14 ม.ค. 2568 | 18:00 น.
KEY
POINTS
“จงคิดว่าชีวิตที่ผ่านมาเป็นเพียงเศษเถ้าธุลี และในฐานะผู้วายชนม์ จงพินิจสิ่งที่ยังคงเหลืออยู่ พยายามใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ยอมศิโรราบต่อโชคชะตา และหยอกเย้ากับมันราวกับเป็นอีกตัวตนหนึ่ง เพราะคงไม่มีสิ่งใดน่าปีติเช่นนี้อีกแล้ว”
‘มาร์คัส ออเรลิอุส’ (Marcus Aurelius) จักรพรรดิโรมัน ผู้หลงใหลในปรัชญาสโตอิก จนก้าวขึ้นสู่การเป็นนักปรัชญาสายนี้เสียเอง ออเรลิอุสได้เขียนหนังสือ Meditations หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเขาเคารพและชื่นชมแนวทางแห่งความเรียบง่ายนี้ด้วยใจจริง
แต่หากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของปรัชญาสโตอิกจริง ๆ คงต้องนับถอยหลังไปราวปี 320 ก่อนคริสตกาล หลังจาก ‘ซีโน’ (Zeno) แห่งเมืองซิติอุม (Citium) เกิดอุบัติเหตุเรือล่มระหว่างเดินทางไปค้าขาย ข้าวของทุกอย่างที่ขนมาถูกกระแสน้ำดูดกลืนไปจนหมด ภาพฝันว่าจะร่ำรวยจากการค้าขายต่างแดนล่มสลายลงไม่เป็นท่า หลงเหลือเพียงชีวิตที่ต้องกล้ำกลืนทนเห็นทุกสิ่งหายไปกับตา
ซีโนไม่มีทางเลือกมากนัก ในเมื่อทุกอย่างไม่อาจย้อนกลับมา เขาบอกตัวเองซ้ำไปซ้ำมาว่า นี่คือสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เพื่อให้ก้าวผ่านเรื่องเลวร้ายไปได้ เขาจึงออกเดินทางไปยังเอเธนส์เพื่อศึกษาศาสตร์แห่งชีวิตของโซเครตีสและไพธากอเรีย หลังจากศึกษาได้ระยะหนึ่ง เขาค้นพบแล้วว่า ‘ปรัชญา’ คือสิ่งที่เขาอยากจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนชีวิตนี้จะจบลง จนเป็นที่มาของปรัชญาสโตอิก
ชื่อสโตอิกมาจากคำว่า Stoa Poikile เขาได้ก่อตั้งสำนักคิด และมีสานุศิษย์อยู่แทบทุกหนแห่ง หนึ่งในนั้น คือ เซเนกา, เอพิคเตตัส, มาร์คัส ออเรลิอุส และมูโซนิอัส รูฟัส แนวคิดหลักคือเน้นการใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ และควบคุมตนเองในการจัดการกับอารมณ์และความคิด และอย่ากังวลจนไม่เป็นอันกินอันนอน หากไม่สามารถควบคุมสิ่งเร้าภายนอกได้อย่างใจหวัง
ถึงแนวคิดสโตอิกจะมีมานานนับสองพันปี แต่ดูเหมือนว่าไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย ‘สโตอิก’ ก็ยังคงมีความทันสมัยเชื่อมโยงกับชีวิตคนมาจนถึงปัจจุบัน
“เราต่างใช้ชีวิตอยู่กับความกังวล อยู่ท่ามกลางจินตนาการ อยู่บนการคาดเดา จนละเลยความเป็นจริงของชีวิต”
คำพูดของ ‘เซเนกา’ (Seneca) นักปรัชญาสายสโตอิกอีกหนึ่งคนกล่าว เพราะนี่คือสิ่งที่หลายคนมักกังวลจนเกินจริง มองไปไกลกว่าสิ่งที่จะเกิด จนพลอยทำให้ชีวิตหม่นหมอง เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับยุคสมัยปัจจุบัน ยุคที่สามารถเห็นชีวิตของคนอื่นได้ราวกับอยู่บ้านเดียวกัน แน่นอนว่ามันอาจเข้าไปกระทบใจของคนกลุ่มหนึ่งไม่มากก็น้อย จนเกิดเป็นจินตนาการ และกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คำพูดของเซเนกาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยย้ำเตือนว่า อย่าเพิ่งกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิด เพราะมันคือเรื่องที่เราไม่สามารถควบคุมได้
ปรัชญาสโตอิกพร่ำบอกกับทุกคนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นภายนอก เราไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ของคนอื่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว หรือแม้กระทั่งสภาพอากาศ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เรา 'สามารถควบคุมได้' คือการตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้น
“สิ่งที่ทำให้ชีวิตเราเจ็บปวด ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นวิธีที่เราเลือกตอบสนองต่อมัน
“ความสุขแท้จริง คือการได้ดื่มด่ำอยู่กับปัจจุบัน อย่าได้ตั้งความหวังหรือรอพึ่งปาฏิหาริย์ต่ออนาคต หรือหวาดกลัวต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่จงพอใจในสิ่งที่ตนมี เพราะผู้ที่ไม่ปรารถนาอะไรเลย ย่อมมีครบทุกสิ่ง
“พรอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติอยู่ภายในเราและอยู่รอบตัวเรา สุดท้ายแล้วไม่ว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมดีที่สุดแล้ว”
บททดสอบในชีวิตอีกหนึ่งข้อของมนุษย์ที่แทบทุกคนต้องประสบ คือ การเจอสถานการณ์ที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนล้วนเจอกับเหตุการณ์เหล่านั้นแตกต่างกันไป ซึ่งปรัชญาสโตอิกบอกไว้ว่า อุปสรรคที่เจอ คือ ‘โอกาสในการเติบโต’ ไม่ว่าจะทุกข์ใจแค่ไหน ปัญหาต่าง ๆ ถาโถมเข้ามาไม่บันยะบันยัง นี่คือสิ่งที่เราไม่อาจควบคุมได้ เพราะอย่างนั้นเราต้องพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาด้วย ‘สติ’ อย่ายอมตกเป็นทาสของอารมณ์เด็ดขาด
“บางคราว เพียงแค่มีชีวิตอยู่ก็นับเป็นการแสดงความกล้าหาญอย่างหนึ่ง และการยอมรับสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ คือความแข็งแกร่งที่แท้จริง”
หากเรามองหาความสุขจากภายนอกตลอดเวลา เราจะต้องดิ้นรนและประสบกับความผิดหวังเมื่อสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่หากเราฝึกให้ความสุขขึ้นอยู่กับทัศนคติและการตอบสนองของเราเอง ความสุขนั้นจะอยู่กับเราตลอดไป
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ : กัลยารัตน์ วิชาชัย