01 ก.พ. 2562 | 16:11 น.
อารี โฮนิก มือกลองแจ๊สระดับโลก ถือเป็นศิลปินมากความสามารถระดับหัวแถวของวงการดนตรีแจ๊สในช่วงสิบปีให้หลัง และถ้าให้จำกัดความชายคนนี้ด้วยคำอะไรสักคำหนึ่งคำว่า “นักสร้างสรรค์” น่าจะเป็นคำที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเขาคนนี้ ด้วยการที่เล่นเปียโนและไวโอลินมาตั้งแต่เด็กทำให้อารีมีความสามารถในการฟังเสียงตัวโน้ตต่าง ๆ ออกและเมื่อบวกกับไอเดียของเขาเอง ทำให้รูปแบบการตีกลองของเขาโดดเด่นไม่เหมือนใครถ้าถามว่าจะมีมือกลองกี่คนบนโลกที่สามารถตีกลองให้ออกมามีทำนองเหมือนกับที่อารีทำได้คงต้องบอกว่าน้อยมาก อารี ฝากผลงานเด่นไว้หลายชิ้นไม่ว่าจะเป็นผลงานอัลบั้มบันทึกการแสดงสดที่ร้านสมอลล์ ในนิวยอร์กอย่าง The Painter และ Punkbop และสตูดิโออัลบั้มของเขาอย่าง Inversations (2007), Bert's Playground (2008) และ Lines of Oppression (2011) วันนี้เราได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับชายคนนี้เกี่ยวกับหลายประเด็น ทั้งจุดเริ่มต้นของเขาและแนวคิดที่เขาอยากฝากถึงนักดนตรีชาวไทย The People : “กลอง” กับ อารี โฮนิก ทั้งสองมาพบกันได้อย่างไร อารี : จริง ๆ แล้วผมเริ่มเล่นไวโอลินมาก่อนตอนสามขวบ นั่นคือเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ผมเล่น และจากการที่มีพ่อแม่เป็นนักดนตรีคลาสสิกมันทำให้ผมเริ่มต้นเล่นดนตรีในช่วงอายุที่น้อยมาก ตอนอายุหกขวบผมเริ่มเล่นเปียโนและลากยาวจนมาถึงอายุสิบสอง ตอนนั้นเองผมได้มีโอกาสรู้จักกับกลอง ผมเริ่มชอบมันในทันทีเพราะมันคือเครื่องดนตรีชนิดเดียวในโลกที่พ่อแม่ผมไม่สามารถมาสอนหรือมาบอกว่าผมเล่นผิดตรงไหนได้ ผมชอบดนตรีมาก ๆ และไม่ชอบให้ความสัมพันธ์มากลายเป็นอิทธิพลในการเล่นของผม ผมต้องการสร้างสรรค์และสร้างตัวตนของตัวเอง The People : การเป็นมือกลองที่เล่นเครื่องดนตรีที่เป็นทำนองมาก่อน คุณคิดว่ามันเป็นข้อได้เปรียบและจุดเด่นของตัวเองหรือไม่ อารี : สำหรับผมผมไม่คิดว่าเครื่องดนตรีที่เป็นทำนองกับเครื่องดนตรีจังหวะเป็นสิ่งที่ต่างกัน ทั้งสองเหมือนกัน มันคือเรื่องเดียวกัน เพราะเวลาคุณจะเล่นเครื่องทำนองมันก็ต้องใช้จังหวะในการเล่นเช่นเดียวกัน แต่กลับกันการที่คุณเปลี่ยนจากเครื่องจังหวะไปเป็นเครื่องทำนองคุณจำเป็นต้องฝึกเพิ่มขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วนั้นเป็นสิ่งที่ผมเคยทำมาก่อน แม้ผมจะเล่นเปียโนมาตั้งแต่หกขวบ แต่ผมก็ไม่ได้ซึมซับการเข้าใจในเรื่องของทำนองมากเท่าที่ควร เพราะเปียโนคลาสสิกที่ผมเล่นตอนนั้นมันแค่การอ่านโน้ตและเล่นเพลงก็มีแต่พวกคอร์ดเมเจอร์ไมเนอร์ มันช่วยให้หูผมดีขึ้นก็จริง แต่ผมไม่รู้ทำนองเหล่านั้นคืออะไร ผมเริ่มมาศึกษาการทำงานของมันในเวลาต่อมาและมันเอื้อต่อการแต่งเพลงของผมมาก ตอนที่ย้ายมานิวยอร์กครั้งแรกตอนอายุยี่สิบเอ็ดผมเริ่มจากการเป็นนักเปียโนด้วยซ้ำ The People : ภายในหัวของ อารี โฮนิก ตอนตีกลองมันเป็นอย่างไร อารี : ผมเห็นความสัมพันธ์ของนักดนตรีแต่ละคนเวลาบรรเลงเวลาทุกคนเชื่อมกัน ตัดกัน หรือแม้กระทั่งพยายามล็อกเข้าด้วยกันผมเห็นทั้งหมดเป็นกราฟ หรือเห็นเป็น กระดาษตาราง (Graph paper) จริง ๆ เรื่องนี้จะซับซ้อนหน่อย ๆ พวกคุณเคยเล่นเกมร่มชูชีพไหม เวลาผมเล่นดนตรีผมนึกถึงเกมนี้ มันเหมือนกับผมอยู่ในร่มชูชีพเหล่านั้น มันเป็นการแยกออกจากโลกภายนอก สำหรับผมภายใต้ร่มชูชีพนั้นคือดนตรีส่วนข้างนอกคือไม่มีอะไรเกิดขึ้น The People : การที่ต้องเล่นกับนักดนตรีชั้นยอดในหลากหลายแนว มันยากขนาดไหนและคุณมีวิธีปรับตัวอย่างไร อารี : มันก็ไม่ยากมาก มันเหมือนกับเวลาที่คุณต้องพูดกับเพื่อนต่างภาษาคุณรู้ว่าคุณพูดได้ คุณเพียงแค่พูดมันออกไป สำหรับผมทุกวันนี้ผมเล่นแจ๊สซะส่วนใหญ่เพราะมันเป็นงานที่ให้พื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์ จริง ๆ ผมรักทั้งดนตรีเร็กเก้, ร็อก, คลาสสิก หรือ โฟล์ก แต่ผมไม่สามารถเล่นแนวเหล่านี้ได้มาก เพราะมันเป็นดนตรีที่ต้องเล่นในสไตล์ของมันภายใต้รูปแบบที่ถูกต้อง The People : อารี โฮนิก มีอัลบั้มเปลี่ยนชีวิต หรือ ต้นแบบในการเล่นหรือไม่ อารี : แน่นอนผมมี แต่ผมไม่ได้มีแบบหนึ่งอัลบั้มที่เปลี่ยนผมไปตลอดกาล ผมโฟกัสในเรื่องของวิธีคิดมากกว่า ผมพยายามจะไม่เล่นซ้ำกับใคร พยายามไม่เล่นให้น่าเบื่อ แต่ก็นั่นแหละถ้าพูดถึงแรงบันดาลใจของผม เอิร์ล ฮาร์วิน หรือ ราล์ฟ ปีเตอร์สัน ครูของผมทั้งคู่คือต้นแบบในการตีกลอง คีธ จาร์เร็ต คือคนที่ผมชอบในผลงาน แต่ต้นแบบและแรงบันดาลใจที่สุดของผมคือพ่อแม่และคนที่ผมเคยเล่นด้วย ผมโชคดีมากที่เคยเล่นกับคนเก่ง ๆ ผมเรียนรู้หลายสิ่งจากพวกเขาเหล่านั้น The People : อารี โฮนิก เคยขี้เกียจตีกลองหรือหมดแพสชั่นกับมันบ้างไหม อารี : ไม่เลย ผมไม่รู้สึกแบบนั้นตอนเล่น แต่ผมว่ามันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์มากกว่า แต่ผมไม่เคยเบื่อมันนะตอนขณะเล่น ผมจะเบื่อเวลาต้องอยู่บนเครื่องบินและต้องไปเล่นที่ต่าง ๆ หรือตอนที่ต้องสอนแบบยาว ๆ พวกคลาสแปดเก้าชั่วโมงแบบนั้น แม้กระทั่งต้องมาเป็นกรรมการอะไรแบบนี้ผมก็อาจจะมีเบื่อบ้าง แต่สำหรับผมการได้แสดงหรือเล่นออกไปมันคือความสนุก The People : อยากเก่งคุณต้องซ้อม ซ้อม ซ้อม วลี “Practice Make Perfect” นี้สามารถใช้กับคุณได้ไหม อารี : คนที่คิดว่าการซ้อมเยอะจะทำให้คุณสมบูรณ์แบบได้นั้น พวกเขาเหล่านั้นเข้าใจผิดแล้ว ทั้งหมดมันคือการฟัง “Listening is Perfect” ผมคิดว่ามีหลายคนมาก ๆ ที่มีไอเดียผิด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ The People : อ่าวงี้ไม่ซ้อมเลยก็ได้ใช่ไหม อารี : ได้สิ “Listening is Perfect” การฟังสำคัญที่สุดไม่ใช่การซ้อม การฟังนั่นคือหัวใจหลักของดนตรี คุณไม่ต้องห่วงเรื่องการซ้อมเยอะเลย ถ้าคุณซ้อมเยอะเล่นได้เร็วสุด ๆ แต่บางสิ่งมันหายไปมันก็เท่านั้น การซ้อมไม่ได้เชื่อมดนตรีเข้ากับคุณ แต่การฟังต่างหากที่เชื่อมคุณเข้ากับดนตรี แต่นี่ผมไม่ได้พูดให้พวกคุณเลิกซ้อมไปเลยนะ มันคือเรื่องของการลำดับความสำคัญ The People : “ด.ช. อารี โฮนิก” ตอนสมัยเรียนดนตรีตั้งใจเรียนขนาดไหน อารี : ผมฟังเพลงเยอะมาก ! เวลาตอนที่ไม่ได้ทำอะไรผมก็จะนั่งฟังเพลง นั่งเช็คเพลงโน่นเพลงนี้ ผมแบบว่าเหมือนถูกครอบงำโดยดนตรี ชีวิตผมทุกวินาทีมีเป้าหมายเดียวคือการเรียนรู้ในเรื่องของจังหวะ ผมชอบฟังเพลงแล้วนำมาหาวิธีสร้างสรรค์ให้มันเป็นตัวของผมเอง ผมฟังเพลงแต่ไม่ได้สนใจเรื่องสไตล์หรือเทรนด์ การฟังแล้วก็อปปี้มาใช้ สำหรับผมมันเป็นอะไรที่ง่าย ๆ เป็นอะไรที่ซ้ำ ๆ สำหรับผมผมเลือกจะสร้างสรรค์ภาษาของตัวเองมากกว่า The People : มาไทยก็ออกบ่อย คุณชอบอะไรในความเป็นไทย อารี : อากาศ (ความร้อน) ผมชอบอากาศที่นี่มากกว่าที่นิวยอร์กเสียอีก และแน่นอนเรื่องของอาหารผมชอบหลายเมนูมากจนนึกแทบไม่ออก แต่ผมชอบอาหารทะเลของที่นี่นะ ตอนผมอยู่นิวยอร์กผมต้องไปหาร้านอาหารไทยทานสัปดาห์ละสองสามครั้ง แต่อาหารของไทยนี่คือปรากฏการณ์เลย และที่สำคัญคนที่นี่มีความ lay back มาก ๆ ตั้งแต่ผมมานี่ยังไม่มีใครจ้ำจี้จ้ำไชให้ผมทำตามเวลาหรือเร่งโน่นนี่เลย The People : ฝากอะไรถึงแฟน ๆ ชาวไทยของคุณหน่อย อารี : ผมรู้สึกเป็นเกียรติมาก ๆ ที่ได้กลับมาที่นี่ และขอขอบคุณอเล็กซ์ (ซีเปียกิน) ที่ชวนผมมาร่วมวงในงานนี้ ผมรักทุกครั้งที่ได้กลับมาประเทศไทย ผมมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเหล่าแฟนเพลงหรือแม้กระทั่งนักดนตรีที่นี่ ขอบคุณอีกครั้งที่อ่านบทสัมภาษณ์นี้และติดตามงานของผม คุณไม่ต้องกลัวที่จะเข้ามาพูดคุยกับผมคุณสามารถถามผมได้ทุกเมื่อที่เว็บไซต์ arihoenig.com แล้วเจอกัน The People : ได้ข่าวว่าคุณเป็นแฟนทีมฟิลาเดเฟีย อีเกิลส์ คุณคิดว่าใครจะชนะซูเปอร์โบวล์ปีนี้ อารี : แหม่ ผมว่าก็คงจะเป็นนิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์ นะ นี่ผมยังเสียใจที่อีเกิลส์แพ้อยู่เลย ขอขอบคุณงาน TIJC สำหรับการอำนวยความสะดวกในการสัมภาษณ์ครั้งนี้