ข้อสังเกต พินัยกรรม ใน “สืบสันดาน” ที่อาจทำให้ซีรีส์นี้ มีแค่ 2 ตอน

ข้อสังเกต พินัยกรรม ใน “สืบสันดาน” ที่อาจทำให้ซีรีส์นี้ มีแค่ 2 ตอน

การทำพินัยกรรมเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดแบบไว้เป็นการเฉพาะ ถ้าไม่เป็นไปตามแบบ คือใช้บังคับไม่ได้ตั้งแต่ต้น (ยังไม่นับว่า พินัยกรรมนั้นปลอมหรือไม่) จุดนี้สำคัญยิ่ง ที่อาจทำให้ซีรีส์นี้อาจมีแค่ 2 ตอน รวมไปถึงข้อสังเกตต่าง ๆ ที่อาจเป็นบทเรียนได้ในชีวิตจริง

(บทความนี้ มีการเผยแพร่เนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ สืบสันดาน)

การทำพินัยกรรมเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดแบบไว้เป็นการเฉพาะ ถ้าไม่เป็นไปตามแบบ คือใช้บังคับไม่ได้ตั้งแต่ต้น (ยังไม่นับว่า พินัยกรรมนั้นปลอมหรือไม่)  จุดนี้สำคัญยิ่ง  ที่อาจทำให้ซีรีส์นี้อาจมีแค่ 2 ตอน รวมไปถึงข้อสังเกตต่าง ๆ ที่อาจเป็นบทเรียนได้ในชีวิตจริง

ซีรีส์ “สืบสันดาน” ตอนเปิดพินัยกรรมของเจ้าสัว โดยมีทนายความมานั่งอ่านพินัยกรรมต่อที่ประชุมลูกหลาน

ตามเนื้อเรื่องภริยาของเจ้าสัวเสียชีวิตแล้ว ทายาทโดยธรรมของท่านเจ้าสัวมีผู้สืบสันดานชั้นบุตรเพียง  2 คน คือ ภูพัฒน์บุตรชายคนโต และมาวินบุตรชายคนรองหรือคนเล็ก 

ส่วนอีก 2 คน คือบุตรสาวของภูพัฒน์ และบุตรชายของมาวิน แม้จะเป็นผู้สืบสันดานของเจ้าสัวเช่นกัน แต่ในเมื่อบิดาของพวกเขาทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ และหลานทั้งสองไม่มีชื่อในพินัยกรรม จึงไม่อาจเป็นผู้รับมรดกได้

ทนายความอ่านเอกสารพินัยกรรม ที่อ้างว่า เจ้าสัวเจ้ามรดกทำขึ้น เพื่อมอบทรัพย์สินแก่บุตรชายทั้งสอง และภริยาของบุตรชายทั้งสองนั้น คือ สะใภ้ 2 คนด้วย จึงมีทำให้มีทายาทตามพินัยกรรม รวมทั้งสิ้น 4 คน

ทายาทโดยธรรมชั้นแรกสุดคือผู้สืบสันดานเป็นบุตร 2 คน กลายมาเป็นทายาทโดยพินัยกรรมด้วย ทำให้มีทายาทโดยพินัยกรรม 4 คน

 

ต่อไปนี้เป็นข้อความที่คุณทนายความอ่าน

ทนายความ : ผมขออนุญาต อ่านพินัยกรรมเลยนะครับ

“ในขณะที่ข้าพเจ้าทำพินัยกรรมฉบับนี้ ข้าพเจ้านายรุ่งโรจน์ เทวสถิตย์ไพศาล มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ตลอดจนมีสติสัมปชัญญะดี และไม่มีผู้ใดบังคับขู่เข็ญหรือหลอกลวงให้ข้าพเจ้าทำพินัยกรรม อีกทั้งมีทนายความของข้าพเจ้ารู้เห็นเป็นพยาน

ข้อ 1 ตำแหน่งประธานมูลนิธิเทวสถิตย์ไพศาล และหุ้นของบริษัท เทวาเจมส์ จำกัด จำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ ขอยกให้แก่ นางพัดชา เทวสถิตย์ไพศาล สะใภ้คนโตของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว

ข้อ 2 ธนบัตรและเงินสดในบัญชีธนาคารมูลค่า 200 ล้านบาท และหุ้นของบริษัท เทวาเจมส์ จำกัด จำนวน 15 เปอร์เซ็นต์ ขอยกให้แก่นางอารยา เทวสถิตย์ไพศาล สะใภ้คนรองของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว

ข้อ 3 สนามกอล์ฟที่จังหวัดเชียงรายจำนวน 500 ไร่ รวมถึงหุ้นของบริษัท เทวาเจมส์ จำกัด จำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ ขอยกให้แก่นายภูพัฒน์ เทวสถิตย์ไพศาล บุตรชายคนโตของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว

ข้อ 4 ตำแหน่งประธานบริษัทและหุ้นของบริษัท เทวาเจมส์ จำกัด จำนวน 45 เปอร์เซ็นต์ ขอยกให้นายมาวิน เทวสถิตย์ไพศาล  บุตรชายคนรองของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว

 

ข้อสังเกตของพินัยกรรมฉบับนี้ มีดังนี้ 

1.กล่าวโดยสรุป พินัยกรรมที่เปิดมา

บุตรชายคนโตภูพัฒน์และพัดชาภริยา ได้หุ้นในบริษัท เทวาเจมส์ จำกัด รวม 40 เปอร์เซ็นต์

ภูพัฒน์ ได้สนามกอล์ฟ 50 ไร่ที่จังหวัดเชียงราย

พัดชา ได้เป็นประธานมูลนิธิ เทวสถิตย์ไพศาล

บุตรชายคนรองมาวินและอารยาภริยา ได้หุ้นในบริษัท เทวาเจมส์ จำกัด รวม 60 เปอร์เซ็นต์

มาวิน ได้ตำแหน่งประธานบริษัท เทวาเจมส์ จำกัด 

อารยา ได้เงินสด 200 ล้านบาทด้วย

 

2. ที่เรียกว่า “พินัยกรรม” นั้น ในทางกฎหมาย คือ การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตาย ในเรื่องทรัพย์สินของตน ว่าหลังจากที่ผู้ทำพินัยกรรมตายหรือเสียชีวิตไปจะยกทรัพย์สินเหล่านั้นให้ผู้ใดบ้าง

เอกสารที่ทนายความ อ่าน ระบุในเนื้อหาว่า เป็น “พินัยกรรม” อยู่ 2 คำ

ดังนั้น แม้ไม่มีข้อความแสดงให้เห็นว่า เป็นกำหนดการเผื่อตาย ว่าหากข้าพเจ้าตายลงหรือเสียชีวิตลงดังว่า ให้ทรัพย์สินตกแก่ผู้ใดก็คงไม่มีปัญหา 

การระบุว่าเป็น “พินัยกรรม” เช่นนี้ ศาลเคยวินิจฉัยว่า ถือได้ว่าเป็นการกำหนดการเผื่อตายไว้แล้ว ข้อความที่ทนายความอ่านมาตั้งแต่ต้นจนจบนี้ จึงถือเป็นกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนแล้ว จึงนับว่าเป็น “พินัยกรรม”

 

3.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1648 บัญญัติว่า

“พินัยกรรมนั้นต้องทำตามแบบซึ่งระบุไว้ในหมวด 2 แห่งลักษณะนี้”

(ลักษณะนี้ คือ ลักษณะ 3 ของบรรพ 6  ลักษณะ 3 ชื่อ พินัยกรรม หมวด 2 คือ แบบพินัยกรรม)

อย่างไรก็ตาม นับว่าแปลกที่ทนายความไม่อ่าน วัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรม ทำให้น่าคิดว่า เอกสารนั้นมีวัน เดือน ปีที่ทำระบุไว้ด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ พินัยกรรมทุกแบบ ในเมื่อกฎหมายกำหนดให้ต้องลง วัน เดือน ปีที่ทำพินัยกรรมไว้ด้วย โดยถือเป็น “แบบ” ที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า ต้องทำให้ครบถ้วน

 

พินัยกรรม นับเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง แม้เป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว แต่เมื่อกฎหมายบัญญัติให้นิติกรรมชนิดนี้ต้องทำตามแบบตามที่กฎหมายบัญญัติไว้จึงต้องทำตามนั้น หาไม่พินัยกรรมจะใช้บังคับไม่ได้

โดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 บัญญัติว่า

“พินัยกรรมนั้น จะทำตามแบบดังนี้ก็ได้กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือ ลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน ซึ่งพยาน 2 คนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น

การขูด ลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ จะได้ปฏิบัติตามแบบอย่างเดียวกับการทำพินัยกรรมตามมาตรานี้”

จะเห็นได้ว่า กฎหมายบัญญัติให้ทำตามแบบ คือ ต้องมี วัน เดือน ปี ด้วย

เหตุที่ต้องมีเพราะ วัน เดือน ปีที่ทำพินัยกรรมนั้นมีความสำคัญ ต่อในภายหลังผู้มีส่วนได้เสียอาจใช้ตรวจสอบได้ว่า ในวันเวลาดังกล่าวนั้น เจ้ามรดกมีสุขภาพอย่างไร สติสัมปชัญญะเป็นเช่นไร มีอาการป่วยไข้ในระดับใด

หากพินัยกรรมที่ทำไม่ลงวันที่ เดือน ปีที่ทำไว้ จะถือได้ว่า เป็นพินัยกรรมที่ทำผิดแบบ  จะตกเป็นโมฆะตามที่ มาตรา 152 บัญญัติไว้ว่า

“การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ” 

 

หากพินัยกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ (เพราะทำผิดแบบ) ทรัพย์สินทั้งหมดของเจ้าสัวจะตกกลับไปสู่กองมรดกที่จะตกแก่ทายาทโดยธรรมทันที ตามบทบัญญัติในมาตรา 1620 วรรคแรกที่บัญญัติว่า

“ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้ แต่ไม่มีผลบังคับได้ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1629 วรรคแรก บัญญัติว่า

“ทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับเท่านั้นและภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4) พี่น้องร่วมบิดา หรือ ร่วมมารดาเดียวกัน

(5) ปู่ย่าตายาย

(6) ลุง ป้า น้า อา”

 

โดยที่มีมาตรา 1630 บัญญัติไว้ว่า “ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กัน แล้วแต่กรณีและมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร”

 

ในซีรีส์ไม่ได้กล่าวถึงบิดา มารดาของเจ้าสัว สันนิษฐานว่า ชีวิตหาไม่แล้ว จึงไม่ต้องพิจารณาว่าจะต้องแบ่งทรัพย์มรดกแก่ บิดามารดาของเจ้าสัวด้วย

ถ้าพินัยกรรมฉบับที่ทนายความอ่านนั้น ไม่เขียนวัน เดือน ปีที่ทำพินัยกรรมไว้ การแบ่งส่วนต่าง ๆ ในทรัพย์สินแก่ทั้งสี่คนก็เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ สะใภ้ 2 คนจะไม่มีสิทธิในทรัพย์สินของเจ้าสัวเลย

 

ทายาทโดยธรรมของเจ้าสัวคงมีแต่เฉพาะลำดับที่ (1) ผู้สืบสันดาน คือ บุตรของท่านเจ้าสัว 2 คน ที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่า ๆ กันตามที่มาตรา 1633 บัญญัติว่า

“ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้นชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่ง มีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้น มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด” 

ทั้งนี้ ทายาทโดยพินัยกรรม จะไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์สินตามที่เขียนแจกแจงกำหนดไว้  ทรัพย์สินทั้งหมดจะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน ได้แก่แก่บุตรทั้งสอง และภริยาที่จดทะเบียน ตาม ปพพ.1635(1) ที่ระบุว่า ภริยาได้ส่วนแบ่งเสมือนชั้นบุตร 
ส่วนตำแหน่งในบริษัทและในมูลนิธิต้องแล้วแต่จะตกลงกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็อาจกลายเป็นคดีความกันต่อไป

 

4. ไม่ได้ยินทนายความอ่านชื่อพยาน 2 คน ทั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า พินัยกรรมต้องมีพยาน 2 คนลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม

ทั้งนี้ ตามกฎหมาย (มาตรา 1656) พินัยกรรมแบบธรรมดา ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน และพยาน 2  คนนั้น ต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นด้วย

เว้นแต่ จะเป็นพินัยกรรมแบบเขียนเอง ตามมาตรา 1657 ที่บัญญัติว่า

“พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้ กล่าวคือ ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเอง ซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน

การขูดลบตกเติมหรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น ซึ่งพินัยกรรมนั้น ย่อมไม่สมบูรณ์  เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเองและลงลายมือชื่อกำกับไว้

บทบัญญัติมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มิให้ใช้บังคับแก่พินัยกรรมที่ทำขึ้นตามมาตรานี้”

 

นั่นคือ ถ้าเป็นพินัยกรรมแบบที่เขียนด้วยลายมือผู้ทำพินัยกรรมเองตามที่บัญญัติในมาตรา 1657 เช่นนี้ก็ไม่ต้องการพยาน

แต่จากซีรีส์เรื่องนี้ พินัยกรรมฉบับนี้ น่าจะไม่เป็น พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ เพราะในตอนแรกซีรีส์ดำเนินเรื่องมา และบอกผู้ดูว่า มาวินบุตรชายคนรอง ได้ข่มขู่ทนายความ ให้จัดการเปลี่ยนแปลงสาระในพินัยกรรม ให้เขามีชื่อเป็นผู้ได้รับมรดกส่วนมาก หากเป็นพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับด้วยสาระ 4 ข้อของพินัยกรรมข้างต้น ทนายความ น่าจะไม่มีความสามารถที่จะปลอมแปลงลายมือเขียนของท่านเจ้าสัวได้ เชื่อว่า พินัยกรรมน่าจะถูกจัดทำขึ้นด้วยการพิมพ์ จึงเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา ที่จะต้องมีพยาน 2 คนขณะที่เจ้ามรดกลงลายมือชื่อของตน

 

ถ้าไม่มีพยาน 2 คนลงลายมือชื่อรับรอง ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า “ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน และพยาน 2 คนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นด้วย” (มาตรา 1656) พินัยกรรมนั้นจะผิดไปจากแบบที่กฎหมายกำหนดจะตกเป็นโมฆะ (มาตรา 152)

 

หากข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ คือ พินัยกรรมนี้ไม่มีพยาน ยิ่งเป็นการย้ำถึงความผิดแบบและความที่ต้องตกเป็นโมฆะของพินัยกรรมฉบับนี้

สรุปก็คือ ถ้ามีคนแย้งเรื่องพินัยกรรมโมฆะ ซีรีส์เรื่องนี้อาจตอบได้ในสองตอน

 

5. พินัยกรรมข้อ 2 ระบุว่า “ธนบัตรและเงินสดในบัญชีธนาคาร มูลค่า 200 ล้านบาท”

ตามปกติเมื่อกล่าวถึงเงิน โดยปกติทั่วไปจะกล่าวถึงจำนวน ว่ามีเท่าไร 

น่าแปลกที่พินัยกรรมระบุทรัพย์  2 ชนิดนี้แยกกัน 

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ธนบัตรที่กล่าวถึงอาจเป็นธนบัตรที่ระลึกเก็บอยู่ที่บ้านหรือในตู้นิรภัยของธนาคาร ธนบัตรที่ระลึกนี้อาจมีมูลค่ามากกว่า เลขบอกค่าเงินในธนบัตรฉบับนั้นๆ  และยังมีเงินในบัญชีธนาคารอีกต่างหาก

 

ที่น่าสนใจอีกประเด็นตรงที่พินัยกรรมได้ระบุ “มูลค่า 200 ล้านบาท” ต่อท้ายไว้ด้วย 

ทีนี้ถ้าเกิดยอดเงินในบัญชีเกิน 200 ล้านบาท เช่น 222 ล้านบาท หรือ 250 ล้านบาท หรือ 270 ล้านบาทละ ส่วนเกินจะมิต้องตกเข้าสู่กองมรดกให้นำมาแบ่งในหมู่ทายาท (บุตรชาย 2 คน)อีกหรือ ?  หรือเป็นมูลค่ารวมของ ธนบัตรและเงินในบัญชีธนาคารโดยประมาณ (ถ้าขาดไม่ถึง 200 ล้านบาทก็แล้วไป  แต่ถ้าเกินจำนวน 200 ล้านบาทละ?)

 

6.ทำไมพินัยกรรมฉบับนี้ถึงต้องมีข้อความว่า “แต่เพียงผู้เดียว” ทุกรายการ ทุกข้อ ทั้งๆที่ ไม่ได้ยกทรัพย์ ชนิดใดชนิดหนึ่งแก่ผู้ใดแต่เพียงผู้เดียว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีหุ้นในบริษัท

เฉพาะแต่ธนบัตรและเงินในบัญชีธนาคาร เท่านั้นที่อาจระบุแต่เพียงผู้เดียวได้  เนื่องจากพินัยกรรมเขียนยกให้นางอารยาแต่เพียงผู้เดียว

อาจกล่าวได้ว่าข้อความ “แต่เพียงผู้เดียว” ในพินัยกรรมข้อ 1,3 และ 4 เขียนเกินมาโดยไม่จำเป็น

 

7.เป็นไปได้อย่างไรที่การทำพินัยกรรมแบ่งทรัพย์มรดกรายการใหญ่ ที่มีทรัพย์สินจำนวนมากขนาดนี้ การดำเนินการที่อาจกล่าวได้ว่า ไม่รัดกุม ถ้าไม่มีการถ่ายทำบันทึกวิดีโอเทปขณะจัดทำพินัยกรรมเอาไว้ประกอบหรือเพื่อยืนยันข้อความในเอกสารพินัยกรรม จนกระทั่งทำให้ทนายความสามารถปลอมพินัยกรรมขึ้นมาใหม่ตามคำขอ(ขู่)ของมาวินบุตรชายคนรองของผู้ทำพินัยกรรม กระทั่งพินัยกรรมทำให้บุตรชายคนรองได้ทรัพย์สินเพิ่มขึ้น โดยไม่มีใครเฉลียวใจ ถามถึงวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรมเลย

 

8. การเปิดพินัยกรรม น่าสังเกตว่าที่ทนายความทำเป็นเพียงการเปิดแฟ้มเอกสารปกแข็ง ที่มีเอกสารพินัยกรรมอยู่ภายในขึ้นมาอ่าน ทั้ง ๆ ที่พินัยกรรมเป็นเอกสารสำคัญ โดยเฉพาะพินัยกรรมรายนี้ที่ถึงกับมีกำหนดวันเปิดต่อที่ประชุมทายาทเอาไว้ แทนที่เอกสารพินัยกรรมจะถูกบรรจุอยู่ในซองปิดผนึกแน่นหนาและมีการลงลายมือชื่อผู้เกี่ยวข้องหรือประทับตราคาบผนึกซองเอาไว้ ป้องกันการเปิดมาแก้ไขหรือเปิดก่อนกำหนด หรือการที่ควรจะมีคู่ฉบับไว้อีกฉบับให้เทียบตรวจสอบความถูกต้องตรงกัน แต่พินัยกรรมฉบับนี้กลับไม่มี อาจกล่าวได้ว่าเป็นการทำพินัยกรรมที่ไม่มีความรัดกุมเพียงพอ

 

ทั้งหมดนี้เป็นข้อสังเกต เกี่ยวกับพินัยกรรมฉบับที่เปิดในที่ประชุมทายาท ซึ่งเป็นจุดที่ หากมีการทำพินัยกรรมกันชีวิตจริง ก็กล่าวได้ว่า เป็นพินัยกรรมที่หละหลวมและเกิดช่องโหว่มากมาย จนอาจไปถึงขั้น “ใช้บังคับไม่ได้” ด้วยซ้ำ  โดยมิพักต้องดำเนินเรื่องไปถึงจุดที่ว่า พินัยกรรมนี้ ปลอมหรือไม่ ถ้าปลอม ก็จะมีผู้ถูกดำเนินคดีอาญา ในเรื่องการปลอมเอกสาร (พินัยกรรม) รวมทั้งเมื่อเป็นพินัยกรรมปลอม  หรือพินัยกรรมจริงใช้บังคับไม่ได้ การแบ่งมรดก ก็ต้องกลับไปสู่ การแบ่งมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ว่าด้วยการแบ่งมรดกให้กับ ทายาทโดยธรรม

แม้กระทั่งเมื่อตอนท้ายเรื่องที่คลี่คลายว่า พินัยกรรมฉบับที่ทนายอ่านต่อที่ประชุมทายาทนั้น เป็นพินัยกรรมที่ทนายทำปลอมขึ้นมา ตามคำขู่และสนองความต้องการของมาวินบุตรคนรองของเจ้าสัว แล้วนำเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรมฉบับจริงมาให้ชม ก็ยังปรากฏว่า พินัยกรรมฉบับจริงเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาตามมาตรา 1656 ที่ผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน และไม่มีพยาน 2 คนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมขณะนั้นด้วยอยู่นั่นเอง ในห้องขณะเจ้าสัวลงนามในพินัยกรรม คงมีเพียงทนายความและภริยา(คนใช้)เท่านั้น  

ดังนี้ พินัยกรรมฉบับจริงที่ยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดแก่ภริยา (คนใช้) ก็ยังคงใช้บังคับไม่ได้ ยังผลให้เสมือนว่า เป็นกองทรัพย์สินที่ไม่มีพินัยกรรมมาแต่ต้น ทำให้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดกลับคืนสู่กองมรดกและตกแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้าสัว คือ ภูพัฒน์ มาวิน รวมทั้งไข่มุก (ภริยาคนใช้) ทันทีที่เจ้าสัวตาย (ไข่มุก ซึ่งได้จดทะเบียนกับเจ้าสัวแล้ว ได้ส่วนแบ่งมรดก ตาม ปพพ.ม. 1635(1) ที่ระบุว่า ภริยาได้ส่วนแบ่งเสมือนชั้นบุตร)

 

สรุปสำหรับบทความนี้อีกครั้งว่า

1.การทำพินัยกรรมเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่กำกฎหมายกำหนดแบบไว้เป็นการเฉพาะ ถ้าไม่เป็นไปตามแบบ คือบังใช้บังคับไม่ได้ หากใครที่ต้องการทำพินัยกรรม ง่ายที่สุดคือ เขียนด้วยลายมือตัวเอง และมีข้อความสำคัญกำกับ เช่น วัน เดือน ปี ที่เขียนพินัยกรรม เป็นต้น แบบนี้ไม่ต้องมีพยาน

2.หากต้องการทำในแบบอื่นคือ ให้คนอื่นร่างให้ แบบนี้ต้องมีพยานสองคน ลงลายมือชื่อพร้อมกับผู้ทำพินัยกรรม หรือพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ก็ต้องไปที่สำนักงานเขต 

3.หากมูลค่าทรัพย์สินมาก อย่าประหยัดเข้าทำนองเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย โดยไม่ปรึกษาผู้รู้กฎหมาย ซึ่งอาจเป็นที่ปรึกษากฎหมาย หรือทนายความ

4.แถมท้ายให้อีกนิด ถ้าผู้รับมรดกตามพินัยกรรมฆ่าเจ้ามรดก ก็อาจจะหมดสิทธิ์ในทรัพย์มรดกได้ โดยกฎหมายใช้คำว่า “ถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร”  ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606

ตามเนื้อเรื่องที่เฉลยในตอนท้ายว่า นางเอกเป็นผู้ลงมือเอง หากสืบสาวกันต่อและมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเธอฆ่า เธอก็อาจจะชวดในมรดกทั้งหมดก็ได้

หรือ ตามเรื่องที่ลูกชายคนที่สอง ที่สั่งให้ปลอมพินัยกรรม หากจับได้ ก็จะตกอยู่ในฐานะที่ “ถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร” เช่นกัน นอกเหนือไปจาก จะต้องโทษอาญาตามความผิดที่ได้กระทำ 

 

ทั้งนี้ ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1606 ได้บัญญัติไว้ว่า  บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร

 (1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำหรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

(2) ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกว่าทำความผิดโทษประหารชีวิตและตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ

3) ผู้ที่รู้อยู่แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา  แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ  แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับ ถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบ 16 ปีบริบูรณ์หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง

(4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำหรือเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกหรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น

(5) ผู้ที่ปลอม  ทำลายหรือปิดบังพินัยกรรม  แต่บางส่วนหรือทั้งหมด

เจ้ามรดกอาจถอนข้อจำกัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้   โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร