26 ม.ค. 2564 | 20:18 น.
/ บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภายในเรื่อง ‘ผ่าพิภพไททัน’ ฉบับมังงะ / เป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางหลังจากที่ ‘เอเรน เยเกอร์’ ตัวเอกของเรื่อง ‘ผ่าพิภพไททัน’ (Attack on Titan) หนึ่งในกองทหารทีมสำรวจ ผู้ครอบครองพลังของไททันจู่โจมและไททันผู้เป็นบรรพบุรุษแรกเริ่มได้ทำลายเมืองเรเบริโอ้ สถานที่กักกันชาวเอลเดียของเมอเร่จนพินาศ ส่งผลให้คนในเมืองทั้งผู้ใหญ่และเด็กต่างโดนลูกหลงจนเสียชีวิตมากมาย นั่นจึงเป็นที่มาของคำถามว่า “เอเรน เยเกอร์ ยังสมควรเป็นพระเอกของเรื่องหรือไม่?” เพราะการกระทำของเขาช่างโหดร้ายขัดกับบรรทัดฐานพระเอกแสนดีเหลือเกิน แต่อีกด้านหนึ่ง อาจารย์ฮาจิเมะ อิซายามะ (Hajime Isayama) เจ้าของผลงานได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับตอนจบของเรื่องส่วนหนึ่งไว้ใน ‘Bessatsu Shōnen Magazine’ นิตยสารมังงะของประเทศญี่ปุ่น ฉบับเดือนสิงหาคม ปี 2017 ว่า “ผมไม่คิดว่าเนื้อหาของเรื่องมีบทตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิด... แต่เราต้องพิจารณากันให้ถึงต้นตอของปัญหาและการกระทำมากกว่าจะบอกว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง” โดย ‘ผ่าพิภพไททัน’ เป็นเรื่องราวของเอเรน เยเกอร์ เด็กหนุ่มผู้มีความฝันอยากออกไปเห็นโลกนอกกำแพง แต่อุปสรรคอันยิ่งใหญ่คือการที่มี ‘ไททัน’ จำนวนมากคอยจับมนุษย์กิน นั่นทำให้เขาและเพื่อนอย่างมิคาสะและอาร์มินได้เข้าร่วมกองทหารทีมสำรวจ เพื่อออกไปต่อสู้กับไททันและไขว่คว้าอิสรภาพอย่างที่ต้องการ แต่วันหนึ่งความฝันก็พลันสลาย เมื่อเอเรน ‘ต้องเจอกับเข็มฉีดยา’ ชะตากรรมของเขาก่อนหน้านี้ถูกเปลี่ยนด้วยเข็มแรกที่พ่อจิ้มทำให้เขากลายเป็นไททัน และในเวลาต่อมาเขาก็ต้องพบกับเข็มที่สองที่ฮิสโทเรีย เพื่อนของเอเรนควรฉีดเข้าตัวเองเพื่อกลายเป็นไททันและกินเอเรนเข้าไป แต่สุดท้ายเอเรนก็ไม่ถูกกิน และไม่ได้ตายอย่างที่ต้องการ นั่นทำให้เรื่องราวของเข็มอื่น ๆ ที่ถูกฉีดแก่คนบนโลกได้รับการเปิดเผยออกมา พร้อมความทรมานที่เพิ่มทวีเมื่อเอเรนโดนฤทธิ์ยาทำร้ายจน ‘กลายเป็นอื่น’ แล้วสุดท้ายชีวิตที่เหลือของเอเรนคือสิ่งที่เขาเลือกเองหรือไม่? ไม่ว่าเส้นทางเหล่านั้นจะดีหรือร้ายต่อเขาและโลกก็ตาม ตัวเอกสายดาร์กที่ไม่สนบรรทัดฐานของพระเอก “เพราะผมไม่อยากอยู่หลังกำแพงนี่ไปตลอดชีวิต โดยที่ไม่รู้ว่าโลกข้างนอกนั่นเป็นยังไงบ้าง” เอเรน เยเกอร์ เปิดตัวมาด้วยปมชีวิตไร้อิสระภายในกำแพง แถมยังต้องทนดูแม่ของตัวเองถูกไททันจับกินไปต่อหน้าต่อตา จากเหตุการณ์ครั้งนั้น หนุ่มน้อยเอเรนได้ฝึกฝนตนเองจนเข้าร่วมกองทหารทีมสำรวจได้สำเร็จ แต่เขากลับต้องพบเจอกับความสูญเสียมากมายที่หล่อหลอมให้เขาเข้าสู่ด้านมืด จุดพีคที่ทำให้ผู้อ่านตกใจกับการกระทำที่กู่ไม่กลับของเอเรน คงจะเป็นตอนที่เขากลายร่างเป็นไททันพุ่งเข้าใส่บ้านเรือนในงานเทศกาลที่เขตกักกันเรเบริโอ้จนพังพินาศ โดยที่เอเรนไม่สนใจเลยว่าจะมีเด็กถูกหินที่ถล่มลงมาทับตาย หรือมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตไปมากเท่าใด นอกจากนี้เขายังออกหมัดต่อย ‘ไททันค้อนสงคราม’ ที่ยัง ‘แปลงร่างไม่เสร็จ’ ซึ่งเหตุการณ์นี้คงจะไม่เกิดขึ้นในการ์ตูนโชเน็นรุ่นพี่อย่าง ‘นารูโตะ’ หรือ ‘ดรากอนบอล’ เป็นแน่ เพราะมันช่างไร้ศักดิ์ศรีเหลือเกิน หากว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน เอเรนได้พรากสิ่งที่มีค่าสูงสุดนั่นคือ ‘ชีวิต’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และขัดต่อภาพลักษณ์ของ ‘พระเอก’ ผู้เปี่ยมล้นคุณธรรมที่ปรากฏให้เห็นกันทั่วไป แต่ในแง่ของการเขียนบทแล้ว เอเรนไม่เคยถูกวางบทมาให้เป็นพระเอกหรือฮีโร่อย่างที่ใครหลายคนคิด เขาเป็นเพียง ‘ตัวเอก’ (Protagonist) ที่จะดีหรือร้ายก็ได้ หากดีเขาก็จะเป็นตัวเอกสายฮีโร แต่หากไม่ดี เขาก็จะเป็นตัวเอกสายดาร์ก เช่นเดียวกับ ‘ไลท์ ยางามิ’ ตัวเอกจากเรื่อง ‘เดธโน้ต’ (Death Note) ที่อยู่ในสายโชเน็นเช่นเดียวกัน หรือหากเปรียบเทียบกับตัวละครไทยก็คงจะเป็น ‘ขุนแผน’ ที่ฆ่าภรรยาตัวเองอย่างนางบัวคลี่ ทั้งยังควักทารกในครรภ์ออกมาทำกุมารทอง (โหดไหมล่ะ?) กระนั้น ตัวละครสีเทาอย่างเอเรนก็ถือเป็นผลลัพธ์จากความสร้างสรรค์อย่างมีชั้นเชิงของอาจารย์ฮาจิเมะ อิซายามะ ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นี่แหละคือความเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความคิดอันซับซ้อน และมีด้านมืดที่สะท้อนความเห็นแก่ตัว รวมไปถึงความเปราะบางของมนุษย์ โดยอาจารย์ฮาจิเมะเคยให้สัมภาษณ์ถึงสิ่งที่รออยู่ในตอนจบของผ่าพิภพไททันไว้ว่า ในเนื้อเรื่องของเขาไม่มีสิ่งที่ถูกหรือผิดกำหนดไว้อย่างตายตัว เพราะแม้กระทั่งฆาตกรจากเรื่อง Himeanôru (2016) เรื่องราวของเพื่อนมัธยมฯ ที่ได้พบกันอีกครั้งตอนโต แต่คนหนึ่งกลับกลายเป็นนักฆ่าผู้โหดเหี้ยมก็ยังมีเรื่องราวที่เป็นต้นตอของความโหดร้ายนั้นอยู่ ซึ่งเราควรพิจารณาสิ่งนั้นมากกว่าการหาคำตอบว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้น ความเป็นพระเอกของเอเรนจึงขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานทางสังคมและผู้อ่านว่าจะตัดสินเขาอย่างไร แต่หากมองในมุมของอาจารย์ฮาจิเมะ ถึงแม้เอเรนจะสร้างเหยื่อจากการกระทำของเขาไว้มากมาย แต่ในมุมหนึ่งเอเรนก็คือเหยื่อเช่นเดียวกัน เหยื่อหลังกำแพง กับการปกครองของชนชั้นบน การปกครองบนเกาะพาราดี้มีศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่ชนชั้นบนโดยเฉพาะขุนนางและตระกูลเรสซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ตัวจริง แต่จากการบุกรุกเขตชิกันชินะและกำแพงมาเรียของไททันช่วงต้นเรื่อง ทำให้เห็นแล้วว่าราชสำนักไม่มีความสามารถมากพอที่จะปกป้องชีวิตประชาชน ทั้งยังไม่อาจจัดสรรอาหารได้อย่างทั่วถึง สุดท้ายการตัดสินใจส่งผู้ลี้ภัย 250,000 คน กลับไปกู้คืนกำแพงมาเรียก็กลายเป็นวิธีบรรเทาปัญหาขาดแคลนอาหารจากการลดจำนวนประชากรที่ปลายเหตุแทน แต่นอกเหนือจากอำนาจในการเอื้อประโยชน์ให้นายทุน เก็บภาษีจากชาวบ้าน ใช้กองกำลังสารวัตรทหารสังหารประชาชน และปิดปากสื่อมวลชนในการนำเสนอความจริงแล้ว ชนชั้นปกครองของเกาะยังบิดเบือนประวัติศาสตร์ นำมาซึ่งสงครามและความสูญเสียในภายหลัง การรับรู้ประวัติศาสตร์ด้านเดียวจำกัดความคิดประชาชนไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่ถูกจำกัดคือ ‘อิสรภาพ’ เอเรนผู้เคราะห์ร้ายเคยใฝ่ฝันถึงท้องน้ำรสชาติเค็มอันกว้างใหญ่ แต่เขาไม่เคยรู้เลยว่าเพียงออกจากกำแพงนี้ไป เขาก็จะได้เจอกับทะเลที่ไกลสุดลูกหูลูกตา “ที่อีกฟากของกำแพงมีทะเลอยู่ ที่อีกฟากของทะเลมีอิสรภาพอยู่ ฉันเชื่ออย่างนั้นมาตลอด... แต่ว่ามันไม่ใช่” เอเรนบอกกับมิคาสะและอาร์มิน หลังจากที่พวกเขาได้เห็นทะเลเป็นครั้งแรก สุดท้ายความฝันของเอเรนก็พังทลาย สิ่งที่อยู่อีกฝั่งของทะเลไม่ใช่อิสรภาพ แต่เป็นศัตรูที่มองพวกเขาเป็น ‘ปีศาจ’ ทั้งยังตั้งใจกำจัดบ้านเกิดของเอเรนให้สิ้นซาก ความจริงที่รัฐซุกซ่อนไว้จึงไม่ใช่เพื่อความสงบสุขของประชาชน แต่เป็นเพียงการรักษาอำนาจ และรักษาความชอบธรรมในการตัดสินใจโดยที่ประชาชนถูกปิดหูปิดตามาตลอด เมื่อทหารปฏิวัติยึดอำนาจจากตระกูลเรส เอเรนได้พบความจริงอีกประการว่า มนุษยชาติไม่ได้กำลังจะสูญสิ้น พวกเขาเพียงถูกราชาฟริทซ์รุ่นที่ 145 เปลี่ยนแปลงความทรงจำเพื่อความมั่นคงของตัวเอง ราชาปล่อยให้ประชาชนเสี่ยงอันตรายจากการถูกไททันจับกิน เช่นเดียวกับตอนที่ ‘กริชา เยเกอร์’ ขอให้ ‘ฟรีด้า เรส’ ผู้ครอบครองไททันบรรพบุรุษออกไปปราบไททันที่กำลังบุกเข้ากำแพงมาเรีย แต่เขากลับถูกปฏิเสธเพราะเจตจำนงของราชาแห่งกำแพงที่ตกทอดต่อมา คือการให้ชาวเอลเดียทั้งหมดยอมตาย เพื่อชดใช้กรรมที่บรรพบุรุษก่อ และตัดรากถอนโคนผู้ที่จะสามารถแปลงกายเป็นไททันให้หมดไป เรียกได้ว่าพระราชาเลือกความตายให้ประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จ โดยที่ประชาชนไม่ต้องรู้อะไรเลย ผลพวงของเรื่องนี้เกิดเป็นปมในจิตใจของเอเรน แม่ของเขาเสียชีวิตอยู่ที่กำแพงมาเรีย เพื่อนของเขาก็หายไปจากชีวิตทีละคนจากการถูกไททันจับกิน ความทรงจำและความลับของเข็มฉีดยาที่ผู้เป็นพ่อฉีดเข้าร่างยังตามหลอกหลอนให้เขานอนฝันร้ายอยู่ทุกคืน สุดท้ายความทรมานที่เขาไม่ได้เลือกก็ยังคงวนเวียนอยู่ในเลือดของเขาไปอีกแสนนาน เหยื่อจากความสูญเสีย...แม่ตายสหายแทบไม่เหลือ การสูญเสียคนสำคัญครั้งแรกของเอเรนเริ่มขึ้นเมื่อไททันขนาดมหึมาและไททันสวมเกราะบุกเข้ากำแพงมาเรีย ทำให้ไททันจากทุกสารทิศวิ่งเข้ามาจับคนในกำแพงกิน หนึ่งในนั้นก็คือ ‘คาร่า’ แม่ของเอเรนที่ถูกจับกินไปต่อหน้าต่อตา แม้จะมี ‘ฮานเนส’ ทหารรักษาการณ์อยู่ แต่ก็ไม่อาจช่วยให้เอเรน มิคาสะ และคาร่ารอดชีวิตออกไปได้พร้อมกัน ความช้ำใจในวัยเด็กทำให้เอเรนบอบช้ำอย่างหนัก จากที่เกลียดการอาศัยอยู่ในกำแพงที่ไม่ต่างจากเล้าสัตว์อยู่แล้วก็กลายเป็นความแค้นที่หนักกว่า เขาตั้งปณิธานว่า ‘เขาจะกำจัดไททันออกไปจากโลกไม่ให้เหลือแม้แต่ตัวเดียว’ ในเวลาต่อมา ถึงแม้หนทางสู่กองทหารทีมสำรวจจะเป็นจริง แต่การทำศึกกับไททันครั้งแรกก็ทำให้เอเรนเสียเพื่อนไปจำนวนมาก และก็มากขึ้นอีกเมื่อเขาค้นพบว่าตนเองสามารถกลายร่างเป็นไททันได้ จากทหารหนุ่มตัวเล็ก ๆ ก็กลายเป็นความหวังของมนุษยชาติที่เหลืออยู่ในกำแพง เอเรนแบกรับภารกิจนี้ด้วยความสับสน แต่ระหว่างที่ทุกอย่างกำลังเข้าที่เข้าทาง เพื่อนในหน่วยรีไวที่ให้การยอมรับเขาก็ต้องสละชีวิตระหว่างต่อสู้กับไททันผู้หญิง “จงเลือกในสิ่งที่ตัวเองจะไม่มานั่งเสียใจทีหลังแล้วกัน” รีไวบอกกับเอเรนขณะที่เขากำลังลังเลว่าจะกลับไปช่วยเพื่อนพ้องต่อสู้กับไททันผู้หญิง หรือจะควบม้าไปข้างหน้าอย่างที่คนในหน่วยคาดหวัง เอเรนเลือกเดินหน้าต่อไปอย่างยากลำบาก แล้วเขาก็สำนึกทีหลังว่านั่นคือการเลือกที่ผิด “เพราะเราเลือกที่จะเชื่อมั่นในพวกพ้อง ทุกคนถึงได้ตาย ถ้าเราเลือกที่จะเชื่อตัวเองและต่อสู้ตั้งแต่แรกละก็...” เหตุการณ์นี้กลายเป็นบาดแผลที่ฝังลึกอยู่ในใจเอเรน ไม่แน่ว่ามันอาจเป็นหนึ่งในความเจ็บปวดที่ทำให้เขาเลือกเดินบนเส้นทางของตนเองอย่างโดดเดี่ยวในอนาคต ความรู้สึกผิดของเอเรนยังฉายแววอย่างเด่นชัดเมื่อ ‘คริสต้า’ หรือ ‘ราชินีฮิสโทเรีย’ ถามเอเรนขณะที่เธอกำลังตัดสินใจว่าจะฉีดน้ำไขสันหลังของไททันเข้าไปในตัวหรือไม่ ซึ่งคริสต้ากำลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่คล้ายเอเรนในอดีต เพียงแต่ว่าเธอยังมีสิทธิเลือกทางของตัวเอง ไม่เหมือนกับเด็กน้อยเอเรน เอเรนที่มีบาดแผลสามารถแปลงกายเป็นไททันได้ทันที แต่ด้วยความรู้สึกผิดและการแบกรับภาระอันหนักอึ้ง ทำให้เขาเลือกที่จะถูกคริสต้ากินดีกว่า ขณะนั้นเอเรนยังเอ่ยชื่อคนที่ตายออกมาอย่างยืดยาว ไม่ว่าจะเป็นปู่ของอาร์มิน มาร์โก ฮานเนส ทุกคนในหน่วยรีไว หรือประชาชนในเขตสโตเฮส นั่นเพราะเขาจำได้ดีว่ามีใครต้องกลายเป็นผู้เสียสละจากการกระทำของเขาและพ่อบ้าง “ฉันชดใช้ไม่ไหวหรอก... ทั้งความฝันที่อยู่นอกกำแพงนั่น ฉันไม่เอาอีกแล้ว” เหยื่อวาทกรรม...ตัวร้ายในสายตาชาวโลก ความขมขื่นและความโศกเศร้ารุมเร้าให้เด็กหนุ่มผู้มีปณิธานจะฆ่า ไททันให้หมดโลกเปลี่ยนเป้าหมายไปฆ่าคนทั้งโลกที่เห็น ‘พวกเขา’ เป็นปีศาจร้ายแทน นั่นก็เพราะเอเรนยังรู้สึกว่าเขามีคนสำคัญที่ยังอยากจะปกป้องให้ถึงที่สุด “หลังจากที่ฉันตาย เจ้าพวกนั้น (เพื่อนของเอเรน) ก็จะต้องมีชีวิตต่อไป ฉันอยากให้มีชีวิตต่อไป อยากให้มีชีวิตอย่างมีความสุข...” หลังจากที่รู้ว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่อีกฟากฝั่งของทะเล ประชาชนบนเกาะพาราดี้ก็กลายเป็นจำเลยสังคมทันที นอกจากจะถูกรัฐบาลของเกาะพาราดี้ปิดบังความจริงมาหลายร้อยปี ยังถูกคนทั่วโลกมองด้วยสายตารังเกียจและเคียดแค้น ทั้งหมดก็เป็นเพราะการเขียนประวัติศาสตร์ของเมอเร่ที่อ้างความชอบธรรมจากที่ตนเคยถูกกดขี่ หันกลับมากดขี่ชาวเอลเดียบ้าง ในจุดนี้ประชาชนบนเกาะพาราดี้ต่างมองว่าไม่ยุติธรรม แต่ด้วยวาทกรรม ‘ลูกหลานปีศาจ’ ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของชาวเอลเดีย ทำให้เกิดสถานกักกันชาวเอลเดียบนแผ่นดินใหญ่ และเกิดการลงโทษชาวเอลเดียด้วยการนำพวกเขามาปล่อยที่เกาะพาราดี้ ก่อนจะฉีดน้ำไขสันหลังให้พวกเขากลายร่างเป็นไททันวิ่งเล่นอยู่นอกกำแพง เมื่อยามที่กำแพงพัง ประชาชนก็ต้องรับเคราะห์ไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้ว่าทำไมตัวเองถึงถูกฆ่าตาย ความเชื่อที่ฝังลึกทั้งจากวาทกรรมและโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้แม้แต่ชาวเอลเดียบนแผ่นดินใหญ่ก็ยังมีทัศนคติด้านลบต่อชาวเอลเดียด้วยกัน พวกเขาหลายคนกลายเป็นอาวุธสงครามอย่างเต็มใจ ขณะที่หลายคนยอมถูกกดขี่เพื่อชดเชยสิ่งที่ ‘ตนเองไม่ได้ทำ’ แต่ ‘บรรพบุรุษทำ’ สุดท้ายเสียงของชาวเอลเดียก็หายไปจากสังคม เพราะการไม่เปิดโอกาสทำความเข้าใจกันและกัน ด้วยเห็นว่าอีกฝ่ายไม่ใช่มนุษย์อย่างเท่าเทียม เรียกได้ว่าชาวเอลเดียไม่เหลือทางเลือกมากนัก ส่วนเอเรนก็เป็นเพียงมนุษย์อีกคนที่เป็นผลลัพธ์ของการถูกโลกทำร้าย ในวันนี้เขาจึงเลือกจะทำร้ายโลกกลับบ้าง แต่ไม่ว่าบทสรุปของเรื่องผ่าพิภพไททันจะเป็นอย่างไร เนื้อเรื่องที่ผ่านมาของอาจารย์ฮาจิเมะก็ได้สะท้อนประเด็นชีวิตและมิติทางการเมืองไว้อย่างแหลมคม รวมไปถึงการสะกิดผู้อ่านให้มองไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าหยุดเพียงระดับปัจเจก เช่นเดียวกับที่เราพยายามตัดสินว่าเอเรนเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร เราก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าทำไมเขาถึงต้องเป็นแบบนั้น เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี อ้างอิง