จากเด็กชายช่างฝัน เติบโตผ่านคืนวันมาเป็นนายทหารหนุ่ม ผู้ขับเครื่องบินฝ่าสมรภูมิรบในช่วงสงครามโลก กว่าจะเบนเส้นทางชีวิตมาประกอบอาชีพเปี่ยมจินตนาการอย่าง “นักแต่งนิทาน” ที่สร้างสรรค์ผลงานชื่อดังอย่าง Charlie and the Chocolate Factory (1964), James and the Giant Peach (1961), Matilda (1988), The Witches (1983) และ The BFG (1982) ฯลฯ จนขึ้นแท่นเป็นงานเขียนระดับตำนานที่ครองใจนักอ่านทั่วโลก ดูเหมือนว่าประสบการณ์ชีวิตของ โรอัลด์ ดาห์ล (Roald Dahl) จะล้มลุกคลุกคลานไม่น้อยทีเดียว ก่อนจะกลายเป็นเจ้าของผลงานวรรณกรรมเด็กชื่อก้องโลก โรอัลด์ ดาห์ล เติบโตมาพร้อมกับนิทานปรัมปรา ตำนานพื้นบ้าน และเทพนิยายที่แม่เขาชอบเล่าให้ฟังตอนที่นอนไม่หลับ เขาค่อย ๆ เติบโตมาเป็นเด็กชายช่างจินตนาการ ที่ชอบสร้างตัวละครและสถานการณ์สมมติขึ้นมาในอากาศ เพราะพ่อของดาห์ลเสียชีวิตตอนที่เขาอายุ 4 ขวบ แม่ที่แต่งงานใหม่จึงย้ายดาห์ลไปอยู่โรงเรียนประจำในดาร์บีไชร์ เมืองใหญ่ที่สามีของเธออาศัยอยู่ ดาห์ลนิยามช่วงเวลานั้นว่าเป็น “วันคืนแสนเลวร้าย” ที่เด็กชายผู้รักอิสระอย่างเขาอยากจะหนีไปเพราะมัน “มีแต่กฎ กฎ และกฎที่ต้องทำตามเต็มไปหมด” ประสบการณ์แสนเลวร้ายกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ดาห์ลหยิบยกมาใช้สร้างตัวละครผู้ใหญ่ในนิทานของเขา “หลังเรียนจบจากโรงเรียนประจำ แม่พยายามแนะนำให้ผมเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่เคมบริดจ์ไม่ก็อ็อกซ์ฟอร์ด แต่ผมตอบไปทันทีเลยว่า ‘ไม่ล่ะ ขอบใจ ผมอยากเริ่มต้นทำงานกับบริษัทที่จะส่งผมไปที่ไกล ๆ อย่างแอฟริกา ไม่ก็จีนมากกว่า’” ตอนอายุ 18 ปี ดาห์ลจึงหนีไปทำงานกับบริษัทน้ำมันในลอนดอน ก่อนจะถูกส่งตัวไปประจำที่แทนซาเนีย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ดาห์ลตัดสินใจลาออกจากงาน และสมัครไปเป็นทหารในสังกัดกองทัพอากาศ ช่วงเวลานั้นดาห์ลได้มีโอกาสเดินทางและเห็นโลกกว้างจากบนท้องฟ้า (ดาห์ลเป็นนักบินประจำเครื่องบินขับไล่ของอังกฤษ) เขากลั่นกรองประสบการณ์ในตอนนั้นออกมาเป็น The Gremlins (1943) ผลงานเรื่องสั้นเรื่องแรก ตอนนั้นเองที่ดาห์ลเริ่มค้นพบความสนุกของการถ่ายทอดจินตนาการออกมาเป็นเรื่องเล่า หลังจบสงครามเขากลับมาลงหลักปักฐานในเมืองบัคคิงแฮมเชอร์ และเริ่มต้นทำงานในอาชีพนักเขียน ตอนอายุ 37 ปี ดาห์ลแต่งงานกับนักแสดงสาวผู้ร่ำรวย แพทริเซีย นีล ก่อนจะมีลูกสาวและลูกชายร่วมกันถึง 5 คน อาจเพราะต้องใช้ชีวิตร่วมกับเด็ก ๆ ดาห์ลจึงได้มีโอกาสพัฒนาขีดความสามารถด้านจินตนาการของตัวเองให้ยิ่งหลากหลาย เขาแต่งนิทานเรื่องใหม่ขึ้นมามากมายเพื่อเล่าให้ลูก ๆ ฟังก่อนที่พวกเขาจะนอนหลับ หลายไอเดียสามารถต่อยอดไปเป็นผลงานนิทานของเขาได้ หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องที่หลายคนรู้จักดี “ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต (Charlie and the Chocolate Factory)” ดาห์ลเล่าว่า ที่จริงไอเดียเกี่ยวกับโรงงานขนมหวานเป็นสิ่งที่เขาขุดขึ้นมาจากความทรงจำในวัยเด็ก สมัยอยู่โรงเรียนประจำ ดาห์ลจำได้ว่าเขามักจะได้ลองกินขนมหวานฟรีจากโรงงานทำช็อกโกแลต Cadbury ที่ชอบส่งตัวอย่างขนมมาให้เด็ก ๆ ชิมเพื่อคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ตอนนั้นดาห์ลมักจะจินตนาการว่าเขาได้เข้าไปทำงานในโรงงานที่มีขนมให้กินทั้งวัน แน่นอนว่ามันช่างเป็นความฝันแสนหวานสำหรับเด็ก ๆ แต่ระหว่างที่กำลังเริ่มต้นเขียนนิทานจากไอเดียโรงงานช็อกโกแลต ดาห์ลก็ต้องหยุดทุกอย่างไว้ก่อน เพราะปี 1960 รถเข็นของ “ธีโอ” ลูกชายเพียงคนเดียวของเขา ถูกแท็กซี่คันหนึ่งขับรถชน เด็กชายวัยไม่ถึง 3 ขวบลอยละลิ่วไปหล่นลงอีกฝั่งถนน จนส่งผลให้เกิดภาวะกระโหลกร้าว โพรงสมองมีเลือดคั่ง และตาบอดชั่วคราวเพราะถูกกระทบกระเทือนเส้นประสาท เป็นเวลา 2 ปีกว่าที่ธีโอต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกหลายครั้ง กว่าอาการเลือดคั่งจะค่อย ๆ หาย ระหว่างนั้นดาห์ลทำได้แค่นั่งดูแลลูกชายที่กำลังทุกข์ทรมาน จนไม่มีกะจิตกะใจจะเขียนนิทานเรื่องไหนทั้งสิ้น และนั่นก็ยังไม่ใช่ตอนสุดท้ายที่เรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นกับชีวิตเขา เพราะในปี 1962 ช่วงที่ธีโอยังเข้ารับการบำบัดรักษา “โอลิเวีย” ลูกสาวคนโตวัย 7 ขวบของดาห์ลก็กลับบ้านมาด้วยอาการคล้ายไข้หวัด “ตอนแรกเรานึกว่ามันเป็นแค่อาการป่วยไข้ธรรมดา เพราะเธอไม่ได้มีสีหน้าเจ็บปวดอะไรให้เราเห็น” ดาห์ลเล่า “แต่แล้วเช้าวันต่อมา เธอก็เริ่มมีอาการแปลก ๆ” ขณะที่ดาห์ลหยิบสมุดภาพระบายสีไปให้เธอ เขาสังเกตเห็นว่าสายตากับนิ้วมือของโอลิเวียทำงานไม่สัมพันธ์กันแปลก ๆ เธอระบายสีไปทั้งที่มือสั่นโดยไม่รู้ตัว ตอนนั้นดาห์ลตัดสินใจพาเธอไปหาหมอ และพบว่าโอลิเวียเป็น “โรคหัด” ที่ลามขึ้นสมองไปจนเธอมีอาการสมองอักเสบ “คืนนั้นเธอบอกผมว่าเธอง่วงนอนมาก” ดาห์ล เล่า ตอนนั้นเขาคงนึกไม่ถึงเลยว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เธอจะไม่ตื่นขึ้นมาอีก ความตายของโอลิเวีย และอาการของธีโอที่ยังไม่ดีขึ้น ผลักให้ดาห์ลรู้สึกว่า ครอบครัวเขาอาจจะถูกสาป เขาเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าไปช่วงหนึ่งจนแพทริเซีย ผู้เป็นภรรยาออกมาบอกทีหลังว่า “ฉันนึกว่าเขาจะเสียสติไปแล้ว” กว่าจะกลับมาดำเนินชีวิตต่อได้ ดาห์ลก็หายหน้าไปจากวงการวรรณกรรมอีกเกือบ 2 ปี แต่ในที่สุดเขาก็กลับมาพร้อมกับผลงานนิทานเรื่องใหม่ในปี 1964 ดาห์ลพยายามแบกจิตใจอันบอบช้ำไปพึ่งพิงศาสนา เขาเข้าโบสถ์บ่อยขึ้นเพราะหวังว่ามันจะช่วยได้ สุดท้ายมันก็ไม่ได้ช่วยให้เขาดีขึ้นเท่าไหร่ ดาห์ลตัดสินใจหลีกหนีความจริงแสนเจ็บปวด กลับเข้าไปอยู่ในโลกของจินตนาการ และเริ่มต้นรังสรรค์ผลงานแสนโลดโผน งดงาม และมีชีวิตชีวาอย่าง “ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต” “เขาเขียนมันขึ้นมาในช่วงเวลา 4 ปีที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตของเขา ผมคิดว่าความเศร้า ความสิ้นหวังของตัวเขา มันทำให้นิทานเรื่องนั้นมีชีวิตขึ้น” โดนัล สเตอร์รอค ผู้เขียนชีวประวัติของ โรอัลด์ ดาห์ล กล่าว “ทั้งความเด็ดเดี่ยว แข็งแกร่ง แต่ก็อ่อนไหวของวิลลี วองกา เห็นได้ชัดว่าเขาใช้ตัวเองมาเป็นแบบของตัวละครตัวนี้” ทั้งสำนวนการใช้ภาษาแสนสร้างสรรค์ การดำเนินเรื่องน่าตื่นเต้น และตัวละครอันน่าจดจำ ทั้งหมดล้วนทำให้นิทานเรื่องชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต กลายเป็นหนึ่งในผลงานชั้นยอด ที่ถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 50 วรรณกรรมที่ต้องอ่านก่อนโต เช่นเดียวกับผลงานขึ้นหิ้งอีกหลายเรื่องของเขา ผลงานของโรอัลด์ ดาห์ล ได้รับการดัดแปลงเป็นบทเพลง ภาพยนตร์ ละครทีวี โอเปร่า งานศิลปะอีกมากมาย จนถึงตอนนี้ความนิยมที่ยังไม่เสื่อมคลายคงเป็นเหตุผลที่ชื่อของ "โรอัลด์ ดาห์ล" กลายมาเป็นหนึ่งในนักแต่งนิทานชื่อก้องโลก ที่มา https://www.biography.com/news/real-story-behind-charlie-and-the-chocolate-factory-roald-dahl https://www.biography.com/news/roald-dahl-daughter-measles-death https://www.biography.com/writer/roald-dahl