‘ผ่องศรี วรนุช’ เด็กหญิงจากเรือนแพ สู่ราชินีลูกทุ่งคนแรกของแผ่นดิน

‘ผ่องศรี วรนุช’ เด็กหญิงจากเรือนแพ สู่ราชินีลูกทุ่งคนแรกของแผ่นดิน

เส้นทางชีวิตอันน่าทึ่งของราชินีลูกทุ่งคนแรกของไทย ‘ผ่องศรี วรนุช’ จากเด็กหญิงบนเรือนแพสู่ศิลปินแห่งชาติ ผู้ฝ่าฟันความยากจนด้วยพลังเสียงเพลง และมอบทุกบทเพลงด้วยหัวใจที่เปี่ยมล้นไปด้วยอารมณ์

KEY

POINTS

  • การเติบโตจากความยากลำบาก: เด็กหญิงผ่องศรีเกิดและเติบโตบนเรือนแพริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝ่าฟันความยากจนและคำดูถูกว่า “ไม่สวย ขี้เหร่” จนก้าวสู่การเป็นราชินีลูกทุ่งคนแรกของเมืองไทย
  • ความทุ่มเทให้กับบทเพลง: แม้ไม่ได้ชอบร้องเพลง แต่ทุ่มเทพัฒนาเทคนิคการร้องเองทั้งหมด จำเนื้อเพลงและใส่อารมณ์ จนสร้างผลงานเพลงอมตะมากมาย
  • จิตใจงดงามและความกตัญญู: มอบเงินรายได้จากการเป็นศิลปินแห่งชาติตั้งเป็นกองทุนบำเพ็ญประโยชน์ สละรางวัลให้นักร้องรุ่นใหม่ และรู้จักขอบคุณผู้มีพระคุณทั้ง 5 กลุ่มตลอดชีวิตของท่าน
     

“เสียงรถด่วนขบวนสุดท้าย
 แว่วดังฟังแล้วใจหาย
 หัวใจน้องนี้แทบขาด
 พี่จ๋าลาแล้ว
 น้องแก้วต้องจำนิราศ
 ดั่งถูกสายฟ้าฟาด
 หัวใจน้องจะขาดแล้ว”

เสียงจากบทเพลงที่ถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างชัดเจนและกินใจ บัดนี้ได้เงียบงัน… บทความนี้ขอน้อมรำลึกถึง ‘แม่ผ่องศรี วรนุช’ ราชินีลูกทุ่งคนแรกของเมืองไทย ผู้จากไปด้วยอาการสงบเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2568 สิริอายุ 85 ปี

‘แม่ผ่อง’ หรือ ‘ผ่องศรี วรนุช’ ถือกำเนิดมาบนเรือนแพริมสายน้ำเจ้าพระยา ตำบลคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2482 เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน ของนายฉาก อดีตข้าราชการตำรวจ และนางเล็ก แม่ค้าขายขนม

แม่ผ่องศรีในวัยเยาว์ ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดแก่นเหล็ก จบการศึกษาเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยมีชีวิตที่ขัดสนเป็นแรงผลักดันยิ่งใหญ่นำพาให้เธอก้าวสู่ถนนสายศิลปิน

เหมือนเป็นลิขิตฟ้าที่ทำให้เด็กหญิงผ่องศรีได้พบกับคณะละครเร่ของ ‘หนู สุวรรณประกาศ’ คณะละครชื่อดังจากเพชรบุรี ที่มาเช่าที่เปิดการแสดงใกล้โรงเรียน จนได้ยินเสียงร้องเพลงของเธอและชักชวนให้มาร่วมคณะ

น่าแปลกที่แม่ผ่องศรีเคยเล่าว่า “ไม่ได้ชอบร้องเพลง” แต่คิดว่าถ้าได้ร้องเพลงแล้วจะมีเงินเรียนหนังสือ เธอจึงตัดสินใจฝากชีวิตไว้กับคณะละครเร่ ด้วยคำปฏิญาณต่อมารดาว่า “จะไม่ขอย้อนกลับไปหากไม่มีบ้านและที่ดิน”
 

เริ่มต้นด้วยการเป็นคนรับใช้ในคณะละคร ชักฉาก และรับซื้อของให้คนในคณะด้วยค่าจ้างเพียงเล็กน้อย แต่สายตาอันช่างสังเกตและความทรงจำอันแม่นยำทำให้เธอจดจำทุกบทบาท ทุกท่าทาง และทุกเพลงที่ได้ฟัง จนวันหนึ่งโอกาสมาถึงเมื่อได้รับเลือกให้รำระบำแขกและร้องเพลงหน้าม่าน และที่สำคัญได้หัดร้องเพลง ‘ชะตาชีวิต’ เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยที่ต้องตีเนื้อหาเพลงเอง เป็นการเริ่มต้นอาชีพนักร้องอย่างแท้จริง

นั่นคือจุดเริ่มต้นของเส้นทางอันยาวไกลสู่การเป็นนักร้องลูกทุ่ง แม่ผ่องศรีบอกเล่าว่าเธอพัฒนาเทคนิคการร้องเพลงด้วยตนเอง โดยท่อนแรกต้องสะกดคนฟังให้ได้ ให้ซึมซาบเข้าไปในหัวใจ ท่อนกลางเริ่มเล่าเรื่อง และท่อนสุดท้ายต้องทิ้งทวนให้คนหลงเสียง จนน้ำตาคลอเบ้า

“เวลาร้องเพลงแม่จะไม่ดูเนื้อเลย แม่จะจำเนื้อให้ได้ แล้วก็ใส่อารมณ์อย่างเดียว แม่ทำอย่างนั้นมาตลอด”

ทว่าเสียงร้องที่หวานซึ้งแต่แฝงด้วยความเข้มแข็ง กลับไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เมื่อยามที่แม่ผ่องศรีตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหาโอกาสในวงการดนตรี เธอถูกบรรดานายห้างปฏิเสธเพราะ “ตัวดำ ไม่สวย ขี้เหร่” แต่แทนที่จะท้อแท้ เธอกลับตั้งมั่นในใจว่า “สักวันหนึ่ง ฉันจะต้องดัง จะต้องมีชื่อเสียงให้ได้”

ด้วยความมุ่งมั่นและอดทน ผ่านไปประมาณสองปี เธอเก็บเงินได้สองหมื่นบาทจากการร้องเพลงสลับหน้าม่าน และตัดสินใจซื้อเพลงจากคุณสุรพล พรภักดี มาอัดแผ่นเสียงเอง เริ่มจากเพลง ‘หัวใจไม่มีใครครอง’ ซึ่งกลายเป็นเพลงดังที่ช่วยปูทางให้เธอในเวลาต่อมา
 

จุดเปลี่ยนสำคัญมาถึงในปี พ.ศ. 2502 เมื่อผ่องศรี วรนุช ได้ร้องเพลง ‘ไหนว่าไม่ลืม’ แก้กับ ‘สุรพล สมบัติเจริญ’ ทำให้เธอโด่งดังอย่างรวดเร็ว ก่อนจะมีผลงานดังอีกมากมาย เช่น  สาวเหนือเบื่อรัก, ฝนหนาวสาวครวญ, ด่วนพิศวาส, กอดหมอนนอนหนาว, น้ำตาเมียหลวง, ฝากดิน, บาร์หัวใจ, กินข้าวกับน้ำพริก, จันทร์อ้อน ฯลฯ กระทั่งเธอได้รับสมญานามว่าเป็น ‘ราชินีลูกทุ่งคนแรกของเมืองไทย’

หลังคว้ารางวัลยิ่งใหญ่ทั้งแผ่นเสียงทองคำ และเสาอากาศทองคำสามปีซ้อน จากเพลง กินข้าวกับน้ำพริก, เขามาทุกวัน และจันทร์อ้อน ด้วยจิตใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาและปรารถนาให้ผู้อื่นได้มีโอกาสบ้าง แม่ผ่องศรีตัดสินใจสละสิทธิ์ ไม่ขอรับรางวัลเกียรติยศใดอีกเลย เพื่อเปิดทางให้นักร้องรุ่นใหม่ได้แจ้งเกิดบ้าง หลังจากนั้นก็หยุดร้องเพลงและทำวงไปนานถึงสิบห้าปี โดยที่ระหว่างนั้นวงการเพลงลูกทุ่งก็มีดาวดวงใหม่ขึ้นมาประดับ ไม่ว่าจะเป็นพุ่มพวง ดวงจันทร์ หรือสุนารี ราชสีมา  

ด้านชีวิตครอบครัวของผ่องศรี วรนุช เคยใช้ชีวิตอยู่กับ ‘เทียนชัย สมยาประเสริฐ’ นักร้องนักแต่งเพลงลูกทุ่งชื่อดัง ก่อนแยกทางกัน จากนั้นได้มาใช้ชีวิตอยู่กินกับ ‘ราเชนทร์ เรืองเนตร’ นักดนตรีชื่อดัง จนกระทั่ง ราเชนทร์ เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2541 โดยทั้งสองไม่มีทายาทด้วย

บั้นปลายชีวิต แม่ผ่องศรีได้อุทิศตนเพื่องานสาธารณประโยชน์ ตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่ตอนอายุหกสิบปีว่า “จะไปร้องเพลงให้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ งานวัดวาอาราม” โดยไม่คิดค่าตอบแทน หวังเพียงให้ผู้คนมีความสุขจากเสียงเพลงของเธอ

นอกจากนี้ แม่ผ่องยังได้สร้าง ‘พิพิธภัณฑ์ผ่องศรี วรนุช’ ย่านพุทธมณฑล สาย 5 เพื่อจัดแสดงประวัติความเป็นมาและรางวัลเกียรติยศต่างๆ  โดยมีการปั้นหุ่นของแม่ผ่องศรีไว้เป็นที่ระลึก เพื่อเป็นวิทยาทานและแรงบันดาลใจแก่นิสิต นักศึกษา นักธุรกิจ และนักร้องรุ่นหลัง ให้เห็นว่า “คนเราทำอะไรครั้งเดียวอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่เราต้องก้าวต่อไป”

‘ความกตัญญู’ เป็นอีกสิ่งที่แม่ผ่องศรียึดมั่นตลอดชีวิต เธอไม่เคยลืม 5 สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่ที่ให้ชีวิต ครูบาอาจารย์ที่สั่งสอน ครูเพลงที่ชักนำให้เป็นนักร้อง สื่อมวลชนที่ให้โอกาส และแฟนเพลงที่สนับสนุน เธอเคยกล่าวว่า “แม่มีบ้าน มีกิน มีทุกอย่างเพราะท่านเหล่านี้ให้แม่มาทั้งหมด”

ในปี พ.ศ. 2535 ผ่องศรี วรนุช ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยลูกทุ่ง - ขับร้อง) แม่ผ่องนำเงินที่ได้รับในแต่ละเดือนไปตั้งเป็นกองทุนบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อตอบแทนแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยไม่ได้ใช้เลยตลอดระยะเวลากว่าสามสิบปี

แม่ผ่องศรีป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดและเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล จนร่างกายซูบผอมเหลือน้ำหนักไม่ถึง 20 กิโลกรัม หลังจากอาการดีขึ้น เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2568 จึงกลับมาพักฟื้นที่บ้านอีกประมาณ 1 เดือนเศษ ก่อนจะลาจากโลกนี้ไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 6 เมษายน ปีเดียวกัน

แม้ว่าแม่ผ่องศรี วรนุช จะจากไปแล้ว แต่มรดกทางดนตรีและแบบอย่างอันงดงามของท่านจะยังคงอยู่ในความทรงจำของปวงชนชาวไทยตลอดไป ท่านได้พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้ชีวิตจะเริ่มต้นจากความยากไร้ แต่ด้วยความอดทน มุ่งมั่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และความกตัญญูกตเวที ย่อมนำพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จและความสุขที่แท้จริงได้

“เสียงรถด่วนขบวนสุดท้าย
 บอกเตือนเหมือนกำหนดหมาย
 หยาดน้ำตาไหลนองหน้า
 ขออำลาแล้วดวงแก้วมณีล้ำค่า
 หากว่าแม้นชาติหน้า
 มีจริงค่อยเจอกัน”

 

เรื่อง: พาฝัน ศรีเริงหล้า

อ้างอิง:
https://www.youtube.com/watch?v=yg_egVWvRvo
https://www.youtube.com/watch?v=PkDgEdkddPM
https://www.tnews.co.th/entertainment/thai-entertainment/625212
https://www.komchadluek.net/entertainment/600384
https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1174733