03 ก.พ. 2568 | 09:00 น.
ห้องประชุมเช้าวันจันทร์... เงียบจนได้ยินเสียงแอร์ดัง ทุกคนเอาแต่ก้มหน้าจ้องหน้าจอเล็ก ๆ ในมือ ม่มีใครกล้าสบตาใคร
ใครเจอบรรยากาศแบบนี้คงได้แต่สงสัยในใจว่า นี่มันห้องประชุมหรือห้องนั่งสมาธิ?
หัวหน้าถามความเห็นรอบโต๊ะ เสียงที่ตอบกลับมามีแต่... เงียบ... เงียบ... และเงียบ แต่พอก้าวเท้าออกจากห้องประชุม เสียงซุบซิบนินทาดังระงม โอ๊ย! ถ้าไม่เห็นด้วยทำไมไม่พูดในห้องประชุมล่ะคะคุณขา
ยิ่งถ้าเป็นการประชุมออนไลน์ บางคนชอบอ้างมีปัญหาเรื่องไมค์ แต่พอประชุมจบปุ๊บ กลับไลน์หาเพื่อนยาวเหยียด บ่นกันใหญ่ว่าไม่เห็นด้วยกับไอเดียที่คุยกันเลย
คนเราชอบ ‘ความเงียบ’ ก็จริง แต่บางครั้ง ‘ความเงียบ’ ก็ ‘อันตราย’ เหมือนระเบิดเวลา โดยเฉพาะในที่ทำงาน
บางคนเงียบเพราะกลัว บางคนเงียบเพราะโกรธ แต่ไม่ว่าจะเงียบเพราะอะไร ผลลัพธ์มันก็เหมือนๆ กัน... งานไม่เดิน ทีมไม่พัฒนา
เคยได้ยินคำพูดที่ว่า “เมื่อความจริงถูกแทนที่ด้วยความเงียบ ความเงียบนั้นก็คือการโกหก” ไหมคะ คำพูดนี้มันจริงมาก ๆ เลยนะ
อย่างตอนที่เราเห็นเพื่อนร่วมงานถูกกลั่นแกล้ง แต่เราเลือกที่จะเงียบ เพราะกลัวว่าถ้าพูดออกไปแล้วจะมีปัญหา หรือตอนที่เราเห็นข้อผิดพลาดในโปรเจ็กต์ แต่ก็เลือกที่จะไม่พูด เพราะกลัวว่าจะถูกมองว่าจับผิด
จริง ๆ นะ ความเงียบในห้องประชุมมันน่ากลัวกว่าที่คิด เพราะมันบ่งบอกว่าทีมของเรากำลังมีปัญหา ยิ่งในยุคที่ทุกอย่างเคลื่อนไหวเร็ว 24 ชั่วโมง ความเงียบยิ่งไม่ใช่ทางเลือกที่ดี
แล้วจะเริ่มพูดยังไงดีล่ะ? หลายคนบอกว่าไม่รู้จะเปิดปากตรงไหน กลัวว่าจะดูโง่ ถ้าเป็นแบบนี้ ลองเริ่มจากวิธีง่าย ๆ ขั้นแรก ก่อนเข้าประชุม เตรียม 2 - 3 ประเด็นที่เราสนใจเป็นพิเศษ จดไว้ในมือถือ พอถึงเวลาจะได้ไม่ตื่นเต้นจนลืม
ขั้นที่สอง เริ่มจากการถามคำถามง่าย ๆ เช่น “ช่วยอธิบายตรงนี้เพิ่มได้ไหมคะ?” หรือ “ถ้าทำแบบนี้ จะกระทบกับแผนกอื่นไหมคะ?” เพราะการถามคำถามมักจะง่ายกว่าการแสดงความเห็น
ขั้นที่สาม ลองหาพันธมิตรในทีม ชวนเพื่อนสนิทคุยก่อนเข้าประชุม ถ้าเรามีความเห็นตรงกัน ก็จะช่วยกันสนับสนุนในที่ประชุมได้
เคยสังเกตไหมว่า การประชุมที่ดีที่สุดคือการประชุมที่ทุกคนแชร์ไอเดีย ถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ แม้จะเห็นต่าง แต่ทุกคนกล้าที่จะพูด กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น
ส่วนคุณหัวหน้าทั้งหลาย ถ้าอยากให้ทีมกล้าแสดงความเห็น ต้องสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยก่อน เลิกพูดประโยคน่ากลัว ๆ แบบ “ใครมีความเห็นที่ต่างไปจากนี้ไหม?” แล้วเปลี่ยนเป็น “คุณคิดว่าเราน่าจะปรับจุดไหนได้อีกบ้าง?” ดูสิ... แค่เปลี่ยนคำพูดนิดเดียว ความรู้สึกก็ต่างกันแล้ว
ลองให้เวลาทุกคนคิด 2 - 3 นาทีก่อนถามความเห็น อย่าเพิ่งรีบร้อน บางคนต้องการเวลาเรียบเรียงความคิดมากกว่าคนอื่น และที่สำคัญ อย่าลืมชื่นชมคนที่กล้าเสนอไอเดียใหม่ ๆ แม้จะเป็นไอเดียที่ยังไม่สมบูรณ์
สิ่งสำคัญคือ ทุกคนในทีมควรพึงระลึกอยู่เสมอว่า “ถ้าคุณไม่พูดในห้องประชุม แปลว่าคุณไม่ได้ช่วยทีมคิด คุณกำลังกินแรงทีม หรือร้ายสุดคือคุณกำลังหนีปัญหา”
มันเหมือนกับที่เราชอบหันไปหาโทรศัพท์หรือหาอะไรทำเวลาที่เครียด ๆ แทนที่จะจัดการกับปัญหาตรงหน้า เราเลือกที่จะหนี เลือกที่จะเงียบ แทนที่จะเผชิญหน้ากับมัน และอาจจะกำลังปล่อยให้ทีมเดินไปผิดทาง ทั้งที่เรามีไอเดียดี ๆ อยู่ในหัว แต่ไม่ยอมแชร์
มีงานวิจัยน่าสนใจบอกว่า ถ้าใครไม่ได้พูดอะไรเลยใน 15 นาทีแรกของการประชุม คน ๆ นั้นมักจะเงียบไปตลอดทั้งชั่วโมง
และรู้ไหม? การที่เราเก็บความเจ็บปวดหรือปัญหาไว้เงียบ ๆ ไม่ได้ทำให้มันหายไป มันแค่ทำให้ความเจ็บปวดนั้นสะสมและใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งมันอาจจะระเบิดออกมาในรูปแบบที่เราควบคุมไม่ได้
นี่ยังไม่นับว่าการเก็บความคิดเห็นไว้คนเดียวมันทำร้ายเราขนาดไหน กลับบ้านไปนอนไม่หลับ คิดวนไปวนมา “ฉันน่าจะพูดนะ” “ทำไมฉันไม่พูดนะ” “ไม่มีใครฟังฉันหรอก”
ความเงียบในวันนี้ อาจกลายเป็นความผิดพลาดในวันหน้า ที่คุณต้องมานั่งเสียใจทีหลังว่า “ทำไมตอนนั้นเราไม่พูด”
ดังนั้น... ในการประชุมครั้งต่อไป จะเลือกเป็นคนที่กล้าพูดในสิ่งที่คิด หรือจะเป็นแค่เฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งในห้องประชุม? คำตอบอยู่ที่คุณ
สวัสดีวันจันทร์ค่ะ
พาฝัน ศรีเริงหล้า
อ้างอิง:
Sharp Pencils (n.d.). In teamwork, silence isn't golden, it's deadly. Sharp Pencils. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2025, จาก https://www.sharppencils.com.au/in-teamwork-silence-isnt-golden-its-deadly/
Agility PR Solutions (2022, ธันวาคม 1). Why silence is not golden in a crisis. Agility PR Solutions. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2025, จาก https://www.agilitypr.com/pr-news/social-media/why-silence-is-not-golden-in-a-crisis/
Walking with Purpose (n.d.). Silence is not always golden. Walking with Purpose. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2025, จาก https://walkingwithpurpose.com/silence-is-not-always-golden/