ่มต้นขึ้น จากเด็กที่เรียนจบเศรษฐศาสตร์ มาสู่การทำงานที่โรงงานครั้งแรก ตอนนั้นเขาเข้าทำงานที่ บริษัทไทยแอโรว์ ฝ่ายทำเอกสารส่งออก ซึ่งต้องพูดว่าประสบการณ์ที่นี่ทำให้เขาได้รู้จักกลุ่มลูกค้าที่เป็นต่างประเทศ การทำงานกับต่างประเทศ

ซึ่งไม่ว่า ดิน – พลัฏฐ์ จะเปลี่ยนงานหรือโยกย้ายตำแหน่งหลังจากนั้นบ่อยแค่ไหน ส่วนใหญ่เขาจะได้ทำงานกับบอสต่างชาติ เช่น ที่บริษัท ไทยเอโร่การ์เม้นต์ เขามีเจ้านายเป็นคนญี่ปุ่น และสิ่งแวดล้อมที่นี่เองทำให้เขาเรียนรู้หลักคิดอย่างหนึ่งจากบอส ก็คือ ‘การให้โอกาส’

“เจ้านายเคยบอกผมว่า you พยายามเรียนรู้ทุกอย่างนะ you ทำผิดได้ แต่อยากมีครั้งที่ 2 นั่นก็คือประโยคที่เราจำมาตลอด และคิดว่า ถ้าวันหนึ่งได้เป็นหัวหน้าใครเนี่ย ก็จะใช้ประโยคนี้คุยกับลูกน้องตลอด”

ดิน – พลัฏฐ์ ทำงานที่นี่ 2-3 ปี ก็ลาออกตามหัวหน้าไป เพราะเขาออกไปเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง สถานที่ทำงานแห่งใหม่ย่านสีลม ทำให้เขานึกถึงวันแรก ๆ ที่ยังใส่สูท ผูกเนคไท แต่งตัวเรียบร้อย พยายามทำให้ตัวเองดูดี มีความน่าเชื่อถือ

เป้าหมายการทำงานตอนนั้นของ ดิน – พลัฏฐ์ เคยมองว่าอย่างน้อย ๆ ตัวเองต้องไปถึงจุด ‘รองผู้จัดการ’ หรือ ‘ผู้จัดการ’ ของฝ่ายบุคคล ซึ่งในสมัยนั้นฝ่ายบุคคลต้องจบรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ ที่เกี่ยวกับสายกฎหมายแรงงานมา ซึ่งเงินเดือนตอนนั้นที่ไทยเอโร่การ์เม้นต์อยู่ที่ประมาณ 7,000-8,000 บาท ถือว่าเยอะแล้วในสมัยก่อน แต่ยังคิดว่าศักยภาพและความพยายามของเขาได้มากกว่านี้

จนกระทั่งเขาได้ทำงานให้กับ ‘โรงงาน Advance’ ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคลตามฝัน โดยเจ้านายญี่ปุ่นบอกว่าถ้าเขาสามารถทำงานที่ต่างจังหวัดได้ จะให้เงินเดือน 25,000 บาท จากที่เขาคาดหวัที่ 10,000 เท่านั้นเอง

ดิน – พลัฏฐ์ เริ่มงานที่โรงงานในจ. บุรีรัมย์ ที่ตอนนั้นยังไม่มีอะไร ไม่ทันสมัยเหมือนอย่างตอนนี้ และเขาต้องพยายามแก้ปัญหาให้กับพนักงานโรงงานทั้ง 1,400 คน ซึ่งจะมีการประท้วงทุก ๆ สิ้นปี ตั้งแต่เรื่องของการขึ้นเงินเดือน ไปจนถึงการจ่ายโบนัส

ผลงานที่สร้างความประทับใจของดิน – พลัฏฐ์ ทำให้เจ้านายถึงกลับยอมรั้ง ไม่ให้เขาลาออก หลังจากที่เขารู้สึกว่างานที่กำลังทำอยู่น่าเบื่อเกินไป ไม่ท้าทาย และด้วยความที่เขาทำงานอย่างดี เป็นที่รักสำหรับเจ้านาย และเงินเดือนก็ไต่ขั้นบันไดแบบก้าวกระโดด

“ผมเป็นคนเก็บเงินไม่อยู่ครับ มีเงินก็จะเอาไปซื้อคอนโด ไปซื้อที่ดิน ตอนนั้นที่บุรีรัมย์ผมซื้อที่ดินไว้ 100 ไร่ กะว่าจะทำเป็นอาณาจักร เริ่มเอาต้นไม้มาปลูก อยากจะสร้างที่พัก ทาวน์เฮ้าส์ ราคาไม่แพง ปล่อยขายให้กับพนักงานในโรงงานผ่อนได้เดือนละพัน คิดเอาไว้แล้ว”

เขาเล่าถึงช่วงที่กำลังจะเข้าสู่วิกฤตชีวิต ปี 40 วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ซึ่งตอนนั้นเขาได้ย้ายงานมาที่อมตะนครแล้ว โปรเจกต์มากมายที่ ดิน –พลัฏฐ์ และวาดฝันไว้ แต่ลืมกลับมามองอีกครั้งว่า ช่วงนั้นเป็นจังหวะที่ถูกที่ควรหรือไม่ที่จะเริ่มทำโปรเจกต์

 

เป็นหนี้ 10 ล้านเพราะต้มยำกุ้ง

“ผมเริ่มสร้างห้องได้แล้วประมาณ 7-8 ห้อง ด้วยเงินตัวเอง และมันไม่พอก็เลยไปกู้ธนาคาร แต่ธนาคารไม่ยอมปล่อยเงินกู้ ผมเลยรู้ว่า เรากำลังเจอวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว”

“ตอนนั้นกลุ้มใจมากครับ เพราะใช้เงินไปหลายล้านแล้ว รู้สึกเหมือนชีวิตมันพัง เพราะโดนธนาคารยึดหมด แม้แต่คอนโดที่ตัวเองอยู่ 2 ที่ รถที่ผมซื้อไว้ ก็โดนยึดเหมือนกัน ที่ดินที่เคยซื้อไว้ก็ถูกยึด รวม ๆ ก็น่าจะ 10 ล้านได้ครับ”

ชีวิตเริ่มรู้สึกว่าไร้แก่นสาร ความเคว้งคว้างเข้ามาแทนที่ สินทรัพย์ทุกอย่างที่โดนยึดนับ 10 ล้านบาท ยังไม่หมด เขายังเหลือหนี้สินที่ต้องจ่ายคืนอีกประมาณ 2 ถึง 3 ล้านบาท และนั่นทำให้เขารู้สึกไม่เป็นตัวเอง คิดอยากฆ่าตัวตาย เพราะอยากให้ปัญหานี้มันจบ ๆ แต่พอได้สติขึ้นมาก็ตระหนักได้ว่า รอบตัวเขายังมีคนที่รักเขา ทั้งแม่ ทั้งแฟน ดังนั้น การที่เขาจากโลกนี้ไปมันแทบไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร หนำซ้ำยังทิ้งหนี้สินให้กับคนที่เขารักต่อไปด้วย

“ตอนนั้นผมลาออกจากงาน เพราะรู้สึกว่าอยู่ไม่ได้แล้ว ทั้งที่ตอนนั้นเงินเดือนก็ 60,000-70,000 ซึ่งถือว่าเยอะมาก แต่ผมคิดว่า ต้องทำงานนานแค่ไหนหนี้ก้อนนี้ถึงจะหมดได้ แล้วเราก็ทำงานกับต่างประเทศมาบางส่วน ซึ่งก็รู้จักนิสัยคนต่างชาติดี แล้วก็รู้จักบริษัทบางบริษัทที่มีเรื่องส่งออกอยู่แล้ว ก็คิดว่าเราจะผลิตสินค้าอะไร เพราะอยากได้เงินเราคืน คือถ้าเราทำงานกินเงินเดือน ไม่มีทางได้คืนเลย”

สติที่ผุดขึ้นมาระหว่างที่เขาคิดเรื่องอยู่หรือไม่แต่ละครั้ง สุดท้ายก็ตกผลึกได้ว่า เขายังมีความสามารถที่จะสู้ต่อนะ ถึงแม้ว่าช่วงแรก ๆ ดิน – พลัฏฐ์ ยังไม่รู้จะต่อสู้อย่างไร ทำอะไรต่อ เขาเลือกที่จะนั่งรถเมล์เล่น นั่งไปเรื่อย ๆ มองโน่นนี่ที่ผ่านตาเข้ามา บางครั้งก็ขับรถเล่นตามนอกเมือง แม้แต่การขับรถเข้าไปในวัด ไปนั่งอยู่บริเวณที่มีเมรุ ไม่มีพระ ไม่มีคน นั่งมองอยู่แบบนั้น จนรู้สึกว่าจิตใจเริ่มสงบดีแล่ว ไม่ฟุ้งซ่านแล้ว

และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาให้ค่าของ ‘ต้นหญ้า’ จากที่ไม่เคยสังเกตมันมาก่อน

‘พลัฏฐ์ พลอยบุญเลิศ’ เจ้าของธุรกิจ KEAPAZ นักสู้ที่พลิกชีวิตด้วย ‘ต้นหญ้า

 

ต้นหญ้าคืนชีวิต

ในสมัยก่อนตอนที่ยังไม่มีใครพูดถึงเรื่อง ‘งานธรรมชาติ’ หรือ ‘waste’ การเอาของที่เหลือมาต่อยอดทำอะไรอย่างอื่น ไอเดียนี้ก็ทำให้เขานึกอยากลองขึ้นมา จากแรงบันดาลใจของ ‘กระดาษสา’ กลายเป็นคนแรก ๆ ที่ทำให้สิ่งธรรมชาติเหล่านั้นมาเป็น ‘หนัง’ เขาได้นำ waste ต่าง ๆ มาต่อยอด สร้างสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำ

“จำได้ว่า ตอนนั้นเห็นต้นหญ้า ก็คิดว่ามันมีเยอะแยะเลยนะ ทำไมไม่เห็นมีใครเอามาทำอะไรกับต้นหญ้าเลย อาจจะเพราะว่ามองเป็นสิ่งที่คนมองข้ามมาตลอด ไม่เคยนึกถึง ไม่เคยคิดว่าสร้างมูลค่าได้”

‘พลัฏฐ์ พลอยบุญเลิศ’ เจ้าของธุรกิจ KEAPAZ นักสู้ที่พลิกชีวิตด้วย ‘ต้นหญ้า

“ตอนนั้นผมก็เริ่มจากการเอาต้นหญ้ามาวางเรียงแผ่ต่อกัน แล้วลองขึ้นรูป จากความเข้าใจที่เราคิดว่ามันน่าจะยึดต่อกันได้ จากนั้นก็ออกแบบนำต้นหญ้าที่ขึ้นรูปไว้ มาทำเป็นแพ็คเกจน่ารัก ๆ ที่ทำมาจากของธรรมชาติ จากนั้นก็ไปเสนอขาย 2-3 ที่ และได้แต่หวังว่าอาจจะได้สัก 4,000-5,000 ออเดอร์ อย่างน้อยก็เพื่อประทังชีวิต”

‘พลัฏฐ์ พลอยบุญเลิศ’ เจ้าของธุรกิจ KEAPAZ นักสู้ที่พลิกชีวิตด้วย ‘ต้นหญ้า

“ปรากฎว่ามันเกินคาดกว่านั้นเยอะมาก เพราะผมได้ออเดอร์จากที่ไปนำเสนอครั้งนั้นทั้งหมด 76,500 ชิ้น ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่มีโรงงาน ไม่มีเครื่องอบร้อน พื้นที่ที่จะทำก็น้อยมาก เพราะต้องนำแผ่นที่ขึ้นรูปไว้มาตากแดดที่ริมระเบียงคอนโดอยู่เลย”

แม้ว่าครั้งนั้นเขาดูกังวลมากว่าจะทำทันหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ผ่านพ้นได้ดี จนมาถึงออเดอร์ที่ 2 ที่เขาได้นำเสนอกับบริษัทเครื่องหอม และได้ออเดอร์มาทั้งหมด 36,500 ชิ้น เพื่อส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องบอกว่าสหรัฐฯ เป็นตลาดที่หลายคนใฝ่ฝันเพราะเป็นตลาดใหญ่ แล้วมักจะได้ออเดอร์จำนวนมาก

‘พลัฏฐ์ พลอยบุญเลิศ’ เจ้าของธุรกิจ KEAPAZ นักสู้ที่พลิกชีวิตด้วย ‘ต้นหญ้า

อย่างไรก็ตาม ไอเดียจากวันแรก ๆ เขาทำเป็นแพ็คเกจ เช่น กระเป๋าใส่เหรียญ หรือ กระเป๋าถือใบเล็ก ๆ วันหนึ่งมีลูกค้าเข้ามาถามว่า สามารถทำเป็น ‘แผ่นหนัง’ โดยไม่ต้องทำเป็นแพ็คเกจสำเร็จรูกได้หรือไม่ เพราะเขาต้องการนำไปดีไซน์เอง ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมาจึงเกิดเป็นไอเดีย ‘หนังจากพืช’ จนทุกวันนี้

ปัจจุบัน KEAPAZ กำลังทำงานร่วมกับ ‘MUJI’ แบรนด์ดังจากญี่ปุ่น และยังมีบริษัทเอเจนซี่ของอเมริกาที่กำลังดีลกัน โดยเขาเป็น agent รายใหญ่ที่ดูแลแบรนด์ดังหลายแบรนด์ เช่น Adidas และ NIKE เป็นต้น

เรื่องราวของ ดิน –พลัฏฐ์ อดคิดไม่ได้ว่า จากวันแรกที่เขาเข้าทำงานในระบบราชการ ชีวิตเปลี่ยนผ่านมาเรื่อย ๆ จนเดินทางเข้าสู่ชีวิตของหนุ่มโรงงานเงินเดือนสูง ประสบการณ์มากมาย สังคม และตัวตนที่ชัดมาก ๆ ของเขา ล้วนหล่อหลอมให้เป็น KEAPAZ ทุกวันนี้

ซึ่งเขาบอกกับผู้เขียนว่า คำว่า ‘KEAPAZ’ ซึ่งมีความหมายใกล้กับภาษานอร์ดิกฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นตัวเอง เพราะมันหมายถึงว่า “ความว่างเปล่าที่มีแสงสว่าง” เขาคิดว่ามันคล้ายตัวเขาที่ดูว่างเปล่านะ แต่ก็มีแสงสว่างเข้ามาเสมอ

“ความว่างเปล่านั้นมันมีเรื่องสวยงามอยู่เสมอนะครับ”

และเมื่อเราถามว่า ‘ความสุข’ ที่แท้จริงของเขาคืออะไรกันแน่ สิ่งที่ทำอยู่ ณ ตอนนี้ใช่ความสุขหรือไม่? เขาตอบทันทีอย่างไม่ลังเลว่า “แค่ขอให้ได้ออกแบบอะไรใหม่ ๆ ที่ทำให้คนอื่นที่เห็นรู้สึกว่า มันก็มีของแบบนี้อยู่นะ แค่นี้ก็มีความสุขแล้วครับ บางทีที่เราออกแบบลวดลายเองลูกค้าอาจจะไม่ชอบ แต่เราชอบก็เก็บไว้ครับ ตอนนี้น่าจะ 300-400 แบบแล้ว”

‘พลัฏฐ์ พลอยบุญเลิศ’ เจ้าของธุรกิจ KEAPAZ นักสู้ที่พลิกชีวิตด้วย ‘ต้นหญ้า

เมื่อถามเราต่อว่า ความฝันของเขาที่อยากสานต่อให้จบ ให้เป็นจริง เช่น การเป็นครูบนดอย เหมือนตอนแรก ๆ ที่เคยฝันไว้ยังอยู่หรือไม่?

“ครูบนดอยทุกวันนี้ก็ยังเสียดายนะ ส่วนลายที่ออกแบบไว้เยอะมาก ๆ อันนั้น เรามีความคิดอยากจะเปิดเป็น library เป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนมาเยี่ยมชมดูลายที่เราออกแบบได้ และต้องการสานต่อสิ่งที่ทำไว้อยู่แล้ว ก็คือ สนับสนุนคนทำงานสูงอายุที่อาจจะหางานที่อื่นยากหน่อย ผมชอบช่วยเหลือคนครับ โดยเฉพาะคนสูงอายุ”

บทสัมภาษณ์ครั้งนี้เราสะท้อนอะไรได้หลายอย่างทีเดียว ตั้งแต่ความพยายาม การต่อสู้ การเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่ได้ถนัด ความทะเยอทะยานอย่างพอเหมาะ และความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมงาน แม้ว่าครั้งหนึ่งชายคนนี้จะล้มจนตัวเองติดลบ ใช้ชีวิตพร้อมหนี้สินที่ตัวเองไม่ได้ตั้งใจก่อ แต่การเห็นโลกที่กว้างและเก็บเกี่ยวทุกประสบการณ์ที่มีโอกาส ทำให้วันนี้เราได้เห็น KEAPAZ ธุรกิจของคนไทยเติบโตขึ้นอย่างสวยงาม และเป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่น่าเชิดชูอีกด้วย

 

ภาพ: KEAPAZ