03 ส.ค. 2562 | 11:29 น.
จีจี้ และ บุลม่า คือ สองสาวจากเรื่องดรากอนบอลที่ทุกคนคงรู้จักเป็นอย่างดี (เคยเขียนถึงดรากอนบอลไว้ในบทความ 2 ชิ้น คือ ซง โกคู (Son Gokū) แห่ง Dragon Ball เจ้าตำรับ “ไซอิ๋วผสมซูเปอร์แมน” และ “หยำฉา” แห่ง Dragon Ball โดนกระทืบ โดนแย่งแฟน ตัวละครขี้แพ้ที่คนรัก) ทั้งสองสาวมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่เปิดตัวละครครั้งแรก จนกระทั่งจบเรื่อง ทั้งในฐานะเมีย และในฐานะแม่อีกด้วย จีจี้เปิดตัวด้วยความเป็น “อนุรักษนิยมเอเชีย” อย่างมาก คือเป็นลูกสาวของราชาปีศาจวัว ซึ่งมีคาแรกเตอร์เอเชียแบบเต็ม ๆ เพราะได้แรงบันดาลใจจากเรื่องไซอิ๋วตอนที่ทีมของพระถังซัมจั๋งเดินทางมาถึงเทือกเขาไฟและต้องไปขอยืมพัดจากนางพญาพัดเหล็กที่เป็นภรรยาของราชาปีศาจกระทิงมาดับไฟ แต่เนื่องจากในดรากอนบอลนั้นโกคูยังเด็กอยู่ ตัวละครจีจี้จึงกลายเป็นลูกสาวของราชาปีศาจวัว แทนที่จะเป็นภรรยาของราชาปีศาจกระทิงแบบต้นฉบับ (และกลายเป็นผู้เฒ่าเต่าโชว์เทพใช้พลังคลื่นเต่าดับไฟแทนที่จะใช้พัด) จีจี้มีความอนุรักษนิยมแบบผู้หญิงเอเชีย อย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ตอนที่โกคูใช้เท้าสัมผัสหว่างขาของจีจี้เพื่อดูว่าจีจี้เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง (โกคูในวัยเด็กยังแยกผู้ชายกับผู้หญิงไม่ออกถ้าไม่สัมผัสหว่างขาดูก่อน) จีจี้ก็คิดในใจแล้วว่า “เป็นลูกผู้หญิง โดนผู้ชายสัมผัสส่วนนั้นแล้ว ก็ต้องเป็นภรรยาของผู้ชายคนนี้แล้วล่ะ” ซึ่งเป็นแนวคิดเอเชียโบราณนั่นเอง ทำให้จีจี้ยึดติดกับโกคูมากจนกระทั่งโตขึ้นก็ยังฝังใจว่ายังไงก็ต้องแต่งงานกับผู้ชายคนนี้เท่านั้นเพราะ “โดนเขาสัมผัสแล้ว” ส่วนบุลม่านั้นตรงกันข้ามทุกอย่าง คาแรกเตอร์เป็นตะวันตกสุดขั้ว ทั้งการแต่งตัว ความรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์แบบตะวันตก แนวคิดเรื่องการคบหากับต่างเพศ (คบหยำฉา เอาหยำฉามาอยู่กินด้วยหน้าตาเฉยโดยไม่แต่งงาน พ่อแม่บุลม่าก็ไม่บ่นอะไร ตอนหลังก็คบเบจิต้าจนมีลูกโดยไม่มีการแต่งงานเกิดขึ้นเช่นกัน พ่อแม่บุลม่าก็ไม่บ่นอีกนั่นแหละ) แล้วยังความคิดเรื่องชอบการผจญภัย ตามล่าหาดรากอนบอลไปสุดขอบโลก แทบไม่เคยกลับบ้านตัวเอง ก็เป็นการดีไซน์คาแรกเตอร์ตามแบบสาวตะวันตกมาก สภาพแวดล้อมการอบรมเลี้ยงดูของทั้งสองสาวจึงแตกต่างกันอย่างมาก จีจี้เติบโตภายใต้การอบรมของราชาปีศาจวัว ทำให้จีจี้โตมาในลักษณะของการมี Fixed Mindset คือ มีวิถีชีวิตเพียงแบบเดียวเท่านั้นที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์แต่ละคน จีจี้จึงเชื่อว่าสำหรับลูกผู้หญิงแล้ว มีหน้าที่เพียง 2 สิ่งคือ “เป็นเมีย และ เป็นแม่” เท่านั้น จีจี้ที่มีวิทยายุทธค่อนข้างสูงจึงไม่มีบทบาทอีกเลยในโลกวิทยายุทธของดรากอนบอล เพราะแต่งงานแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาเป็นแม่ศรีเรือนเท่านั้น เลิกใส่ใจฝึกวิทยายุทธ เพราะเชื่อใน Fixed Mindset ของตัวเองว่าชีวิตไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว ต้องเป็นเมียและเป็นแม่เท่านั้น ห้ามเป็นนักสู้ ในขณะที่บุลม่าเติบโตมาภายใต้สภาพแวดล้อมที่สร้างเสริม Growth Mindset คือเชื่อว่าทุกอย่างมีคำตอบที่ถูกต้องมากกว่าเพียง 1 คำตอบ เชื่อในความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และเชื่อในความรู้ความสามารถของตัวเอง บุลม่าจึงพัฒนาคาแรกเตอร์ของตัวเองไปได้มากกว่าจีจี้อย่างเทียบชั้นกันไม่ติด บุลม่าเริ่มจากเด็กสาวบ้าผู้ชายตามหาดรากอนบอล จนไปเปิดหูเปิดตาในศึกชิงเจ้ายุทธภพ จนเปิดสู่เทคโนโลยีต่างดาว ไปท่องจักรวาลถึงดาวนาเม็ก จนเป็นผู้ค้นพบเทคโนโลยีการข้ามเวลา (ที่ตัวเองในอนาคตสร้างขึ้น) เป็นแม่ของทรังคซ์นักสู้คนสุดท้ายผู้กู้โลก แล้วในภาค Super ก็กลายเป็นมิตรสหายของเทพทำลายล้างแห่งจักรวาลเลยด้วยซ้ำไป พอทั้งคู่กลายเป็นแม่ของลูก จึงมีแนวทางการเลี้ยงลูกต่างกันมาก จีจี้ซึ่งเชื่อใน Fixed Mindset จึงกลายเป็น “เผด็จการเต็มขั้น” คือเป็น Control Freak เต็มรูปแบบ ออกคำสั่งให้สามีต้องหางานทำ ต้องทำโน่น ห้ามทำนี่ พอมีลูก ก็บังคับลูก ลูกต้องเรียนหนังสือ ลูกต้องเป็นนักวิชาการ ลูกห้ามทำโน่นห้ามทำนี่ ฯลฯ ในขณะที่บุลม่าจึงกลายเป็น “ประชาธิปไตยเต็มใบ” คือเปิดโอกาสให้สามีและลูกอย่างเต็มที่ อยากทำอะไรก็ทำได้เลย เบจิต้าไม่เคยมีปัญหาเวลาอยากฝึกวิชา บุลม่าและพ่อตาเป็นคนจัดหาห้องแรงโน้มถ่วงให้เบจิต้าได้ฝึกวิชาด้วยซ้ำไป การเป็นเมียและแม่เผด็จการของจีจี้ จึงอาจจะส่งผลให้โกคูไม่ค่อยสนใจจีจี้ เพราะจีจี้คอยขัดขวางการฝึกวิชาอยู่ตลอด แม้โลกจะมีภัย จีจี้ก็ยังคงขัดขวางการฝึก และ โกฮังซึ่งมีพรสวรรค์ด้านวิทยายุทธสูงมาก และน่าจะได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาพรสวรรค์นี้ให้ถึงที่สุด กลับกลายเป็นถูกแม่ตัวเองพรากพรสวรรค์นี้ไป เพราะหลังจากจบภาคเซลส์ โกฮังก็ไม่เคยได้พัฒนาฝีมือขึ้นในระดับสูงเท่าตัวละครอื่นอีกเลย ในภาค Super ถึงขั้นประลองยุทธแพ้คุริลิน, แปลงร่างเป็นซูเปอร์ไซยาไม่ได้ด้วยซ้ำไป การเป็นเผด็จการของจีจี้กลายเป็นการผลักโกคูออกไปจากหมวกของความเป็นพ่อ (และพิคโคโล่กลายเป็นพ่อแทน) รวมทั้งพรากพรสวรรค์ของโกฮังไปตลอดกาลอย่างน่าเจ็บปวด ครอบครัวจึงไม่ใช่ครอบครัวที่ “อยู่ด้วยกันแล้วสบายใจ” แต่กลายเป็น “ครอบครัวแห่งความอึดอัดเต็มไปด้วยการบังคับ” ในขณะที่บุลม่าเปิดโอกาสให้สามีและลูกได้พัฒนาฝีมืออย่างเต็มที่ เบจิต้ามี facilities ทุกอย่างพร้อมสำหรับการฝึกวิชา ทุกครั้งที่โลกมีภัยมาเยือน บุลม่าก็เป็นกำลังสำคัญของเหล่านักสู้อยู่ตลอด ในโลกอนาคต บุลม่าก็เลี้ยงดูทรังคซ์จนเติบโตเป็นนักสู้สุดเท่เปี่ยมไปด้วยวุฒิภาวะ สมเป็นความหวังสุดท้ายแห่งมวลมนุษยชาติโดยแท้จริง แม้ในมิติปัจจุบันทรังคซ์เด็กจะงี่เง่าไปหน่อย แต่ก็เป็นการเลี้ยงลูกแบบประชาธิปไตยจริง ๆ คือให้สามีและลูกได้ลองผิดลองถูก ส่วนเมียและแม่ก็มีหน้าที่ “สนับสนุนและเป็นกำลังใจในทุก ๆ การตัดสินใจ” ของคนในครอบครัว ดังนั้น ครอบครัวของบุลม่าจึงอบอุ่น ไม่มีใครต้องบังคับหรือถูกบังคับ เบจิต้าจึงไม่ถูกใครแย่งบทพ่อไป ในขณะที่โกคูนั้นจะมีความเป็นพ่อก็เฉพาะเวลาเรียกโกฮังไปฝึกวิชา แต่ความผูกพันแบบพ่อลูกนั้นโกฮังมีให้กับพิคโคโล่มากกว่ากับพ่อแท้ ๆ ของตัวเองเสียอีก คุณผู้อ่านทุกท่าน อยากได้คู่ครองหรืออยากได้ผู้ปกครองแบบเผด็จการหรือแบบประชาธิปไตยมากกว่ากัน?