09 ส.ค. 2562 | 18:13 น.
ฤดูร้อนของปี 1986 อาจจะไม่ร้อนแรงเหมือนเช่นทุกวันนี้ ยิ่งในวงการภาพยนตร์แล้ว ฤดูซัมเมอร์ของฮอลลีวูด ไม่ได้แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายแบบปัจจุบัน ยิ่งปี 1986 ยิ่งไม่มีหนังเรื่องไหนที่จะเป็นหนังเต็งที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ได้สักนิดเดียว แต่แล้วก็มีหนังเล็ก ๆ เรื่องหนึ่งที่ใจใหญ่และสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับฮอลลีวูดได้อย่างสง่างาม ซ้ำยังสั่นคลอนประวัติศาตร์ของวัฒนธรรมป๊อปจนเป็นที่กล่าวขวัญจวบจนปัจจุบัน ทำไมเรื่องราวของนักบินเจ้าเสน่ห์ถึงกลายเป็นความทรงจำที่งดงามของยุค 80s เรามาติดตามกัน ความทะเยอทะยานที่นำมาสู่จุดสูงสุด ก่อนที่หนังเรื่อง Top Gun จะโด่งดัง ชีวิตของโปรดิวเซอร์คู่บุญอย่าง ดอน ซิมป์สัน และ เจอร์รี บรักไฮเมอร์ ก็หาได้โรยด้วยกลีบกุหลาบไม่ แม้ว่าเขาจะเริ่มก่อร่างสร้างชื่อเสียงด้วยหนังอย่าง Flashdance และ Beverly Hills Cop ที่ทำเงินได้เกินคาด แต่ก็ไม่ใช่โปรดิวเซอร์ที่สตูดิโอไว้ใจให้พวกเขาเอาเงินมาถลุงได้ง่ายดายนัก แม้กระทั่ง Top Gun เอง จุดเริ่มต้นก็ไม่ใช่หนังแอ็คชันทุนสูงอะไร เรื่องเริ่มต้นเมื่อบรักไฮเมอร์ได้อ่านเรื่องราวของ Top Gun ในหน้านิตยสาร California เขารีบโทรหาคู่หูอย่างร้อนรน เพราะเรื่องราวของหน่วยยุทธการทางอากาศของกองทัพเรือที่คัดยอดคนเพื่อเป็นที่สุดของยอดนักบินมันโดนใจของเขาอย่างจัง หลังจากที่พวกเขาเสนอพล็อตให้กับ พาราเมาท์ บริษัทผลิตภาพยนตร์ ก็ได้รับไฟเขียวให้พัฒนาหนังเรื่องนี้ต่อ แต่การหาผู้กำกับที่จะมาคุมทิศทางหนังกลับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะภาพในหัวของบรักไฮเมอร์ Top Gun ต้องไม่ใช่หนังแอ็คชันบู๊ ๆ แนวพระเอกกล้ามใหญ่ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน แต่วิชวลของมันต้องแปลกจากที่เคย ๆ เห็นมา สุดท้ายส้มไปหล่นที่ โทนี สก็อตต์ ทั้ง ๆ ที่เขาเพิ่งจะพาหนังแวมไพร์สุดแหวก (นำแสดงโดย เดวิด โบวี คุณคิดว่ามันจะธรรมดาเหรอ) ล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่ที่บรักไฮเมอร์สนใจในตัวผู้กำกับคนนี้ไม่ใช่เพราะงานล้มเหลวเรื่องก่อนหน้า ไม่ใช่เพราะเขาเป็นน้องชาย ริดลีย์ สก็อตต์ ผู้กำกับสุดฮอตในยุคนั้น แต่เพราะโฆษณา SAAB ที่จับเอารถมาแข่งกับเครื่องบินเจ็ต ทำให้ภาพ Top Gun ในหัวของสองโปรดิวเซอร์ชัดเจนขึ้นว่าต้องไม่ใช่หนังธรรมดาแน่ ๆ แถมเมื่อโปรเจกต์การสร้างหนัง Top Gun ไปถึงหูกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา หลังจากที่หนัง An Officer and a Gentleman ได้สร้างภาพลักษณ์เสีย ๆ หาย ๆ ให้กับทางกระทรวงอย่างมาก กระทรวงจึงหนุนเต็มที่ ทุ่มเต็มพิกัด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินรุ่นไหนขอให้บอก เพื่อให้ Top Gun เป็นหนังที่จะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับกระทรวงกลาโหม เหมือนกลีบกุหลาบที่โปรยฟุ้งไปทั่วท้องถนน ไม่มีอุปสรรคใด ๆ แต่ส่วนประกอบชิ้นสุดท้ายที่เหมือนจะง่ายแต่กลับยากที่สุด นั่นก็คือการเฟ้นหานักแสดงนำนั่นเอง เพราะภาพลักษณ์ของพระเอกหนังแอ็คชันในยุคนั้นเต็มไปด้วยพระเอกมัดกล้ามวัยกลางคน ไม่มีพื้นที่ให้กับพระเอกวัยรุ่นได้จับปืนผาหน้าไม้เลยสักนิด บรักไฮเมอร์แทบจะเกณฑ์ดาราวัยรุ่นในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น แพทริก สเวย์ซี, เอมิลิโอ เอสเตเวซ, นิโคลัส เคจ, จอห์น คูแซค, แมทธิว บรอเดริก, ฌอน เพนน์, ไมเคิล เจ. ฟอกซ์, สก็อตต์ ไบโอ หรือ ทอม แฮงก์ส มาพิจารณา และสุดท้ายก็จบลงที่ แมทธิว โมดีน แต่ท้ายสุดโมดีนก็ปฏิเสธบทนี้ไป เพราะมีความเห็นทางการเมืองที่สวนทางกับนโยบายทหารของหนังเรื่องนี้ ท้ายที่สุดก็ได้นักแสดงหน้าตาดีที่ไม่มีใครเถียงเรื่องเสน่ห์ แต่ภาพความเป็นพระเอกหนังแอ็คชันยังรู้สึกห่างไกล แถมผลงานที่ผ่านมาของหนุ่มน้อยคนนี้มีเพียงเรื่องเดียวที่ดัง นั่นคือ Risky Business แต่เพราะหนังเรื่องนี้ตั้งใจที่จะหาความแตกต่างอยู่แล้ว ดอนจึงบอกอย่างมั่นใจว่า “หนังเรื่องนี้จะทำให้เขาดังเป็นพลุแตกอย่างแน่นอน” ทอม ครูซ กับบทบาทแจ้งเกิดของเขา หากกล่าวชื่อของ ทอม ครูซ (Tom Cruise) ใน พ.ศ.นี้ ภาพของเทพบุตรที่ชอบเล่นฉากผาดโผนเสี่ยงตายดูจะเป็นเรื่องธรรมดาสุด ๆ เพราะบทบาท อีธาน ฮันต์ สายลับที่สนุกกับฉากเสี่ยงตายโดยไม่ใช้สตันท์แมนหรือแสตนด์อิน ดูจะเป็นเรื่องชินตาไปแล้ว แต่ในยุค 80s ไม่มีผู้กล้าคนไหนที่กล้าเสี่ยงเอาพระเอกหน้าหวานที่ควรจะอยู่เพียงหนังโรแมนติกหรือคอเมดี้เท่านั้นมาเล่นบทผาดโผนหรอก แต่แล้วเมื่อสองโปรดิวเซอร์ดูหนังเรื่อง Risky Business แล้วเห็นซีนที่ครูซเต้นเพลง Old Time Rock and Roll ของ Bob Seger กับเสื้อเชิ้ตเพียงตัวเดียว ก็ทำให้เขาเป็นที่จับตาว่าไม่ได้มีดีแค่ความหล่อเพียงอย่างเดียวแน่นอน แม้ว่าความสูงจะเป็นอุปสรรคสำคัญ (ครูซสูงราว 170 เซนติเมตร) แต่เมื่อได้รับบทนี้ เขามุ่งมั่นทุ่มเทอย่างมากเพื่อจะสวมบทบาทของ พีท มิตเชลล์ หรือฉายา “มาเวอริค (Maverick) นักบินหนุ่มจอมดีเดือดที่กฏมีไว้แหก แหวกทุกกติกา จนเป็นที่หมั่นไส้ของเพื่อนนักบิน ความบ้าบิ่นและความห้าวเป้งของเขาเตะตาทั้งครูฝึกและอาจารย์สาว จนเหตุพลิกผันนำไปสู่สมรภูมิจริง เส้นเรื่องเป็นไปตามสูตร ไม่มีความซับซ้อนเท่าไหร่ แต่ต้องใช้เสน่ห์ของนักแสดงเป็นอย่างมาก ครูซจึงต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบู๊ที่เขาต้องลงสนามฝึกบินจริง ๆ หรือเรื่องบุ๋นไม่ว่าจะเป็นบุคลิกขี้เล่น น่ารัก และต้องมีเสน่ห์ที่มัดใจ เคลลี แม็กกิลลิส ในบท “ชาร์ลอตต์” ให้ได้ แม้ในโลกความจริงแม็กกิลลิสจะสูงกว่าครูซจนต้องถอดรองเท้าส้นสูง และให้ครูซใส่รองเท้าพื้นหนาเพื่อให้มีส่วนสูงใกล้เคียงกันก็ตาม ปฏิวัติวัฒนธรรม หนัง popcorn ที่โนสนโนแคร์นักวิจารณ์ เมื่อลงมือทำ ทุกอย่างไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด บทโรแมนติกอันลักลั่น ฉากแอ็คชันที่ดูไม่ค่อยดี ทำให้ผู้บริหารใหญ่พาราเมาท์ถึงกับส่ายหัว บรักไฮเมอร์และซิมป์สันกลับไปตัดอยู่หลายรอบจนถอดใจ จนสุดท้ายก็ออกมาอย่างที่เห็น ด้วยฉากแอ็คชันบนอากาศที่ทำได้ดีที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีสมัยนั้นจะอำนวย และการเข้าพระเข้านางอันแสนจืดชืด จนนักวิจารณ์ต่างพากันแซวว่าเป็นเคมีที่ไม่ค่อยจะเข้ากัน Top Gun โดนนักวิจารณ์สับเละไม่เป็นชิ้นดี และมองว่าแทนที่จะเป็นการแจ้งเกิดของทั้งโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนักแสดง แต่ผลลัพธ์ทางคุณภาพที่ออกมาแล้ว มันน่าจะแจ้งดับมากกว่า ผู้สร้างเตรียมถอดใจ ผู้กำกับเตรียมผิดหวังซ้ำสอง ส่วนทอม ครูซ ก็อาจจะกลับไปเล่นหนังที่ตัวเองถนัดเหมือนเดิม แต่แล้วเมื่อ Top Gun ออกฉายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 1986 ทุกอย่างกลับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อหนังสามารถเปิดตัวเป็นอันดับหนึ่งในตารางบ็อกซ์ออฟฟิศทันทีที่ออกฉาย ขึ้น ๆ ลง ๆ ในตำแหน่งหนังทำเงินประจำสัปดาห์ถึง 6 ครั้ง และยืนโรงฉายนานเป็นปี คนดูแทบไม่สนเคมีของนักแสดง เพราะสายตาโฟกัสเพียงเสน่ห์ของทอม ครูซ ที่ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหนก็ดูเท่ ทั้งยามอยู่บนเครื่องบินรบ F-14 หรือยามควบบิ๊กไบค์ ยามใส่แจ็คเก็ต หรือยามถอดเสื้อโชว์แผงอกเล่นวอลเลย์บอลชายหาดกับคู่แข่งอย่าง “ไอซ์แมน” (รับบทโดย วัล คิลเมอร์) และผองเพื่อนนักบิน หนังทดแทนฉากต่อสู้บนอากาศ (ที่หลายคนมองว่ายังไม่เต็มอิ่มนัก) ด้วยการโปรยเสน่ห์ของนักบินหนุ่ม ๆ ทั้งหลาย ถือเป็นการเซอร์วิสแฟน ๆ ได้อย่างบ้าคลั่งเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นซีนวอลเลย์บอลชายหาดที่ไม่มีความจำเป็นใด ๆ กับหนัง หรือการถกเถียงกันที่ล็อคเกอร์หลังอาบน้ำ เพื่อให้สาวน้อยสาวใหญ่ได้เห็นพระเอกที่รักในอาภรณ์น้อยชิ้น เป็นนิมิตหมายอันยิ่งใหญ่ในการให้ความสำคัญกับซีนขาย และที่ขาดไม่ได้คือแว่นเรย์แบนด์ รุ่น Aviator เป็นการ tie-in ที่นำพาให้ยอดขายของเรย์แบนด์พุ่งขึ้นสูงถึง 40% รวมไปถึงการเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่นำพาให้เด็กหนุ่มอเมริกันสมัครเรียนเพื่อรับราชการทหารเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ Top Gun ทำรายได้ถึง 176 ล้านเหรียญสหรัฐ กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดประจำปี และด้วยปรากฏการณ์นี้ ทีมงานก็ได้เลื่อนสถานะขึ้นเป็นมือวางอันดับต้น ๆ ของฮอลลีวูด ไม่ว่าจะเป็นคู่หูบรักไฮเมอร์กับซิมป์สัน ที่มักจะเข็นโปรเจกต์ระดับบิ๊กออกมาเสมอ ๆ แม้ซิมป์สันจะจากโลกนี้ไปในปี 1996 แต่บรักไฮเมอร์ก็สานต่อด้วยการสร้างหนังใหญ่อย่าง The Rock, Armageddon, Bad Boys จนถึง Pirates of the Caribbean บรักไฮเมอร์ยังคงแม่นในการเลือกผู้กำกับ และใช้สูตรสำเร็จในการสร้างหนัง จนทำรายได้งดงามจนถึงทุกวันนี้ ส่วน โทนี่ สก็อตต์ หลังจาก Top Gun ลบล้างคำสาปของผู้กำกับหนังเจ๊ง จนได้ค้นพบแนวทางที่ถนัดคือการทำหนังระทึกขวัญ ที่ให้ความสำคัญด้านภาพและการตัดต่อ ไม่ว่าจะเป็น Crimson Tide, Man on Fire หรือ Déjà Vu แต่สก็อตต์ก็เลือกจบชีวิตตัวเองด้วยการกระโดดสะพานในปี 2012 ทิ้งผลงานไว้ให้ทุกคนชื่นชมและนึกถึง ด้านพระเอกของเรา ทอม ครูซ คงไม่ต้องพูดถึงว่าปัจจุบันโด่งดังขนาดไหน กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า Top Gun ไม่ได้ห่วยอย่างที่ใครต่อใครว่า อย่างน้อยที่สุดก็พบว่าหนังแอ็คชันยังมีทางแยกมากมาย และ Top Gun คือหนังแอ็คชันโรแมนติกที่พูดน้อย แต่ต่อยหนักในการสร้างภาพจำในเรื่องการทำการตลาด การขายภาพลักษณ์พระเอกแอ็คชันหน้ามนที่ไม่จำเป็นต้องเถื่อนเสมอไป และสูตรการเลือกเพลงป๊อปที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในหนังรอมคอมเพียงอย่างเดียว เพราะ Take My Breath Away ของวง Berlin สามารถอยู่ในหนังได้อย่างสง่างาม แถมยังคว้ารางวัลออสการ์สาขาเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปีได้อีก เรื่องราวภาคต่อที่ทุกคนรอคอย แม้ในตอนจบของภาคแรก มาเวอริคได้เกริ่นถึงอนาคตของเขาว่าอยากจะเป็นครูฝึกในหน่วย Top Gun แต่โครงการหนัง Top Gun 2 กลับไม่มีอะไรคืบหน้ามากนัก แม้ได้ข่าวว่ามีการเจรจาทั้งกับครูซและสก็อตต์แล้ว แต่น่าเสียดายที่ผู้กำกับเลือกจบชีวิตก่อนเริ่มพัฒนาโปรเจกต์ จนต้องพับโครงการอีกครั้ง ล่วงเลยมาถึง 30 ปี ภาคต่อของหนังป๊อปเรื่องนี้จึงเป็นรูปเป็นร่างและกลับมาอีกครั้งในชื่อ Top Gun: Maverick จากตัวอย่างแรกที่ปล่อยมา เล่าถึงนาวาเอกพีท ที่แม้เวลารับราชการผ่านไปถึง 30 ปี แต่หน้าที่การงานยังคงเหมือนเดิม บ่งบอกถึงการยังเป็นคนบ้าดีเดือดในการปฏิบัติการ โดยเฉพาะเมื่อเขาอยู่บนเครื่องบิน แม้ตัวอย่างเพียงแว้บเดียวแต่ก็อ้างอิงทุกอย่างจากภาคแรกทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการขี่บิ๊กไบค์ เล่นวอลเลย์บอลชายหาด หรือเล่นเปียโนในร้านอาหาร ที่สำคัญคือสกอร์ในหนังที่ยกระดับจากดนตรีร็อคให้กลายเป็นดนตรีออร์เคสตรายิ่งใหญ่ขึ้น ซึ่งนอกจากครูซแล้ว เราแทบไม่เห็นนักแสดงคนเก่าจากภาคแรกเลย โดยนางเอกเปลี่ยนมาเป็น เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี และผู้กำกับก็เปลี่ยนมาเป็น โจเซฟ โคซินสกี ที่เคยร่วมงานกับครูซในเรื่อง Oblivion แทน ไม่ว่าผลลัพธ์ของภาค 2 จะออกมาอย่างไร แต่ Top Gun ก็สามารถพิสูจน์ได้ว่าหนังรักน้ำเน่าบนท้องฟ้า ก็สามารถฝ่ากาลเวลาจนเป็นหนังอมตะได้เช่นกัน