04 ก.ค. 2567 | 18:30 น.
กว่า 77 ปีแล้วที่ ‘แว่นท็อปเจริญ’ ดำเนินกิจการมาในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2490
จากร้านแว่นที่เป็นรถเร่ตัดแว่นนอกสถานที่ให้กับชุมชน กลายเป็นร้านแว่นตาที่ครองใจคนไทย มีสาขา 2,130 แห่ง มากที่สุดในไทยและอาเซียน
และจากมือพ่อที่ส่งต่อถึงมือลูกชายในตอนนั้นอายุเพียง 17 ปี
ลูกชายคนนั้นก็คือ ‘นพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์’ CEO บริษัท ร่วมเจริญพัฒนา จำกัด (มหาชน) เจ้าของแว่นท็อปเจริญ ผู้นำวิสัยทัศน์กว้างไกล กล้าคิดนอกกรอบ ทุ่มเทสุดกำลังเพื่อธุรกิจ เรียนรู้ และปรับตัวให้เข้ากับทุกยุคสมัย และก้าวข้ามทุกอุปสรรคจนมาถึงวันนี้
มากกว่านั้น เขาคือผู้บริหารที่เชื่อในพลังของคนและยึดมั่นให้ร้านแว่นของพ่อ ที่ชื่อ ‘เจริญการแว่น’ เป็นร้านแว่นตาเพื่อชุมชนและรับใช้ประชาชนมาโดยตลอด เพราะสุดท้ายแล้ว การทำธุรกิจคุณก็ไม่สามารถทำคนเดียวได้ คงเหมือนที่ชายคนนี้บอกไว้ “การทำธุรกิจ คุณจะเป็น one man show ไม่ได้”
นี่คือเส้นทางการเติบโตของแว่นท็อปเจริญภายใต้การนำของคุณนพศักดิ์ที่พาแว่นท็อปเจริญไปอยู่ในทุกชุมชน และรับใช้คนไทยมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ
เจริญการแว่น ก็คือ แว่นท็อปเจริญ
พูดกันตามตรง นพศักดิ์ คือ ทายาทรุ่นที่ 2 ของแว่นท็อปเจริญ
รุ่นแรกที่เป็นผู้บุกเบิก คือ คุณพ่อเจริญ ที่เลือกใช้ชื่อร้านว่า ‘เจริญการแว่น’ ร้านแว่นที่มีหน่วยรถขายแว่นตานอกสถานที่ ลูกค้าสามารถวัดสายตาและตัดแว่นได้เลย
แต่พ่อของเขากลับจากไป ในวันที่นพศักดิ์อายุ 17 ปี
จากเด็กเรียนดี เรียนเก่ง ต้องลาออกจากโรงเรียนมาสานต่อธุรกิจของพ่อที่ทิ้งไว้ เพื่อสร้างกิจการร้านแว่นตาจนตัวเขาเองก็บอกว่า “ชีวิตนี้ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย นอกจากทำแว่น”
เด็กชายต้องเผชิญกับสิ่งใหม่รอบตัว เผชิญกับความท้าทาย และทำความรู้จักกับสิ่งที่เขาไม่คุ้นเคย
เพราะร้านแว่นไม่ได้เปิดง่าย ต้องมีผู้เชี่ยวชาญและชำนาญการ พนักงานต้องวัดสายตาเป็น บริการดี และทำแว่นได้
แต่การเผชิญกับความท้าทายของคติเดิม ๆ เกี่ยวกับเรื่องร้านแว่นไม่ใช่เรื่องง่าย
หนึ่ง ร้านแว่นเป็นธุรกิจสายเลือด และ สอง คือ ร้านแว่นจำเป็นต้องมีบุคลากรชำนาญการ
“ตอนนั้นอายุ 17 ทำแว่นตาใหม่ ๆ ธุรกิจแว่นตาเป็นธุรกิจสายเลือด คนนอกวงการไม่ค่อยมาทำ เพราะในอดีต ไม่มีร้านแว่นไหนที่จะเปิดสาขา โดยไม่มีลูกไปคุมงาน ช่วงทำใหม่ ๆ คนในวงการแว่นเขาบอก ผมต้องเจ๊งแน่นอน เพราะเป็นรายแรก ๆ ที่กล้าขยายสาขาโดยไม่ได้ไปคุมเอง แต่เราให้ลูกน้องคุม ซึ่งวันนี้พวกเขาคงรู้แล้ว ผมสามารถทำได้สำเร็จ”
“และยอมรับว่า สมัยก่อนร้านแว่นตาเป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยมีการแข่งขัน เพราะเปิดยาก และต้องผลิตบุคลากร เพราะไม่ใช่แค่ขายแว่นเท่านั้น คุณต้องวัดสายตาเป็น ต้องเจียระไนเลนส์ได้ เป็นวิชาชีพที่ต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์”
จากสาขาแรก ๆ นำไปสู่สาขาที่สิบมาถึงสาขาที่ 200 ในระยะเวลา 10 ปี ชื่อ ‘เจริญการแว่น’ เริ่มเป็นที่รู้จัก แต่กลับมีคนนำชื่อนี้ไปใช้ซ้ำ เขาจึงจดลิขสิทธิ์ใหม่ด้วยชื่อ ‘แว่นท็อปเจริญ’
พร้อมทำโฆษณาสร้างการรับรู้ใหม่ให้ลูกค้าว่า ‘เจริญการแว่น ก็คือ แว่นท็อปเจริญ’
แล้วใช้ชื่อ ‘แว่นท็อปเจริญ’ ที่มีหน้าร้านสวยงาม พนักงานบริการประทับใจ เข้าใจทุกปัญหาสายตา และเป็นร้านแว่นตาของชุมชน
ยุทธการป่าล้อมเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยพลังคน
2,130 คือ จำนวนสาขาของแว่นท็อปเจริญที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย
ย้อนกลับไป ในวันที่แว่นท็อปเจริญเริ่มขยายสาขา เป้าหมายของเขา คือ การมีหน้าร้านให้มากถึง 200 สาขา เพื่อประกาศแบรนด์ของตัวเองบนโฆษณาโทรทัศน์
“พอถึงสาขาที่ 200 ผมลงโฆษณาทีวีตามที่ผมใฝ่ฝัน พอลงทีวี ปรากฏว่าลูกค้าให้การตอบรับดี พอไปขยายที่ไหน ทุกคนรู้จักหมดก็ทำให้ขายดี พนักงานแต่งตัวหล่อ สวย มีชุดยูนิฟอร์มเท่ ร้านตกแต่งสวย”
การขยายสาขา จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เหตุผลหลักที่เขาทำได้และทำสำเร็จอย่างรวดเร็ว คือ พลังของคน
ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการสร้างศูนย์ฝึกอบรมด้านสายตา และครั้งหนึ่งเคยเปิดโรงเรียนวิชาการแว่นตาไทยรับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อผลิตบุคลากรและเตรียมพร้อมพนักงานหลากหลายด้าน ทั้งทักษะการบริการ งานขาย และทักษะแบบชำนาญการ เช่น การตรวจวัดสายตา การฝึกเจียระไนเลนส์ เพื่อสร้างบริการที่ตอบโจทย์ปัญหาสายตาลูกค้าทุกรูปแบบ ซึ่งจะสอนโดยพนักงานฝีมือดีที่ถูกคัดเลือก เพื่อมาถ่ายทอดวิชาให้เพื่อนร่วมงาน รวมถึงอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก
นพศักดิ์บอกว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แว่นท็อปเจริญอยู่นานมาถึง 77 ปี มีสาขามากถึง 2,130 สาขาได้อย่างทุกวันนี้ เขาไม่สามารถทำคนเดียวได้ แต่มาจากบุคลากรในองค์กรที่ช่วยกันสร้างแว่นท็อปเจริญขึ้นมา
“ที่ผมประสบความสำเร็จได้ทุกวันนี้ก็มาจากคน ถ้าไม่มีคน เราเติบโตอย่างนี้ไม่ได้ เพราะเราคนเดียวไม่สามารถจะมีถึง 2,130 สาขา เราต้องอาศัยคนมาช่วย สำคัญคือคนต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องเป็นคนเอาใจพนักงาน และต้องคอยเอาใจลูกค้าไปพร้อม ๆ กัน”
แต่ธุรกิจจะเดินไปข้างหน้าได้ คนต้องพร้อม แต่หากไร้กลยุทธ์ที่เหมาะก็อาจทำให้ทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่คิด
นพศักดิ์เล่าถึงกลยุทธ์ ‘ป่าล้อมเมือง’ ยุทธวิธีหลักที่ทำให้ชายผู้ไม่เคยสนใจด้านธุรกิจ ขยายร้านแว่นตาอยู่ทั่วประเทศไทยได้สำเร็จว่า ช่วงแรกแทนที่จะไปลงทุนในเมืองหลวง เขาเลือกตั้งร้านที่ต่างจังหวัดก่อน แล้วค่อย ๆ สร้างการรับรู้ในลูกค้า ทำสิ่งที่แตกต่าง และทำงานทุกอย่างให้เป็นระบบ
“ยุทธการเรา คือ ป่าล้อมเมือง ไม่เข้ากรุงเทพฯ แต่ไปเปิดต่างจังหวัดก่อน ตอนนั้นเราบุกอีสาน ขอนแก่น ที่ต่างจังหวัด เราหาถิ่นที่เราทำกินง่าย คู่แข่งน้อย แล้วสมัยก่อน ร้านแว่นส่วนมากจะเป็นรูปแบบเก่า เหมือนสมัยคุณพ่อผม ขายแว่นตา ใส่กางเกงขาสั้นรองเท้าแตะ ไม่มีแท่นโชว์ ผมมาคิดและผุดไอเดีย ทำไมเราไม่ทำร้านแว่นตาให้สวย ให้คนอยากเข้า ผมก็เลยลงทุน จ้างอาจารย์สถาปนิกจากจุฬาฯ มาออกแบบร้านให้ จ้างนักบัญชีมาวางระบบบัญชี เพื่อที่เราจะผลิตขยายสาขาได้เยอะ พนักงานใส่ชุดยูนิฟอร์มเท่ ๆ”
แต่การจะทำป่าล้อมเมืองได้ ก็จำเป็นต้องมีพื้นที่ วิธีของนพศักดิ์ คือ แทนที่จะเซ้งหรือซื้อตึก เขาเลือกที่จะเช่า ไม่ต้องลงทุนเงินก้อนใหญ่ แต่มีหน้าร้านเพื่อขายแว่นตา
“สมัยก่อน เรายังไม่มีชื่อเสียง เวลาไปเช่าร้านที่ไหน เขาไม่ค่อยเชื่อถือ เราเลยไปเล่าทฤษฎีใหม่เขาว่า ผมไม่เซ้งนะแล้วก็ไม่ซื้อตึกด้วย ผมขอทำเป็นระบบสัญญาเช่า ประกัน 3 เดือน ทำสัญญาเช่า 3 ปี แล้วผมก็จ่ายค่าเช่าตรงเวลา ทำให้เครดิตเราดี เจ้าของตึกเชื่อถือ เราถึงเติบโตขยายสาขามาได้ พอผมเช่าตึกเป็นร้อย ๆ แห่ง เลยทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าผมซื้อตึกมาเก็งกำไร เพราะเขาไม่รู้ว่าผมใช้วิธีเช่า”
ด้วยกลยุทธ์และพลังของคนทำงานเบื้องหลัง ทำให้วันนี้ ถึงตัวเราจะอยู่ไกลแค่ไหน แต่เราก็เชื่อว่า ในพื้นที่แห่งนั้น ถ้าเราทำแว่นตก เลนส์แตก น็อตหลุด เราจะยังสามารถเดินเข้าร้านแว่นท็อปเจริญเพื่อให้เขาดูแลเราได้
ยืนหยัดเป็นร้านแว่นตาของชุมชน ดูแลคนใส่แว่นทั่วไทย
“เราต้องการเป็นร้านแว่นตาชุมชน เพื่อดูแลรับใช้ประชาชน”
คือ ประโยคสำคัญของนพศักดิ์ที่หวังให้แว่นท็อปเจริญเป็นร้านแว่นของชุมชน ไม่ว่าจะไปที่ไหน ทุกอำเภอทุกจังหวัดจะต้องมีร้านแว่นท็อปเจริญ
เพราะบริการหลังการขายของร้านแว่นแห่งนี้ คือ การดูแลแบบตลอดชีพ ซ่อมฟรี อยู่ที่ไหนก็เข้าร้านแว่นได้
“เหมือนมีรับประกันแว่นตา เพราะจริง ๆ แล้วปัญหาแว่นตาไม่มีอะไรมาก นอกจากหนึ่ง น็อตหลุด สองก็คือกรอบเสียทรง สามก็คืออาจจะแว่นสกปรก สี่แป้นจมูกหลุด ฉะนั้น เราจะดูแลให้หมด ตลอดอายุการใช้งาน”
“ถ้าคุณตัดแว่นที่สยามสแควร์ ไปเที่ยวเชียงใหม่ แว่นคุณเสียที่เชียงใหม่ น็อตหลุด แป้นหลุด คือซ่อมฟรีได้ทั่วประเทศ คุณไปที่ไหน คุณซ่อมฟรีตลอด เหมือนเราเปิดร้านเพื่อมาบริการประชาชนจริง ๆ”
“ผมให้นโยบายพนักงานไป ไม่เป็นไร ถึงแม้ลูกค้าจะไม่ได้ซื้อแว่นจากเรา เราถือคติว่าเราต้องให้ก่อน เราถึงจะได้รับทีหลัง ลูกค้าอื่นเขาก็ประทับใจ วันหลังเขาก็กลับมาซื้อแว่นเรา”
ไม่เพียงเท่านั้น แว่นท็อปเจริญยังร่วมมือกับหน่วยงานภาคสังคม ดูแลเรื่องดวงตาให้กับชุมชนห่างไกล ยกตัวอย่างเช่น โครงการแว่นตาผู้สูงวัยในสมเด็จพระเทพรัตนฯ โครงการแว่นตาเพื่อน้องร่วมกับสภากาชาดไทย โครงการแว่นตาเพื่อพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งโครงการร่วมกับหน่วยงานรัฐ และมหาวิทยาลัยตรวจวัดสายตาประกอบแว่นให้นักเรียนนักศึกษา คนในชุมชนที่ขาดแคลน หรืออาศัยในถิ่นทุรกันดาร เป็นต้น
นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของผู้ประกอบการที่คืนกำไรสู่สังคมและมอบโลกที่สว่าง ชัดเจน ให้กับคนในพื้นที่ที่หลายคนเข้าไม่ถึง เพราะความทุรกันดาร
“เราเห็นว่า แว่นตาเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่พอไปหาคนที่พื้นที่ห่างไกลจริง ๆ เขาไม่มีแว่นจะใส่ บางทีไปเห็นเด็กนักเรียนคนนึง เขาสายตาสั้นพันกว่า คุณครูก็ไม่รู้ว่า ตอนเรียนเขามองกระดานไม่เห็น เพราะนั่งเรียนอยู่หลังชั้น ผลก็คือสอบตกตลอด พอเราไปตัดแว่นให้เขา เขาดีใจมาก เพราะเขาไม่เคยคิดว่า โลกจะสว่างขนาดนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้ผมประทับใจและซาบซึ้งใจมาก”
แผนต่อไปของแว่นท็อปเจริญจึงเป็นการมองหาชุมชนที่ยังไม่มีร้านแว่นท็อปเจริญ เพื่อให้ร้านแว่นนี้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น
อีกทั้งอนาคต เขายังมีแผนขยายสาขาไปยังอาเซียน เริ่มต้นที่เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย เพราะสิ่งที่ผู้บริหารแว่นท็อปเจริญเห็น คือ ช่องว่างและโอกาสให้เราได้ลงเป็นผู้เล่นในสนามได้ เพราะไม่ค่อยมีร้านแว่นที่เป็นร้าน Chain เท่าไหร่นัก
แว่นท็อปเจริญในวันที่โลกเปลี่ยนไป
อย่างที่รู้ วันนี้เทคโนโลยีเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของมนุษย์
หลากหลายธุรกิจก็ต้องปรับตัว นำเทคโนโลยีมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ แว่นท็อปเจริญก็เช่นกัน
จากที่เคยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์มาวัดสายตาเป็นเจ้าแรก ๆ ของประเทศไทย ให้มหาวิทยาลัยของจีนช่วยออกแบบเครื่องวัดสายตาให้ วันนี้ก็มีการนำเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) มาช่วยตั้งระดับสายตาของผู้ใช้งานได้เลยและพร้อมที่จะกระจายเครื่องที่มีเทคโนโลยี AI ไปยังหน้าร้าน 500 สาขาเร็ว ๆ นี้
“ปัจจุบันเรามีเครื่อง AI Eye Partner มาช่วยตั้ง Parameter สำหรับแว่น Progressive Lens (เลนส์ที่มองได้ชัดเจนทุกระยะทั้งใกล้ กลาง ไกล) ระบบ AI จะจับให้เลยว่า คุณมีวิธีการมองอย่างไร คุณมองเหลือบแบบไหน เป็นเครื่อง AI ที่เหมาะกับตัดแว่นตาส่วนบุคคล รวมถึงช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้สายตาของลูกค้าทุกคนได้ และยังมีเครื่อง MEI จากอิตาลีซึ่งเป็นเครื่องฝนเจียระไนเลนส์อัจฉริยะ ที่สามารถตัดเลนส์และประกอบแว่นได้ละเอียดแม่นยำและหลากหลายรูปทรง”
รวมถึงยังเตรียมขยาย Flagship Store ศูนย์รวมแว่นตาขนาดใหญ่ที่ครบวงจร มีอุปกรณ์ครบครันให้เข้าถึงคนทุกจังหวัดทั่วไทย โดยภายใน Flagship Store จะมี Experience Zone ให้ลูกค้าได้ลองใส่แว่นและทดลองใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินขึ้นลงบันได ทำกับข้าว ใช้คอมพิวเตอร์ เย็บปักถักร้อยหรือแม้แต่ตีกอล์ฟ
นอกจากนี้ ในฐานะผู้บริหาร ชายคนนี้ก็มองการณ์ไกลและเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อให้ไม่ตกเทรนด์ เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ทั้งเทคโนโลยีและเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทุกวัน
“ผมคิดค้นตลอดว่า คุณจะต้องเอาเทคโนโลยีอะไรเกี่ยวกับดวงตามาใช้ เพราะความท้าทายของเทรนด์เทคโนโลยีและผู้บริโภค เราจะตกยุคไม่ได้ และที่สำคัญคือต้องให้ตรงตามใจผู้บริโภคด้วย เพราะแว่นตาไม่ได้ใส่เฉพาะแก้ปัญหาอย่างเดียว มันต้องเสริมบุคลิก ใส่แล้วต้องหล่อ ต้องสวย ต้องเท่ แล้วก็ต้องเป็นแฟชั่นด้วย”
เหตุผลของนพศักดิ์ทำให้แว่นตาของแว่นท็อปเจริญถูกคัดสรรให้เหมาะสมกับคนทุกเพศ ทุกวัย
ถ้าเป็นแว่นสำหรับเด็กต้องน้ำหนักเบา ปลอดภัย ยืดหยุ่นได้ ถ้าเป็นวัยรุ่นก็ต้องทันเทรนด์ ตามทิศทางของกระแสแฟชั่น นอกจากนั้นเรายังต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมผู้สูงวัย รองรับทั้งรูปแบบ คุณภาพ และหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผู้สวมใส่
โดยแว่นท็อปเจริญมีพาร์ทเนอร์แบรนด์ดังที่หลากหลาย ทั้งอินเตอร์แบรนด์จากฝั่งยุโรปและอิตาลี เช่น Ray-Ban , Gucci, PRADA, Bottega Veneta, TOM FORD, Versace, Coach, MONT BLANC, Oakley, Fila และ adidas เป็นต้น รวมถึงฝั่ง House Brand เช่น PERCY, Cos Club, CHA และ Wil เป็นต้น
77 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจแว่นตาของเขาต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและปัจจัยภายนอกมากมาย แต่นพศักดิ์เชื่อว่า แว่นคือปัจจัย 4 ต่อให้เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร แว่นตาจะยังขายได้
“แว่นตาถือเป็นปัจจัย 4 ที่สำคัญและจำเป็นต่อชีวิต เพราะคนมองไม่เห็น มองไม่ชัด ยังไงต้องใส่แว่น เศรษฐกิจจะดีหรือแย่แค่ไหน แว่นตาก็ยังขายได้”
ไม่เพียงแค่เรื่องดีไซน์และเทคโนโลยี แต่ในยุคที่โลกกำลังเดือด สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง แว่นท็อปเจริญ ได้เลือกใช้ถุงกระดาษรีไซเคิล เลือกแว่นตาที่เป็น ‘แว่นตารักษ์โลก’ ย่อยสลายได้ รวมถึงติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ทดแทนการใช้ไฟฟ้า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม
เพราะโลกเปลี่ยนทุกวัน ร้านแว่นตาก็เช่นกัน
เคล็ดลับความสำเร็จ 77 ปีของแว่นท็อปเจริญ
ปี 2567 จะครบรอบ 77 ปีของแว่นท็อปเจริญ
ในมุมมองของนพศักดิ์ สิ่งที่ทำให้แว่นท็อปเจริญเดินหน้าเป็นร้านแว่นตาที่ครองตลาดไทยมากที่สุด (ข้อมูลจาก Euromonitor) คือ แบรนด์และคน
วันนี้ แว่นท็อปเจริญ กลายเป็นแบรนด์ที่ใคร ๆ ต่างรู้จัก นพศักดิ์บอกว่า ข้อสำคัญของการทำแบรนด์ คือ การทำให้คนรู้จักเราและกลับมาเลือกใช้แบรนด์เราอีกครั้ง
ส่วนเรื่องคน เขาบอกว่า บุคลากรคือคนสำคัญ ในฐานะ CEO สิ่งที่ต้องคิด คือ ทำอย่างไรให้คนที่อยู่ในองค์กรกินอิ่มนอนหลับ รักในองค์กร และบริการลูกค้าด้วยความสุข
“แข่งอะไรก็แข่งได้ แต่แข่งเรื่องบุคลากรนี่แข่งไม่ได้ คุณจะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ในองค์กรคุณนอนหลับกินอิ่ม มีความสบายใจ ทำงานแล้วมีความสุข เพราะงานแว่นตาเป็นงานบริการ ฉะนั้นต้องให้พนักงานรักองค์กรก่อน เขาถึงจะบริการลูกค้าให้ดี”
“การทำธุรกิจสมัยใหม่ คุณทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีลูกมือ ต้องมีบุคลากร ฉะนั้น คนเป็นสิ่งที่สำคัญ คุณต้องหาคนเก่งมาอยู่ในทีม เพราะคุณจะเป็น one man show ไม่ได้”
เรื่องคนก็สำคัญ แต่อีกหนึ่งสิ่งที่นพศักดิ์ยึดถือเป็นหลักการทำงานมาตลอด คือ คำสอนของพ่อที่บอกว่า “ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด”
บทเรียนการเป็นผู้ประกอบการของเขาตลอด ช่วงชีวิตการทำงานที่ผ่านมา คือ ความคิดที่ต้องกล้าออกจากกรอบ คิดต่าง และทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เชี่ยวชาญ
เมื่อถามถึงความภาคภูมิใจ คำตอบก็ยังเป็นคำเดิมที่เขาเน้นย้ำตลอดการสัมภาษณ์ คือ การที่แว่นท็อปเจริญได้เป็นส่วนหนึ่งในการรับใช้สังคมและประชาชนคนไทยทุกคน พร้อมเตรียมก้าวไปสู่อาเซียนอีกด้วย
ทุก ๆ ก้าวเดินของแว่นท็อปเจริญ คือ การเรียนรู้ เติบโต เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของร้านแว่นตาอันดับหนึ่งในใจคนไทยที่เป็น “ผู้นำการบริการด้านสายตาที่เชี่ยวชาญครบวงจร พร้อมให้การดูแลที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนในอาเซียน”