Thaivivat Innovation Camp ปูพื้นฐานกระบวนการคิดให้กับนวัตกรดาวรุ่งไทย

Thaivivat Innovation Camp ปูพื้นฐานกระบวนการคิดให้กับนวัตกรดาวรุ่งไทย

ติดอาวุธให้กับนวัตกรรุ่นใหม่ที่จะเป็นทัพหน้าเปลี่ยนแปลงอนาคตสังคมให้ดีขึ้นด้วยนวัตกรรมประกันภัยอย่างสร้างสรรค์เพื่อลดการเผชิญความเสี่ยงในอนาคตของคนไทย

ลองจินตนาการถึงการได้ใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจและมีอิสระ นั่นคงเป็นเป้าหมายในใจของใครหลาย ๆ คน เมื่อโลกที่เราอยู่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่อาจคาดเดา เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้เข้ามาจ่อทั้งหน้าและหลัง ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอาจเป็นสิ่งที่เราคิดไม่ถึงมาก่อนด้วยซ้ำ การได้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยและง่ายขึ้นจึงเป็นหน้าที่ของบริษัทประกันภัยที่จะช่วยคิดหาทางออกให้เราอย่างยั่งยืน

จึงเป็นที่มาของโครงการ ‘ประกวดประกันภัยสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน Thaivivat Innovation Camp 2024’ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยเปิดรับโครงการจากน้อง ๆ มัธยมศึกษาไปถึงระดับมหาวิทยาลัย ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘Innovation for Green Society’ โดยเฟ้นหา 8 ทีมที่ดีที่สุดจาก 121 ทีม เข้ารอบสุดท้ายมาเก็บตัวเข้าค่ายเวิร์กชอปกันอย่างเข้มข้นกันที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ สยามสแควร์ ทั้งนี้น้อง ๆ ทุกทีมมีโอกาสคว้าทุนการศึกษาทั้งหมดมูลค่ารวม 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตรกลับบ้าน

Thaivivat Innovation Camp ปูพื้นฐานกระบวนการคิดให้กับนวัตกรดาวรุ่งไทย Thaivivat Innovation Camp ปูพื้นฐานกระบวนการคิดให้กับนวัตกรดาวรุ่งไทย

โครงการนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2567 ตลอดระยะเวลาสองวันหนึ่งคืนทำให้เด็ก ๆ ที่เข้ารอบมีเวลาบ่มเพาะ เจาะลึกกันตั้งแต่การหยิบปัญหาในสังคม วางรากฐานกระบวนการคิด เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและการสร้างมูลค่ารีเทิร์นกลับมาในรูปแบบยอดขายด้วยเช่นกัน ผลลัพธ์ที่ได้ในวันนำเสนอผลงานก็ทำให้คณะกรรมการประทับใจกับไอเดียที่มีหลากหลายมิติและชื่มชมในความพยายามของทุกทีมที่เข้าร่วมการประกวดรอบสุดท้ายในครั้งนี้ หนึ่งในคณะกรรมการคนสำคัญ นายเทพพันธ์ อัศวะธนกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) กล่าวที่มาของในครั้งนี้กับเราถึงความเสี่ยงของคนไทยที่ต้องเผชิญในโลกอนาคต 

“โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปอย่างมากทุก ๆ วัน สำหรับความเสี่ยงที่อยากหยิบยกขึ้นมาให้เห็นภาพกว้าง มีอยู่ด้วยกัน 3 แกนหลัก ประกอบด้วย หนึ่ง,  ESG สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทิศทางของธุรกิจที่หันไปทาง green economy กันมากยิ่งขึ้นซึ่งกระทบกับเราโดยตรง ทางไทยวิวัฒน์เองก็มีประกันรถยนต์อีวีเพื่อทำให้คนเข้าถึงประกันรถยนต์ไฟฟ้าที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศ สอง, สุขภาพหลังจากที่ผ่านโควิด-19 มา ทำให้คนคิดถึงเรื่องความยั่งยืนในการใช้ชีวิตมากขึ้น เรื่องสุขภาพก็ต้องได้รับการเติมเต็มด้วยเช่นกัน และสาม, คือเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามา disrupt การใช้ชีวิตแบบเดิม ทั้งยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนด้วย (ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ wearable devices watch) นาฬิกาที่ทำให้คนมีสุขภาพที่ดีได้ตั้งแต่วันนี้ เพราะทุกคนต้องการผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตเฉพาะเขาเท่านั้น ไม่ใช่ตอบโจทย์คนทั่วไป เราจึงมีเป้าหมายว่าถ้าสามารถตอบโจทย์รายบุคคลได้ก็จะเข้าไปเติมเต็มชีวิตเขาได้ก็จะทำให้ชีวิตมีความยั่งยืนมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีไอเดียที่สดใหม่ไม่เคยมีที่ไหนทำมาก่อนก็ต้องไม่ลืมการค้นหาที่มาที่ไปควบคู่กับการนำไปใช้ได้จริง นั่นก็เพราะนวัตกรรมคือการพัฒนาโดยหยิบปัญหา (pain point) มาทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งหมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ กระบวนการการทำงานต่าง ๆ เพื่อมาทำให้ปัญหาเหล่านั้นได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น ถ้าไม่มีนวัตกรรมก็เท่ากับว่าไม่มีการแก้ไขปัญหาและไม่มีสิ่งใหม่ ๆ ออกมาทำให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานนั่นเอง

“ประเทศของเราเน้นการพัฒนา ถ้าเราหยุดยั้งการพัฒนาก็คือการหยุดยั้งการก้าวไปข้างหน้าของประเทศทั้งการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือการพัฒนาบริษัทก็เพื่อทำให้มีกระบวนการและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มานำเสนอให้กับผู้บริโภค ถ้าเราหยุดพัฒนาก็จะทำให้ประเทศของเราหมดความน่าสนใจ รวมทั้งหยุดการแข่งขันที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น” หนึ่งในคณะกรรมการ ดร.เฉลิมพล สายประเสริฐ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนวัตกรรม ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป

โครงการนี้นอกจากเป็นการประกวดเพื่อหาทีมชนะเลิศแล้ว เหนือสิ่งอื่นใดคือการจุดประกายให้น้อง ๆ เกิดไอเดียและกระบวนการคิด โดยส่งเสริมให้เกิดการกล้านำเสนอความคิดที่มีเพื่อโน้มน้าวให้เกิดการปิดการขาย กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นการฝึกทักษะให้กับพวกเขา เมื่อเรียนจบจากรั้วมหาวิทยาลัยเดินเข้าสู่ชีวิตการทำงานจริงก็จะช่วยทำให้เห็นภาพรวมของลักษณะการทำงานในองค์กร ทั้งยังเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนซ้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในการทำงานอีกด้วย 

“บรรยากาศวันนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่น้อง ๆ ทุกคนได้มาเข้าสู่ Thaivivat Innovation Camp นะครับ ผมคิดว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่น้อง ๆ ได้มาเรียนรู้การเป็นนวัตกรเพื่อสร้างนวัตกรรม โอกาสแบบนี้ไม่ได้มีในห้องเรียนเพราะว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีของน้อง ๆ ในการเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือต่อยอดในอนาคต  สิ่งที่อยากฝากให้น้อง ๆ นำไปคิดต่อคือนวัตกรรมสร้างมาแล้วต้องมีคนใช้ อยากให้น้อง ๆ ดูดี ๆ ว่าสิ่งที่น้อง ๆ สร้างมานั้นมีความต้องการอยู่จริงเปล่า เป็นสิ่งที่เราต้องการ เป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ หรือเป็นสิ่งที่คนอื่นต้องการ ต้องหาลูกค้าให้เจอว่าลูกค้าของน้อง ๆ คือใคร นวัตกรรมที่น้อง ๆ สร้างขึ้นมาก็จะขายได้” นายสนามชัย แพนดี นักส่งเสริมนวัตกรรมอาวุโส NIA หนึ่งในคณะกรรมการกล่าวย้ำ 

โดยอีกหนึ่งเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กันและเป็นหนึ่งในหัวข้อในการเวิร์กชอปครั้งนี้ก็คือ Data ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่เก็บรวบรวมนำมาประมวลผล วิเคราะห์และเรียบเรียงค้นหา insight ของกลุ่มเป้าหมายให้พบ ทั้งนี้ก็เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อยอดกุญแจความสำเร็จในการทำธุรกิจ Start up 

อย่างไรก็ตาม นายอาณกร ใบมงคล ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาน้อง ๆ ในโครงการครั้งนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการการใช้ Data ไว้ว่า “เรื่องของ Data คือการทำ A/B Testing เพราะธุรกิจแบบ Start up ไม่มีใครที่คิดถูกต้องภายในครั้งแรก มันคือการที่เราตั้งสมมติฐานแล้วใช้ข้อมูลตัวชี้วัดต่าง ๆ KPI ต่าง ๆ ในการเข้าไปวัดสมมติฐานที่เราคิดไว้ เพื่อเป็นการปรับปรุงโปรดักต์และเซอร์วิสของเราไปเรื่อย ๆ อยากให้น้อง ๆ มองว่าการทำ Start up คือการที่เราใช้ Data มาทำให้ journey นั้นรวดเร็วขึ้นเพื่อไปสู่ Product Market Fit ของน้อง ๆ ครับ”

ส่วนการนำ AI มาใช้ในธุรกิจ Start up นายอาณกร ใบมงคล ก็เตือนไว้ว่าการเลือกใช้เทคโนโลยีใดก็ตามต้องคำนึงถึงความต้องการเพื่อนำมาแก้ปัญหาได้ตรงเป้าหมาย การใช้เพราะคิดว่าเป็นเพียงเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจอาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า over engineering (การทำสิ่งที่เกินความจำเป็นซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนมากกว่าปกติ) ตามมา

“อยากให้น้อง ๆ ไม่ใช่แค่แข่ง Hackathon แล้วก็จบไป อยากให้มองว่า Hackathon คือการต่อยอดไอเดียของเราไปเรื่อย ๆ การทำ Start up ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว อยากให้น้อง ๆ เก็บความตั้งใจและความกระหายนี้ไว้ต่อยอดในการทำ Start up ของตัวเอง”

Thaivivat Innovation Camp ปูพื้นฐานกระบวนการคิดให้กับนวัตกรดาวรุ่งไทย

สำหรับการประกวดในครั้งนี้ ทีมที่ชนะเลิศโครงการ Thaivivat Innovation Camp ได้แก่ ทีม Smooth Brain ซึ่งคณะกรรมการลงคะแนนเสียงอย่างเป็นเอกฉันท์ให้กับโครงการประกันรถยนต์เปิด-ปิด Green Drive ที่จูงใจให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมในการลดการสร้างมลพิษและลดการใช้พลังงาน ซึ่งเป็นโครงการที่นำเสนอกระบวนการคิดได้ครบลูปตามเกณฑ์ที่ได้ตั้งไว้สำหรับการทำประกัน พวกเขาค้นหาจนพบว่าใครคือลูกค้าและตอบสนองยอดขายที่บริษัทประกันจะได้รับเช่นกัน รวมถึงไม่ลืมประโยชน์ที่มอบให้กับผู้ซื้อประกันภัย 

“งานในครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้หลาย ๆ อย่าง ทั้งการคิดอย่างมีเหตุผล การวางแผน และที่สำคัญคือการจัดการเวลาซึ่งเป็นสิ่งที่เรามีปัญหาที่ไม่ได้เกิดมาจากการทำงานไม่ทัน แต่เป็นเพราะว่าเราเหนื่อยกว่าความจำเป็น เราสามารถทำให้สบายกว่านี้ได้ นี่คือสิ่งที่เราจะจดจำเพื่อนำไปพัฒนากับคนอื่น ๆ ในทีมให้มีความก้าวหน้าในงานต่อ ๆ ไป

“การต่อยอดขั้นตอนกระบวนการคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ คือสิ่งที่ไทยวิวัฒน์มอบให้ ในการพัฒนาโปรดักต์ขึ้นมาแต่ละตัวไม่ได้สำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก ไทยวิวัฒน์ทำให้พวกเราได้เห็นถึงโมเดลการพัฒนาที่มีการลองผิดลองถูก ปรับแก้จนสามารถตอบโจทย์ตรงใจกับลูกค้าได้สำเร็จนั่นเอง”

นอกจากนี้ยังเป็นปีที่มีผลงานน่าสนใจที่ทำให้คณะกรรมการต้องทึ่งในไอเดียสดใหม่ของพวกเขา อาทิ ประกันหัตถการผิวหน้าของทีม THE BEAST, โครงการประกันผลไม้ส่งออกของไทยเพื่อคุ้มครองจากภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมโลก รวมถึงผลงานของน้องเล็กนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในชื่อ WAREWOLF ที่มองเห็นปัญหาสังคมผู้สูงอายุในไทย ด้วยไอเดียอุปกรณ์ตรวจจับความผิดปกติเพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว เป็นต้น

Thaivivat Innovation Camp ปูพื้นฐานกระบวนการคิดให้กับนวัตกรดาวรุ่งไทย

โดยหลังจากงานในครั้งนี้ทีมงานประกันภัยไทยวิวัฒน์จะทำการรวบรวมฟีดแบ็กจากน้อง ๆ เพื่อหาสิ่งที่น้อง ๆ ต้องการนำมาปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบการจัดการประกวดต่อไปเช่นกัน

“จากที่เคยรับ 25 ทีมเข้ารอบมาเลคเชอร์ให้ความรู้แบบทางเดียว แต่ในครั้งนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นการทำเวิร์กชอปแบบวันออนวัน ทำให้เกิดเป็นการสื่อสารสองทาง สามารถรับคำปรึกษาในแง่มุมต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ได้พูดคุยกับน้อง ๆ ก็ได้รับผลตอบรับกลับมาในทางที่ดีมาก ปีต่อไปคาดว่าเราจะได้ใกล้ชิดกับน้องมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปีหน้าน่าจะกระจายสถานศึกษาให้มาเข้าร่วมโครงการกับเรามากยิ่งขึ้นครับ” นายเทพพันธ์ อัศวะธนกุล กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามรายละเอียดโครงการฯ หรือสนใจประกันภัย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.thaivivat.co.th โทร. 1231