24 มิ.ย. 2567 | 08:19 น.
“ความสมบูรณ์แบบมีแต่จะทำให้โลกแคบและเต็มไปด้วยความเครียด”
มีใครเห็นด้วยกับประโยคนี้บ้างคะ?
ในหนังสือ ‘ทิ้งนิสัยไม่ดีแล้วจะมีความสุข’ โดย ‘โกะโด โทคิโอะ’ กล่าวถึง ‘นิสัยไม่ดี’ ข้อหนึ่ง ที่ใครหลายคนอาจมองว่าเป็น ‘นิสัยดี’ นั่นคือ ‘ความสมบูรณ์แบบ’
เหตุผลที่โทคิโอะมองว่า ‘โรคมนุษย์สมบูรณ์แบบ’ มีข้อเสียหลายอย่าง ได้แก่
เวลาต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง มนุษย์สมบูรณ์แบบจะต้องเตรียมทุกอย่างให้สมบูรณ์ไร้ที่ติ เพราะหวังให้ผลลัพธ์เป็นไปอย่างที่ใจปรารถนา 100% คนประเภทนี้มักจะไม่เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ “ลองผิดลองถูก” เพราะทำใจยอมรับความผิดพลาดไม่ได้ แม้จะเป็นความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม
ในข้อนี้ โทคิโอะยกเรื่องราวของตัวเองมาเป็นอุทาหรณ์ เขาเล่าในหนังสือว่า เคยล้มเหลวกับการเปิดเว็บไซต์ค้นหาสินทรัพย์เพื่อการลงทุน เพราะหมดเวลามากกว่าครึ่งปีไปกับการเข้าประชุมเพื่อหานิยามเนื้อหา (ออกแบบระบบ) กับบริษัทจัดทำเว็บไซต์ และหมดเงินไปจำนวนมาก แต่พอเอามาใช้จริง ปรากฏว่าคู่แข่งนำเว็บไซต์เขาไปไกลเท่าตัวแล้ว ไหนจะความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ทำให้เว็บของเขาขายไม่ออก ครั้นจะลงทุนเพิ่มเงินก็ร่อยหรอแล้ว ทำได้เพียงก้มหน้ารับชะตากรรมไปเงียบ ๆ ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย
หลังจากนั้นเขาก็ได้บทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น นั่นคือการ “ลองทำไปก่อน” ไม่ต้องรอให้เสร็จสมบูรณ์ 100% เอาแค่ 60 – 70% ก็เปิดให้บริการได้ ระหว่างนั้นก็รับฟังความคิดเห็นและสังเกตพฤติกรรมลูกค้าพร้อมกับปรับปรุงไปด้วย จะทำให้พัฒนาเว็บได้เร็วกว่า ไม่ต้องเผาเวลา เผาเงิน ไปเปล่า ๆ
หลายคนอาจเคยเผชิญความรู้สึกว่าตัวเองด้อยประสิทธิภาพ ทำงานไม่ได้เรื่อง หลังจากทำรายงานเสนอหัวหน้าอยู่นานสองนาน แต่พอถึงเวลาที่ต้องพรีเซนต์กลับมีข้อผิดพลาดเยอะแยะไปหมด เล่นเอาหมดไฟจนไม่อยากทำงานเลยก็มี
เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ลักษณะนี้ โทคิโอะแนะนำให้คุณ “ปิดตา” ไม่ต้องสนใจรายละเอียด เน้นความรวดเร็วและทำโครงเนื้อหาให้หัวหน้าดูก่อน เพื่อให้หัวหน้าช่วยแก้ไขได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ แล้วคิดไว้ในใจว่า “จะแก้ใหม่สามครั้ง” ครั้งแรกคือทำให้จบแบบคร่าว ๆ พอให้ไม่โดนดุ จากนั้นก็นำความเห็นของหัวหน้ามาพัฒนาแก้ไข แล้วค่อย ๆ ลงรายละเอียดให้พอใจในครั้งที่สอง และครั้งที่สาม
สิ่งสำคัญคือไม่กดดันตัวเองว่า “รายงานจะต้องสมบูรณ์แบบตั้งแต่ครั้งแรก” ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงทำให้คุณเกิดทัศนคติที่ไม่ดีกับตัวเอง
มนุษย์สมบูรณ์แบบมักจะเครียดสะสมได้ง่าย เพราะมักจะรู้สึกว่าตัวเองถูกบีบรัดด้วยเวลาและจิตใจจนเหนื่อยล้า แต่เมื่อใดก็ตามที่บอกตัวเองได้ว่า “ทำคร่าว ๆ เท่าที่ทำได้ก็พอ” คุณจะปลดล็อกตัวเองจากภาระและแรงกดดันมหาศาลทันที นำไปสู่การใช้ชีวิตที่ผ่อนคลายมากขึ้น
แต่การจะเกิด “ความคิดแบบคร่าว ๆ” ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ที่นิยมความสมบูรณ์แบบ โทคิโอะจึงแนะนำให้เริ่มต้นจากการเลิกคิดถึง “ภาพที่ควรมี” ก่อน เป็นเพราะว่าความคิดทำนองว่า “มันควรจะเป็นแบบนี้” หรือ “มันต้องเป็นแบบนี้สิ” จะตรึงเราไว้กับภาระหน้าที่อยู่ตรงหน้า
ลองเปลี่ยนมาคิดจากงานง่าย ๆ ว่า “ถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใครเดือดร้อนนะ” เช่น “ถ้าเราไม่จัดห้องวันนี้ แต่ได้นอนงีบเพิ่มอีกสักหน่อย มันก็ไม่มีใครตายเพราะฝุ่นนี่” หรือ “ถ้าลูกสอบไม่ได้ที่ 1 ก็ไม่เป็นอะไรสักหน่อย แถมเทอมนี้ดูลูกมีความสุขมากขึ้นด้วยนะ”
จริงอยู่ที่การฝึกคิดแบบนี้ อาจทำให้มนุษย์สมบูรณ์แบบต้องฝืนใจสักหน่อย แต่มันจะช่วยให้พวกคุณมองเห็นโลกอีกมุม เป็นโลกในมุมที่สบาย ๆ ที่ไม่โบยตีตัวเองมากจนเกินไป
ข้อเสียข้อสุดท้ายของพวกสมบูรณ์แบบคือ ‘ความคาดหวัง’ ว่าชาวบ้านเขาจะเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบเหมือนตัวเองด้วย (ข้อนี้น่ากลัวมาก)
ผลที่ตามมาคือ มนุษย์สมบูรณ์แบบจะไม่ยอมอะลุ่มอล่วยให้คนอื่น พวกเขามักจะหงุดหงิดและตำหนิคนอื่นให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง โดยมีคำติดปากคือ “เรื่องแค่นี้ทำไมทำไม่ได้!”
โทคิโอะมองว่า การเรียกร้องความสมบูรณ์แบบทำให้อารมณ์ไม่ดี และทำให้คนอื่นมองว่าเป็น ‘คนจู้จี้ขี้บ่น’ ซึ่งมักจะปรากฏในรูปของคนที่นั่งทำงานเงียบ ๆ อย่างโดดเดี่ยว อาจมีสบถ หรือทำเสียงจิ๊ จ๊ะ อยู่คนเดียวในมุมใดมุมหนึ่งของออฟฟิศ
หากอยากแก้นิสัยเสียข้อนี้ คุณต้องยอมรับจากใจจริงให้ได้ว่า “โลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบหรอก” และการคิดไปเองว่าตัวเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความสมบูรณ์แบบแล้ว เท่ากับเป็นการปิดหูปิดตาตัวเองไม่ให้ปรับปรุงและพัฒนาตัวเองไปข้างหน้า
ฉะนั้นแล้ว หากตัวเราเองยังไม่สมบูรณ์แบบ คนอื่นก็มีสิทธิไม่สมบูรณ์แบบได้เช่นกัน
คิดแบบนี้น่าจะช่วยให้เลิกหงุดหงิด เลิกวีน เวลาเห็นคนอื่นทำอะไรงก ๆ เงิ่น ๆ แล้วชีวิตคุณก็จะสงบสุขขึ้นอีกเยอะ
สวัสดีวันจันทร์ค่ะ
พาฝัน ศรีเริงหล้า