“ผู้สืบสันดาน” คำในกฎหมาย ฐานที่เป็นสถานะหนึ่งของสังคมมนุษย์

“ผู้สืบสันดาน” คำในกฎหมาย ฐานที่เป็นสถานะหนึ่งของสังคมมนุษย์

คำว่า 'สันดาน' ตามความรับรู้ของคนส่วนใหญ่ความหมายค่อนข้างไปในทางลบ แต่ 'ผู้สืบสันดาน' สำหรับนักเรียนกฎหมายหรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย อาจกล่าวได้ว่า หมายถึง ผู้สืบสายโลหิตต่อเนื่องกันลงมา ตรงกันข้ามกับ 'ผู้บุพการี' ที่หมายถึงผู้สืบสายโลหิตขึ้นไป

สันดาน คือ อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด อาจจะเลว อาจจะดี  ถ้าเลวก็ว่าสันดานเลว ถ้าดีก็ว่าสันดานดี 

แต่ส่วนใหญ่ สันดานจะให้ความรับรู้หรือความหมายค่อนไปในทางไม่ดีเสียมากกว่า

สันดานดีไม่ค่อยพูดกัน ส่วนใหญ่มักจะได้ยินในทางไม่ดีว่าสันดานเลว

ที่นี้มาถึงคำว่า  “ผู้สืบสันดาน” พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของ “ผู้สืบสันดาน” ไว้ว่า เป็นคำในกฎหมาย หมายความว่า  ผู้สืบสายโลหิตโดยตรงลงมาได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื่อ 

เมื่อสืบสายโลหิตมาก็สืบมาทั้งดีทั้งเลวนั่นละ

คนไทยย่อมต้องเคยได้ยินคำว่า “ผู้สืบสันดาน” มาก่อนกันเป็นส่วนใหญ่   ยิ่งถ้าเป็นนักเรียนกฎหมาย หรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย อาจจะค่อนข้างคุ้นเคยกับคำนี้มากกว่าคนทั่วไปอยู่บ้าง เนื่องจากว่าในกฎหมายหลายฉบับ มีถ้อยคำนี้บัญญัติเป็นส่วนหนึ่งในฐานที่เป็นสถานะหนึ่งของสังคมมนุษย์

 

“ผู้สืบสันดาน” หากกล่าวจำเพาะหรือจำกัดความให้ได้ภาพชัดเจนขึ้น อาจกล่าวได้ว่า หมายถึง ผู้สืบสายโลหิตต่อเนื่องกันลงมา อันเป็นถ้อยคำตรงกันข้ามกับ “ผู้บุพการี” ที่หมายถึงผู้สืบสายโลหิตขึ้นไป

 

แม้ในชีวิตประจำวันปกติ เราก็อาจได้ยินคำว่า “ผู้สืบสันดาน” บ้างเช่นกัน

แต่เราจะพบคำว่า “ผู้สืบสันดาน” ในกฎหมายจำนวนมากของไทย  เช่น

ประมวลกฎหมายอาญา /ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง /พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 /พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 /พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่พ.ศ 2526 /พ.ร.ก.การบินพลเรือนแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2558 /พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2551 /พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. 2542/ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ 2535 / พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยพ.ศ. 2551/ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์พ.ศ 2551 /พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  พ.ร.บ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2525    / และอีกมากมาย

 

ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใกล้ชิดชีวิตประจำวันของเรามากที่สุดในมาตรา 71 บัญญัติไว้ว่า

 

“ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ถึงมาตรา 336 วรรคแรกและมาตรา 341 ถึงมาตรา 364 นั้น ถ้าเป็นการกระทำที่สามีกระทำต่อภริยาหรือภริยากระทำต่อสามี ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ

ความผิดดังระบุมานี้ ถ้าเป็นการกระทำที่ผู้บุพการีกระทำต่อผู้สืบสันดาน ผู้สืบสันดานกระทำต่อผู้บุพการี หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน กระทำต่อกัน แม้กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ก็ให้เป็นความผิดอันยอมความได้ และนอกจากนั้นศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

อันนี้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่าถ้าคนในครอบครัวกระทำผิดต่อกัน ในเรื่องเกี่ยวกับความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ อันได้แก่ลักทรัพย์ หรือฉ้อโกง กฎหมายจะลงโทษน้อยลง และถ้าเป็นกรณีสามีภริยา ถึงขั้นกฎหมายไม่ลงโทษเลย

 

ส่วนในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 ที่บัญญัติให้ “ผู้สืบสันดาน” เป็นบุคคลหนึ่งที่ กฎหมายให้อำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาได้ ในกรณีที่ผู้เสียหายในคดีอาญาถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บ  จนไม่สามารถจะจัดการร้องทุกข์ หรือเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ   เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา  ถอนฟ้องคดีอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และยอมความในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวได้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3) เช่นเดียวกับที่ให้อำนาจนี้กับ ผู้บุพการี   สามีหรือภริยา ของผู้เสียหาย

 

ทั้งนี้คงด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้สืบสันดาน นับเป็นญาติที่ใกล้ชิดสนิทกับ ผู้เสียหาย หากผู้เสียหายต้องรับบาดเจ็บร้ายแรงจนไม่อาจจัดการเองได้ หรือเสียชีวิตไป “ผู้สืบสันดาน”ของเขาย่อมต้องได้รับความกระทบกระเทือนด้วย

 

หรือในมาตรา 29 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า “เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลงผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี หรือ ภริยาจะดำเนินคดีตามผู้ตายต่อไปก็ได้”

 

มาตรา 150 ในกรณีที่มีการชันสูตรพลิกศพ กฎหมายบัญญัติว่าให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนแจ้งแก่ผู้มีหน้าที่ไปทำการชันสูตรพลิกศพและก่อนการชันสูตรพลิกศพให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ สามี ภริยาผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรมผู้อนุบาลหรือญาติของผู้ตายอย่างน้อย 1 คนทราบเท่าที่จะทำได้ ในการไต่สวน เรื่องการตายข้างต้นในศาล ผู้สืบสันดานก็มีสิทธิ์แต่งตั้งทนายความเข้าดำเนินการในศาลได้

 

เมื่อเอ่ยคำว่า “ผู้สืบสันดาน” คนส่วนมากอาจเข้าใจว่า คือ ลูก ซึ่งนับว่าถูกต้อง เพราะ “ลูก” นับเป็น ผู้สืบสันดานชั้นแรกสุดสนิทที่สุด หากแต่ “ลูก” นั้นเป็นเพียงหนึ่งในจำนวนหลายลำดับของ “ผู้สืบสันดาน”

 

ทั้งนี้ในบรรดา “ผู้สืบสันดาน” ทั้งหลายนั้น นอกจากลูกแล้ว ยังจะมีลูกของลูกที่เรียกว่า หลาน  ยังมีลูกของลูกของลูกเรียกว่า เหลน ลูกของลูกของลูกของลูก เรียกว่า ลื่อ  ฯลฯ และหากมีลูกต่อไปอีก ซึ่งจะมีชื่อเรียกลำดับญาติแตกต่างกันไป หรืออาจจะคิดคำเรียกไม่ถูกแล้ว แต่ก็ยังเป็น “ผู้สืบสันดาน” อยู่นั่นเอง

 

ถามว่า “ผู้สืบสันดาน” คือใคร? หรือมีใครบ้าง?

 

ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ภาพของ “ผู้สืบสันดาน” ไว้ในตอนต้นในหมวดเกี่ยวกับบุคคล ในส่วนที่ว่าด้วยความสามารถของบุคคล โดยปรากฏครั้งแรกในมาตรา 28 ที่บัญญัติถึง ผู้ที่สามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถเพื่อว่าศาลจะได้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ โดยบัญญัติในมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ว่า

 

“บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าคู่สมรสก็ดี  ผู้บุพการี  กล่าวคือ บิดา  มารดา  ปู่ย่า  ตายาย  ทวดก็ดี  ผู้สืบสันดาน  กล่าวคือลูก หลาน เหลน ลื่อก็ดี  ผู้ปกครอง หรือผู้พิทักษ์ก็ดี  ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี   หรือพนักงานอัยการก็ดี  ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้น  เป็นคนไร้ความสามารถ   ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้”

 

จะเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 28 ได้ขยายความคำว่า “ผู้สืบสันดาน” ออกไปให้เป็นที่รู้จัก เพิ่มขึ้นว่า  กล่าวคือ “ลูก หลาน เหลน ลื่อก็ดี”

 

ดังกล่าวแล้วว่า “ผู้สืบสันดาน” หาได้ยุติเพียงแค่ “ลื่อ” เท่านั้นไม่ โดยจะเห็นถ้อยคำที่กฎหมายบัญญัติว่า “กล่าวคือ ………ก็ดี” อันที่จริงแล้วถ้ามีลูกของลื่อ ลูกของลูกของลื่อ และลูกของต่อๆไป ก็เป็นผู้สืบสันดานในลำดับต่อๆไป

 

“ผู้สืบสันดาน” ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะมีบทบาทสำคัญชัดเจนมากขึ้น เมื่อไปถึงเรื่องราวเกี่ยวกับมรดก ที่มีปรากฏในบทบัญญัติเกี่ยวกับมรดกนี้อยู่หลายมาตราด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจกล่าวได้ว่า   “ผู้สืบสันดาน” นี้จะเป็นผู้ที่มีบทบาทที่สำคัญที่สุด ในบรรดาทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกที่เสียชีวิต ดังที่มาตรา 1629 วรรคแรก ที่บัญญัติไว้ว่า

 

“ ทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

 

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4)พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

(5) ปู่ ย่า ตา ยาย

(6) ลุง ป้า น้า อา”

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า ผู้สืบสันดานทุกคนของเจ้ามรดก จะมีสิทธิได้รับมรดกคนละส่วนเท่าๆกัน เนื่องจากว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1631 บัญญัติไว้ว่า

 

“ในระหว่างผู้สืบสันดานต่างชั้นกันนั้นบุตรของเจ้ามรดก อันอยู่ในชั้นสนิทที่สุดเท่านั้น มีสิทธิรับมรดก  ผู้สืบสันดานที่อยู่ในชั้นถัดลงไปจะรับมรดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิในการรับมรดกแทนที่”

 

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้สืบสันดานชั้นบุตร (ที่อาจรับมรดกแทนที่)นั้นยังประกอบด้วย

 

1.บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

2.บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และ

3.บุตรบุญธรรม

 

ถ้า “ผู้สืบสันดาน” ที่เป็นทายาทโดยธรรมชั้นบุตรยังมีชีวิตอยู่ ทายาทชั้นหลาน เหลน ลื่อ ก็ไม่อาจเป็นผู้รับมรดกได้

 

ผู้สืบสันดานชั้นลูกของลูกหรือหลานนั้น อาจเป็นผู้รับมรดกได้ ก็แต่เป็นการรับมรดกแทนที่ผู้สืบสันดานชั้นลูก กรณีที่ผู้สืบสันดานชั้นลูกเสียชีวิตลงก่อนเจ้ามรดก

 ถึงตรงนี้ ก็จะเห็นได้ว่า  “บุตรบุญธรรม” แม้ไม่ได้สืบสายโลหิตมา ก็จัดผู้สืบสันดานในชั้นบุตรที่อาจรับมรดกแทนที่ได้

 

เหล่านี้ คือ เรื่องราวบางส่วนของ “ผู้สืบสันดาน” ที่ลำดับเรื่อยมา กระทั่งมาถึงช่วงสุดท้ายอันเป็นบทบาทของ “ผู้สืบสันดาน” ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยเรื่อง มรดก ที่อาจกล่าวได้ว่า “ผู้สืบสันดาน” มีบทบาทมากและสำคัญที่สุด

 

สรุปอีกครั้งว่า คำว่า “ผู้สืบสันดาน” คำนี้เป็นคำที่ใช้เป็นปกติในภาษากฎหมาย มิได้หมายถึงสันดานดี หรือสันดานเลว หากแต่เป็นคำใน ฐานที่เป็นสถานะหนึ่งของสังคมมนุษย์ 

ส่วนที่ว่า คำนี้จะไปตีความกล่าวถึงพฤติกรรมของคนให้เจ็บแสบอย่างไร ก็ตามสะดวกเลย ไม่มีอะไรขัดข้อง