สวัสดีวันจันทร์: “จงจำไว้ว่าเครื่องบินนั้นบินสวนทิศทางลม ไม่ได้ลอยไปตามกระแสลม”

สวัสดีวันจันทร์: “จงจำไว้ว่าเครื่องบินนั้นบินสวนทิศทางลม ไม่ได้ลอยไปตามกระแสลม”

สวัสดีวันจันทร์สัปดาห์นี้ หยิบยกคำพูดของ ‘เฮนรี ฟอร์ด’ นักธุรกิจและผู้ก่อตั้ง ‘ฟอร์ด มอเตอร์ คอมปะนี’ ที่กล่าวเอาไว้ว่า “เมื่อไรก็ตามที่อะไรไม่ลงตัว จำไว้ว่าเครื่องบินนั้นบินสวนทิศทางลม ไม่ได้ลอยไปตามกระแสลม”

“เมื่อไรก็ตามที่อะไรไม่ลงตัว จำไว้ว่าเครื่องบินนั้นบินสวนทิศทางลม ไม่ได้ลอยไปตามกระแสลม” 

‘เฮนรี ฟอร์ด’ นักธุรกิจและผู้ก่อตั้ง ‘ฟอร์ด มอเตอร์ คอมปะนี’ ก็เป็นเหมือนพวกเราทุกคน ที่เผชิญความท้าทายและอุปสรรคในชีวิตและการทำงาน แต่สิ่งที่อาจจะล้ำกว่าพวกเราหลาย ๆ คน คือ ‘ทัศนคติ’ ที่ทำให้เขาไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรคใด ๆ

ชายผู้สร้างคุณูปการอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตและการออกแบบรถยนต์ ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เชื่อมั่นว่า เมื่อเผชิญกับความยากลำบาก การเติบโตและความสำเร็จสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อเราฝ่าฟันอุปสรรคและไม่ยอมแพ้ โดยได้เปรียบเทียบสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจต่าง ๆ กับการบินของเครื่องบิน ที่จะบินขึ้นในทิศทางตรงข้ามกับลม

เหตุที่เฮนรี ฟอร์ด พูดแบบนี้ได้ ตัวเขาเองก็ผ่านอะไรมาหลายอย่างเหมือนกันในช่วงชีวิตการทำงาน 

เริ่มจากที่เขาออกจากงานวิศวกรที่บริษัทของ ‘ทอมัส อัลวา เอดิสัน’ เพื่อมาตั้งบริษัทของตัวเอง ซึ่งปรากฏว่าเจ๊งใน 18 เดือนต่อมา 

แต่แทนที่จะกลับไปเป็นลูกจ้างเหมือนเดิม เขากลับเดินหน้าหาผู้ร่วมทุนใหม่จนสามารถก่อตั้ง ‘ฟอร์ด มอเตอร์’ ได้สำเร็จ ในอีกไม่กี่ปีต่อมา 
 

ครั้งนี้บริษัทของเขาไปได้ไกลมาก สามารถพัฒนารถยนต์ได้หลากหลายรูปแบบ ด้วยปณิธานแรงกล้าว่าจะผลิตรถยนต์คุณภาพดี ราคาถูก เพื่อให้คนธรรมดา ๆ ที่ไม่มีเงินถุงเงินถังมากมาย สามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ แตกต่างจากแนวคิดของคู่แข่งรายอื่น ๆ 

แนวคิดนี้นำมาสู่การเปิดตัวรถยนต์ Model T ที่ไม่ได้เน้นแรงงานมนุษย์ แต่เน้นการใช้สายพานและเครื่องจักรผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่มีมาตรฐานเดียวกันคราวละหลาย ๆ ชิ้น มาประกอบเป็นรถยนต์อย่างเป็นระบบ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนการผลิตมากขึ้น ทำให้ Model T สามารถตั้งราคาขายไม่ถึง 300 ดอลลาร์ ขณะที่รถยนต์ทั่วไปจะมีราคาประมาณ 850 ดอลลาร์ 

วิธีนี้กลายมาเป็นต้นแบบการผลิตของโรงงานหลากหลายประเภทมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ด้วยความที่หันไปใช้งานเครื่องจักรมากกว่ามนุษย์ ทำให้พนักงานในโรงงานที่ต้องทำงานแบบเดิม ๆ เริ่มขาดแรงบันดาลใจ และออกอาการเบื่อหน่าย พากันลาออกยกโขยง 

ฟอร์ดจึงต้องแก้เกมด้วยการขึ้นค่าแรงเกือบเท่าตัว จาก 2.34 ดอลลาร์ต่อวัน เป็น 5 ดอลลาร์ต่อวัน นับเป็นการปฏิวัติค่าตอบแทนแรงงานครั้งใหญ่ นอกจากนี้ เขายังเปลี่ยนวิธีคัดเลือกพนักงานโดยไม่เน้นฝีมือ แต่เน้นการยอมรับเงื่อนไขของนโยบายนี้แทน 

และในขณะที่บางโรงงานกำหนดให้พนักงานทำงานตลอดทั้ง 7 วัน โรงงานของฟอร์ดกลับเป็นแห่งแรก ๆ ที่ตัดสินใจลดชั่วโมงการทำงาน พร้อมทั้งกำหนดให้มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จากเดิมที่หยุดเพียงสัปดาห์ละ 1 วัน ทำเอาเจ้าของโรงงานคนอื่น ๆ พากันเกาหัวแกรก ๆ 

สาเหตุที่เขาตัดสินใจเช่นนั้น เพราะมองว่า พนักงานจะได้มีเวลาชาร์ตแบตและกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การที่พนักงานมีวันหยุดเพิ่ม พวกเขาก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนสถานะจากพนักงานมาเป็น ‘ลูกค้า’ ได้เหมือนกัน เพราะพวกเขาจะต้องอยากได้รถยนต์เอาไว้ขับพาครอบครัวไปเที่ยวในวันหยุดนั่นเอง 

ด้วยยุทธศาสตร์ที่กล่าวมา ปรากฏว่าอัตราการลาออกของโรงงานฟอร์ด ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อพนักงานมีรายได้เพิ่มขึ้น จำนวนชนชั้นกลางก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ยอดขายรถยนต์ก็เพิ่มขึ้นตามมา

นี่คือเรื่องราวของ ‘เฮนรี ฟอร์ด’ ผู้ไม่ยอมปล่อยตัวเองล่องลอยอย่างไร้ทิศทางตามกระแสลม แต่เลือกที่จะยืนหยัดในความคิดและพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีที่แตกต่าง จนทำให้ชื่อของรถยนต์ ‘ฟอร์ด’ ได้รับการยอมรับมาจนถึงทุกวันนี้

หวังว่าเรื่องราวของเขาจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับการทำงานของทุกคนในวันนี้นะคะ

สวัสดีวันจันทร์ค่ะ